ระบบปฐมภูมิ ‘โมเดล 5’ ใจกลางกรุงฯ มิติใหม่ แก้วิกฤตคนไปไม่ถึง รพ./รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

ระบบปฐมภูมิ ‘โมเดล 5’

ใจกลางกรุงฯ

มิติใหม่ แก้วิกฤตคนไปไม่ถึง รพ.

 

พื้นที่กรุงเทพฯ ถือเป็น ‘ช่องโหว่’ สำคัญ สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากเป็นเมืองใหญ่ มีความสลับซับซ้อนของปัญหา ของประชากร และที่สำคัญคือกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ไม่มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไม่มีโรงพยาบาลอำเภอ นั่นทำให้คนไข้จำนวนมากต้องแออัดยัดเยียดเข้าไปในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง จนทำให้คนไข้ล้นหนัก ขณะที่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน และประกันสุขภาพเอกชนก็โตวันโตคืน จากความ ‘ไม่พร้อม’ ของระบบบริการ

ในครั้งเริ่มต้นของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีความพยายามดึงโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อผ่านไปนานวันเข้า ความท้าทายของระบบนี้ก็คือ ยิ่งนานวัน ยิ่งไม่สามารถขยายเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนให้กว้างออกไปได้

นั่นทำให้ปัญหาการกระจุกตัวของคนไข้ในโรงพยาบาลของรัฐที่รับคนไข้ในระบบ 30 บาทฯ ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังของระบบนี้

ปัญหาทั้งหมดส่งผลทำให้คนไข้ใช้บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่มากนัก จากข้อมูลการเข้ารับบริการของประชาชนสิทธิบัตรทองใน กทม. พบว่า อัตราการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอกของคนไข้ในระบบ 30 บาทฯ ที่ลงทะเบียนอยู่ในกรุงเทพฯ เกือบ 3 ล้านคน อยู่ที่เพียง 1.7 ครั้งต่อคนต่อปี เท่านั้น น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่อยู่ที่ 3.4 ครั้งต่อคนต่อปี

และเมื่อเข้าใช้บริการไม่มากตั้งแต่ต้น ก็จะเข้าใช้บริการอีกครั้งในช่วงที่ป่วยหนัก หรือมีอาการเข้าข่ายวิกฤตแล้ว ส่งผลให้เตียงผู้ป่วยโรงพยาบาลใหญ่ล้นตามไปด้วย

ปัจจุบัน พื้นที่กรุงเทพฯ มีหน่วยบริการในระบบบัตรทองอยู่ราว 300 แห่ง โดย 30 แห่ง ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ อีก 270 แห่ง กระจายอยู่ทั่วกรุง

ปัญหาก็คือใน 270 แห่งนั้น ถูกจัดการอย่างกระจัดกระจาย บางเขต อาทิ เขตราชเทวี ซึ่งเป็นศูนย์รวมโรงพยาบาลใหญ่ที่โรงพยาบาลรับส่งต่ออย่างโรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎ

ขณะที่อีกหลายเขต มีหน่วยบริการในระบบบัตรทองน้อยมาก และบางเขตไม่มีหน่วยบริการปฐมภูมิให้ประชาชนสิทธิบัตรทองเลือกลงทะเบียนเลย เช่น คลองสาน คลองเตย จอมทอง ดุสิต ทุ่งครุ ธนบุรี พระโขนง ราษฎร์บูรณะ ลาดกระบัง วังทองหลาง

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งล้วน ‘ไม่สะดวก’ ที่จะเข้ารับบริการ เนื่องจากต้องไปตามเวลานัดตามระบบราชการ… เป็นที่รู้กันว่าคนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยต้องเข้างานเช้า ออกงานค่ำ และกว่าจะถึงบ้าน บางครั้งก็ดึกดื่น นั่นจึงทำให้ระบบบริการที่มีอยู่ ‘ไม่สะดวก’ อีกต่อไป

กระนั้นเอง ที่ผ่านมา มีความพยายามอุดรูรั่วของระบบ ตั้งแต่การขยายโครงข่าย ‘คลินิกชุมชนอบอุ่น’ เพื่อรับหน้าที่เป็นด่านหน้า หรือการออกนโยบาย ‘เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์’ เพื่อแก้ปัญหาคนไข้ฉุกเฉินสีแดงคือวิกฤตถึงแก่ชีวิตที่ต้องเข้ารับการรักษาโดยเร่งด่วน หรือการดึงร้านขายยาเข้ามาเป็นพันธมิตร เป็นจุดปะทะเริ่มแรก

