นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ คนใหม่… “…ความแกร่งที่มาจากการอ่านและสายเลือดคนเดือนตุลา…”

“เพราะอ่านจึงผ่านได้ทุกสิ่ง” คือคำขวัญท้ายอีเมลส่วนตัวของ คุณสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย คนใหม่ ซึ่งงานหลักๆ คือเทศกาลหนังสือปีละ 2 ครั้ง ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่พวกเราไปเดินซื้อหนังสือกัน

“คำขวัญ” นี้บ่งบอกให้รู้ว่าการอ่านอยู่ในสายเลือดของเธอ สมกับที่ได้รับเลือก รวมทั้งเป็นการพูดถึงภารกิจของ Passeducation สำนักพิมพ์สื่อการเรียนการสอนเด็กที่เธอเป็นเจ้าของในเรื่องของการ “ผ่าน”

คุณสุชาดา สาว พ.ศ.2500 แต่ดูหน้าอ่อนกว่าวัย และด้วยความสูงเพียง 148 ซ.ม. เธอจึงได้รับการเรียกขานว่า “เล็ก แต่แกร่ง”

เธอเป็นคนกรุงเทพฯ เดิมอาศัยอยู่ย่านบ่อนไก่ ในครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่าง คุณพ่อทำงานเป็น Inspector ตรวจข้าวของบริษัทชิปปิ้ง ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน

เธอเป็นพี่สาวคนโตของครอบครัวที่มีลูกรวม 6 คน

นามสกุลเดิม คือ “ไกรประยูร”

ด้วยความที่พ่อแม่ชอบอ่านหนังสือ ซึ่งสมัยนั้นหนังสือหลักๆ จะเป็นนิตยสารผู้ใหญ่อย่างบางกอก, สกุลไทย พ่ออ่านบางกอก แม่อ่านสกุลไทย เธอจึงเริ่มอ่านตามตั้งแต่ ป.4

“แต่ละสัปดาห์จะรอว่าเมื่อไหร่หนังสือวางแผง ซึ่งตรงนี้ทำให้เชื่อว่า หากเราส่งเสริมการอ่านให้ลูกตั้งแต่เล็กๆ โตขึ้นเขาก็จะรักการอ่านตลอดชีวิต…”

คุณสุชาดาเป็นที่รู้จักในวงการหนังสือว่า “ตุ๊ก พาสเอ็ดดูเคชั่น” ซึ่งต่อไปขอเรียกว่า “คุณตุ๊ก” เรียนชั้นประถมแถวบ้าน ต่อมาเธอได้เข้าเรียนชั้นมัธยม (ม.ศ.) 1-5 ที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย

ช่วงที่เรียน ม.ศ.5 นั้นเป็นห้วงแห่งความคึกคักในการเรียกร้องประชาธิปไตยของขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา คุณตุ๊กเองก็เข้าร่วมกิจกรรมบ่อยครั้ง เริ่มจากไปร่วมฟังอภิปรายต่างๆ รวมถึงการร่วมเดินขบวนในเหตุการณ์สำคัญอย่าง 14 ตุลาคม ถึงแม้ว่าจะถูกครูสั่งห้าม เนื่องเพราะเป็นหญิง

“ก็คงต้องเรียกว่าแคล้วคลาด ชวนเพื่อนไปร่วมในวันที่ 13 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่กลับมาก่อน ยังไม่ทันเข้าไปใหม่ ก็เกิดเรื่องวันที่ 14” คุณตุ๊กนั้นจะเข้าร่วมกับขบวนนักศึกษามาตลอด แต่เนื่องจากเธอเป็นคนรักครอบครัว ไม่อาจเข้าไปร่วมต่อสู้อย่างถวายหัวได้

หลังจากวันที่ 14 เธอจึงไปเยี่ยมกลุ่มผู้บาดเจ็บที่ถูกทหารยิงกราดจากเฮลิคอปเตอร์ตามโรงพยาบาล หลายคนต้องตัดแขนตัดขา ทำให้ความรู้สึกชิงชังระบบเผด็จการ ความไม่เป็นธรรมของสังคม เริ่มคุโชนในตัวเธอ

