“ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (30) ข่วงหลวงเวียงแก้ว : จะจัดการอย่างไรกับพื้นที่ทับซ้อนทางประวัติศาสตร์? ตอนจบ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

บทความนี้ได้นำเสนอมุมมองจากสองฝ่ายเกี่ยวกับประเด็นคาใจชาวเชียงใหม่ที่ว่า “ทำไม ข่วงหลวงเวียงแก้ว จึงต้องกลายสภาพเป็นคุก” ไปแล้ว

จากวิทยากรสองท่าน

 

นิติรัฐ VS นิติธรรม

ท่านแรกคือ อาจารย์วรชาติ มีชูบท นักจดหมายเหตุอิสระ ใช้เอกสารลายลักษณ์ฝ่ายสยามเป็นข้อมูลอ้างอิง ได้ข้อสรุปว่า การปรับเปลี่ยนสถานภาพ “คุ้มหลวงของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่” ให้กลายเป็นเรือนจำนั้น ไม่ได้เกิดจากการที่รัฐบาลสยามมีอคติต่อชาวล้านนา หรือเจตนาจะย่ำยี

หากแต่เป็นไปเพราะความสมเหตุสมผลด้วยความจำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่ตอนกลางเวียงเชียงใหม่ ให้สอดประสานกลมกลืนกันทั้งโซน คือเมื่อมีศาลากลาง ก็ต้องมีจวนผู้ว่าฯ เมื่อมีสถานกงสุล ก็ต้องมีศาล และต้องมีเรือนจำ อีกทั้งผู้ยินดียกมอบพื้นที่คุ้มหลวง (ที่ไม่ใช้งานแล้ว) ผืนนั้น ก็เกิดจากฝ่ายเจ้านายเชียงใหม่เอง

ซึ่งชาวเชียงใหม่ก็รับทราบคำอธิบายดังกล่าวของอาจารย์วรชาติอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งทุกประการ แต่ปัญหามันมีอยู่ว่า

ระหว่างความถูกต้องทางกฎหมาย กับความรู้สึกถูกย่ำยีทางจิตวิญญาณของคนท้องถิ่นนั้น บางครั้งเรามิอาจใช้มาตรวัดด้านเหตุและผลทางหลักนิติศาสตร์ หรือหลักรัฐศาสตร์ มาเป็นเกณฑ์วัดความถูกผิดได้เพียงอย่างเดียว

เหตุที่มนุษย์มีทั้งจารีต ประเพณี ความเชื่อ ความศรัทธา และจิตวิญญาณ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในกรณีของข่วงหลวงเวียงแก้วที่ต้องกลายสภาพเป็นคุก จึงส่งผลกระทบกระเทืองทางจิตใจต่อชาวล้านนา ไม่ได้ต่างอะไรไปจาก

กรณีของบ้านพักตุลาการ หรือบ้านป่าแหว่งแลนด์ ที่กำลังเป็นข่าวครึกโครมอยู่ในขณะนี้แต่อย่างใดเลย

 

ได้หลักฐานโบราณคดี แล้วไงต่อ?

วิทยากรอีกท่านหนึ่งคือ คุณสายกลาง จินดาสุ ทำหน้าที่ขุดค้นทางโบราณคดี หาหลักฐานใต้ชั้นดินมานำเสนอให้พวกเราดู จนได้ข้อสรุปว่า การใช้พื้นที่ข่วงหลวงเวียงแก้วมีการทับซ้อนหลายยุคหลายสมัยจริง 3-4 ชั้น (แม้ชั้นเก่าสุดยังไม่พบหลักฐานเก่าถึงยุคพระญามังรายก็ตาม)

เมื่อได้หลักฐานทางโบราณคดีมาแล้ว เราควรเดินหน้าอย่างไรกันต่อเล่า

สิ่งนี้ต่างหากคือเรื่องที่ชาวเชียงใหม่ต้องช่วยขบคิดกันต่ออีกครั้ง

เนื่องจากปัญหาที่เรายังต้องเผชิญหน้าอยู่เต็มหมัดตอนนี้ มีอยู่ถึง 4 ด้าน คือ

1. ตั้งแต่ปี 2556 ภาครัฐเปิดให้มีการออกแบบโฉมหน้าของข่วงหลวงเวียงแก้วไปแล้วล่วงหน้า ทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบผลการขุดค้นทางโบราณคดี

ปัญหานี้ฝ่ายรับผิดชอบการออกแบบ (เทศบาลนครเชียงใหม่) จะมีการเชิญเจ้าของแบบที่ชนะการประกวดมาคุยกันอย่างไรต่อ เพื่อไม่ให้เสียความรู้สึก และเกิดข้อขัดแย้งที่จะร่วมงานเดินหน้ากันต่อไป

ทางเลือกมีสองแนว

แนวแรก คือประกาศยกเลิกแบบประกวดนั้นไปเสีย แล้วพิจารณาการใช้สอยพื้นที่ตามสภาพจริงหลังขุดค้นทางโบราณคดี

แนวทางที่สอง ใช้วิธีอลุ้มอล่วย ให้ผู้ชนะการประกวดรายเดิมปรับแก้แบบใหม่

2. ปัญหาข้อขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่า การใช้พื้นที่ของความเป็น “คุ้มหลวง” นั้น

ทำไมจึงไม่พบหลักฐานที่เก่าแก่ 700 ปีในสมัยพระญามังราย ทำไมจึงพบแค่ยุค 500 ปีในสมัยพระญาติโลกราช?

