จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ ตอนที่ 21

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยหลังกับเงื่อนปมใหม่ทางการเมือง (ต่อ) 

ข้างหลิวซิ่วที่ได้ตั้งตนเป็นจักรพรรดิเมื่อ ค.ศ.25 ทรงมีพระนามว่า กวางอู่ตี้ หรือที่งานศึกษานี้จะเรียกขานว่า ฮั่นกวางอู่ตี้ นั้น หลังจากยึดครองที่ราบภาคเหนือเอาไว้ได้แล้วก็เคลื่อนไปยังภาคตะวันตกเฉียงเหนือต่อไป จากนั้นก็ยึดเมืองลว่อหยังเอาไว้ได้แล้วตั้งเมืองนี้เป็นเมืองหลวง

การที่ฮั่นกวางอู่ตี้ไม่ทรงเลือกฉังอันเป็นเมืองหลวงก็เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองในขณะนั้น และที่เลือกเอาลว่อหยังก็ด้วยเป็นเมืองที่สนองตอบต่อเศรษฐกิจได้ง่ายกว่า เนื่องจากเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ที่ราบภาคเหนืออันอุดมสมบูรณ์

ดังนั้น นับแต่ ค.ศ.26 ดินแดนของฮั่นกวางอู่ตี้จึงถูกขยายออกอย่างช้าๆ และมีความมั่นคงสูง จนกลายเป็นฐานที่มั่นคงและมั่นใจได้หากจะฟื้นฟูฮั่นขึ้นมาอีกครั้ง

ส่วนทัพคิ้วแดงหลังจากยึดฉังอันได้แล้วก็กลายเป็นทัพที่น่าเกรงขามขึ้น แต่ด้วยเหตุที่มีกลุ่มผู้นำที่ไร้การศึกษา ทัพคิ้วแดงจึงไม่สู้ประสบความสำเร็จในทางการเมืองมากนัก

โดยเมื่อยึดฉังอันได้แล้วก็ปรากฏว่า สงครามกลางเมืองที่ยาวนานมาหลายปีก็ทำให้เมืองนี้ขาดแคลนสิ่งอุปโภคและบริโภค ในขณะที่พ่อค้าและเจ้าที่ดินก็พากันกักตุนสิ่งเหล่านี้โดยที่ทัพคิ้วแดงก็ไม่อาจจัดการอะไรได้

จากเหตุนี้ ทางออกเท่าที่ทัพนี้คิดได้จึงคือ เคลื่อนทัพออกจากฉังอันแล้วไปหาที่ที่จะมีทรัพยากรเหล่านั้นมาสนองตอบ

 

การเคลื่อนทัพเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.26 เป็นการเคลื่อนทัพที่ไร้จุดหมาย หลายที่พอไปถึงก็เข้าขับไล่ราษฎรบ้าง เผาบ้าง หรือไม่ก็เปิดสุสานอดีตจักรพรรดิแล้วเข้าไปปล้น จนกองกำลังลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

ครั้นหวนกลับคืนสู่ฉังอันอีกครั้งใน ค.ศ.27 ก็ต้องพบกับแรงต้านจนต้องหนีไปทางภาคเหนือ อันเป็นเขตอิทธิพลของฮั่นกวางอู่ตี้

จากเหตุดังกล่าว เมื่อฮั่นกวางอู่ตี้ทรงรู้เช่นนั้นก็ตัดสินพระทัยทำศึกกับทัพคิ้วแดง ขุนศึกที่บัญชาการศึกนี้ได้วางกลศึกที่แยบยลยิ่ง

คือใช้วิธีส่งสารไปนัดหมายทัพคิ้วแดงมาทำศึกโดยระบุสถานที่ไว้พร้อม ฝันฉงผู้นำทัพคิ้วแดงไม่รู้ในกลศึกนี้ก็หลงกล เพราะเมื่อยกทัพไปถึงตามที่นัดหมายแล้วเห็นทัพฮั่นกวางอู่ตี้มีน้อยก็เข้าโจมตีทันที ส่วนทัพฮั่นกวางอู่ตี้ก็แสร้งทำทีถอยร่นไป

ครั้นพอไปถึงช่องเขาแห่งหนึ่งซึ่งมีทัพฮั่นกวางอู่ตี้อีกกองหนึ่งซุ่มอยู่ ทัพที่ซุ่มอยู่นี้จึงปรากฏตัวออกมาด้วยเครื่องแบบที่เหมือนกับทัพคิ้วแดง จากนั้นก็เข้าไปปะปนกับทัพคิ้วแดงจนทำให้แยกไม่ออกว่าทหารคนใดเป็นฝ่ายตนที่แท้จริง

ข้างทหารคิ้วแดงปลอมก็พากันตะโกนว่า “ยอมจำนน” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเนื่องจากทหารคิ้วแดงปลอมมีจำนวนมากกว่า ทหารคิ้วแดงจริงจึงเสียขวัญและยอมจำนนในที่สุด

ฝันฉงถูกประหารหลังจากนั้นมานาน ส่วนหลิวเผินจื่อที่ฝันฉงยกให้เป็นจักรพรรดินั้น ฮั่นกวางอู่ตี้ได้พระราชทานที่ดินทำกินและบ้านพักอาศัยในเมืองลว่อหยังเพื่อใช้ยังชีพต่อไป

 

หลังจากการพ่ายแพ้ของทัพคิ้วแดงไปแล้ว ภารกิจของฮั่นกวางอู่ตี้ยังมิได้จบสิ้น เพราะดังได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่า นอกจากกบฏทัพป่าเขียวและทัพคิ้วแดงแล้วก็ยังมีกบฏขบวนการอื่นๆ อยู่อีก

กบฏเหล่านี้ล้วนเป็นภาระที่ฮั่นกวางอู่ตี้ต้องจัดการทั้งสิ้น

ความล้มเหลวของกบฏทัพป่าเขียวกับทัพคิ้วแดงจากที่กล่าวมานี้อาจกล่าวได้ว่า แม้ทัพทั้งสองจะมิใช่กบฏแรกๆ ในประวัติศาสตร์จีนที่มีกลุ่มผู้นำที่ไร้การศึกษา และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องประสบกับความล้มเหลวก็ตาม แต่ก็นับเป็นกบฏแรกๆ ที่มีการกล่าวถึงพัฒนาการในเชิงบทบาทอย่างมีนัยสำคัญ

ที่โดยภาพรวมแล้วอาจสรุปได้ว่า ถ้าเป็นการทหารกบฏทั้งสองมิได้คิดไปไกลกว่ากองโจร และถ้าเป็นการเมืองก็มิได้คิดไปไกลกว่าการตั้งบุคคลในสกุลหลิวขึ้นมาก็เพียงพอแล้ว

ภายใต้ความคิดเช่นนี้หากกบฏทั้งสองได้รับชัยชนะจริง ราชวงศ์ฮั่นที่ถูกฟื้นฟูขึ้นก็จักไม่ต่างกับหุ่นเชิด การบริหารบ้านเมืองอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพบแต่ปัญหา

กรณีที่เกิดกับกบฏทั้งสองจึงบอกให้รู้ว่า เวลานั้นจักรวรรดิจีนได้ก้าวมาถึงจุดที่จำเป็นจะต้องมีชนชั้นนำที่มีการศึกษา และจะด้วยเหตุใดก็ตาม มาตรฐานการศึกษาที่ถูกเลือกในเวลานั้นคือมาตรฐานที่ตราขึ้นโดยสำนักหญู

 

แน่นอนว่า ผู้ที่บันทึกเรื่องราวของกบฏทั้งสองตั้งแต่แรกตั้งจนกระทั่งล้มเหลวจนกลายเป็นกรณีศึกษาก็คือ ปันกู้ บัณฑิตแห่งสำนักหญูนั้นเอง

ในทำนองเดียวกัน ครั้นพอบันทึกจะบอกเล่าเรื่องราวของหลิวซิ่วแล้ว การบอกเล่าที่เล่าหลังจาก “หลิวซิ่ว” หาชีวิตไม่แล้วจึงเป็นเรื่องราวของ “ฮั่นกวางอู่ตี้” ที่ปรากฏถ้อยคำที่ให้การยกย่องเป็นอย่างสูงจากปันกู้

ถึงแม้จะเป็นความจริงที่ว่าหลิวซิ่วหรือฮั่นกวางอู่ตี้จะมีทักษะทางด้านการทหารสูง มีความสามารถพิเศษในการจูงใจบุคคล มีการตัดสินใจที่ดี เป็นนักการเมืองที่หลักแหลม ใจกว้าง หรือยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการก็ตาม

แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับเป็นผู้ที่ดื้อรั้น เชื่อในโชคลาง มีปฏิกิริยารุนแรงเมื่อถูกวิจารณ์ และขาดแคลนวิสัยทัศน์ในการคาดคะเนผลลัพธ์ล่วงหน้าก่อนจะปฏิบัติการใดๆ ในด้านที่เป็นจุดอ่อนนี้เองที่ทำให้เขาล้มเหลวในด้านการต่างประเทศ

อันเป็นประเด็นที่จะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า

 

ค.การเมืองฮั่นสมัยหลัง

การเมืองของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกหรือฮั่นสมัยหลังดำเนินไปคล้ายกับฮั่นสมัยแรก คือมีความเจริญรุ่งเรืองในเบื้องต้นแล้วเกิดความเสื่อมถอยในเบื้องปลาย

และที่เป็นวัฏสงสารก็คือ ความเสื่อมถอยของฮั่นสมัยหลังได้นำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์อีกครั้งหนึ่ง ดังที่ราชวงศ์ก่อนหน้านี้ประสบไม่ต่างกัน

แต่หากจะมีสิ่งใดที่ต่างกับยุคก่อนหน้านี้แล้วสิ่งนั้นก็น่าจะอยู่ตรงที่ว่า หลังฮั่นสมัยหลังล่มสลายและจีนได้ตกอยู่ภายใต้การแตกแยกอีกครั้งหนึ่งนั้น การแตกแยกในครั้งนี้นับเป็นการแตกแยกที่อื้อฉาวและมีสีสันอยู่ไม่น้อย

แต่จะด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ก็ตาม เรื่องราวความแตกแยกในยุคนี้ได้ถูกบันทึกขึ้นมาอย่างเป็นระบบ จนถูกนับให้เป็นหนึ่งในพงศาวดารจีนจากที่มีอยู่ 25 ชุด และเรียกขานกันว่า ซันกว๋อจื้อ (จดหมายเหตุสามรัฐ)

ตราบจนสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) จดหมายเหตุฉบับนี้ก็กลายเป็นข้อมูลให้นักเขียนคนหนึ่งนำมาแต่งเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ขึ้นมา นิยายเรื่องนี้มีชื่อว่า ซันกว๋อเอี่ยนอี้ (นิยายอิงพงศาวดารสามรัฐ) และเป็นนิยายที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวจีนและต่างชาติ

แต่ในทางวิชาการแล้วจะรู้จักยุคนี้ผ่านคำเรียกขานว่า ยุคสามรัฐ (ซันกว๋อสือไต้, Three Kingdoms era)

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ประวัติศาสตร์จีนจะก้าวมาถึงยุคสามรัฐก็ใช่ว่ายุคนี้จะเกิดทันทีที่ฮั่นสมัยหลังล่มสลายลง หากแต่สถานการณ์ต่างๆ ได้ถูกบ่มเพาะสะสมมาอย่างยาวนาน

ที่น่าสนใจก็คือว่า ส่วนหนึ่งของสถานการณ์ที่ว่านี้ก็คือการใช้อำนาจแทนจักรพรรดิของบุคคลกลุ่มต่างๆ ซึ่งเป็นปมเงื่อนสำคัญทางการเมืองที่ไม่ต่างจากยุคก่อนหน้านี้ แต่พอมาถึงฮั่นสมัยหลังปมเงื่อนนี้ก็พัฒนาไปเป็นปมเงื่อนใหม่ที่ต่างจากเดิม

นั่นคือ แม้จะมีการใช้อำนาจแทนจักรพรรดิจากบุคคลกลุ่มเดิมก็จริง แต่บุคคลกลุ่มเดิมนี้ก็ได้ขยายสมาชิกออกไปจนมีมิติที่ซับซ้อนมากกว่าก่อนหน้านี้ และนี่คือประเด็นที่จะได้กล่าวถึงต่อไป

โดยจะเริ่มจากเมื่อหลิวซิ่วหรือฮั่นกวางอู่ตี้ได้ปราบทัพป่าเขียวและทัพคิ้วแดงเป็นที่สำเร็จแล้ว