เศรษฐกิจ/ส่อง กม.ลูกดิจิตอลฯ ฉบับสมบูรณ์ จับตาท่าทีรัฐมุ่งคุ้มครองประชาชน ทางรุ่งหรือร่วงตลาดเทรดเงินอนาคต

เศรษฐกิจ

 

ส่อง กม.ลูกดิจิตอลฯ ฉบับสมบูรณ์

จับตาท่าทีรัฐมุ่งคุ้มครองประชาชน

ทางรุ่งหรือร่วงตลาดเทรดเงินอนาคต

 

หลังจากกฎหมายสกุลเงินดิจิตอล (คริปโทเคอร์เรนซี) 2 ฉบับ ทั้งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอล หรือดิจิตอลแอสเซต และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) เรื่องการเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซี มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ต้องมาดูไส้ในว่าในตัวบทกฎหมายเขียนอะไรไว้บ้าง

ความกังวลของนักลงทุนเรื่องเกณฑ์ที่เคร่งครัดจะถูกคลายปมหรือไม่

เพราะส่วนใหญ่นักลงทุนเห็นไปในทางเดียวกันว่าเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ ในช่วงแรกควรจะทำตลาดคริปโทฯ ไทยให้น่าสนใจ ก่อนจะออกเกณฑ์คุมแบบเข้มข้น หรือเก็บภาษีแพงๆ

สำหรับกฎหมายตัวแรกที่มีถึง 100 มาตรา ได้ให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้ดูแลและควบคุมทั้งหมด

โดยกฎหมายตัวนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) จากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ที่สนใจและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง สิ้นสุดวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ ก่อนสรุปผลและประกาศแนวทางการกำกับดูแล หรือออกกฎหมายลูก

ด้วยเหตุผลว่าทุกภาคส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้องต้องมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสิ้น

 

อย่างที่ น.ส.อาจารีย์ ศุภพิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ก.ล.ต. ได้ย้ำว่า การลงทุนมีความเสี่ยงสูง นักลงทุนจะต้องทำความเข้าใจก่อนลงทุน ทั้งเรื่องสภาพคล่อง ความผันผวนของราคา การแฮ็กหรือการโจรกรรมข้อมูลที่อาจจะเกิดขึ้นได้

และต้องเข้าใจว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ไม่ได้ครอบคลุมการลงทุนในต่างประเทศ

“คริปโทเคอร์เรนซี-ไอซีโอเป็นเหมือนสึนามิระลอกใหม่ที่หลายๆ ประเทศโดนพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้น ในช่วงแรกการออกกฎหมายยังไม่เพอร์เฟ็กต์ รัฐบาลก็พยายามสร้างความชัดเจนขึ้นมาและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้น ในช่วงนี้จึงอยากชวนนักลงทุนและผู้ที่สนใจมาร่วมแสดงความคิดเห็นหรือให้ฟีดแบ็กในช่วงเวลาที่เหลือก่อนที่จะปิดเฮียริ่ง ส่วนเรื่องแนวทางการจัดเก็บภาษีที่หลายๆ คนโฟกัส เข้าใจว่ากระทรวงการคลังก็กำลังพิจารณาเรื่องนี้ใหม่”

น.ส.อาจารีย์กล่าว

 

ด้านนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. ชี้แจงว่า เกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอล จะครอบคลุมผู้ประกอบธุรกิจ

  1. ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอล
  2. นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอล

และ 3. ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิตอล

โดยหลักเกณฑ์การอนุญาตการเสนอขายโทเคนดิจิตอล ช่วงแรกจะเสนอให้เปิดเฉพาะบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด โดย ก.ล.ต. จะพิจารณาจากข้อมูลของบริษัทว่าไม่มีเหตุให้สงสัยว่า ผู้ระดมทุนตั้งใจจะไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลหรือต้องการเอาเปรียบผู้ลงทุน รวมถึงการพิจารณาตัวกรรมการและผู้บริหาร จะต้องไม่เป็นผู้ที่มีลักษณะต้องห้าม เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้เสนอขายโทเคนดิจิตอลจะต้องส่งรายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและฐานะการเงิน และข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือโทเคนดิจิตอลหรือต่อการตัดสินใจลงทุน เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนและผู้ลงทุนด้วย

สำหรับการพิจารณาตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอล และการระดมทุนด้วยการเสนอขายเหรียญดิจิตอล (ไอซีโอ) ก.ล.ต. จะกำหนดหน่วยงานกลางมาเป็นผู้ช่วย หรือเรียกว่า “ไอซีโอ พอร์ทอล” เพื่อตรวจสอบความครบถ้วนของข้อมูลในหนังสือชี้ชวนหรือเอกสารโครงการ (ไวต์เปเปอร์) เพราะฉะนั้น ไอซีโอ พอร์ทอลจะเป็นผู้คัดกรองผู้ระดมทุน การตรวจสอบสมาร์ต คอนแทร็ก การพิสูจน์ตัวตนของลูกค้า (เควายซี) รวมถึงการทำแบบประเมินความเหมาะสมในการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนรายย่อยด้วย

