วิกฤติศตวรรษที่21 : “การสิ้นสุดประวัติศาสตร์” และความเสื่อมโทรมของประชาธิปไตย

วิกฤติประชาธิปไตย (3)

“การสิ้นสุดประวัติศาสตร์”และความเสื่อมโทรมของประชาธิปไตย

ในช่วงปี 1991 มีสองเหตุการณ์ใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นไปของโลก และทำให้สถานการณ์ทั่วไปเป็นอย่างที่เป็นอยู่

เหตุการณ์แรก ได้แก่ การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ที่เป็นคู่แข่งสำคัญของระบอบเสรีประชาธิปไตย และระบบทุนนิยม จนเกิดความปีติทั่วไปในตะวันตกว่า นี่คือชัยชนะของสหรัฐ เป็นชัยชนะของโลกเสรีเหนือลัทธิคอมมิวนิสต์

นักทฤษฎีการเมืองชาวสหรัฐ ฟรานซิส ฟูกุยามา ถึงขั้นสรุปว่ามันคือสัญญาณการสิ้นสุดประวัติศาสตร์ เป็นที่สุดแห่งการวิวัฒนาการทางอุดมการณ์ของมนุษย์ ประวัติศาสตร์มนุษย์จะจบสิ้นที่อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยของระบบทุนนิยม มนุษย์คนสุดท้ายจะอยู่ในระบบที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง

ในหนังสือชื่อ The End of the History and the Last Man (เผยแพร่ครั้งแรกปี 1992) ก่อความแตกตื่นทางวิชาการและทางความคิด หนังสือของเขาติดอันดับขายดียาวนาน

แต่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็จะพากันเชื่อเช่นนั้น เพราะว่าหลายประเทศและผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัว รู้สึกว่าประวัติศาสตร์ของชาติตนเพิ่งยืนได้อีกครั้งในโลกที่ควบคุมโดยสหรัฐและตะวันตกมาหลายร้อยปี ย่อมเห็นว่ามันเป็นการด่วนสรุปไป และมองข้ามอะไรบางอย่างไป

ซึ่งต่อมาฟูกุยามาเองก็ยอมรับ

อีกเหตุการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นเล็กน้อย เป็นวิกฤติในระบบทุนนิยมที่ส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยตะวันตก ได้แก่ เกิดตลาดหุ้นตกถล่มทลายทั่วโลกในปี 1987 เรียกกันในสหรัฐว่า “จันทร์ทมิฬ” ดัชนีดาวโจนส์ลดลงร้อยละ 22.6 ดัชนีในประเทศตะวันตกรวมทั้งในฮ่องกงก็ตกลงอย่างฮวบฮาบ

สาเหตุหลักเกิดจากสินทรัพย์มีมูลค่ามากเกินไป หรือเกิดฟองสบู่ทางการเงินขึ้น เนื่องจากมีการสร้างเครื่องมือทางการเงินขึ้นจำนวนมาก เพื่อประกันความเสี่ยง ที่กระตุ้นให้กล้าเสี่ยงมากขึ้น เพื่อการแสวงหากำไรหรือรายได้ที่ไม่มาก

วิกฤติการเงินปี 1987 นี้เห็นกันว่าเป็นวิกฤติเมล็ดพืชไปสู่วิกฤติการเงินที่ใหญ่ขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ปี 2008 (ดูบทความของ Christopher Matthews ชื่อ 25 Years Later : In the Crash of 1987, the Seeds of the Great Recession ใน business.time.com 22.10.2012 เป็นต้น)

ความเห็นว่า วิกฤติ 1987 เป็นเมล็ดพืชของวิกฤติ 2008 มีเหตุการณ์รองรับอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ ในปี 1992 เกิดวิกฤติการเงินใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว ตัวอย่างเช่น ในอังกฤษ เกิดเหตุ “พุธทมิฬ” (16 กันยายน 1992) ค่าเงินปอนด์ลดต่ำลง จนกระทั่งต้องถอนตัวจากกลไกอัตราแลกเปลี่ยนในยุโรป (ERM) สาเหตุหนึ่งเนื่องจากการโจมตีค่าเงินปอนด์ของนักการเงินใหญ่ของโลก จอร์จ โซรอส