แล้วคุ้มของพระญามังราย ควรตั้งอยู่ตรงไหน หรือว่าหลุมขุดค้นที่เราสุ่มสแกนทางธรณีฟิสิกส์ แค่จุดเล็กๆ 5-6 จุด นั้น ยังไม่ใช่หลุมที่เก่าที่สุด? (และเหตุที่ไม่สามารถสแกนได้ทั่วทุกจุด ก็เพราะเรายังไม่สามารถรื้ออาคารได้หมดทุกหลัง ในลักษณะ Clearing Building)

3. เกี่ยวเนื่องเป็นงูกินหางจากข้อ 2 การที่ไม่สามารถรื้อถอนอาคารลงได้ทั้งหมด เพราะต้องรอให้มีการประเมินคุณค่าอาคารกันอีกด้วยว่า ควรจะเก็บหลังไหน และควรจะรื้อหลังไหน

เหตุผลที่คณะกรรมการบางท่านเห็นสมควรให้เก็บอาคารไว้ ก็เนื่องมาจากพิจารณาเห็นคุณค่าความสำคัญ ทั้งในฐานะความสำคัญทางประวัติศาสตร์ (คือครั้งหนึ่งพื้นที่นี้เคยเป็นคุกในยุคปฏิรูปการปกครอง) และในฐานะสุนทรียสถาปัตย์ (คืออาคารไม้สักหลายหลังมีคุณค่าในตัวของมันเอง)

แต่ในที่สุด จังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการประเมินคุณค่าอาคาร ประกอบด้วยตัวแทนของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ คณาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้งจาก มช. ม.เทคโนโลยีราชมงคล คณะวิจิตรศิลป์ ศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้ามาประเมินคุณค่าอาคาร

ตอนแรกคัดเลือกไว้ 6 หลัง ที่พบว่ามีความสำคัญและน่าสนใจ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา ไม่ใช่อาคารสร้างใหม่หยาบๆ ประกอบด้วย 1. อาคารอำนวยการ 2. และ 3. อาคารสองหลังซ้าย-ขวากระหนาบปีกของอาคารอำนวยการ 4. และ 5. อาคารพยาบาล และอาคารเครือฟ้า 6. อาคารเฮือนเพ็ญ

ต่อมามติที่ประชุมคณะกรรมการขั้นสุดท้ายก็ออกหัวออกก้อยมาแล้วว่า สมควรให้เก็บอาคารไว้แค่ 2 หลัง (จากตอนแรกตั้งใจจะเก็บมากถึง 6 หลัง ค่อยๆ ลดเหลือ 4 และ 2 ตามลำดับ)

4. ด้านสุดท้าย ปัญหาที่ต้องเผชิญหน้าคือ คนในพื้นที่แถวนี้ส่วนใหญ่รู้สึกอึดอัด ทั้งต่องานด้านโบราณคดีที่ยังคาราคาซัง และทั้งรู้สึกรำคาญหูรำคาญตาต่ออาคารเรือนจำเดิม 2-4 หลังที่ยังตั้งตระหง่านอยู่ ไม่ยอมรื้อถอน คนกลุ่มนี้ต้องการให้ปิดหลุมโบราณคดี พร้อมกับให้รื้ออาคารทิ้งลงทั้งหมด เพื่อ “เปิดพื้นที่สีเขียว” เท่านั้น

โดยชุมชนได้ตั้งคำถามว่า “เป็นมติของใครหรือ ที่จะให้มีการเก็บอาคาร? เป็นความคิดของภาครัฐ นักวิชาการกลุ่มใด ได้ถามประชาชนชาวเชียงใหม่แล้วหรือยัง คนเชียงใหม่รู้กันถ้วนหน้าแล้วหรือว่าจะให้มีการเก็บอาคารสองหลังนั้น?”

 

อย่ามองล้านนาแบบแยกส่วน

สายกลาง จินดาสุ ตอบคำถามต่อกรณีที่มีผู้สงสัยว่าทำไมภาครัฐยังต้องเก็บอาคารไว้อีก 2 หลัง ทั้งๆ ที่น่าจะเป็น “เสนียดเมือง” หรือ “ตกขึด” ตามแนวคิดของชาวชียงใหม่ที่ไม่ปรารถนาจะเห็นร่องรอยหลักฐาน ว่าครั้งหนึ่งเคยมีการสร้างคุกทับที่หอคำหลวงอีกต่อไป

สายกลางขอให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ ช่วยมองภาพรวมของพื้นที่เมืองเชียงใหม่ให้ครบในทุกช่วงเวลา เพราะทั้งหมดล้วนคือความเป็นเมืองเชียงใหม่ เราไม่ควรมองพื้นที่ทับซ้อนนี้แบบแยกส่วนว่า นี่คือยุคล้านนา นั่นคือยุค ร.5

