สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เรียนสุข สนุกสอน กับ sQip (7) เรื่องเล่าเร้าพลัง

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ครู ปกติทั่วไปได้แค่ บอกเล่า

ครู ที่ดี ทำหน้าที่ อธิบาย

ครู ที่เหนือกว่า ใช้วิธีแสดงให้เห็น

ส่วนครู ที่ยิ่งใหญ่นั้น สร้างแรงบันดาลใจ

 

ครูอารยา มีทอง หรือครูแหม่ม แห่งโรงเรียนวัดถ้ำภูเตย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 3 อ. ทองผาภูมิ ยกคำคมของนักคิด วิลเลียม อาร์เธอร์ วอร์ด ก่อนเริ่มเรื่องเล่าของเธอได้อย่างน่าประทับใจ ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ห้องเรื่องเล่าเร้าพลัง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่โรงแรมพิลูส อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

เพื่อนครูต่างโรงเรียนจากกาญจนบุรีและพระนครศรีอยุธยา ศึกษานิเทศก์ และ Q-coach โหนด 5 สมหมาย ปราบสุธา อดีต ผอ.โรงเรียนวิสุทธิรังษี กาญจนบุรี ร่วมรับฟังอย่างใจจดใจจ่อกับเรื่องราวของเด็กนักเรียนคนหนึ่งที่ชีวิตพลิกผันกลับคืนมาได้อย่างน่าทึ่ง

นายกฤษฎา สายทอง หรือนายกบ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนวัดถ้ำภูเตย โรงเรียนขยายโอกาส จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปลาย ครูแหม่มเป็นครูศิลปะ เอกทัศนศิลป์

“กิตติศัพท์นายกบเป็นที่ร่ำลือ เป็นเด็กเกเรมาก โดดเรียน ชกต่อย ไม่ส่งงาน ทะเลาะกับเพื่อน กับครู ดิฉันสอนเขาตอนอยู่ ม.3 ถึงเวลาเข้าเรียนไม่เข้า พอเข้ามาก็ไม่สนใจเรียน มีเรื่องทะเลาะวิวาท พฤติกรรมเป็นที่รู้กันในหมู่ครูทุกคน แต่ก็อยู่จนจบ ม.3 มีข่าวว่าจะไม่เรียนต่อ แล้วก็ออกจากโรงเรียนหายไป

“เวลาผ่านไปปีกว่าจนเกือบถูกลืมไปแล้ว นายกบกลับมาเรียนใหม่อีกครั้งต่อมัธยมศึกษาปีที่ 4 ดิฉันถามว่า หายไปไหนมาหนึ่งปี เขาเล่าว่า ไปรับจ้างทำไร่ งานหนัก ทำให้รู้สึกเหนื่อยและท้อ จนหวนคิดได้ว่า น่าจะกลับมาเรียนต่อให้จบถึง ม.6 เพื่อจะได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น”

“น่าจะเป็นทางที่ทำให้หางานที่ดีกว่ารับจ้างได้”

 

แต่การกลับมาเรียนใหม่ของนายกบ ต้องเรียนกับรุ่นน้อง แรกๆ เข้ากับน้องไม่ได้ นั่งอยู่หลังห้อง ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใคร เกิดภาวะความเครียด ทำให้มาเรียนบ้าง ไม่มาบ้างอีก ไม่พูดจากับใคร เงียบ ไม่กล้าแสดงออก

ดิฉันมีโอกาสสอนวิชาทัศนศิลป์ชั้น ม.4 อีก ได้พบกับเขาอีกครั้ง สังเกตเห็นพฤติกรรมบางอย่างระหว่างเรียน เลือกที่จะวาดรูปเล่น เป็นลายเส้นง่ายๆ อยู่เพียงลำพัง

คิดว่าเด็กคนนี้น่าจะมีอะไรดี เห็นแนวการวาดรูป ลายเส้นมีความโดดเด่น แตกต่างจากคนอื่นๆ

พอดีช่วงนั้นจะมีการแข่งขันศิลปหัตถกรรมนักเรียนครั้งที่ 67 ในระดับเขต สพม.8 คือกิจกรรมการแข่งขันวาดภาพลายเส้น ระดับชั้น ม.4-6 เลยชวนนายกบไปเข้าแข่งขัน

ทีแรกเขาตกตะลึง ลังเล ไม่มั่นใจ ดิฉันคิดว่าเด็กคนนี้ถ้าเอามาฝึก น่าจะไปได้ดี เลยชักจูงให้กำลังใจเขา และชวนให้เด็กชอบศิลปะมารวมตัวกัน

นายกบพูดว่า ถ้าครูมั่นใจในตัวผม ผมก็จะลองดูครับ ดิฉันตอบเขาไปว่า ครูมั่นใจในตัวเธอ เธอต้องมั่นใจในฝีมือตนเอง ครูจะสอน จะพาเธอไปแข่งเอง จากนั้นายกบมาโรงเรียนสม่ำเสมอ ผลงานเริ่มดีขึ้น ดิฉันใช้วิธีแอดเฟซบุ๊ก ให้นายกบวาดรูปลายเส้นมาให้ดูช่วงปิดเทอม เขาเริ่มทำ จนเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

ถามเขาว่า เทคนิคบางอย่างครูยังไม่ได้สอน กบเอามาจากไหน เขาบอก เปิดยูทูบครับ

พอโรงเรียนเปิด กบเริ่มพูดคุยกับคนอื่นๆ กับน้องๆ ที่มาฝึกซ้อมวาดภาพด้วยกัน เริ่มแลกเปลี่ยนแนวความคิดร่วมกัน มีความสดใสขึ้น มีสังคมที่กว้างขึ้น มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากขึ้น

และที่สำคัญ ดิฉันได้เห็นรอยยิ้มของนายกบ เป็นรอยยิ้มที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อนเลย จนครูประจำชั้น ครูประจำวิชาออกปากชม พฤติกรรมเปลี่ยนไป การเรียนดีขึ้น ไม่โดดเรียน มาเรียนทุกวัน เวลาว่างจะเข้ามาฝึกซ้อมวาดรูปในห้องศิลปะ มาพูดคุยปรึกษา

 

“นายกบบอกว่าการวาดรูปทำให้ผมมีสมาธิดีขึ้นมาก ปรับอารมณ์จากคนใจร้อน สามารถควบคุมสติได้ดีขึ้น ทุกครั้งที่เห็นผลงานของตัวเอง รู้สึกภูมิใจมาก ผมไม่คิดว่ามันคือพรสวรรค์ แต่มันเป็นพรแสวงมากกว่าครับ” ครูแหม่มเล่าถึงคำพูดของนายกบ

“ต่อมา ผลงานการเขียนลายเส้นพัฒนาขึ้นมาก พอไปแข่งขันระดับ ม.ปลาย ปรากฏว่าชนะได้รางวัลเหรียญเงิน เขาบอกกับดิฉันว่า นี่เป็นครั้งแรกของกบ ต่อไปกบจะเอาเหรีญทองให้ได้”

จากนั้นมา การเรียนวิชาอื่นๆ ส่งงานตามกำหนด ช่วยเหลืองานในโรงเรียน ล่าสุดผลงานนำมาจัดนิทรรศการร่วมกับนักเรียนคนอื่นๆ ที่มีความสามารถด้านศิลปะ ทำเป็นโปสการ์ดเพื่อจำหน่าย เมื่อมีผู้มาเยี่ยมชมโรงเรียน ภาพวาดของนายกบมักจะได้รับคำชื่นชมอยู่เสมอ จนได้รับเลือกให้ได้รับทุนการศึกษา

“นายกบมีความมั่นใจมากขึ้น มีความภูมิใจในตัวเอง จากที่เคยคิดว่าเป็นเด็กเกเรที่ถูกลืม ถูกมองข้าม เป็นเพียงนักเรียนหลังห้อง ตอนนี้ความคิด ความรู้สึกเปลี่ยนไปมาก ภูมิใจ เห็นความสำคัญในตัวเอง ได้เป็นส่วนหนึ่ง ช่วยสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน ชอบถามครูเสมอ ครูครับ มีอะไรให้ผมช่วยไหมครับ นี่แหละค่ะ ศิลปะบำบัด”

ครูอารยาปิดท้ายเรื่องเล่าของเธอ พร้อมคำคม ในโรงเรียนไม่มีเด็กโง่ หรือเด็กฉลาด มีแต่เด็กที่ตั้งใจเรียนและไม่ตั้งใจเรียน เพราะไม่มีมีดเล่มไหนที่ลับแล้วไม่คม

 

ครับ ผมไปนั่งรวมฟังอยู่ด้วย เหลือบไปมอง ผอ.สมหมาย คนชื่อเดียวกัน เงียบ นิ่ง เพื่อนครูบางคนน้ำตาไหลซึม สะทือนใจและประทับใจกับเรื่องจริงทั้งของนายกบและของคุณครู ผู้เสียสละ อดทน มองทั่ว มองลึก พร้อมให้ทั้งโอกาสและชีวิตใหม่กับเด็กนักเรียนของครู

ครูสมหมาย Q-coach ขอสะท้อนคิดเพิ่มเติม การค้นหาความสามารถของเด็ก ของครู เรามีครูแหม่มอย่างนี้อีกเยอะ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้เด็กเกเรกลับมาโรงเรียนทุกวัน ช่วยเด็กค้นหาตัวเอง เขาไม่กล้าแสดงออกทำให้เด็กเปลี่ยนตัวเอง กลับมาอยู่ในโรงเรียน อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เปิดให้ผู้บริหาร ครูแกนนำในโรงเรียน ครูผู้เปลี่ยนแปลงชีวิตเด็ก ศึกษานิเทศก์ และที่ปรึกษา หรือ Q-coach ทั้ง 200 โรง มาแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ ทบทวน ประเมินผลความก้าวหน้าที่ดำเนินการมา เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง (sQip)

ถ้านับเวลาเริ่มต้นลงมือปฏิบัติการ วันแรก 1 เมษายน 2560 ถึงขณะนี้ครบรอบปี สองเทอมการศึกษาพอดี ยังมีเรื่องเล่าที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของนักเรียน ครู ผู้บริหาร และแนวโน้มที่ดีของโมเดล sQip อีกหลายแง่หลายมุม

ถามว่า ถ้าไม่มีโครงการ sQip ครูเหล่านี้จะทำดีไหม จะมีความสุขไหม ความสุขไม่ต้องไปถามที่ไหน ถามใจตัวเอง ครูทำด้วยใจ รักเด็กเหมือนลูกหลาน รักโรงเรียนเหมือนบ้าน

โครงการ sQip ช่วยผลักดัน กระตุ้น หนุนเสริมให้เกิดครูแหม่มมากขึ้นๆ ทั้งโรงเรียน ทั้งระบบ ตามหมุดหมายที่ตั้งไว้ โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างมีความสุข ปรัชญาของ sQip จึงอยู่ที่วิชาชีวิต เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ความสุขจากการทำดี จากการให้นั่นเอง