วิกฤติศตวรรษที่21 : วิกฤติประชาธิปไตย / มาครงกับการเทกระเป๋าสู้ของชนชั้นนำฝรั่งเศส

วิกฤติประชาธิปไตย (5)

มาครงกับการเทกระเป๋าสู้ของชนชั้นนำฝรั่งเศส

มีผู้นำใหม่เกิดขึ้นที่ฝรั่งเศส คือแอมานุแอล มาครง อายุเพียง 40 ปี แต่สามารถขึ้นไปเทียบชั้นกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐที่ทำนายได้ยากและแก่กว่าเขาถึงสามทศวรรษ มาครงเคยทำงานเป็นนายธนาคาร เข้าไป สังกัดพรรคสังคมนิยม และออกมาตั้งขบวนการและพรรคของเขาเองได้ไม่กี่เดือนก่กอนการเลือกตั้ง ก็สามารถชนะ การเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างสบาย ในท่ามกลางความอ่อนแอของศูนย์อำนาจนำในฝรั่งเศสและทั่วทั้งโลกตะวันตก ชัยชนะของเขาอธิบายได้ว่าเป็นความร่วมกันมือครั้งใหญ่ของชนชั้นนำฝรั่งเศส ในการกีดกันกลุ่มขวาจัดของนาง เลอเปน ไม่ให้ขึ้นสู่อำนาจ นับเป็นการเทกระเป๋าสู่เพื่อรักษาการนำของตนภายในประเทศ เชิดชูบทบาทฝรั่งเศสใน สหภาพยุโรป โดยเฉพาะมีบทบาทเคียงคู่หรือเหนือเยอรมนีที่มีขนาดประชากรและเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด และท้ายสุด รักษาโลกาภิวัตน์ที่นำโดยบรรษัทข้ามชาติและมีตะวันตกเป็นศูนย์กลางไว้

ที่ชนชั้นนำของฝรั่งเศสคิดเช่นนั้นก็มีเหตุผลให้คิดเช่นนั้นอยู่หลายประการ ได้แก่ประการแรก เกิดความ แตกแยกในสหภาพยุโรป อังกฤษที่เป็นประเทศใหญ่กำลังเจรจาออกจากการเป็นสมาชิก ดังนั้นจะไม่สามารถมีบทบาท เด่นที่ยุโรปได้อีกเหมือนเดิม เยอรมนีที่ขึ้นมาแสดงบทบาทเป็นผู้นำหลังเกิดวิกฤติการเงินในยุโรปปี 2011 ก็กำลัง ประสบปัญหาการนำ เนื่องจากนางแมร์เคิลเป็นนายกรัฐมนตรีมาหลายสมัย เผชิญกับการท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะจาก กลุ่มปีกขวาที่คัดค้านนโยบายเปิดรับผู้อพยพอันไม่เป็นที่นิยมของนางแมร์เคิล และคาดว่าจะบริหารประเทศต่อไปด้วย ความยากลำบาก ส่วนสหรัฐเองก็ออกอาการว่าจะไม่สามารถแบกภาระในการจัดระเบียบโลกโดยลำพังเหมือนเดิมอีก ต่อไป เนื่องจากความเพลี่ยงพล้ำทางการทหารราคาแพงต่อเนื่องหลายครั้งและความแตกแยกภายในประเทศ เหล่านี้เปิด โอกาสให้แก่ฝรั่งเศสจะก้าวขึ้นมามีบทบาทสูงเด่นอย่างที่เคยเป็นมาแล้วในช่วงนายพลเดอโกลล์ (ดำรงตำแหน่งระหว่าง 1959-1969) นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังมีจุดเด่นเหนือกว่าเยอรมนีอีกสองประการได้แก่ การเป็นมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ และเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ซึ่งมีบทบาททางการเมืองโลกในระดับที่แน่นอน