โน่นคือยุค ร.8

แต่ทุกๆ พื้นที่ควรมีความสำคัญทัดเทียมกัน ในแต่ละช่วงย่อมมีคุณค่าในตัวของเขาเอง ไม่ว่าในแง่ใดแง่หนึ่ง แม้ว่าชาวเชียงใหม่เคยทำประชาพิจารณ์กันมาแล้ว ได้ข้อสรุปว่าคนส่วนใหญ่ต้องการให้รื้อทิ้งอาคารเรือนจำนั้นทั้งหมดก็ตาม เป็นเพราะการคุยกันในอดีต ยังไม่ได้มีการศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอาคารอย่างถ่องแท้

แน่นอนว่า ครั้นจะมาล้างผลประชาพิจารณ์ของประชาชน ด้วยมุมมองของคณะกรรมการเพียงไม่กี่คน ก็รู้สึกว่ากระไรอยู่

แต่ครั้นสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์จะต้องถูกรื้อทิ้งไปด้วยผลของการประชาพิจารณ์ ก็ดูไม่คุ้มค่า

เผอิญว่า ยังมีอีกหนึ่งโจทย์ คือแบบที่ชนะการประกวดมาแล้วว่าจะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นอาคารหอประวัติศาสตร์อย่างไร ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปร

ฉะนั้น สิ่งที่คณะกรรมการต้องขบคิดกันต่อก็คือ เราต้องร่วมกันหาทางออกที่ 3 ให้ได้ นั่นคืออาจจัดประชาพิจารณ์อีกครั้ง และอาจต้องนำผังการออกแบบมาพิจารณากันใหม่อีกรอบ

 

คุยกันอีกรอบ อย่าให้ซ้ำรอย “ป่าแหว่ง”

สายกลางเสนอว่า อยากจะขอให้ประชาชนลองทบทวนดูความเป็นจริงและร่วมตัดสินใจกันอีกรอบ เนื่องจากสถานการณ์มันได้เปลี่ยนไปแล้ว การประชาพิจารณ์คราวก่อน ตั้งอยู่บนความรู้สึกล้วนๆ ของคนที่ไม่ต้องการคอก จึงอยากรื้อเพื่อถอนขึด โดยไม่มีใครเคยเข้าไปศึกษาคุณค่าของอาคารมาก่อน

ยอมรับว่าตอนแรกนั้น ก่อนที่เราจะเริ่มโครงการ เป็นแนวคิดจากนามธรรมสู่รูปธรรม (ซึ่งย้อนศรมากๆ ขัดกับตรรกะมาตรฐานทั่วไป)

ดังนั้น ใครจะพูดอะไรเสนออะไรก็ได้ เพราะเราต่างยังไม่มีใครมองเห็นภาพรวมของความเป็นจริง เราต่างยังไม่มีจินตนาการ ยอมรับว่ามืดมน ต่างพูดไปตามความรู้สึก

แม้แต่กรมศิลปากรเองก่อนนั้นก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าเราจะเดินกันอย่างไร แต่ละคนล้วนเห็นต่าง เราถกเถียงกันมามาก การเริ่มต้นขับเคลื่อนงานก็ไม่รู้จะเริ่มกันอย่างไร อันไหนก่อนหลัง จู่ๆ ก็ออกแบบก่อนขุดค้นทางโบราณคดี ระยะเวลาก็ไม่รู้จะเริ่มเมื่อไหร่ ทุกอย่างดูเหมือนตีบตันจนมุมไปหมด

และเมื่อมาถึงจุดนี้ เราผ่านกระบวนการขุดค้นทางโบราณคดีมาเรียบร้อยแล้ว ผ่านการประเมินคุณค่าอาคารว่าควรเก็บสัก 2 หลัง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต

สิ่งที่ภาครัฐต้องทำต่อไป คือ การโยนคำถามกลับคืนสู่ภาคประชาชนอีกครั้ง ด้วยการจัดประชาพิจารณ์ขอรับฟังความเห็น ใครจะรู้ ประชาชนอาจตระหนักถึงคุณค่าของอาคาร Colonial Style ที่เหลือไม่กี่หลังแล้วในล้านนา อาจไม่ขัดข้องก็เป็นได้ ประชาชนอาจมองว่าอาคาร 2 หลังนี้ คิดเสียว่าเก็บไว้เป็นอนุสรณ์ของประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง ยุคปฏิรูปการปกครองของสยามก็ไม่เสียหลาย

ดีไม่ดี ผลลัพธ์ก็อาจ win win ด้วยกันทุกฝ่าย

ดีกว่ามุบมิบงุบงิบทำ มองไม่เห็นหัวประชาชน แล้ววันข้างหน้ารัฐบาลอาจต้องมานั่งปวดหัว ต้านกระแสต่อต้านของชุมชนไม่ไหว เฉกเดียวกับกรณีบ้านป่าแหว่ง ดังที่ผู้ถือกฎหมายสูงสุดกำลังร้อนๆ หนาวๆ อยู่ในขณะนี้นั่นแล