พิศณุ นิลกลัด Facebook : นักวิ่งวีแกน

พิศณุ นิลกลัด

รัฐบาลคลายล็อกเฟส 3 ให้ธุรกิจเสี่ยงติดเชื้อโควิด อย่างโรงหนัง ร้านนวด และธุรกิจฟิตเนส เปิดให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน

ทำให้ยิมหลายแห่งเปิดตัวแล้ว แต่คนก็ยังไม่กล้าเข้ายิมเหมือนแต่ก่อน เพราะไม่แน่ใจว่าการใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายร่วมกัน เข้าคลาสออกกำลังกายในห้องเดียวกันนั้นจะปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 แม้จะจัดวางอุปกรณ์ออกกำลังกายต่างๆ ให้มีระยะห่างที่เหมาะสม และจำกัดจำนวนสมาชิกในคลาสออกกำลังกาย

ทำให้ตอนนี้คนที่รักการออกกำลังกายจำนวนมาก ออกมาวิ่ง ปั่นจักรยาน และออกกำลังกายกลางแจ้งกันแทนการออกกำลังในยิม

หากยังเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ แม้ยิมจะกลับมาเปิดบริการเหมือนเดิม แต่คนจะไม่เข้าไปใช้บริการมากเท่าเมื่อก่อน

เพราะผู้คนเริ่มเคยชินและชอบการออกกำลังกายด้วยวิธีธรรมชาติกันมากขึ้น

 

อีกสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือคนจะหันมารับประทานอาหารจากพืชผักกันเยอะขึ้น เพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนตื่นตัวกับภัยของอาหารที่มาจากสัตว์และอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์ ซึ่งเชื่อว่าในท้ายที่สุด มนุษย์จะมีมุมมองเชิงบวกกับการกินอาหารที่ทำจากพืชผักมากขึ้น

สัปดาห์นี้จึงอยากเสนอเรื่องราวของยอดนักวิ่ง Ultramarathon พลังผัก ที่วิถีการออกกำลังและกินอาหารของเขาเข้ากับสถานการณ์โควิด-19

ยอดนักวิ่งคนนี้คือ วลาด อิกเซิล (Vlad Ixel) หนุ่มออสเตรเลียเชื้อสายยูเครน วัย 33 ปี ถือเป็นยอดนักวิ่งอัลตร้ามาราธอนที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่งในวงการ

นับตั้งแต่วลาดเริ่มแข่งขันวิ่งปี 2012 จนถึงต้นปี 2020 เขาชนะการแข่งขันวิ่งเทรล และอัลตร้ามาราธอน รวม 96 รายการ

ที่น่าทึ่งคือ ตลอดเส้นทางอาชีพนักวิ่ง เขาเป็นวีแกน กินแต่อาหารที่มาจากพืชผักล้วนๆ

 

ก่อนจะมาเป็นยอดนักวิ่งอัลตร้ามาราธอนพลังผัก วลาดเล่าว่า ชีวิตตั้งแต่อายุ 17 ปี เคยผ่านช่วงเวลาติดเหล้า ติดบุหรี่ กินแต่เนื้อสัตว์ เน้นปาร์ตี้สังสรรค์ และไม่เล่นกีฬาอะไรเลยติดต่อกันนาน 8 ปี

กระทั่งปี 2012 ตอนอายุ 25 สุขภาพร่างกายเขาทรุดโทรม เหนื่อยล้า และเบื่อหน่ายกับวิถีชีวิตเดิมๆ จึงลองหันมาฝึกซ้อมวิ่งแล้วลงแข่งขันรายการมาราธอนภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หวังจะเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่

ปรากฏว่าลงแข่งวิ่งรายการแรกเสร็จ เขาเดี้ยงไป 3 สัปดาห์ แต่นั่นได้ทำให้เขาเกิดความรู้สึกภูมิใจที่สามารถเอาชนะเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ได้สำเร็จ

 

หลังจากนั้นวลาดสมัครแข่งขันวิ่งมาราธอนอีกหลายรายการ

พยายามซ้อมวิ่งระยะฮาล์ฟมาราธอนทุกวัน และเริ่มค้นคว้าหาวิธีที่จะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้รวดเร็วหลังการฝึกซ้อมและการแข่งขัน

นี่เองทำให้เขาค้นพบประโยชน์จากการกินวีแกน

นับจากวันนั้น จากที่เคยกินเนื้อสัตว์วันละ 3 มื้อไม่เคยขาด สั่งสเต๊กเป็นอย่างแรกที่เดินเข้าร้านอาหารโดยไม่ต้องเปิดดูเมนู เขาเริ่มตัดเนื้อสัตว์ออกไปจากมื้ออาหารและในช่วงฉลองคริสต์มาส

เขาบอกกับครอบครัวว่า จะไม่กินอาหารทุกชนิดที่ทำมาจากสัตว์ ตอนนั้นทุกคนเชื่อว่า ไม่เกินเดือนเดี๋ยวก็ล้มเลิก

 

