พิศณุ นิลกลัด | New Normal ของนักฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

พิศณุ นิลกลัด

New Normal หรือความปกติใหม่, วิถีชีวิตใหม่ ที่ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตแตกต่างจากอดีต เป็นคำที่คนไทยและคนทั่วโลกได้ยินกันจนชินในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไปแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะกิน อยู่ หลับนอน ที่ต้องคิดถึงสุขอนามัยอย่างละเอียดทุกขั้นตอน

คนทำงานก็หันมา Work from Home นักเรียนก็ต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ การซื้อของก็สั่งออนไลน์ ไม่อยากไปเดินเลือกของตามห้างนานๆ แบบแต่ก่อน หากจะเข้าห้าง เข้าร้านอาหารไหน ก็ต้องเช็กอิน-เช็กเอาต์ ลงทะเบียน

ตลอดจนถึงเรื่องการดูกีฬา ที่ยังไม่สามารถเข้าไปชมการแข่งขันที่สนามจริงได้ ต้องนั่งดูอยู่หน้าจอ ในบรรยากาศกร่อยๆ ไร้เสียงเชียร์จากแฟนๆ ในสนามแข่ง

New Normal ไม่ใช่คำใหม่ที่เพิ่งบัญญัติขึ้นช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

คำนี้มีการเขียนเป็นครั้งแรกเมื่อสมัยเกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 หรือที่รู้จักกันในชื่อ 9/11 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตรวม 2,977 คน เฉพาะที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์ก ที่ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินพาณิชย์สองลำขับพุ่งชนตึก มีผู้เสียชีวิต 2,606 คน โดย 343 คนเป็นนักดับเพลิงของหน่วยดับเพลิงของนิวยอร์ก หรือ Fire Department of the City of New York ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า FDNY ที่เข้าไปช่วยผู้ประสบภัยในตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ แต่ก็เสียชีวิตไปพร้อมๆ กันเพราะตึกถล่ม

ในปี 2002 หลังจากวินาศกรรม 9/11 นักเขียนชื่อวิกกี้ เทย์เลอร์ (Vicki Taylor) ก็ได้เขียนหนังสือชื่อ The New Normal : How FDNY Firefighters are Rising to the Challenge of Life After September 11

ความปกติใหม่ : วิธีที่นักดับเพลิงของ FDNY ลุกขึ้นสู้กับความท้าทายในชีวิตหลัง 11 กันยายน

นับจากนั้น ยามเกิดวิกฤตครั้งใหญ่ที่มีผลกระทบกับคนทั้งโลก และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลายด้านในการดำรงชีวิต คำว่า New Normal ก็มักจะมีคนนำมาใช้

ในวงการกีฬา New Normal ที่เกิดขึ้นก็คือ นักกีฬาที่ลีกการแข่งขันถูกเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนดอย่างฟุตบอลพรีเมียร์ลีก หรือบาสเกตบอล NBA ต้องกลับมาแข่งขัน Esports ออนไลน์แทน

จากเดิมที่หลายคนมองว่า Esports ซึ่งเป็นการนั่งแข่งขันเกมกันหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไม่น่าจัดว่าเป็นกีฬา

แต่มาตอนนี้ Esports เป็นกีฬาเพียงไม่กี่ประเภทที่จัดการแข่งขันได้ในสถานการณ์โควิด-19 และได้รับผลกระทบด้านบวกจากการที่คนต้องอยู่บ้าน

สําหรับนักกีฬา Esports ต้องการแค่เครื่องคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ก็สามารถเข้าแข่งขันแบบออนไลน์จากที่บ้านได้

ตอนนี้ทางผู้จัดการแข่งขัน Esports หลายรายการก็เปลี่ยนจากที่เคยเตรียมแข่งแบบ LAN มาใช้วิธีแข่งแบบออนไลน์เพื่อให้การแข่งขันดำเนินต่อไปได้อย่างปลอดภัย ท่ามกลางโควิด-19

นักกีฬาอาชีพหลายคนที่ชอบเล่นวิดีโอเกม ช่วงนี้เมื่อต้องห่างหายจากการแข่งขันกีฬาจริงๆ ก็กลายมาเป็นสตรีมเมอร์ (Streamer) โชว์ฝีมือการเล่นเกมให้แฟนๆ ได้ติดตาม หลายคนได้ผันตัวมาเป็นนักกีฬา Esports ชั่วคราว เข้าร่วมทัวร์นาเมนต์ แข่ง Esports ต่างๆ ซึ่งสร้างความบันเทิงให้แฟนกีฬา

หลายคนที่คิดถึงการแข่งขันกีฬา อย่างในบาสเกตบอล NBA ทางค่ายเกม 2K ผู้ผลิตวิดีโอเกม NBA 2K20 ได้จับมือกับ ESPN จัดทัวร์นาเมนต์แข่งขันอีสปอร์ตส์ ชื่อ “NBA 2K Players Tournament” เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

โดยเชิญเฉพาะนักบาส NBA มาร่วมแข่งขันเกมบาสเกตบอล NBA 2K20 ผ่านเครื่องเกม Xbox One จากที่บ้าน

และมีการถ่ายทอดสดทางทีวีทุกช่องทางออนไลน์ทั้ง Twitch, Youtube, Facebook และ Twitter

ซึ่งมีนักบาส NBA ชื่อดังมาร่วมแข่งขันกัน อย่างเช่น เควิน ดูแรนต์ (Kevin Durant), เทร ยัง (Trae Young), เดวิน บูเกอร์ (Devin Booker) และคนอื่นๆ รวม 16 คน

ผู้ชนะ NBA 2K Players Tournament คือเดวิน บูเกอร์ ได้เงินบริจาค 100,000 ดอลลาร์ หรือ 3 ล้านบาท ให้แก่องค์กรที่ต่อสู้กับไวรัสโควิด-19