ขณะที่เรียนอยู่ปี 3 เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เธอเข้าร่วมที่ ม.ธรรมศาสตร์ แต่กลับก่อนในคืนวันที่ 5 ตั้งใจจะกลับเข้าไปใหม่ แต่ก็เห็นเหตุการณ์วันที่ 6 ทางโทรทัศน์ เมื่อไปดูก็เห็นทหารนำรถเมล์บรรทุกนักศึกษาเป็นขบวน เธอได้แต่ไปเยี่ยมเพื่อนๆ ในเรือนจำหลายครั้ง

แม้แต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ซึ่งเธอทำงานและแต่งงานแล้ว เธอก็ยังกระเตงลูกๆ ไปร่วมเคาะขวด

คุณตุ๊กช่วยขยายการชุมนุมด้วยการนำเอกสารในม็อบไปซีร็อกซ์แจกประชาชนในวงกว้างขึ้น แต่ก่อนจะมีการเคลื่อนขบวน เธอเอาลูกไปฝากคุณยาย ยังไม่ทันกลับมา เกิดเหตุการณ์ทหารยิงประชาชน จึงถือว่าแคล้วคลาดเป็นครั้งที่ 3

ชีวิตด้านการทำงาน หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา เพื่อนหลายคนเลือกจะเข้าป่า หรือทำงานเป็นครูในชนบท แต่เธอเลือกเช่นนั้นมิได้ เนื่องจากมีน้องหลายคนที่ยังต้องช่วยส่งเสียให้เรียน เธอจึงเลือกที่จะทำงานด้านกราฟิกกับบริษัทเอกชน ซึ่งได้เงินเดือนมากพอ

คุณตุ๊กเริ่มทำงานที่ บ.พรีเมียร์ โพรดักส์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ริเริ่มในการผลิตถังบำบัดน้ำเสียเจ้าแรก (แทนที่บ่อเกรอะ) ที่นี่ทำให้ได้พบกับสามี คุณอนันต์ สหัสกุล ซึ่งเป็นวิศวกร และรอจนคุณอนันต์จบปริญญาโทจึงแต่งงาน

คุณตุ๊กทำงานสายกราฟิกดีไซน์ ด้านสิ่งพิมพ์ มาโดยตลอด เธอเคยสัมผัสงานหนังสือเมื่อดูแลงานอาร์ตให้สำนักงานธรรมนิติ คุณตุ๊กเปลี่ยนงานอีกหลายแห่ง ก่อนจะได้ข้อสรุปว่า งานหามรุ่งหามค่ำนั้นไม่เหมาะสมกับการมีครอบครัวและมีลูกเล็ก

หลังคลอดลูกคนที่ 2 เธอตัดสินใจเปิดบริษัทตัวเองเป็น Graphic House ชื่อ Pass Ad. โดยได้ลูกค้าจากบริษัทต่างๆ ที่เธอเคยทำงานให้

ก่อนปี 2540 เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว งานเริ่มน้อยลง เธอจึงเริ่มหางานอื่นเพื่อสร้างงานให้ลูกน้อง และนั่นคืองานหนังสือที่เธอหลงรักมานาน

“เราเข้าวงการหนังสือแบบคนไม่รู้เรื่อง แต่เป็นคนที่คิดอะไรทำเลย เริ่มทำหนังสือ 3 เล่ม เป็นหนังสือติวเด็กสอบเข้าโรงเรียนสาธิต บังเอิญขายได้ดีมาก… เราไม่รู้เรื่องสายส่ง แต่มีแมสเซนเจอร์ที่กลายเป็นเซลส์จำเป็น เอาหนังสือไปเสนอฝากขายศึกษาภัณฑ์และร้านหนังสือเชน สโตร์ ทุกที่”

ผลลัพธ์ที่ดีมากเช่นนี้ ทำให้ในราว พ.ศ.2546 เธอจึงเปิดเป็นบริษัทเต็มตัว โดยใช้ชื่อที่บอกไว้ข้างต้น ธุรกิจไปได้ดี ในระดับพาพนักงานไปเที่ยวต่างประเทศได้

PASSEDUCATION จะมีสินค้าที่พีกเป็นช่วงๆ อาทิ ชุดจัดบอร์ดสำเร็จรูปสำหรับโรงเรียนอนุบาล ซึ่งขายได้ชนิด “ถล่มทลาย” เนื่องจากเป็นสิ่งโปรดปรานของครูที่ไม่มีเวลาและไม่มีฝีมือ