ผ่านไป 2 สัปดาห์ วลาดพบว่าตัวเองหลับสบายขึ้น มีพลังงานมากขึ้น ตัวเบาลง และไม่มีอาการอักเสบหลังออกกำลังกาย จึงทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว ด้วยผลอันนี้เองทำให้เขาเชื่อมั่นและยืนหยัดในวิถีวีแกนมาจนถึงปัจจุบัน

เดือนมีนาคม 2013 เขาลงแข่งขันรายการ Atacama Crossing 2013 ซึ่งเป็นการแข่งวิ่งอัลตร้ามาราธอนรายการแรกในชีวิต วิ่งระยะทางรวม 250 กิโลเมตร 7 วันติดต่อกัน ที่ประเทศชิลี

เขาได้อันดับที่ 2 ทำเวลารวม 26 ชั่วโมง 54 นาที 13 วินาที ตามหลังผู้ชนะ 37 นาที

การแข่งขันครั้งนี้จุดประกายให้เขาเอาจริงเอาจังกับการแข่งขันวิ่งอัลตร้ามาราธอน

นับจากปี 2014 เขาเริ่มเข้าแข่งขันวิ่งเทรลและอัลตร้ามาราธอนปีละไม่ต่ำกว่า 30 รายการ กวาดรางวัลชนะเลิศได้ปีละ 10 รายการเป็นอย่างน้อย

ก้าวขึ้นมาเป็นยอดนักวิ่งอัลตร้ามาราธอนแถวหน้าที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับนักวิ่งอาชีพคนอื่นๆ

ซึ่งส่วนสำคัญคือ การที่เขาตัดสินใจเปลี่ยนมากินอาหารจากพืชผักตั้งแต่เริ่มวิ่งใหม่ๆ

 

ถามถึงคำแนะนำสำหรับนักวิ่งหรือนักกีฬาที่สนใจจะเปลี่ยนมากินอาหารวีแกน วลาดบอกว่าพื้นฐานของการกินวีแกนคือ พยายามกินให้ง่ายเข้าไว้

ผู้คนมักจะคิดกังวลกันมากเรื่องการขาดโปรตีน ซึ่งเขาก็เป็นคนหนึ่งที่คิดแบบนั้นตอนเพิ่งเริ่มกินวีแกนใหม่ๆ ในหัวมีแต่คิดว่ากินอย่างไรจึงจะได้รับโปรตีนเพียงพอแต่ละวัน แต่ความจริงแล้วสิ่งที่จำเป็นคือ การกินให้ได้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ในแต่ละมื้อ

เดี๋ยวนี้มีอาหารที่ทำจากพืชผักมากมายให้เลือกตามท้องตลาด ซึ่งกินง่าย แม้แต่อาหารสไตล์ Junk food อย่างเบอร์เกอร์วีแกนที่เขาก็ชอบกินในบางครั้ง แต่ไม่ใช่กินเบอร์เกอร์อย่างเดียวแล้วจะเพียงพอในมื้อนั้น ต้องกินผักและผลไม้เยอะๆ ด้วย

เพราะในผักและผลไม้มีสารอาหารหลายชนิดที่จำเป็นต่อร่างกายไม่น้อยกว่าโปรตีน

 

วลาดบอกว่า จุดเริ่มต้นที่เขาตัดสินใจกินวีแกนก็เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วหลังจากการวิ่ง และช่วยพัฒนาผลงานการวิ่งให้ตามทันคนอื่นๆ ภายในเวลาอันรวดเร็ว นั่นถือเป็นเป้าหมายระยะสั้น

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาได้มองเห็นภาพใหญ่ขึ้นว่า การกินวีแกนนั้นยังช่วยให้เขาไม่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการเบียดเบียนชีวิตสัตว์และทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย

เมื่อมองเห็นภาพตรงนี้ ยิ่งทำให้การยึดมั่นในวิถีวีแกนเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก ทุกคืนเขาสามารถหลับตาลงนอนอย่างสบายใจ เพราะทราบว่าได้มีส่วนช่วยเหลือชีวิตสัตว์และสิ่งแวดล้อม

วลาดบอกว่า ไม่ทราบว่าเขาจะเป็นนักวิ่งไปได้อีกนานแค่ไหน ที่แน่ๆ ไม่สามารถวิ่งแข่งขันในระดับอาชีพไปจนตลอดชีวิต แต่วิถีวีแกนเป็นสิ่งที่เขาจะยึดมั่นไปจนลมหายใจสุดท้ายแน่นอน

วลาดบอกว่าชีวิตนี้เขาอยากย้อนเวลากลับไปรู้จักวิถีวีแกนให้เร็วขึ้นอย่างน้อยสัก 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปี ถ้าเป็นไปได้เขาอยากให้คุณพ่อคุณแม่เป็นวีแกน และเขาเติบโตมาด้วยการกินวีแกนเลย

ปัจจุบันนี้-ปี 2020 เขาสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ทางออนไลน์ได้ง่าย เพียงแค่เปิดหน้าเฟซบุ๊กขึ้นมาเช็กความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการกินวีแกนและอุตสาหกรรมสัตว์

ซึ่งถ้าเขาได้เห็นภาพและรับรู้เรื่องเหล่านี้ตั้งแต่สมัยเด็ก เขาคงได้เป็นวีแกนมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่