AFP PHOTO

ในญี่ปุ่นเกิดวิกฤติการเงินใหญ่เนื่องจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์และหุ้นแตกในต้นปี 1992 กล่าวกันว่าจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่พื้นตัว ญี่ปุ่นตกอยู่ในสภาพ “ทศวรรษที่หลงทาง” มาหลายทศวรรษ

ต่อมาระหว่างปี 1994-1995 เกิดวิกฤติการเงินประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่สำคัญคือเม็กซิโก ค่าเงินเปโซลดฮวบ (ก่อนหน้านั้นในปี 1982 เม็กซิโกเกิดวิกฤติหนี้ ต้องผิดชำระหนี้)

ต่อมาระหว่างปี 1997-1998 เกิดวิกฤติการเงินในเอเชีย (บางทีเรียกวิกฤติต้มยำกุ้ง) แล้วลามไปยังประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น แม้กระทั่งต่อสหรัฐเอง เมื่อถึงขั้นนี้ เกิดความเห็นกันทั่วไปว่า ระบบการเงินโลกมีปัญหาร้ายแรง จุดอ่อนนี้จำต้องออกแบบแก้ไขใหม่ ซึ่งมีการแก้ไขในระดับหนึ่ง

แต่การปฏิบัติหลักยังคงปฏิบัติในแนวทางเดิม นั่นคือ การยึดหลักการแก้กฎระเบียบที่เอื้อต่อทุนการเงินและบรรษัทใหญ่ การเพิ่มปริมาณเงินกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต ช่วยไถ่ถอนบรรษัทและสถาบันการเงินใหญ่ ซึ่งสามารถกลายเป็นฟองสบู่ใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมอีก

วิกฤติเศรษฐกิจที่สะท้อนความอับจนของระบอบประชาธิปไตยตะวันตกนี้ เป็นสิ่งหนึ่งที่ฟูกุยามามองข้ามไป ยังมีสิ่งอื่นที่ฟูกุยามามองข้ามไป ได้แก่ สิ่งที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์คือแซมมวล ฮันติงตัน ผู้เป็นอาจารย์ของเขาเอง เรียกว่า “การปะทะกันทางอารยธรรม” ที่พื้นฐานเป็นการปะทะกันด้านศาสนาและคุณค่าพื้นฐานของอารยธรรมต่างๆ ในโลก ซึ่งจะขึ้นมาอยู่เหนือการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่ลดลง

ตามแนวคิดของลัทธิมาร์กซ์นั้นเห็นว่า “การปะทะกันทางอารยธรรม” ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อสู้ทางชนชั้น เช่นเดียวกับการต่อสู้ทางอุดมการณ์การเมือง

จากการคลี่คลายของสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปตามข้อเสนอของเขา ฟูกุยามาได้ยอมรับด้านความเสื่อมถอยและวิกฤติประชาธิปไตยโดยเฉพาะในสหรัฐ

ความเสื่อมถอยของประชาธิปไตย ในทัศนะของฟูกุยามา

ฟูกุยามา (เกิด 1952) เป็นนักทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ชาวสหรัฐเชื้อสายญี่ปุ่น ความน่าสนใจของทัศนะเขามีหลายประการด้วยกัน ได้แก่

ก) เขาเป็นนักทฤษฎีซึ่งมีอยู่ไม่มากในสหรัฐ นักวิชาการในสหรัฐจำนวนมากเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือเฉพาะพื้นที่ แต่เขาก็ถ่อมตัวว่าทฤษฎีของเขาอยู่ในระดับปานกลาง ไม่ได้เป็น “ทฤษฎีใหญ่” (อย่างเช่น ทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์)

