ห้องเรียนนักฝัน จากปณิธานชิ้นงาน สู่อุดมการณ์ชีวิต

จากการขับมอเตอร์ไซค์ไปซื้อของ และผ่านหน้าบ้านซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงปั้น

นั่นทำให้ สมคิด มีโอกาสได้เห็นพระพุทธรูปอันมีพุทธลักษณะงดงามจับจิตจับใจ

จน หนุ่มไทใหญ่ เกิดเป็นความสงสัยขึ้นมาว่า ผู้ที่ปั้นพระพุทธรูปองค์นี้เป็นใครกัน

และเมื่อผ่านไปมาบนถนนสายเดิมบ่อยครั้งขึ้น จึงตัดสินใจเข้าไปสอบถามให้คลายสงสัย

“ตอนนั้นอาจารย์กำลังขึ้นโครง สอนลูกศิษย์หลายคน อาจารย์ก็บอกว่าถ้าจะดูก็เห็นอยู่นี่แหละ แต่ถ้าจะให้ความรู้ได้ต้องมาทำงาน ทีนี้แหละครับโอกาสเลย”

สมคิดเล่าย้อนเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างแม่นยำ ก่อนทิ้งท้ายด้วยเสียงหัวเราะอารมณ์ดี

งานนี้แม้ อาจารย์กิตติพงษ์ สุริยทองชื่น จะพูดเป็นเชิงเปิดทางอยู่ในที

แต่เรื่องของเรื่องคือเขายังต้องทำงานประจำที่รีสอร์ตแห่งหนึ่ง เบื้องต้นจึงใช้วันหยุดหรือช่วงที่มีเวลาว่างแวะเวียนเข้ามาสังเกตการณ์ รวมทั้งศึกษาหาความรู้เท่าที่โอกาสจะอำนวย

“ใจมันมาแล้ว ทีนี้ช่วงหนึ่งผมก็ตัดสินใจบอกกับทางรีสอร์ตว่า อยากจะขอไปเรียนเพิ่มเติม แล้วอาจารย์ก็บอกว่าโอเคมาเลย”

จากวันที่ตัดสินใจพาชีวิตเข้ามาสู่ชายคาโรงปั้นแห่งเมืองฝาง เชียงใหม่ จากวันที่เริ่มรู้จักอาจารย์กิตติพงษ์ จากพนักงานรีสอร์ตมีหน้าที่แกะสลักไม้ และปั้นงานไปตามความเข้าใจของตัวเอง

วันนี้ภายในห้องเรียนมีนักฝัน ความคิดของสมคิดได้เปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ

“แต่ก่อนผมยังไม่ทราบว่างานศิลปะที่ลึกซึ้งเป็นยังไง รู้เพียงแต่ว่าอยากวาดรูปเก่ง อยากปั้นเก่ง อยากปั้นคนให้เหมือนก็แค่นั้น เพราะที่ผ่านมาเจ้าของรีสอร์ตให้ไอเดีย แต่เขาก็ให้โอกาสพอสมควร เอามาต่อที่นี่ได้เป็นอย่างดี เหมือนตรงนั้นยังไม่ได้เรียบเรียงเป็นระบบ กระจายตามที่เรารู้เอง แต่มาตรงนี้แล้วอาจารย์เปลี่ยนแนวทางการคิด การทำงานเป็นหนึ่ง สอง สาม เพื่อจะบรรลุเป้าหมาย”

สมคิดอธิบายถึงรอยต่อครั้งนั้นอย่างชัดถ้อยชัดคำ ทั้งพยายามเชื่อมร้อยต้นทุนเดิมที่มีมาก่อน จากโอกาสที่ได้รับสมัยทำงานรีสอร์ต กับโอกาสครั้งใหม่ซึ่งอาจารย์กิตติพงษ์ได้ทำการสอนอย่างมืออาชีพ เพื่อมุ่งความเป็นเลิศของทั้งชิ้นงานและจิตใจผู้สร้างงาน

กระทั่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในชีวิต

“เทียบหลายปีที่ผ่านมากับช่วงเวลาที่มาอยู่ตรงนี้ ผมคิดว่ามีบางสิ่งในจิตใจของผมที่เปลี่ยนแปลง ก็คือรู้สึกว่าเราเข้มแข็งขึ้น สามารถเผชิญกับอุปสรรค เผชิญกับสิ่งที่มันมาโดยไม่ตั้งตัว คือเรารู้สึกนิ่ง สงบ รับมือกับมันได้”

ตรงข้ามกับชีวิตก่อนหน้า สมคิดยอมรับว่าในสถานการณ์คล้ายกัน เขาไม่สามารถแม้แต่จะควบคุมจิตใจไว้ได้ จนกลายเป็นความฟุ้งซ่านและวิตกกังวล

