หลังเลนส์ในดงลึก/ ปริญญากร วรวรรณ/’ในป่า’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ช้างป่า - ต้นฝน หญ้าแห้งกลายเป็นความเขียวชอุ่ม และสูงพอให้ช้างใช้งวงเกี่ยวขึ้นมากินได้

หลังเลนส์ในดงลึก /ปริญญากร วรวรรณ

 

‘ในป่า’

 

ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม กระทั่งตลอดเดือนเมษายน ในความรู้สึกของผม เป็นช่วงเวลาที่ทำงานในป่าไม่สนุกเลย ไม่เพียงพายุฤดูร้อนซึ่งมีทั้งลมแรงๆ สายฝนกระหน่ำ เส้นทางที่ได้รับการปรับปรุงจนราบเรียบ กลับสู่สภาพเดิม

ลมแรงๆ ทำให้ต้นไม้ใหญ่หลายต้นโค่นล้มขวางทาง หลายต้นก็โตเกินกว่าจะเลื่อยให้เสร็จภายในวันเดียว ต้องทำทางเบี่ยงบางเส้นทางที่รถเคยไปได้ครึ่งทาง แล้วจึงเดินต่อ ต้นไม้ใหญ่ล้มขวาง ต้องเดินแบกสัมภาระจากบ้านพัก ระยะการเดินเพิ่มอีกหลายกิโลเมตร

บนด่านที่มีไม้ล้มขวาง ทำให้ด่านดูสับสน ต้องวนเวียนหาทาง ไม่สนุกหรอกเมื่อต้องแบกเป้หนักๆ แล้วเดินวนเวียนหาทาง

ใบไม้เปียกชุ่ม ผืนป่าเริ่มเขียวชอุ่ม ใบไม้สีเขียวอ่อนหนาทึบ

ไม่ใช่ป่าที่ดูแห้งแล้ง ทรุดโทรมเหมือนเดือนที่ผ่านมาอีกแล้ว

เห็บลมตัวจิ๋วสีแดง ซึ่งชุกชุมในช่วงฤดูหนาว เหลือจำนวนไม่มาก

บนพื้นใบไม้ชุ่มน้ำ เต็มไปด้วยทากที่ดูจะหิวกระหาย

ป่าเขียวสดชื่น แหล่งน้ำเล็กๆ มีน้ำขัง

สัตว์ป่าไม่ต้องมารวมกันแถวแหล่งน้ำ หรือโป่งใหญ่ พวกมันต่างแยกย้ายไปตามแหล่งเล็กๆ รอยตีนบนด่านใหญ่ไม่ค่อยมีให้เห็น

เหล่านกป่า นี่คือเวลาของการทำงานหนัก เพราะต้องหาอาหารมาเลี้ยงลูก

นกทุกตัว ตั้งแต่นกจับแมลงตัวเล็ก ไปจนถึงตัวโตๆ อย่างนกเงือก ต่างก็อยู่ในช่วงเวลาทำงานหนัก

ฤดูฝนอย่างจริงจังยังมาไม่ถึง หลังจากนี้ ป่าจะห่างหายจากสายฝนไปสักระยะ จนถึงเดือนพฤษภาคมนั่นแหละฝนชุดใหญ่จึงกลับมาอีก

นั่นจะเป็นเวลาที่นก โดยเฉพาะนกป่า พาลูกเล็กออกจากรัง

เป็นเวลาเดียวกับที่ป่าอยู่ในช่วงอุดมสมบูรณ์

ชีวิตในป่าได้รับการจัดสรรไว้อย่างเหมาะสม

 

ความ “ไม่สนุก” อีกอย่าง นี่คือเวลาของผึ้ง

อยู่ในแคมป์ ในซุ้มบังไพร ขณะนั่งพักเหนื่อย ทุกที่ เราโดนผึ้งรุมตอมตลอดเวลา

เสื้อเปียกชื้น ชุ่มเหงื่อ อับชื้นของเราเองที่ดึงดูด ผึ้งต่างจากแมลงวันตรงที่สามารถต่อยปล่อยเหล็กไนใส่เราได้

หากเป็นคนที่แพ้พิษเหล่านี้ อาการบวมและเจ็บปวดก็เลี่ยงไม่พ้น

แม้แต่เวลากินข้าว ผึ้งยังรุมตอม บินตามช้อน

หลายครั้งมันต่อยที่ปาก บางคนโดนที่ลิ้น

ตั้งแต่เช้ามืด ฟ้ายังไม่สว่างนัก เสียงหึ่งๆ จากการบินของผึ้งก็ดังรอบๆ เปลแล้ว

พลบค่ำเรากลับถึงแคมป์ เห็นผึ้งเกาะตามเป้และเสื้อผ้าที่แขวนไว้ คล้ายกับว่าพวกมันไม่กลับ แต่อาศัยอยู่กับเราเพื่อประหยัดเวลาเดินทาง

อย่างไรก็ตาม ข้อดีคือ ผึ้งเป็นผู้พยากรณ์อากาศให้เรา

ตอนแดดจัดจ้า เราตัองผจญกับฝูงผึ้ง แต่ถ้าผึ้งเบาบางลงเหลือไม่กี่ตัว นั่นหมายถึงพายุฝนกำลังมา

เราเชื่อผึ้งในการเป็นผู้พยากรณ์อากาศที่แม่นยำ

 

ว่าตามจริงแล้ว ความสนุกหรือไม่สนุกของคนทำงานในป่า นั่นไม่เกี่ยวอะไรกับป่าหรอก

ชีวิตในป่า มีวิถีนี้มานาน ทุกสิ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์ หมุนเวียนไปตามฤดูกาลอย่างสอดคล้อง

ป่าอยู่ต่อไปได้โดยไม่ต้องมีคน

แต่สำหรับคน คงต้องพูดอีกแบบหนึ่ง

 

ถึงเดือนพฤษภาคม

นี่เป็นช่วงเวลาต้นฝน ความแห้งแล้ง ความยุ่งยากในการหาอาหารจบลง

ทุกหนแห่งเขียวสดชื่น ใบไม้แตกใบจากสีเขียวอ่อนเป็นสีเข้มขึ้นจนเขียวไปทั้งป่า

เช้าตรู่ ความชื้นจากพื้นล่องลอยขึ้นสูงเป็นไอหมอก คลอเคลียเรือนยอดไม้ ทิวเขามีหมอกหนาคลุม ส่วนยอดเขาดูเว้าๆ แหว่งๆ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ที่กินทั้งหญ้าและใบไม้อย่างกระทิง มุ่งหน้าสู่ยอดเขา ส่วนฝูงวัวแดงใช้เวลาส่วนใหญ่กับหญ้าเขียวในป่าเต็งรัง

ควายป่าก็เคลื่อนฝูงไปตามลำห้วยตอนล่างๆ สองฟากฝั่งมีหญ้าขึ้นแซมโคลนดำๆ

ในฝูงสัตว์ ลูกเล็กที่เพิ่งเกิด เดินประกบแม่

ต้นฤดูฝน สัตว์ป่าเริงร่า

แต่คนทำงานในป่า ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น

 

ใบไม้หนาทึบ ในป่าดิบเขาที่ร่วงหล่นทับถมตั้งแต่แล้งที่ผ่านมา เมื่อเปียกชุ่ม เปรียบคล้ายกับพรมนุ่มๆ

บนโครงร่างสีน้ำตาลแห้ง มีทากชูตัวสลอน พวกมันจะยืดตัว ส่ายไปมาทันทีเมื่อสัมผัสการเคลื่อนไหว

ถุงเท้ากันทาก ตัดเย็บด้วยผ้าดิบ ยาวถึงเข่า ป้องกันไม่ให้ทากซอกซอนเข้าไปในรองเท้าได้บ้าง แต่ไม่ได้ช่วยให้บริเวณเอวหรือสูงกว่านั้นปลอดภัย กว่าจะรู้ตัวก็เป็นเวลาที่เลือดไหลชุ่ม ตัวทากซึ่งแต่เดิมผอมเพียวราวไม้จิ้มฟัน บัดนี้อ้วนกลมเกือบเท่านิ้วก้อย

ขอนไม้ผุที่เป็นที่อาศัยของเห็บลม พวกมันชุกชุมมีทั่วไปในตอนแล้งๆ แต่ในช่วงนี้ ตามขอนไม้ผุ จำนวนพวกมันก็ไม่ได้ลดลง

ในวันแรก เรายังไม่รู้สึกตัวหรอก วันที่สามนั่นแหละจึงพบว่าบนร่างกายเต็มไปด้วยจุดแดงๆ และคัน

ต้นฤดูฝน เป็นเวลาที่ยุงนานาชนิดชุกชุมที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ในหุบเขาหรือบนสันเขา ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่าพันเมตร ก็หลบกองทัพยุงไม่พ้น

ด่านรกทึบ หนามแหลมคม ด่านแม้จะมีสัตว์เดินไปล่วงหน้า แต่ด่านไม่ได้กว้าง แต่พวกมันมีหนังหนา รวมทั้งมีความอดทนมากกว่า จึงไม่พะวงกับหนามแหลม โดยเฉพาะหนามหวายนัก

หนามเหล่านี้มีลักษณะคล้ายตะขอ เวลาเกาะติด มีทางเดียวคือต้องถอย หากดันทุรังไปข้างหน้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการฉีกขาดของเป้ เสื้อ กางเกง รวมทั้งผิวหนัง

ริ้วรอยจากหนามไม่จางหายง่ายๆ

บางรอยใช้เวลานานนับเดือน

 

ข้อดีอีกอย่างคือในแคมป์มีน้ำใช้บริบูรณ์ แม้จะพักในที่สูงกว่าพันเมตร

ไม้เปียกชื้น การก่อไฟยุ่งยากบ้าง แต่เมื่อหาฟืนมาวางๆ อิงกองไฟ และขึงผ้ายางเหนือกองไฟ ปัญหาก็หมด

ทุกวันนี้ การเดินป่า นอกจากด่านสัตว์ป่า เราใช้เครื่องมือนำทางจีพีเอส ใช้ประกอบแผนที่ เรากำหนดจุดหมายได้ง่ายขึ้น

อีกนั่นแหละ เมื่อรู้ว่าจุดหมายเหลือแค่ 2 กิโลเมตร กับอีก 200 เมตรเท่านั้น ดูคล้ายจะไม่ไกลเลย ถ้าไม่ใช่การต้องไต่ขึ้นทางชันๆ และใช้เวลาเดินจริงกว่า 5 ชั่วโมง

บางครั้งผมไม่แน่ใจนักว่า มีเครื่องมือช่วยให้รู้ระยะทางเบื้องหน้า

จะ ” ดีกว่า” การไม่รู้หรือไม่

 

ฝนต้นฤดูโปรยบางๆ และหนักขึ้นในตอน 6 โมงเย็น

เหลือระยะทางอีก 300 เมตรจะถึงสันเขา อันเป็นที่เรากำหนดจะพักแรม

เส้นทางชันเกือบ 90 องศา ลื่นไถล ฟ้าคำราม ลมแรง ยอดไม้เอนลู่ สัมภาระบนหลังคล้ายหนักขึ้นเรื่อยๆ

นานมาแล้ว ผมฝันเห็นตัวเองได้ใช้ชีวิตอย่างที่อยากเป็น

อยู่ในป่า แคมป์ริมลำห้วยใสแจ๋ว ผีเสื้อบินร่อน ดอกไม้สวยงาม กลิ่นหอมจรุง

นานแล้วเช่นกัน ที่ผมรู้ว่าภาพเช่นนั้นมีอยู่เพียงในความฝัน

กับความเป็นจริง “ในป่า”

ให้ผมมากกว่านั้น