แต่ปัญหาใหญ่ก็ยังคงอยู่ นั่นคือการมี ‘ระบบบริการสาธารณสุข’ ที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนคนไข้ มีความพยายามวิเคราะห์ปัญหา – หาทางออกกันอย่างหนักหน่วง จนได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่าระบบที่ดี ต้องเริ่มจาก ‘หน้าด่าน’ หรือระบบปฐมภูมิที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดในปลายทางคือโรงพยาบาลใหญ่

ทั้งหมดนี้คือที่มาของโครงการ ‘หน่วยบริการปฐมภูมิ โมเดล 5’ บริการใหม่แกะกล่องสำหรับคนไข้สิทธิบัตรทอง เป็นการกลับหัวกลับหางวิธีคิดใหม่ ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็น ‘แม่ข่าย’ จากนั้น ก็ดึงคลินิกเวชกรรมต่างๆ เข้ามาเป็นลูกข่าย เปิดให้ประชาชนสามารถเดินไปใช้บริการได้ทุกที่ ทุกหน่วยบริการ ไม่จำเป็นต้องเดินเข้าไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิที่ลงทะเบียนไว้ตามระบบ ก็สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้

สำหรับคำว่า ‘โมเดล 5’ มาจาก โมเดล 1-4 คือ เริ่มจาก ‘ตามระบบ’ ไปที่หน่วยบริการของตัวเองก่อน และล่าสุดคือโมเดล 5 คือการให้ทุกคลินิกเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ให้คนไข้สะดวกสบายที่สุด พร้อมทั้งรับสมัครคลินิกประเภทต่างๆ เข้ามาให้บริการมากขึ้น เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกแพทย์เฉพาะทาง ฯลฯ ที่เปิดนอกเวลาราชการ เพื่อดึงคนเมืองให้เข้าไปรักษามากขึ้น อีกทั้งในส่วนของค่าบริการ สปสช. ยังได้ปรับให้เป็นการเบิกจ่ายตามรายการบริการ (fee schedule) ที่ครอบคลุมกว่า 4,000 รายการ ทั้งในด้านรักษาพยาบาล และการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ในอีกช่องทางหนึ่ง สปสช. ยังจับมือกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในยุคของ ผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งกำลังทำโครงการ ‘ดุสิตโมเดล’ เพื่อเชื่อมหน่วยบริการบริวารเข้ากับโรงพยาบาลใหญ่ อาทิ วชิรพยาบาล ในเขตดุสิต เชื่อมกับศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. และคลินิกชุมชนอบอุ่น โดยใช้ ‘เทเลเมดิซีน’ เป็นตัวช่วยคัดกรองอาการ คัดกรองคนไข้ และ ‘ราชพิพัฒน์แซนด์บ็อกซ์’ ที่เกิดขึ้นในรูปแบบเดียวกัน

วันนี้ สปสช. และ กทม. เห็นตรงกันว่า เทเลเมดิซีน จะเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะส่วนของผู้ป่วยเรื้อรัง ที่ต้องพบแพทย์เป็นประจำ – รับยาเป็นประจำ ให้เข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น เข้าไปใช้บริการผ่าน ‘ร้านขายยา’ ก็สะดวก หรือจะใช้บริการผ่านหน่วยบริการปฐมภูมิ โมเดล 5 ก็ทำได้ง่าย

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ชุมชนหนาแน่น และประชาชนอาจยังเข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุข กทม. ยังจัดรถโมบายยูนิตเพื่อให้บริการเชิงรุก เข้าไปตรวจในชุมชน หรือเข้าไปช่วยให้บริการเทเลเมดิซีนเพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ และเงินภาษีทุกบาททุกสตางค์ ถูกใช้บริการอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

หากเป็นไปตามนี้ ก็จะตอบโจทย์เรื่องบริการปฐมภูมิ สามารถดึงระบบบริการให้มีจำนวนมากขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น พร้อมโอบรับผู้ใช้บริการทั้ง 3 ล้านคน และในที่สุดจะพิสูจน์สมมติฐานว่าการที่ในกรุงเทพฯ มีผู้ใช้บริการในระบบบริการไม่มากนักนั้น มาจากเรื่องดังกล่าวเพียงอย่างเดียวหรือไม่

เพราะสุดท้ายแล้ว การบริการที่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ‘จำนวน’ อย่างเดียว หากแต่ขึ้นกับการบริหารจัดการว่าสามารถเชื่อมโยงทุกองคาพยพเข้าด้วยกันได้หรือไม่

หากสามารถเชื่อมโยงได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และอาจเป็นโมเดลที่จังหวัดปริมณฑล หรือเมืองใหญ่ๆ เมืองอื่น อาจนำไปเรียนรู้ได้ในที่สุด