เพราะฉะนั้น จึงเห็นว่าน้ำหนักใน พ.ร.ก. ฉบับแรก จะกำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอลไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน และป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเทรดคริปโทเคอร์เรนซีที่มีความผันผวนสูง

 

ส่วนเรื่องการเก็บภาษี แม้ใน พ.ร.ก. ระบุชัดว่าจะเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของเงินได้และเมื่อสิ้นปีจะต้องนำกำไรหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนไปคำนวณรวมกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่น เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย และในส่วนของผู้ประกอบการต้องเสียภาษีนิติบุคคลตามกฎหมาย หากมีกำไรเกิน 3 ล้านบาท ต้องเสียภาษี 20%

แต่ทันทีที่มีเสียงท้วงติงวิธีการเก็บภาษีจากภาคเอกชนและนักลงทุน เริ่มที่นายณัฐพล อัศวชมพูนุช กรรมการสมาคมไทยบล็อกเชน และกรรมการบริษัท คอยน์ แอสเซท จำกัด ผู้ให้บริการกระดานเทรดสกุลเงินดิจิตอลในไทย ให้ความเห็นว่า การจัดเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซีเป็นประเด็นที่ตลาดให้ความสนใจมากว่าจะมีวิธีการจัดเก็บอย่างไร เพราะยังไม่มีราคากลางใช้อ้างอิงได้ ขณะเดียวกันผู้ให้บริการกระดานซื้อขายหรือกระดานเทรดก็ไม่สามารถบังคับนักลงทุนให้ขายเงินสกุลดิจิตอล เพื่อแลกเป็นเงินสดแล้วนำมาจ่ายเป็นภาษีได้ ทำให้นักลงทุนเป็นกังวล เนื่องจากยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน

“พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอลเป็นกรอบกฎหมายกว้างๆ ในการออกกฎหมาย จะต้องรอดูเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ก่อนอีกครั้งว่า แนวทางที่ออกมาจะเข้มงวดหรือผ่อนคลาย โดยประเมินว่าหากเกณฑ์เข้มงวดเกินไป อาจจะทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในต่างประเทศได้ เนื่องจากมีความน่าสนใจมากกว่า เช่น สิงคโปร์ เก็บค่าธรรมเนียมการเทรดไม่ถึง 1% และไม่มีการเก็บภาษีจากแคปปิตอล ขณะที่บางประเทศรัฐบาลให้การสนับสนุน โดยออกเป็นมาตรการไฟแนนเชียล ซัพพอร์ต เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศ”

นายณัฐพลกล่าว

 

ส่วนการเก็บภาษีของผู้ลงทุน นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอรส์ จำกัด หรือเจวีซี กล่าวว่า การเก็บภาษีของผู้ถือเหรียญหรือโทเคน ขึ้นอยู่กับความคาดหวังของคนว่าคาดหวังจะได้เท่าไหร่ อย่างคริปโทเคอร์เรนซีมีแคปปิตอล เกนจำนวนมาก การจ่ายภาษี 15% จึงอาจจะไม่ใช่เม็ดเงินที่มาก แต่นักลงทุนจะสับสนมากกว่ารัฐบาลจะมีวิธีการเก็บภาษีอย่างไร ในเมื่อความยากของคริปโทเคอร์เรนซีคือ สามารถเทรดได้หลายประเทศ ซื้อที่นี่ ขายที่โน่น ไม่จบกระบวนการ

และเพื่อให้การออกกฎหมายให้ชัดเจน และรัดกุม ไม่สร้างปัญหาให้กับนักลงทุนในอนาคต กรมสรรพากรได้แสดงท่าทีจะช่วยบรรเทาภาระให้นักลงทุนรายย่อยที่ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิตอล ผ่านศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาต โดยเตรียมเสนอกฎหมายยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมหารือ ก.ล.ต. เรื่องการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย รวมถึงจะพิจารณาภาษีในส่วนของผู้ประกอบการด้วย

ต้องตามดูต่อว่า แนวทางกำกับดูแลและเกณฑ์การกำกับภาษี “ฉบับสมบูรณ์” จะเป็นอย่างไร เพราะสุดท้ายการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี แม้จะเป็นการลงทุนสุดล้ำ และอาจจะมาแทนที่การลงทุนแบบเดิมๆ

แต่อย่าลืมว่าการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง นักลงทุนต้องทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน