อภิญญ ตะวันออก : แด่…ความเนียนมานโอฬาริก

“เขาแปลกๆ นะ” ครูผู้สอนภาษาเขมรของฉันเกริ่นถึงเพื่อนเขมรผู้เปรื่องปราดด้านคณิตศาสตร์ เป็นเหตุให้ฉันนำมาผูกเรื่องราวตอนที่เขาถูกอัปเปหิไปร่ำเรียนที่อื่น

“ฉันรู้แต่ว่า ไอคิวเขามันล้ำ แต่หลังจากนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าเขาไปมีชีวิตอยู่แห่งหนตำบลใด”

นั่นคือตอนที่ครูตบท้าย กล่าวโดยนัยแล้ว สุ้มเสียงเหมือนจะชื่นชมหรือเคลือบแคลงเพื่อนมนุษย์ต่างสายพันธุ์ ผู้เต็มไปด้วยทักษะคณิตศาสตร์ กระนั้นก็พอจะจับทางถึงอุปนิสัยหัวร้อนจนยากจะเข้าถึง ซึ่งจะว่าไปแล้ว เด็กหนุ่มคนนั้นก็อาจมีส่วนทำให้เด็กสาวคนหนึ่ง ต่อมากลายเป็นดีกรีศาสตราจารย์ภาษาเขมร ที่ฉันเคยเป็นศิษย์สมัยหนึ่ง นานแล้ว

อืมห์ นั่นแหละ การรำลึกบางห้วงตอนประวัติศาสตร์นอกชั้นเรียนของฉัน และมันช่าง “กระจัดกระจาย” จนทำให้นึกอาลัยพ่อนักคณิตศาสตร์หัวร้อนของครูสาวหัวรั้นคนนั้น

ฉันไม่รู้หรอกนะว่าทำไม จู่ๆ ครูก็เล่าเรื่องนี้ และฉันก็จดจำมันแบบเดียวกับนักกำกับเวลาและตัวเลข

และสำหรับมิตรภาพของเธอและเพื่อนเขมรหัวร้อนผู้จากไปคนนั้น ที่อาจมีส่วนทำให้เธอเคี่ยวกรำจนเชี่ยวชาญด้านวรรณคดีไทย-เขมร ตราบจนลมหายใจสุดท้าย

ตอนที่ฉันกลับมายังสถาบันของท่าน ในบทสนทนาบางตอน ครูของฉันท่านนี้กำลังกล่าวคำอำลาด้วยรอยยิ้มครั้งสุดท้ายก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตด้วยอาการมะเร็งระยะสุดท้าย

หลายปีต่อมา น่าแปลกเหลือเกินที่ความทรงจำดังกล่าวยังคงกลับมาอย่างเรียบง่าย ในคราวใดที่ฉันเริ่มต้นรำลึกถึงแวดวงนักเขียนเขมรบางคน ที่แม้ชีวิตผลงานของพวกเขาจะแผ่วเบาเหลือทน แต่ก็เต็มไปด้วยลักษณะบางอย่างอันน่าจดจำ

ช่างเป็นเนียนมานโอฬาริกสินะ สำหรับฉัน ภาพที่เราได้พบ บทสนทนาที่เราได้ยิน กล่าวถึงใครบางคนผู้จากไปอย่างมีนัยยะซ่อนเร้น

แต่ในที่สุดเราก็กลับพบว่าความคิดคำนึงของครูต่างหากที่ทำให้เราจดจำ ตกผลึกในกาลต่อมา เมื่อเธอได้ลาโลกนี้ไปแล้ว

นี่ไม่ใช่เรื่องใดเลย นอกจากประสบการณ์อันสวยงามของความเป็นปัจเจก – อัตถิภาวนิยม

 

ผลงานของนักเขียนอีกคนหนึ่งคือสุทธ โปลิน ผู้อาวุโสกว่าฆุน สรุน 2 ปี และมีผลงานตีพิมพ์ ผลงานครั้งแรกคือ “ออย บอง ทเวอ เอ็ย..บอง ทเวอ แด” (1969) เมื่ออายุเพียง 22 ปีเท่านั้น

จะว่าไป หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นครธมที่เขาร่วมทุนกับเพื่อนคนหนึ่งคือซึน กึม ซอย

อย่างไรก็ตาม ผ่านไปร่วม 48 ปี งานเขียนชิ้นนี้ก็สำแดงซ้ำการตีพิมพ์อีกครั้งในนาม “G?nial et G?nital” โดยคริสต็อฟ มักเกต์ แปล (2017)

สำหรับนักเขียนเขมรแนวอัตถิภาวนิยม (Existentialism) คนเดียวที่ยังมีชีวิต และสร้างผลงานอันแหวกขนบไปจากยุคของตนด้วยชุดเรื่องสั้นต่อมา “ชีวิตที่ไร้แก่นสาร/จีวิต อ็อด นัย” (1965) งานที่กล่าวกันว่า ได้รับอิทธิพลจากนิชเซ่, ฟรอยด์และซาร์ต ขณะเดียวกันก็เจือไว้ด้วยพุทธปรัชญา

ในห้วงนั้น เขาเขียนเรื่องสั้น “โอน เจีย มจะ สเหน่ / Tu es l”amour de ma vie” (1966) “คนแบกโลก / Un homme s”ennuie” (1967) และจบลงที่ “มรณกรรมแห่งจิตวิญญาณ / La mort dans l”? me” (1973)

มีข้อสังเกตว่า ทั้งหมดที่สุทธ โปลิน มีต่อสังคมเวลานั้น คือต่อต้านระบอบสีหนุและลัทธิคอมมิวนิสต์

แม้ว่าชัยชนะต่อระบอบกษัตริย์ที่ไม่เบ็ดเสร็จ และระบอบสาธารณรัฐ (ลอน นอล) จะย่อยยับในกาลต่อมา ทว่า 1,000 วันแห่งคนหนุ่มสาวกลุ่มประชาธิปไตยก้าวหน้า ที่เข้าร่วมชะตากรรมกับลอน นอลนั้น สุทธิ์ โปลิน เป็นคนหนึ่งที่สมัครเป็นแนวร่วมทหารแห่งชาติ ดูเหมือนแม้จะไม่ใช่วิถีนักเขียนสักทีเดียว

แต่แสดงให้เห็นว่าเขาพอใจกับระบอบสาธารณรัฐ มากกว่าราชานิยมที่เคยกวาดล้างทำลายบรรดาญาติมิตรผู้เป็นที่รักเช่นกรณีซิม วา และต่อมาตั๊ด เจีย

ความสูญเสียรัฐมนตรีศึกษาธิการที่ถูกลวงไปฆ่าต่อหน้านิสิตนักศึกษาที่มาชุมนุมประท้วงในเขตกำปงจาม (1973) ซึ่งเป็นสหายรักของตนเหมือนสายไฟที่ฟาดลงมากลางจิตใจอย่างมากจนสุดทานทน และทำให้สุทธ โปลิน ตัดสินใจอัปเปหิตนเองไปเป็นพลเมืองชั้นที่ 2 ในปารีส นับแต่ปี 1974 ที่เขาดำรงชีพด้วยการขับแท็กซี่

4 ปีถัดมา ไม่กี่เดือนหลังระบอบพล พต สิ้นสุดลง นวนิยายชิ้นแรกขณะอยู่ในฝรั่งเศส “อนารยชน / L”Anarchiste” ก็พลันได้รับการตีพิมพ์

นับเป็นเวลาถึง 10 ปี ตั้งแต่ที่งานชิ้นแรกอย่าง “ออย บอง ทเวอ เอ็ย..บอง ทเวอ แด / G?nial et G?nital” ได้รับการตีพิมพ์ในเขมร แม้ต่อมา สุทธ โปลิน จะตัดสินใจไปตั้งรกรากที่สหรัฐ

ชีวิตก็เป็นอย่างนั้น ถ้าบังเอิญตั๊ด เจีย ไม่ตาย สุทธ โปลิน ก็อาจจะไม่เหลือรอดชีวิตมาถึงวันนี้

เพราะบรรดานักเขียนที่ถือกำเนิดนักเขียนและภาษาเขมรสมัยใหม่ของทศวรรษที่ 60 และ 70 ทั้งหมด ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ในจำนวนนี้มี ชู ทานี, ฌุด เฆย, ฮัก จาย, คอย ซารุน, เล็ง เพ็ง เซียะ, นวน เกือน, สด โปลิน, วง เพือน, ยิม เกือจ ฯ ในจำนวนนี้เว้นแต่สุทธ โปลิน แล้ว

พวกเขาทั้งหมดล้วนแต่สังเวยชีวิตให้แก่ระบอบสมัยเขมรแดง

 

เกิด 9 กุมภาพันธ์ 1943 ที่ตำบลแห่งหนึ่งในอำเภอกำปงเสียม จังหวัดกำปงจาม เป็นหลานทวดกวีผู้แต่งวรรณคดีเตียวเอกที่นำโครงเรื่องมาจากตุมเตียววรรณคดีร้อยกรองอันโด่งดัง

สุทธ โปลิน เติบโตมาจากชนชั้นกลางอันต่างจากพื้นฐานนักเขียนร่วมสมัยคนอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในครอบครัวชนบทและยากจน ขณะที่เขาสามารถพูดอ่านภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่ 2 และเข้าถึงวรรณคดีตลอดจนปรัชญาตะวันตกตั้งแต่ยังเยาว์วัย เมื่อเริ่มเขียนนิยายเรื่องแรกตีพิมพ์นั้น โปลินถือเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ สำหรับวรรณกรรมอัตถิภาวนิยมยุคแรกของกัมพูชา

มันยังเป็นผลพวงบางอย่างอันต่อเนื่องมาถึงนักเขียนปี “70 ที่มีฆุน สรุน อยู่แถวหน้า

ไม่ต่างจากนักเขียนยุคเดียวกันที่มักจบลงด้วยการทำงานหนังสือพิมพ์ของซิม วา-น้าชาย หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปไตย / 1954 และหนังสือพิมพ์เอกราชกลุ่มเดียวกับมุนน์ จันมล นักเขียนเขมรแนวอัตชีวประวัติอีกคนหนึ่งผู้ต้องสังเวยชีวิตแก่แวดวงการเมือง

ดังนี้ ฐานประวัติส่วนตัวของสุทธ โปลิน ดูจะใกล้ชิดกับกลุ่มหัวก้าวหน้าพรรคประชาธิปไตย ที่ถูกกวาดล้างโดยกลุ่มนิยมเจ้าอย่างเป็นระยะๆ และด้วยสถานการณ์ที่ปั่นป่วนทางการเมืองอันร้อนแรงและบ่อยครั้งเช่นนั้น อิทธิพลของอัตถิภาวนิยม / เอ็กซิสต็องเซียลิสซึม จึงดูมีอิทธิพลต่อความลุ่มลึกของนักเขียนในกลุ่มนี้

สุทธ โปลิน ยังเขียนบทละครซึ่งแม้จะไม่มาก แต่ก็พอจะแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาผลิตบทละครเวทีและแสดงละครเวทีในแบบที่นักเขียนตะวันตกนิยมบ้างแล้วเวลานั้น ในจำนวนนิยายภาษาฝรั่งเศสที่เขียนเองทั้งหมด 5 เรื่อง รวมทั้งความเรียง (Essay) ปกิณกะอื่นๆ

มีข้อน่าสังเกตว่า ระหว่างปี 1965-1979 ผลงานเรื่องสั้นยุคแรกของเขาเต็มไปด้วยมุมมองอันเยาะขันชีวิตที่ไร้แก่นสาร อีกช่วงเวลาดังกล่าว อิทธิพลคนหนุ่มสาวยุคปี “68 ของฝรั่งเศสที่มีการประท้วงด้านการศึกษาและการแสดงออกต่อปัญหาสงครามเวียดนาม ดูจะเป็นพลังการขับเคลื่อนในภาคเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของสุทธ โปลิน ดูจะประสบความสำเร็จนอกประเทศกัมพูชา อีกทั้ยังเป็นข้อน่าสังเกตว่า นักเขียนกลุ่มประชาธิปไตยหัวก้าวหน้าส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดประสบชะตากรรมในทางหายนะ ที่แม้ว่าหากพวกเขาจะไม่ต้องวิบัติในชีวิต ผลงานของนักเขียนกลุ่มนี้ก็มีลักษณะที่ถูกรับรู้ต่อคนเฉพาะกลุ่มเป็นส่วนใหญ่

ยุคทองของวรรณกรรมร่วมสมัย “70 กัมพูชา จึงเหมือนจะเลือนหาย (แต่ไม่ซะทีเดียว) และแล้ว เมษายนของปีนี้ ผลงานเรื่องสั้นชุด “ผู้ถูกกล่าวโทษ / L”accus?” ได้รับการตีพิมพ์ รวมทั้งฉบับภาษาเขมรที่ถูกวางจำหน่ายในร้านหนังสือเล็กๆ ณ กรุงพนมเปญ

ถ้าจะนับยอดขายทางการตลาด ทั้ง “อนารยชน / L”Anarchiste” สุทธ โปลิน และฆุน สรุน “ผู้ถูกกล่าวโทษ / L”accus?” ในฉบับฝรั่งเศส ดูจะมียอดขายดีกว่าฉบับภาษาถิ่น ในแบบเดียวกันกับที่เกิดขึ้นกับ “Venin / อสรพิษ” ของเสน่ห์ สังข์สุข / แดนอรัญ แสงทอง (และงานเล่มอื่นๆ) ที่ยอดขายฉบับแปลถูกกล่าวขานและชื่นชมมากกว่าสรฺ๊กที่พวกเขาถือกำเนิด

แม้จะไม่แบ่งแยกออกจากกันแบบเดียวที่ครั้งหนึ่งเหล่าสาวกเอ็กซิสต็องเซียลลิสต์ต่างแยกซาร์ตร์จากกามูส์ แต่สำหรับกัมปูเจียที่ไม่เกาะเกี่ยวต่อ กามูส์-ซาร์ตหรืออัตถิภาวนิยมใดๆ นั้น พวกเขาไม่แยแสเลยด้วยซ้ำว่า ฆุน สรุน และสุทธ โปลิน ต่างเป็นใคร และนี่อาจจะถือว่าเป็นใคร?

ในแบบทำนองเดียวกัน “อนารยชน, ผู้ถูกกล่าวโทษ” ที่เป็น “คนนอก” และยังนอกคอกอย่างฉันก็อดจะวิพากษ์ไม่ได้ว่า “ฆุน สรุน ต่างหากที่ดูจะเข้าข่ายกามูส์แห่งแขฺมร์ ในแง่ที่เขา 1.สร้างผลงานจำนวนน้อย แต่สะเทือนในเชิงลึก 2.ตายในวัยหนุ่ม เป็นความตายในเชิงอัตถิภาววิสัยที่นำไปตีความ 3.ตัวตนที่ไม่อาจจับต้องได้

ส่วนสุทธ โปลินนั้น ความเป็นชนชั้นกลางแบบซาร์ตร์ในแบบวิถีคนหนุ่ม การเมืองและความคลั่งไคล้ในวิถีอัตถิภาวนิยมยุคต้นเท่านั้นที่บ่งถึงความเป็นซาร์ต

ที่เหลือคือเขาเกลียดมัน สาระของความมีตัวตน

และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้นักเขียนผู้นี้ หายไปจากการรับรู้ในผู้คน