หลังจากขึ้นสู่อำนาจแล้ว มาครงรับภาระนี้อย่างขันแข็ง เขาทำงานหนัก บางข่าวกล่าวว่าเขานอนน้อยเพียง วันละสี่ชั่วโมง ดำเนินการเคลื่อนไหวตั้งแต่ระดับประเทศขึ้นมาจนถึงระดับโลก โดยทั่วไปเป็นการปฏิบัติต่อเนื่องจาก นายฟรองซัว ออลองด์ ได้แก่การปฏิรูปแรงงาน ที่ลดสิทธิผลประโยชน์ของคนงาน มาตรการรัดเข็มขัด ลดสวัสดิการ ของรัฐที่ถูกคัดค้านอย่างกว้างขวาง การสนับสนุนการทิ้งระเบิดลิเบีย และการสนับสนุนซาอุดีอาระเบียแทรกแซงใน เยเมน สนับสนุนการโค่นล้มประธานาธิบดีอัสซาดในซีเรีย เป็นต้น นโยบายเหล่านี้ทำให้ความนิยมของนายออลองด์ ลดต่ำลง จนต้องประกาศไม่ลงสมัครเลือกตั้งและสนับสนุนมาครงแทน ความสำเร็จของมาครงจึงยังเป็นที่กังขาอยู่ แต่ เขาก็เป็นผู้แสดงหน้าใหม่ที่ควรจะได้ติดตาม ในที่นี้จะกล่าวถึงการเคลื่อนไหวบนเวทีโลกสองครั้งของมาครง ได้แก่การ ปราศรัยที่สภายุโรป และการปราศรัยที่รัฐสภาสหรัฐ ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2018

คำปราศรัยของมาครงที่สภาสหภาพยุโรป

คำปราศรัยของมาตรงที่สภาสหภาพยุโรป (17 เมษายน 2018) เป็นการประกาศบทบาทของฝรั่งเศสใน สหภาพยุโรป มีเนื้อหาสำคัญ ได้แก่

ก) การต่อต้านลัทธิกังขาสหภาพยุโรป ลัทธิชาตินิยมที่คับแคบที่มีพลังมากขึ้น เห็นได้จากกลุ่มเหล่านี้ได้ชนะ การเลือกตั้งที่ฮังการีและอิตาลี

ข) การต่อต้านลัทธิอำนาจนิยม ระบอบปกครองแบบ รวบอำนาจ รัฐบาลปีกขวาของโปแลนด์มีปัญหา สิทธิมนุษย์ชน ธรรมาภิบาล การปกครองของกฎหมาย

ค) การรักษาค่านิยมของอิสรภาพ เสมอภาคและความหลากหลาย ที่เป็นฐานของตัวแบบของยุโรปในโลก ความขัดแย้งในค่านิยมหลักนี้อาจทำให้เกิด “สงครามกลางเมือง” ในยุโรปได้

ง) การปฏิรูปสหภาพยุโรปเพื่อให้ยุโรปกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง การสร้าง “อธิปไตยชาวยุโรป” ดึงประเทศ บัลข่านตะวันตกกลับมาสู่สหภาพยุโรป ไม่ใช่ถูกดึงไปข้างรัสเซีย หรือตุรกี หรือ ล่มสลายไป

จ) และที่พิเศษเฉพาะหน้าคือสนับสนุนการโจมตีทิ้งระเบิดของสหรัฐ ฝรั่งเศสและอังกฤษต่อซีเรียที่ก้าวข้าม “เส้นแดง” ใช้อาวุธเคมีต่อประชาชนของตนเอง

คำปราศรัยของเขาถูกวิจารณ์ว่าพูดได้ดี แต่ทำอีกอย่าง เช่นตัวเขาเองลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ไม่ได้ปกป้องคุ้มครองผู้ที่ขออพยพลี้ภัยมาฝรังเศส นอกจากนี้ยังออกกฎหมายผู้ก่อการร้ายมาแทนที่ประกาศภาวะ ฉุกเฉินที่ทำให้ฝรั่งเศสเหมือนตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินไปตลอดกาล การลดภาษีให้แก่คนรวยขณะที่ไม่ได้สนใจต่อชีวิตของ ผู้คนที่ต้องออยู่อย่างปากกัดตีนถีบ