แต่การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงปั้นแห่งนี้ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตเปลี่ยนไปอย่างเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มากบ้างน้อยบ้างปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องทำนองนี้มักเกิดขึ้นกับผู้รู้จักขัดเกลาชิ้นงาน และขัดเกลาตัวเองไปพร้อมๆ กัน

“วันนี้มีอยู่มีกิน ได้มาเป็นผู้ช่วยศิลปิน รู้สึกว่าต้องทำเต็มที่ แต่ผมไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นยังไง ก็ปล่อยมันเป็นอนาคตไป ทำให้ดีที่สุดวันต่อวัน พยายามเข้าใจ พยายามดูในรอยมือหรือสิ่งที่อาจารย์บอกแล้วไปคิดไตร่ตรอง เราผิดตรงไหน ทำอะไรบกพร่อง แล้วควรจะเติมตรงไหนเพิ่มเข้าไป”

เหนืออื่นใด ยังได้เรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง ต่างจากการทำงานประจำที่กำหนดชัดเจนเรื่องวันหยุด-วันลา เพราะโรงปั้นแห่งนี้ไม่ได้ดำเนินการโดยใช้ระบบธุรกิจขับเคลื่อน หากคือครอบครัวที่สามารถยืดหยุ่นกันได้ โดยที่ชีวิตและงานไม่พลัดพรากจากกัน

“ภารกิจอาจารย์เยอะมาก จะทำอย่างเดียวให้เสร็จก็ไม่ได้ ต้องดูแลลูกศิษย์ทีละคน และมีทั้งงานเก่า งานเข้ามาใหม่ ทุกอย่างต้องคำนวณเวลา มีกำหนด อาจารย์เลยต้องวางแผนทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน ซึ่งต้องใช้พลังมาก”

เมื่อมองเห็นและเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี นั่นทำให้ทุกช่วงของสมคิดเป็นเวลาอันสำคัญยิ่ง เพราะเขาได้มีโอกาสร่วมทำงานแทบทุกชิ้นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะชิ้นงานประติมากรรมนูนต่ำขนาดใหญ่ ซึ่งเจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน มอบหมายให้อาจารย์กิตติพงษ์เป็นผู้สร้างสรรค์ ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการติดตั้ง

“เป็นงานนูนต่ำ ผมปั้นทหารซึ่งเป็นชนชาติจากดอยไตแลง เผ่าของผมอยู่แล้ว รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง โอ้โฮ… นี่คือชาติของเรา ถึงไม่ได้เป็นทหารหรือเกณฑ์ทหาร แต่ตรงนี้เราทำเพื่อชาติ รู้สึกว่าชาตินี้ได้ทำเพื่อชาติแล้ว”

แม้จะไม่ได้เป็นทหารจับปืนสู้รบ แต่มือจับเหล็กขูดของสมคิดรักชาติไม่ต่างกัน

ที่สำคัญ มืองานคู่นี้เป็นส่วนหนึ่งร่วมสร้างงานศิลป์ ซึ่งจะเด่นตระหง่านไปชั่วลูกชั่วหลาน

และในฐานะที่มีสายเลือดไทใหญ่เต็มตัว เขาระลึกเสมอว่าจะมีพี่น้องร่วมชาติสักกี่คนได้รับโอกาสสำคัญเช่นนี้

เพราะนอกจากได้ทำงานสุจริตเพื่อเลี้ยงชีพแล้ว ยังได้รับใช้ชาติผ่านงานศิลปะอย่างเป็นความภาคภูมิ

“ที่ผ่านมาทั้งชีวิตเลย ผมไม่เคยเรียนด้านศิลปะ ไม่เคยรู้อะไรเลยสักอย่าง จากตรงนี้ผมได้มาเรียนรู้จากอาจารย์ สำหรับงานนี้เพื่อชาติไตของเรา ผมมองอย่างนั้น และหวังลึกๆ ว่าอนาคตจะมีโอกาสได้ทำแบบนี้อีก”

สมคิดมั่นใจและเต็มใจ ถ้าวันหนึ่งข้างหน้าจะมีโอกาสรับใช้ชาติอีก แต่ระหว่างนี้เขาไม่ละเลยเก็บสะสมวิชาความรู้ ทั้งยังวางแผนชีวิตควบคู่กันไปด้วยอย่างรอบคอบ กระทั่งผสานเป็นเรื่องราวเดียวกัน

ซึ่งคงไม่เกินเลยที่จะบอกว่า ทุกวันนี้งานปั้นกับชีวิตของหนุ่มไทใหญ่ผู้นี้ เป็นเนื้อดินเดียวกันแล้วอย่างแยกไม่ออก