ซึ่งในรอบชิงชนะเลิศ เดวิน บูเกอร์ (Devin Booker) ชนะดีอันเดร เอตัน (Deandre Ayton) เพื่อนร่วมทีม Phoenix Suns สองเกมรวด ในการแข่งกันแบบหาผู้ชนะ 2 ใน 3 เกม

ทางพรีเมียร์ลีกก็ได้มีจัดแข่งขัน Esports เพื่อการกุศลซึ่งเพิ่งแข่งขันจบไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ชื่อรายการ ePremier League Invitational โดยใช้เวลาแข่งขัน 2 สัปดาห์ครึ่ง

เชิญนักเตะตัวแทนจากทีมพรีเมียร์ลีก 14 ทีม อย่างเช่น เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ (Trent Alexander-Arnold) ของลิเวอร์พูล, ราฮีม สเตอร์ลิ่ง (Raheem Sterling) ของแมนฯ ซิตี้, รีซ เจมส์ (Rece James) ของเชลซี และวิลฟรีด ซาฮา (Wilfried Zaha) ของคริสตัล พาเลซ รวมถึงเชิญสองศิลปินหนุ่มชาวอังกฤษมาเป็นตัวแทน ให้ทีมแมนฯ ยูไนเต็ด และอาร์เซนอล เพื่อหยิบจอยสติ๊กมาประชันฝีมือหาสุดยอดนักเล่น เกมฟุตบอล FIFA 20

โดยในรอบรองชนะเลิศจนถึงรอบชิงมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ช่อง Sky Sports ด้วย เงินรางวัลทั้งหมดบริจาคให้กองทุน #PlayersTogether ที่ทางนักเตะพรีเมียร์ลีกก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือ National Health Service หรือระบบบริการสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักรในการต่อสู้กับโควิด-19

ผู้ชนะ ePremier League Invitational คือ เจมส์ แมดดิสัน (James Maddison) แห่งทีม Leicester City เป็นผู้ชนะในรอบชิงชนะเลิศ

โดยเอาชนะจอห์น อีแกน (John Egan) แห่งทีม Sheffield United ด้วยสกอร์ 5-1

ePremier League Invitational ประสบความสำเร็จมาก

มียอดรวมผู้ชมจากทุกช่องทางของพรีเมียร์ลีก ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมนั้นมีจำนวนมากถึง 150 ล้านวิวเลยทีเดียว

การที่นักกีฬาอาชีพส่วนใหญ่หันมาเข้าสู่ Esports ในช่วงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผล ที่ช่องทางไลฟ์สตรีมยอดฮิตอย่าง Twitch, Youtube และ Facebook มีจำนวนผู้ชมที่ไม่ใช่เกมเมอร์เยอะขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงวิกฤตโควิด-19

ซึ่งนอกจากเข้าร่วมแข่งขัน Esports แล้ว นักกีฬาอาชีพหลายคนที่ชอบเล่นเกมก็ได้มีเวลาว่างมานั่งสตรีมเกมกันเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น

และแฟนกีฬาก็ชอบที่จะได้ติดตามความเคลื่อนไหวของนักกีฬาคนโปรด

ทั้งยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์พูดคุยกับนักกีฬาผ่านช่องแชตระหว่างสตรีมเกมได้ด้วย อย่างไมเยอร์ เลเนิร์ด (Meyers Leonard) นักบาสเกตบอลของทีม Portland Trail Blazers วัย 28 ปี ชอบสตรีมการเล่นเกม Call of Duty : Warzone ผ่านทาง Twitch.tv

และเมื่อต้นเดือนเมษายนเขาก็ทำการสตรีมเกมยาวต่อเนื่องเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้ชมได้ร่วมระดมเงินบริจาคเพื่อส่งไปช่วยเหลือองค์กร Feeding America

ซึ่งในตอนนั้นมีผู้ร่วมบริจาครวมกันได้มากถึง 70,000 ดอลลาร์ (2 ล้านบาท)

และไมเยอร์บอกว่า เขาจะสตรีมเกมและสะสมเงินบริจาคการกุศลผ่านทาง Twitch ไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งเดือนเมษายน โดยตั้งเป้าสูงสุดไว้ที่ 175,000 ดอลลาร์ (5.65 ล้านบาท)

วงการ Esports และการสตรีมเกมเป็นเทรนด์ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีอยู่แล้ว

แต่ด้วยสถานการณ์ในเวลานี้อาจจะถือได้ว่าเป็นช่วงขาขึ้นสุดๆ ของ Esports เพราะลีกกีฬาดังและการแข่งขันกีฬาทั่วโลกต้องยอมหลีกทางให้ไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดหนัก Esports ก็เลยก้าวขึ้นมาเป็นจุดสนใจหลักของคนในวงการกีฬาทั่วโลก

และยังเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่แฟนกีฬาที่ไม่เคยรู้จักหรือสนใจ Esports ได้ลองมาสัมผัสอีกมุมหนึ่งของนักกีฬาอาชีพคนโปรดผ่านการเล่นวิดีโอเกมซึ่งยากที่จะได้เห็นในช่วงเวลาปกติ

ในอดีตผู้บริหารทีมไม่สนับสนุนให้นักฟุตบอลเล่นวิดีโอเกม เพราะเห็นว่าหากติดเกม จะเป็นผลเสียต่อการแข่งขัน ถึงกับบางทีมต้องส่งนักกีฬาเข้ารับการบำบัดติดเกม

แต่ New Normal ของนักฟุตบอลพรีเมียร์ลีกตอนนี้ การเล่นวิดีโอเกมเก่งของนักฟุตบอล กลายเป็นเรื่องดี หารายได้เพื่อการกุศล


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่