ทฤษฎีของเขาว่าด้วยกำเนิดและวิวัฒนาการของรัฐและระเบียบการปกครอง โดยเฉพาะวิวัฒนการของรัฐในตะวันตก การกล้าเสนอทฤษฎีของเขาปรากฏในหนังสือชื่อ “ที่สุดแห่งประวัติศาสตร์” อันโด่งดังและเป็นที่ถกเถียงกันมาก และแม้ประสบปัญหาและการท้าทายมาก เขาก็ไม่ได้ละทิ้งงานวิจัยของเขาไป

ข) เขาเป็นคนขยันอดทน และกล้าหาญ ความกล้าแสดงออกที่การเสนอทฤษฎีของเขาในหนังสือชื่อ “ที่สุดแห่งประวัติศาสตร์” อันโด่งดังและเป็นที่ถกเถียงกันมาก ความขยันอดทน แสดงออกที่การไม่ท้อถอยเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามคาดหมายและมีการท้าทายต่อข้อเสนอของเขากว้างขวาง ยังคงสร้างโครงการวิจัยตามแนวทางความคิด สร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญ ในประการต่อมาคือ ค) เขาเป็นเหมือนโฆษกของระบอบประชาธิปไตยตะวันตก เป็นแสงสว่างผู้ให้กำลังใจและคำอธิบายที่ซับซ้อนและดูมีเหตุผลแก่ชนชั้นนำ นักวิชาการและสื่อกระแสหลักจำนวนหนึ่ง ถึงความเหมาะสมที่ตะวันตกจะต้องขึ้นมามีบทบาทนำในโลก เนื่องจากเป็นผู้สร้างระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งคงทนขึ้นมา

แนวคิดของฟูกุยามาพัฒนาเพื่อต่อสู้กับลัทธิมาร์กซ์โดยตรง ขณะที่ลัทธิมาร์กถือแนวคิดวัตถุนิยมวิภาษวิธี เน้นการต่อสู้ทางชนชั้นในการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิต และมีลักษณะเป็นสากลนิยม

ฟูกุยามามีแนวคิดแบบจิตนิยมวิภาษวิธี เน้นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ รูปการณ์จิตสำนึก เห็นว่ารัฐและการเมืองการปกครองมีวิวัฒนาการของตน และถือตะวันตกเป็นศูนย์กลาง

นำไปสู่ข้อสรุปว่าเสรีประชาธิปไตยของตะวันตกเป็นจุดสูงสุดของการพัฒนาของระบบการเมืองของมนุษย์

ลำดับกาลทางความคิดของฟูกุยานับจากหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต พอสรุปได้เป็นหลายช่วงดังนี้ คือ

ก) ช่วงทศวรรษ 1990 มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมใหม่ เขาเข้าร่วมกลุ่มสร้างศตวรรษใหม่ของสหรัฐ ที่เป็นแกนนำของลัทธินี้ ฟูกุยามาเห็นว่าต้องรักษาระเบียบโลกขั้วเดียวไว้โดยการส่งเสริมประชาธิปไตย สร้างสากลนิยมสหรัฐที่เข้มแข็งและมีพันธมิตรเพิ่มขึ้นและรักษา “สันติภาพแบบอเมริกา” ไว้ โดยอาศัยทั้งอำนาจแข็งและอำนาจอ่อน

ข) ช่วงแยกตัวจากลัทธิอนุรักษนิยมใหม่ของประธานาธิบดีบุช และยอมรับการท้าทายต่อข้อเสนอของเขา (กำหนดคร่าวๆ ในช่วงทศวรรษ 2000) เมื่อประธานาธิบดีบุชตัดสินใจทำสงครามอิรักในปี 2003 ฟูกุยามาเห็นว่าเป็นการเสื่อมถอยของลัทธิอนุรักษนิยมใหม่ เขาคัดค้านสงครามอิรักของบุชด้วยเหตุผลใหญ่สามประการได้แก่