AFP PHOTO / LCI / – / XGTY / RESTRICTED TO EDITORIAL USE – MANDATORY CREDIT “AFP PHOTO / LCI” – NO MARKETING NO ADVERTISING CAMPAIGNS – DISTRIBUTED AS A SERVICE TO CLIENTS

คำปราศรัยของมาครงที่สภาคองเกรส

คำปราศรัยของมาครง ที่ประชุมสภาครองเกรสสหรัฐ (25 เมษายน 2018) เป็นวันครบรอบ 58 ปี ที่นายพล เดอโกลล์อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้มาปราศรัยในที่ประชุมร่วมรัฐสภาของสหรัฐในปี 1960 คำปราศัยของเดอโกลล์ มีเนื้อหาสำคัญ 3 ประเด็นได้แก่ สงครามเย็น จุดยืนของฝรั่งเศสอยู่กับโลกเสรี และสนับสนุนการลดอาวุธนิวเคลียร์ นับแต่นั้นประธานาธิบดีฝรั่งเศสเกือบทุกคนปราศรัยที่นี่ แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสหรัฐกับฝรั่งเศส

มาครงเริ่มกล่าวถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นทางอุดมการณ์ความเชื่อตั้งแต่ยุคแสงสว่างทางปัญญา เห็นได้จาก การพบกันระหว่างวอลแตร์นักเขียนนักปรัชญาฝรั่งเศสกับเบนจามิน แฟรงกลิน นักปรัชญา นักเขียน นักการเมือง บิดา ผู้ก่อตั้งสหรัฐ ในปี 1778 ด้วยความสนิทสนม นายพลลา ฟาแยตต์ได้สู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับจอร์จ วอชิงตัน ในสงคราม ปฏิวัติอเมริกัน ท้ายสุดฝรั่งเศสได้ร่วมกับสหรัฐสู้รบในซีเรีย มาครงย้ำว่า “ชาวอเมริกันและชาวฝรั่งเศสมีจุดนัดหมาย กันที่เสรีภาพ” เขายังชี้ให้เห็นอันตรายของข่าวปลอมต่อระบอบประชาธิปไตยว่า “เมื่อปราศจากเหตุผล ปราศจาก ความจริง ก็จะไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกที่แท้จริงและการตัดสินใจ อย่างมีเหตุผล”

ใจกลางของคำปราศรัย อยู่ที่การปลุกเร้าให้ตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐ ควรจะได้มีบทบาทสำคัญในการสร้าง ระเเบียบโลกในศตวรรษที่ 21 ดังที่เคยมีมาแล้วในศตวรรษที่ 20 มาครงกล่าวว่า “บังเกิดภัยคุกคามและการท้าทายใหม่ ขึ้นหลายชุดในศตวรรษที่ 21 ที่บรรพบุรุษของเราจินตนาการไม่ถึง ความเชื่อที่แข็งแกร่งที่สุดของเราถูกท้าทายด้วย ระเบียบโลกใหม่ที่ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นแบบไหน… (แต่ว่า) เราสามารถสร้างระเบียบโลกใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ที่ตั้งอยู่ บนฐานของลัทธิหลายฝ่ายแบบใหม่ อยู่บนฐานของลัทธิหลายฝ่ายที่มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ และเน้นผลลัพธ์ สิ่งนี้ต้องการการมีส่วนร่วมของสหรัฐมากยิ่งขึ้น เพราะว่าสหรัฐมีบทบาทชี้ขาดในการสร้างและประกันความคงอยู่ของ โลกเสรี สหรัฐเป็นร่วมผู้สร้างลัทธิหลายฝ่ายขึ้นมาเอง ดังนั้นจึงต้องเป็นผู้ร่วมรักษาและประดิษฐ์ระเบียบโลกหลายฝ่าย ขึ้นมาใหม่” เขาโจมตีนโยบายชาตินิยมและลัทธิปลีกตัว ชี้ว่า “เราอาจจะเลือกลัทธิปลีกตัว ลัทธิถอนตัว และลัทธิ ชาตินิยม (ทั้งหมดนี้) ทำให้เราคิดไปว่าเป็นส่ิงช่วยเยียวยาความหวาดกลัวของเราได้ชั่วคราว แต่การปิดประตูใส่โลก ไม่สามารถหยุดวิวัฒนาการของโลกได้ มันไม่ช่วยดับไฟ แต่จะเป็นการโหมเพลิงแห่งความหวาดกลัวแก่พลเมือง ของเรา” เขาย้ำว่า “เราจะไม่ปล่อยให้ความรุนแรงของลัทธิชาตินิยมสุดขั้ว เขย่าความหวังของโลกที่ต้องการความ ไพบูลย์ที่สูงขึ้น” ย้ำว่า “สงครามทางการค้าไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง …เพราะว่ามันทำลายตำแหน่งงานและทำให้ราคา สูงขึ้น” เราควรจะได้เจจรจาโดยผ่านองค์การการค้าโลก เราเขียนกฎเหล่านี้ขึ้นมาเอง และควรทำตามมัน”

เกี่ยวกับความตกลงพลังงานนิวเคลียร์กับอิหร่าน มาครงเห็นว่าสหรัฐไม่ควรเดินนโยบายลัทธิถอนตัว เขา กล่าวว่า ฝรั่งเศสจะอยู่ในความตกลงนี้ต่อไป “เพราะว่าเราได้ลงนามไปแล้ว…เป้าประสงค์ของเราชัดเจน นั่นคืออิหร่าน จะไม่มีวันได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ไม่ใช่ตอนนี้ ไม่ใช่อีกห้าปีข้างหน้า หรือสิบปีข้างหน้า ไม่มีวันเลย… เราไม่ควร ยกเลิกความตกลงนี้ ถ้าหากเราไม่มีสิ่งอื่นที่มีเนื้อหามากกว่ามาแทนที่ นี่คือจุดยืนของผม… ประธานาธิบดีของท่าน ประเทศของท่าน…จะต้องมีความรับผิดชอบต่อประเด็นนี้เอาเอง”

ในเรื่องข้อตกลงภูมิอากาศปารีสก็เช่นกัน มาครงกล่าวว่า “เราจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อที่จะทำให้โลกกลับมา ยิ่งใหญ่อีกครั้ง,,,(เพราะว่า) โดยการสร้างมลพิษในทะเล ไม่ยอมลดผลกระทบจากการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และความหลากหลายทางชีวภาพ เรากำลังทำลายดาวเคราะห์ของเรา เราควรยอมรับมัน มันไม่มีแผนสำรองอื่น” มาครง กล่าวว่า “ผมเชื่อว่าในวันหนึ่งสหรัฐจะกลับมาและร่วมในความตกลงปารีสอีกครั้ง”

การประเมินการเคลื่อนไหวของมาครง

การเคลื่อนไหวของมาครงทั้งหมด ดูจะไม่บังเกิดผลตามคาดมากนัก โดยการประเมินจากการตอนรับและ ปฏิกิริยาโต้กลับในด้านต่างๆ ได้แก่

ต่อประชาชนคนงานฝรั่งเศส แสดงความไม่พอใจต่อนโยบายการแปรรูปการรถไฟในฝรั่งเศส การเดินนโยบาย รัดเข็มขัด การปฏิรูปแรงงาน อย่างรุนแรง ในวันคนงานสากล (1 พค.) การเดินขบวนสำแดงกำลังกลายเป็นการจลาจล วุ่นวาย ทำให้ปารีสกลายเป็นสมรภูมิ ไม่ใช่แต่ซีเรียที่ฝรั่งเศสเพิ่งไปทิ้งระเบิด