“ผมมาเรียนกับอาจารย์ตรงนี้ ไม่ใช่สอนให้แค่ปั้นเก่ง หรือสอนให้หาเลี้ยงครอบครัวเท่านั้น แต่ยังสอนถึงการจะอยู่ไปในอนาคตข้างหน้า อยู่อย่างมนุษย์ที่สมบูรณ์คนหนึ่ง คุณต้องฝึกฝน ต่อให้วันหนึ่งไม่ได้ทำงานศิลปะ สมมติวันหนึ่งผมอาจไม่ได้ปั้น แต่งานปั้นอยู่ในจิตใจของผมอยู่แล้ว ต่อให้ไปจับจอบ ผมรู้สึกว่าผมสัมผัสได้ในบางอย่าง งานศิลปะมันคือการฝึกฝนตัวเอง การขัดเกลาตัวเอง”

หนุ่มไทใหญ่อธิบายถึงความคิดที่สั่งสมมาถึงปัจจุบัน เรียกว่าลงมือทำงานปั้นทั้งจากแรงขับภายใน และร่ำเรียนผ่านครูบาอาจารย์ ผู้สำเร็จวิชาประติมากรรมจากมหาวิทยาลัยด้านศิลปะโดยตรง

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาจะรอดพ้นจากปัญหาและอุปสรรคไปได้

“มีบางครั้งเหมือนกันรู้สึกว่าทำไปแล้ว ใช่แล้วนะ ดีแล้ว อย่างเช่นพระปางปฐมเทศนา ลายธรรมจักรนั้นครั้งที่หนึ่งผมแกะแล้ว เสร็จแล้ว รู้สึกว่าดีแล้ว แต่ทีนี้มันเกิดการคลาดเคลื่อนตรงที่ว่าตั้งไม่ตรง มันจะบิด”

เป็นอีกงานที่สมคิดบรรจงทำอย่างสุดฝีมือ หลังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แกะลายธรรมจักรที่อยู่ด้านหลังพระปางปฐมเทศนา วันแล้ววันเล่าที่ใส่ความเพียรลงไปในชิ้นงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อหวังให้เป็นดั่งพุทธบูชา

แต่สุดท้ายอาจารย์กิตติพงษ์กลับให้แก้ใหม่ทั้งหมด

“ตอนนั้นรู้สึกว่า โอ้โฮ… ต้องใช้ความอดทนอีกมากที่จะปั้นให้เสร็จ จนได้รู้ว่าอาจารย์มองไกลกว่าผม คือยิ่งทำมากเท่าไรมันยิ่งรู้สึกว่าดีขึ้น ภายในก็เข้มแข็งขึ้น มั่นใจขึ้น แม้มีใจอ่อนแอบ้าง แต่ก็ผ่านไปได้ นี่เป็นงานชิ้นแรกที่ผมได้รับผิดชอบองค์รวม ผมคิดว่าที่ได้แก้ครั้งนั้นอาจเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่ครั้งหน้าน่าจะมีสิ่งยิ่งใหญ่กว่านี้ และผมยินดีที่จะแก้”

นอกจากคำพูดร่ายยาวเชิงสารภาพแล้ว แววตาเป็นอีกสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าสมคิดพูดจริง ถึงวันนี้ ยามได้ยืนมองชิ้นงานที่มีส่วนในการปั้นจนลุล่วงไปได้อย่างสมบูรณ์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสุขเป็นสิ่งที่งอกงามขึ้นในใจอย่างล้นเปี่ยม ขณะเดียวกันก็มักมีคำถามเกิดขึ้นกับใจตัวเองแทบทุกครั้งไป

“ตามความคิดผม เอ๊ะ… อันนี้เรามีส่วนร่วมด้วยเหรอเนี่ย อันนี้เราได้ทำไปแล้วเหรอ งานนี้จะไปติดตั้งสถานที่ใหญ่โต อันนี้มีรอยมือเราด้วยเหรอ ผมมักถามตัวเอง”

แต่การกลับไปมองผลงานที่เคยมีส่วนร่วม มากที่สุดก็เป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะโลกความจริงยังมีงานชิ้นใหม่รออยู่ให้ได้ลงมือพัฒนา ไม่ว่าจะด้านฝีมือหรือด้านจิตใจ โดยสมคิดยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ทุกครั้งที่ทำงานสามารถรู้จักภายในของตัวเอง และในภวังค์นั้นราวได้อยู่ในโลกอีกใบหนึ่ง

“ผมยังจำได้ เข้ามาครั้งแรกผมรู้สึกอย่างเดียว ผมอยากปั้นได้ ทุกวินาทีต้องเรียนรู้จากอาจารย์ให้ได้เท่าที่สติปัญญาของผมมี แต่วันนี้ผมเริ่มจะมองเห็นแล้วว่าศิลปะมันคือการใช้ชีวิต”