1. การเน้นการโจมตีก่อน ทำให้นโยบายต่างประเทศทั้งหมดของสหรัฐแข็งตัวขาดความยืดหยุ่น

2. การยึดลัทธิทหารหรือเน้นการใช้อำนาจแข็งโดยไม่คำนึงถึงเสียงของประชาคมโลกและพันธมิตรของสหรัฐเอง

และ 3. มองข้ามดูเบาภาระการสร้างประชาธิปไตยในอิรัก กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือไม่ได้สนใจที่จะสร้างประชาธิปไตยขึ้นในอิรักอย่างจริงจัง ขณะเขาเห็นว่า เป็นสิ่งสำคัญมาก ในช่วงนี้เขาเผยแพร่หนังสือสำคัญเล่มหนึ่งชื่อ “สหรัฐที่ทางแพร่ง : ประชาธิปไตย, อำนาจ และมรดก ของพวกอนุรักษนิยมใหม่” (เผยแพร่ครั้งแรกปี 2006)

ปี 2007 ในการสนทนาครั้งหนึ่ง ฟูกุยามาสรุปสิ่งท้าทายต่อข้อเสนอของเขาว่ามีอยู่ 4 ข้อด้วยกันได้แก่

ก) การท้าทายทางวัฒนธรรม หรือการปะทะกันทางอารยธรรมที่อยู่เหนือการ ต่อสู้ทางอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้

ข) ประชาธิปไตยไม่ได้ปฏิบัติเป็นสากลทั่วโลก สิ่งกีดขวางสำคัญต่อประชาธิปไตย กลับเป็นลัทธิครองความเป็นใหญ่ของสหรัฐ คำตอบต้องใช้องค์กรข้ามชาติหลายองค์กรในการยกระดับประชาธิปไตย

ค) กับดักความยากจนที่เกิดขึ้นทั่วโลก รัฐในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนไม่น้อยอยู่ในสภาพล้มเหลว

ง) เทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเร็วเกินไปจนไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่มันสร้างขึ้นมา เช่นกรณีโลกร้อน นอกจากนี้ เทคโนโลยีชีวภาพ ยังอาจแปรโฉมมนุษย์ให้ต่างจากกันจนกลับมาเหมือนกันแบบเดิมไม่ได้ซึ่งฟูกุยามาเห็นว่า รัฐควรเข้ามาควบคุมทางด้านศีลธรรม

ในการสนทนาครั้งนี้ ฟูกุยามาเห็นว่าสหภาพยุโรปเป็นจุดสูงสุดของการพัฒนาเสรีประชาธิปไตย ทำให้ข้อเสนอของเขาเป็นจริงได้มากที่สุด (ดูบทรายงานย่อการสนทนาของฟูกุยามา โดย Stewart Brand ชื่อ Francis Fukuyama – “The End of History” Revisited ใน longnow.org 28.06.2007)

 

ค) ช่วงที่สาม กลับสู่รากทางทฤษฎีและแนวคิดรักษาระบอบเสรีประชาธิปไตยให้อยู่รอด (ราวทศวรรษ 2010 ถึงปัจจุบัน) แม้ว่าฟูกุยามาจะเห็นจุดอ่อนในข้อเสนอของเขา และพบความเสื่อมถอยในระบอบเสรีประชาธิปไตยถึงขั้นวิกฤติ แต่เขาก็ไม่ได้เห็นด้วยแม้แต่สักนิดหนึ่งว่า ระบบปกครองที่พัฒนาขึ้นในจีนและรัสเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ จะดีไปกว่าระบอบเสรีประชาธิปไตยของตะวันตก เขายังคงเชื่อว่า เมื่อชนชั้นกลางในจีนเพิ่มขึ้น และเมื่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนลดลง ทำให้ชนชั้นกลางไม่ได้รับประโยชน์เหมือนเดิม พวกเขาเหล่านี้ก็จะลุกขึ้นมาทวงผลประโยชน์ และการมีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตกขึ้น

