เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์/หนุ่มเมืองจันท์ที่เห็น เป็นอย่างที่คิด

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ  วัชระ แวววุฒินันท์

 

หนุ่มเมืองจันท์ที่เห็น เป็นอย่างที่คิด

ผมได้รับหนังสือ “โลกที่เห็น เป็นอย่างที่คิด” จาก ตุ้ม-สรกล หรือ หนุ่มเมืองจันท์ ผู้เขียนให้มาตั้งแต่เดือนเมษายน แต่เพิ่งมาอ่านจบเสร็จสิ้นเอาเมื่อเร็วๆ นี้

มิใช่ว่าเป็นหนังสือเล่มหนาหนัก จนต้องใช้เวลาอ่านนานโข

ตรงกันข้ามหนังสือหนาแค่ 240 หน้า อ่านจริงๆ แป๊บเดียวก็เสร็จ ไล่ตอบไล่ลบเมล์ยังใช้เวลามากกว่าอีก

มิใช่ว่าเป็นหนังสือที่น่าเบื่อ เลยอ่านแป๊บเดียววาง แล้วว่างๆ ค่อยหยิบมาอ่านใหม่

หากทว่าหนังสือนั้นอ่านสนุกตามสไตล์หนุ่มเมืองจันท์อยู่แล้ว แฟนหนังสือของเขารู้ดี

แต่ที่ใช้เวลานานหน่อย เพราะสำหรับผมกว่าจะได้อ่านหนังสือแต่ละเล่ม คือ ก่อนนอน ถึงจะหยิบมาพลิกอ่านเสียทีหนึ่ง และก็ไม่ได้อ่านทุกคืน บางคืนทำงานมาเหนื่อยยังไม่ทันถึงเตียงก็กรนแล้ว

พอบางคืนที่พอมีแรงได้อ่าน พออ่านได้สักบท 2 บท ก็เกิดอาการง่วงตามมาเพราะเริ่มแก่ตัว ร่างกายต้องการการพักผ่อนสูง

อย่างไรก็ดี อยากจะบอกตุ้มว่า ได้อ่านจนจบแล้วนะ

 

ความจริงเรื่องที่ได้อ่านในหนังสือของตุ้ม ผมเคยได้อ่านมาแล้วคราวที่ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ แต่แม้จะอ่านอีกก็อ่านได้สนุกไม่แพ้ครั้งแรก และบางครั้งการได้อ่านซ้ำ ทำให้เราได้จับบางความคิด บางประเด็นได้มากขึ้นด้วย

ทุกเรื่องที่หนุ่มเมืองจันท์เขียน ล้วนให้แสงสว่างวาบๆ ขึ้นในสมองและจิตใจ บางเรื่องเปล่งแสงวิบวับแบบหิ่งห้อย บางเรื่องสว่างโพลงราวกับพระจันทร์เต็มดวง อ่านแล้วได้เห็นตัวอย่างวิธีคิดของคนหลากหลายที่ทั้งสำเร็จและล้มเหลว

ผสมกับภาษาที่มีอารมณ์ขันของผู้เขียน ยิ่งทำให้อ่านได้เพลินและจับใจมาก

บางเรื่องก็พาเราย้อนไปหาประสบการณ์ร่วมที่เราเคยมี ก็ยิ่งรู้สึกสนุกตาม

 

อย่างสองเรื่องที่เกี่ยวกับ “การเขียน” และ “การทำงานการเขียน” ของเขา ได้อารมณ์ร่วมดีชะมัด ในตอนที่ชื่อ “ทฤษฎีความสุข” ที่ตุ้มเริ่มเล่าด้วยทฤษฎีแห่งความสุขของไอน์สไตน์ ก่อนจะโยงไปถึงเรื่องของ “สถานที่ในการทำงานเขียน” ของเขา

ด้วยความที่ตอนนี้ตุ้มเป็นฟรีแลนซ์ จึงไม่ได้มีโต๊ะประจำในสำนักงานให้นั่งทำงานเหมือนเคย โต๊ะทำงานของตุ้มจึงเปลี่ยนเป็นโต๊ะในร้านกาแฟแทน

ตุ้มสาธยายให้ฟังถึงแหล่งกบดานในการทำงานต้นฉบับของเขาว่ามีที่ใดบ้าง โดยต้องคิดว่าเดี๋ยวจะไปที่ไหนต่อ ก็ไปหาที่นั่งทำงานที่มันใกล้ๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีร้านกาแฟที่นั่งสบายอยู่มากๆ ทั้งที่ตั้งอยู่โดดๆ และที่แฝงตัวอยู่ตามห้างสรรพสินค้า

และตุ้มคงมีประสบการณ์มามาก จนบอกได้ว่าช่วงไหนคนเยอะ ช่วงไหนทำงานสบายกว่าเพราะคนน้อย เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวของฟรีแลนซ์ที่พนักงานประจำเลียนแบบไม่ได้ เพราะไม่มีประสบการณ์พอ

หลายที่ที่เขาเล่าไว้ ผมก็เคยไปนั่งมาบ้างจึงนึกภาพออก และพลอยให้นึกย้อนถึงตนเองเหมือนกันว่าเราเคยไปนั่งเขียนต้นฉบับที่ไหนบ้าง

 

เชื่อไหมว่าเมื่อราวเกือบ 30 ปีก่อน ผมเคยนั่งเขียนต้นฉบับในร้านเอ็มเค

แต่ไม่ใช่ร้านเอ็มเค สุกี้ ที่โด่งดังเหมือนกับตอนนี้นะครับ เป็นร้านอาหารเอ็ม.เค. ขนาด 2 คูหาที่ตั้งอยู่ที่สยามสแควร์ แหล่งรวมพลของพวกถาปัด จุฬาฯ สมัยก่อน

ตอนนั้นผมต้องเขียนเรื่องเป็นตอนๆ ส่งให้กับนิตยสาร “เปรียว” ของ บ.ก.สมใจ หล่อสมิทธิกุล ไม่รู้จะนั่งเขียนที่ไหนด้วยแต่ก่อนไม่ได้มีร้านกาแฟเป็นดอกเห็ดเหมือนสมัยนี้ ก็ไปอาศัยร้านที่เราคุ้นเคยนั่งทำงานโดยสั่งแค่เครื่องดื่ม หรือหิวหน่อยก็สั่งข้าวมากินสักจาน แล้วก็นั่งปั่นต้นฉบับไป

ภาพนี้คุ้นตาดีสำหรับเจ้าของร้านและเด็กเสิร์ฟที่คุ้นเคย จึงปล่อยให้เรานั่งทำงานได้อย่างสบายใจ

ถ้าไม่ใช่ที่นี่ ก็มีร้านมิสเตอร์โดนัทในย่านสยามสแควร์เช่นกันที่อาศัยนั่งทำงานบ้าง แต่ไม่บ่อยเหมือนที่ร้านเอ็มเค เพราะที่เอ็มเคนี่บางวันทำจนถึงเย็นก็เก็บงานแล้วนั่งกินเหล้าต่อได้เลย

 

อีกอันที่ชอบมากในข้อเขียนของตุ้ม ที่ว่า “แรงบันดาลใจที่ดีที่สุด” สำหรับการเขียนต้นฉบับคือ “เดดไลน์” ขอหัวเราะประกอบหน่อย ฮา ฮา ฮ่า…

เพราะผมเองก็เคยมีอารมณ์เช่นนี้อยู่บ่อยๆ ที่มีเดดไลน์เป็นตัวมายืนชี้ว่า “ต้องคิดให้ออก ต้องเขียนให้เสร็จ” แล้วมันก็คิดออกเขียนเสร็จได้จริงๆ ดีหรือไม่นั่นอีกเรื่อง

เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติของคนที่ต้องเขียนต้นฉบับส่งเป็นประจำ เมื่อครั้งเขียนส่งเป็นรายปักษ์ว่าเร็วแล้วนะ มาส่งเป็นรายสัปดาห์ก็ยิ่งเร็วหนักขึ้นอีก และให้นึกชื่นชมคนที่ต้องเขียนรายวันอย่างมากว่าทำได้ยังไง (วะ)

อีกเรื่องหนึ่งที่ตุ้มเขียนในเล่มนี้ชื่อตอน “พื้นที่แคบ”

ตอนนี้ตุ้มเขียนถึงเรื่องที่เขาเคยถูกเชิญไปพูดบรรยายถึงเรื่อง “การเขียน” ของเขาว่ามีวิธีการอย่างไร เขาบอกว่าทั้งที่เป็นเรื่องที่ทำอยู่ประจำ แต่ก็ไม่รู้จะบรรยายให้ฟังยังไงได้ เพราะมันเป็นเหมือนเรื่องที่ทำตามเงื่อนไขมากกว่าทำเพราะเป็นวิธีเฉพาะทาง

นั่นคือ เขียนตาม “พื้นที่ที่ให้เขียน”

เพราะงานเขียนของตุ้มไม่ใช่เขียนเรื่องสั้นหรือนิยายที่จะยาวแค่ไหนก็ได้ แต่ก่อนเขาเริ่มต้นด้วย “การเขียนข่าว” ที่มีพื้นที่จำกัด ถ้าบ.ก. กำหนดให้เขียนแค่ 50 บรรทัดก็ต้อง 50 บรรทัด จะยาวไปกว่านี้ก็ไม่ได้ ไม่มีที่ลง

ตุ้มบอกว่า “นักเขียน” ที่ไม่เคยเป็น “นักข่าว” จะไม่เข้าใจ นั่นเองทำให้สไตล์การเขียนของตุ้มจึงใช้คำไม่มาก ประโยคไม่เยอะ ไม่พร่ำพรรณนา แต่ว่ากันตรงๆ โป้ง จบข่าว แต่เร้าใจ…แฮ่ม แอบชมกันเอง

 

นี่เองเป็นที่มาของหัวเรื่องว่า “พื้นที่แคบ” ยิ่งสมัยนี้ที่คนนิยมเสพข่าวทางสื่อออนไลน์ ก็ยิ่งจะต้องเขียนให้สั้นกระชับ ให้เหมาะกับขนาดของจอมือถือ และพฤติกรรมของผู้เสพยุคนี้ที่อ่านไว จะไปแล้ว นั่นเอง

แม้คนที่เคยเป็นคนเขียนข่าวลงสิ่งพิมพ์ที่มีพื้นที่หน้ากระดาษจำกัดแล้ว ในช่วงแรกๆ ที่ต้องหันมาเขียนข่าวเพื่อลงหน้าจอมือถือที่มีพื้นที่จำกัดกว่าก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน

ความถนัดของแต่ละคนนั้นต่างกันจริงๆ คนเขียนยุคก่อนที่คุ้นเคยกับการเขียนยาวๆ เมื่อให้มาเขียนอะไรสั้นๆ ก็ทำไม่ค่อยเป็น พลอยจะยาวอยู่เรื่อย ส่วนคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับการเขียนสั้นๆ พอต้องมาเขียนยาวๆ ก็เขียนไม่ได้ไปไม่ถูกก็เยอะ

ในตอนนี้ตุ้มได้ทิ้งท้ายแบบแซวตัวเองว่า “…มีพลังงานหนึ่งที่ทำให้งานเขียนดี นั่นคือ การเอาตัวรอด จะปิดต้นฉบับแล้ว แต่ยังหาเรื่องเขียนไม่ได้ ส่วนใหญ่ต้นฉบับจะออกมาดี แฮ่ม…คล้ายๆ กับเรื่องนี้ครับ” (ฮา)

 

แหม แทงใจดำกันจัง เพราะในขณะที่ผมยังคิดว่าจะเขียนอะไรดีในเครื่องเคียงข้างจอฉบับนี้หนังสือ “โลกที่เห็น เป็นอย่างที่คิด” ของหนุ่มเมืองจันท์ ก็มาช่วยให้เอาตัวรอดได้

ถึงกระนั้น ก็ยังรู้สึกว่าไม่ได้เขียนต้นฉบับแบบพอให้เสร็จ เพราะเขียนได้อย่างสนุก และลื่นไหล ด้วยเป็นเรื่องที่ผมรู้สึกและมีประสบการณ์ร่วมนั่นเอง

ต้องขอบคุณหนังสืออ่านสนุกแฝงความคิดดีๆ ของตุ้มจริงๆ และหนังสือชุดฟาสต์ฟู้ดธุรกิจนี้ ก็สะท้อนความเป็นหนุ่มเมืองจันท์ได้อย่างชัดเจน

ที่ตั้งชื่อตอนตอนนี้ว่า “หนุ่มเมืองจันท์ที่เห็น เป็นอย่างที่คิด” ก็ด้วยประการฉะนี้แล