ปัจจุบันแม้ภาวะตลาดหนังสือจะซบเซา แต่คุณตุ๊กก็พบช่องทางสร้างรายได้ โดยทำการตลาดออนไลน์ ใช้ทุกโซเชียลมีเดียที่มี ทำให้พยุงยอดขายได้อย่างมาก

จากที่เริ่มใหม่ๆ มีเงินสดเข้าบริษัทเดือนละ 3 พัน เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละกว่าแสน

ในส่วนของการทำงานกับสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เธอเริ่มเข้ามาทำงานเป็นกรรมการทั้งแต่งตั้งและเลือกตั้ง ตั้งแต่สมัย คุณธนะชัย สันติชัยกูล จาก บ.เนชั่นฯ ในช่วงปี พ.ศ.2546 ในการทำงานสมาคมก่อนหน้านี้ได้รับตำแหน่งสำคัญ 2 ครั้ง

คือ ช่วงของการเป็นนายกสมัยแรกของ คุณริสรวล อร่ามเจริญ จาก บ.แปลน ฟอร์ คิดส์ฯ เธอเป็นเลขาธิการสมาคม

และในสมัยที่ 2 ของ คุณจรัญ หอมเทียนทอง จากสำนักพิมพ์แสงดาว เธอเป็นอุปนายกในประเทศ ส่วน คุณปราบดา หยุ่น เป็นอุปนายกฝ่ายต่างประเทศ

งานที่ภูมิใจคือได้ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จัดทำมาตรฐานของวิชาชีพที่เกี่ยวกับการผลิตหนังสือ เช่น บรรณาธิการ นักเขียน นักแปล ฯลฯ โดยได้รับงบประมาณจากรัฐบาล

จนมีส่วนให้เกิดชมรมบรรณาธิการไทยฯ และชมรมนักออกแบบภาพประกอบฯ…

ในความเป็นจริง คุณตุ๊กอยากจะเกษียณตนเองจากสมาคม เนื่องจากอยากให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสเข้ามาทำงาน แต่คุณจรัญซึ่งมีความคิดตรงกันตั้งแต่ร่วมงานสมัยแรก ฝากไว้ว่า

“สมาคมมีส่วนในการจัดทำร่างแผนแม่บทส่งเสริมการอ่านเพื่อสังคมแห่งการเรียนรู้ซึ่งผ่าน ครม. แล้ว อยากให้มาสานงานต่อตรงนี้…รวมทั้งอยากให้มาดูแลสมาชิกในภาวะยากลำบากทางธุรกิจ”

ปัจจุบัน เธอใช้ชีวิตครอบครัวอยู่กับสามีและลูกสาวคนเล็กที่บ้านย่านพุทธมณฑลสายสอง ส่วนลูกชายคนโตแต่งงานแล้ว แยกไปเปิดบริษัทด้านมาร์เก็ตติ้ง และออร์แกไนเซอร์กับเพื่อน

คุณตุ๊กชอบอ่านหนังสือหลายแนว อาทิ ประวัติศาสตร์ การเมือง ศิลปะ และแนว How to สร้างกำลังใจ

ช่วงนี้ที่เพิ่งอ่านจบไปคือ “ธุรกิจพอดีคำ” ของ กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร ที่บางตอนเขียนไว้ว่า “เราแบ่งคนเป็น 2 พวก พวกแรก กลัวความล้มเหลว ไม่เคยทำอะไรผิด แต่ก็ไม่เคยทำอะไรใหม่ๆ ให้กับโลก พวกที่ 2 กลัวเสียโอกาส พวกนี้ไม่กลัวล้มเหลว แต่กลัวเสียโอกาสที่จะลองของใหม่ พวกหลังนี้รับความล้มเหลวเป็นโอกาสที่จะเรียนรู้ เพื่อไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จ” … “เราอาจเป็นพวกที่ 2 ก็ได้นะ แต่เป็นพวกไม่ใช่คนเก่ง มีความอึดกล้าลอง และกล้าล้มเหลว”

คุณตุ๊กตบท้ายในที่สุด…