ต่อสหภาพยุโรป คำปราศรัยที่สภายุโรป มาครงได้รับการสนับสนุนจากส่วนใหญ่ของสมาชิกสภา แต่ก็มีสมาชิกบางส่วนประท้วง บางคนชูป้าย “หยุดสงครามในซีเรีย” บ้างคนนำป้ายมาวางบนโต๊ะว่า “อย่าไปยุ่งใน ซีเรีย” บ้างทวีตข้อความว่า “ประธานาธิบดีมาครง คุณพูดถึงประชาธิปไตยอะไรของคุณ เมื่อคุณเองโจมตีซีเรียอย่าง ไม่เป็นประชาธิปไตย (ละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ)” นอกจากนี้ยังมีการประท้วงการทิ้งระเบิดซีเรียอย่างกว้างขวาง ในหลายเมืองของยุโรป ได้แก่ลอนดอน และเบอร์ลิน เป็นต้น

French President Emmanuel Macron clasps hands with U.S. President Donald Trump at the conclusion of their joint news conference in the East Room of the White House in Washington, U.S., April 24, 2018. REUTERS/Jonathan Ernst

ต่อสหรัฐ แม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะให้ความสนิทสนมกับมาครงเป็นพิเศษ เหนือกว่าผู้นำยุโรปคนอื่น แต่ สหรัฐโดยรวมก็มองพันธมิตรแอตแลนติกของตนไม่ขึ้น ยังคงเห็นประหนึ่งเป็นรัฐบริวารที่คอยห้อยโหนหาประโยชน์ เว้นเสียแต่ว่าพันธมิตรเหล่านี้จะสามารถพิสูจน์ตนเองว่าเป็นอย่างอื่น การมาเร่ขายความคิดของมาครงเรื่องลัทธิ หลายฝ่ายในหมู่ประเทศตะวันตกนั้น ขายไม่ออก เห็นได้ว่าแม้ผู้นำทั้งจากฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ จะเดินทางไป พบทรัมป์ เพื่อให้ล้มเลิกความคิดถอนตัวจากความตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ก็ไม่ประสบความสำเร็จอะไร แม้การลงแรง ปฏิบัติ เช่น การออกหน้าของมาครงในการแซงชั่นและขับไล่นักการทูตรัสเซียในการกรณีการวางยาสายลับอังกฤษ และร่วมลงขันทิ้งระเบิดซีเรีย ไม่บังเกิดผลอะไร ทรัมป์ยังคงประกาศถอนตัวความความตกลงนี้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ ฝรั่งเศสและยุโรปจะต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นอย่างอื่น นั่นคือสามารถดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระจากสหรัฐได้

ต่อรัสเซีย-และจีน มาครงพยายามสร้างภาพตนเองยิ่งใหญ่เสมอกับปูติน (มีข่าวว่าเผลอหลุดปากไปเช่นนั้น) แต่ทั้งรัสเซียและจีนเห็นว่า มาครงเป็นเพียงนักวิ่งเต้นฉวยโอกาสจากสถานการณ์ ไม่ได้มีกำลังอะไรเป็นของตนเอง เมื่อ พบกับทรัมป์ในเดือนเมษายนแล้วก็มีแผนจะพบกับปูตินในเดือนพฤษภาคม 2018 เมื่อมาครงปราศรัยที่ออสเตรเลีย ให้ ระวังลัทธิคครองความเป็นใหญ่ของจีนในแปซิฟิก-อินเดีย สื่อของจีนได้ตอบโต้อย่างไม่เกรงใจว่า มาครงควรจะได้ใช้ เวลาในการแก้ปัญหาภายในของตนมากกว่าที่จะเข้าไปยุ่มย่ามกับกิจการภายในของผู้อื่น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการเดินหนทางประชาธิปไตยในประเทศตลาดเกิดใหม่