คนมองหนัง : คนนอก “รัฐ/สังคม” ในหนังเรื่อง “ป่า”

คนมองหนัง

“ป่า” คือภาพยนตร์ไทย ผลงานการกำกับฯ ของ “พอล สเปอร์เรียร์” คนทำหนังชาวอังกฤษ ซึ่งมีภรรยาเป็นชาวไทย และอาศัยอยู่ในเมืองไทยมานาน

ก่อนหน้านี้ หนังเดินทางไปคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติระดับเล็กๆ-กลางๆ มามากพอสมควร ก่อนจะกลับมาฉายแบบจำกัดโรงอย่างเงียบๆ ที่ประเทศไทย

“ป่า” อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ดีเลิศสมบูรณ์แบบ แต่จุดน่าสนใจ ก็คือ หนังเรื่องนี้มีลักษณะหรือองค์ประกอบหลายอย่างซึ่ง “ผิดแผก” จากหนังไทยทั่วไป

มีทั้งลักษณะที่ “แปลกดี” และ “แปลกตลก” คละเคล้ากัน

องค์ประกอบแบบ “แปลกๆ” ที่ว่า ยังผสมผสานเข้ากับประเด็นหลักของเรื่องที่ “แข็งแรง” จนสามารถสร้าง “จุดเด่น” ให้แก่ “ป่า” ได้ในท้ายที่สุด

ขอเริ่มต้นด้วย “ความแปลก” กันก่อน

อย่างที่เขียนเกริ่นไปแล้วว่า “ป่า” มีองค์ประกอบ “กึ่งแปลกกึ่งตลก” อยู่บ้าง

อาทิ บทสนทนา ที่บางครั้งมีใจความพิกลๆ คงเป็นเพราะบทภาพยนตร์ถูกเขียนขึ้นในภาษาอังกฤษ ก่อนจะได้รับการแปลเป็นภาษาไทยอีกครั้งหนึ่ง

ความแปลกข้อนี้ส่งผลให้คนดูอาจรู้สึกงงงวยกับรายละเอียดของหนังอยู่นิดๆ หน่อยๆ

เช่นในกรณีของผม ซึ่งสุดท้ายก็ยังไม่แน่ใจว่า พระเอกของเรื่องเคยบวชมาก่อน หรือเคยเป็น (แค่) เด็กวัดมาก่อนกันแน่?

องค์ประกอบกึ่งแปลกกึ่งตลกยังปรากฏผ่านการแสดงในหลายๆ ซีน ที่เกิดอาการ “เล่นใหญ่” และ “เล่นแข็ง” ให้ผู้ชมได้เห็นเป็นระยะๆ

นอกจากนี้ ฉากพระเอกนั่งสนทนากับพระพุทธรูป ก็แลดู “ประดิดประดอยจนล้นเกิน” มากกว่าจะสื่อให้เห็นถึงความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณใดๆ

อย่างไรก็ตาม “ป่า” มีความแปลกใหม่ในแง่ “ดี” หรือมีลักษณะ “ริเริ่มสร้างสรรค์” อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

การกำหนดให้พื้นที่หลักแห่งหนึ่งของหนัง คือ “โรงเรียน” แต่กลับมีซีนครู (สาว) แอบสูบบุหรี่ และซีนครูหนุ่มสาวมีเพศสัมพันธ์กัน ก็ช่วยลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ และเพิ่มความเป็นมนุษย์ให้แก่บุคลากรในสถาบันการศึกษาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

เช่นเดียวกับฉาก “เปลือยเปล่า” ของตัวละครนำช่วงท้ายเรื่อง ที่หาดูได้ไม่ง่ายนักในหนังไทยส่วนใหญ่

ที่น่าสนใจอีกประการ ก็ได้แก่การที่หนังผลักความขัดแย้ง อันเกิดจากการกลั่นแกล้งกันของเด็กในโรงเรียนประถมศึกษา ให้ไหลเลื่อนไปสู่สถานการณ์การแก้แค้นแบบถึงขีดสุด และปราศจากความประนีประนอม โดยไร้ซึ่งความพยายามที่จะสร้างเงื่อนปมซับซ้อนไว้อำพรางความรุนแรง ดังที่สื่อบันเทิงส่วนใหญ่เลือกเดิน

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า โครงเรื่อง/ประเด็นหลักของ “ป่า” นั้น มีความแข็งแรงและมีความชัดเจน จนกลายเป็นฐานรากที่มั่นคงให้กับตัวหนัง

เรื่องราวของหนังเรื่องนี้จำกัดตัวเองอยู่ใน “หมู่บ้าน” แห่งหนึ่งที่ภาคอีสาน ทว่า นัยยะความหมายของ “หมู่บ้าน” ดังกล่าว คล้ายจะกว้างขวางใหญ่โตยิ่งกว่าพื้นที่ทางกายภาพของมัน

การที่หนังมุ่งจุดโฟกัสไปที่ “โรงเรียน” และอำนาจ/อิทธิพลของตัวละคร “กำนัน” อาจชี้ให้เห็นว่าศูนย์กลางอำนาจของ “หมู่บ้าน” นั้นถูกรวบเอาไว้ในมือของ “ข้าราชการ”

เมื่อ “ข้าราชการ” มีอำนาจครอบงำ “หมู่บ้าน”

“รัฐ” และ “สังคม” ในหนังเรื่องนี้ จึงแทบจะกลายเป็นสิ่งเดียวกัน หรือเป็นแฝดสยาม/เหรียญสองด้านที่มิอาจถูกผ่าแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด

แล้ว “รัฐ/สังคม” ในรูปของ “หมู่บ้าน” ก็ต้องต้อนรับ “คนนอก” ผู้ผ่านทางเข้ามา

“คนนอก” รายแรก คือ ครูหนุ่ม ที่เป็นเด็กกำพร้าเติบโตขึ้นมาในวัด ก่อนจะตัดสินใจหันหลังให้กับความสุขสงบทางธรรม แล้วออกเดินทางมาเรียนรู้โลกภายนอก

(จุดนี้ ผมรู้สึกตะขิดตะขวงใจกับตำแหน่งแห่งที่ของ “วัด/ศาสนา” ใน “ป่า” อยู่พอสมควร เนื่องจากหนังพยายามบ่งชี้ว่า “วัด” คือ พื้นที่ “บริสุทธิ์” ปราศจากความสัมพันธ์ทางอำนาจ และไม่ข้องเกี่ยวกับกิเลสตัณหาทางโลกย์ ซึ่งใครๆ ก็คงรู้ว่านั่นเป็นอุดมคติ อันมิได้เกิดขึ้นจริง)

“คนนอก” อีกราย คือ “จ๋า” เด็กหญิงในโรงเรียนที่ไม่ยอมพูดจากับใครๆ (แม้ว่าเธอจะไม่ได้เป็นใบ้ก็ตาม) จนถูกเพื่อนบางส่วนตั้งข้อรังเกียจและรุมแกล้ง

“จ๋า” เป็นตัวละครที่นำพาผู้ชมไปยังพื้นที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ “รัฐ/สังคม/หมู่บ้าน” นั่นก็คือ “ป่า”

บ้านของเด็กหญิงตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว ตรงพื้นที่ “ในระหว่าง” เพราะเป็นชายขอบของหมู่บ้าน ขณะเดียวกัน ก็เข้าไปไม่ถึงใจกลาง “ป่า”

ความอีหลักอีเหลื่อของสภาวะก้ำกึ่งเช่นนั้น ถูกสะท้อนออกมาผ่านบุคลิกของ “พ่อจ๋า” ซึ่งเป็นตัวละครอีกหนึ่งคน ที่แยกตัวจากสังคม เงียบขรึม และไม่เอ่ยปากสื่อสารกับผู้ใด คล้ายกำลังเก็บงำความลับบางอย่างเอาไว้

“จ๋า” ค่อยๆ พลัดหลงถลำลึกเข้าสู่บึงน้ำใจกลางป่า และได้พบปะ ผูกมิตร สนทนากับเด็กชายลึกลับ (ซึ่งหนังจะเฉลยในตอนท้าย ว่าเขามีสายสัมพันธ์อย่างไรกับเธอ) ผู้มีบุคลิกลักษณะประหนึ่ง “เมาคลี” หรือ “ทาร์ซาน” ทว่า มีฤทธิ์เดชเหนือธรรมชาติเกินขอบเขตของมนุษย์ธรรมดาสามัญ

แล้วเรื่องราวในหนังก็ดำเนินไปถึงจุดแตกหัก เมื่อเหล่า “คนนอก” ต้องปะทะกับปทัสถานของ “สังคม/รัฐ” เมื่อ “สังคมหมู่บ้าน” และ “อำนาจรัฐราชการ” ต้องปริแยกจาก “พื้นที่ป่า”

กระทั่ง “คนนอก” อย่างครูหนุ่มและเด็กสาวผู้แปลกแยก ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในหมู่บ้าน/โรงเรียนได้อีกต่อไป ทั้งเพราะรับกฎเกณฑ์/กฎหมู่ที่บัญญัติโดยผู้มีอำนาจในสังคมไม่ได้ และเพราะถูกทำร้ายโดยกฎเหล่านั้น

เช่นเดียวกับ “พื้นที่ป่า” ที่ถูกเผาทำลายไปพร้อมๆ กัน

ภาพยนตร์เรื่อง “ป่า” ปิดฉากลงอย่างเศร้าสร้อยและสลดหดหู่ เมื่อ “ครูหนุ่ม” ต้องตัดสินใจละทิ้ง “หมู่บ้าน” และ “โรงเรียน”

ส่วนเด็กหญิงผู้ไม่ยอมพูดจาและเด็กชายลึกลับ พร้อมเรือนร่างอันไร้อาภรณ์ห่อหุ้มของทั้งคู่ ก็ออกเดินเท้าไปยังที่ไหนสักแห่ง ซึ่งเข้าใกล้ธรรมชาติ และออกห่างจาก “รัฐ/สังคม” มากยิ่งขึ้น

หนังเรื่องนี้อาจไม่ใช่ผลงานระดับมาสเตอร์พีซ แต่สามารถฉายภาพความสัมพันธ์ทางอำนาจบางด้านของสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจและชวนขบคิดตีความต่อ

จนไม่ควรถูกมองข้ามไป