เขาหันไปวิจัย เสริมความแข็งแรงทางทฤษฎีการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยตะวันตกอีกครั้ง จากโครงการดังกล่าว เขาได้ผลิตหนังสือสำคัญขึ้นสองเล่ม ได้แก่ “กำเนิดระเบียบทางการเมืองจากยุคก่อนมนุษย์ (ตั้งแต่ชิมแปนซี) สู่การปฏิวัติฝรั่งเศส” (เผยแพร่ครั้งแรกปี 2011) และ “ระเบียบทางการเมืองและความเสื่อมถอยทางการเมือง : จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึงการเป็นโลกาภิวัตน์ของประชาธิปไตย” (เผยแพร่ปี 2014)

ในหนังสือเหล่านี้ ฟูกุยามากล่าวย้อนไปถึงธรรมชาติของมนุษย์ เพื่ออธิบายพัฒนาของรัฐ ที่เริ่มจากสังคมที่ไม่มีรัฐจนกระทั่งเกิดมีรัฐขึ้น และพัฒนาการของรัฐจากรัฐดั้งเดิมสู่รัฐที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการปฏิวัติประชาธิปไตยในฝรั่งเศส การเกิดขึ้นของสำนึกในสิทธิมนุษยชนในตะวันตก เกิดจากการทำให้ศาสนาคริสต์เป็นเชิงโลกวิสัย นำมาสู่กลไกของความโปร่งใส จะมีการปกครองที่ดีได้ก็ต้องมีการป้อนกลับ คือการตรวจสอบได้ ซึ่งที่สำคัญ ได้แก่ การเลือกตั้ง เมื่อเกิดชนชั้นกลางในเมือง คนเหล่านี้ต้องการการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ฟูกุยามาเห็นว่าระบอบเสรีประชาธิปไตยมีจุดแข็งสำคัญ ได้แก่ การแบ่งอำนาจปกครองเป็นสามส่วน เพื่อป้องกันการรวมศูนย์อำนาจ การปกครองของกฎหมายหรือธรรมาภิบาล การมีกฎระเบียบซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ไม่ใช่กฎหมายที่สร้างขึ้นมาด้วยอำนาจกดขี่ การตรวจสอบได้ซึ่งกลไกสำคัญได้แก่การเลือกตั้ง อย่างเช่นระบบสี จิ้น ผิง ขาดกลไกนี้ ถ้าดีก็ดีไป ถ้าร้ายก็ร้ายมาก

แต่ระบอบเสรีประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งและเขาไม่เคยคิดว่ามันเสื่อมถอยได้ กลับเสื่อมถอยลงในกระบวนโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ระบอบเสรีประชาธิปไตยแพร่กระจายไป เนื่องจากกระบวนโลกาภิวัตน์นี้กระจายผลประโยชน์อย่างเหลื่อมล้ำ เกิดความขัดแย้งกันเองในประเทศประชาธิปไตย

ในสหรัฐ ประชาชนที่ไม่พอใจต่อสภาพนี้ หันไปเลือกทรัมป์เป็นประธานาธิบดีซึ่งทำให้เรื่องยิ่งเลวร้ายลงอีก

นอกจากนี้ อิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์มีสูงมาก ทำให้ระบบสองพรรคในสหรัฐไม่ทำงาน

ในภาวะวิกฤติประชาธิปไตยเมื่อระบอบประชาธิปไตยไม่ทำงาน ฟูกุยามาเห็นว่าเป็นหน้าที่ของชนชั้นนำโลก โดยเฉพาะในสหรัฐและตะวันตกจะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงในโลกให้ทัน และหาทางรักษาระบอบเสรีประชาธิปไตยไว้

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยจากจอร์จ โซรอส เศรษฐีอเมริกัน ถึง เอ็มมานูแอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส