เมอร์คิวรี่ : จาก “จำเลย” สู่การ “ตระหนัก” สู้โควิด-19 “มวยไทย” เพียงแค่ขอ “พื้นที่ยืนในสังคม”

วงการมวยไทยตกเป็น” “จำเลยสังคม”” จากการที่โดนตราหน้าว่าเป็นจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย แต่ขณะเดียวกัน วงการมวยไทย ถือเป็นการช่วย” “ตระหนักสังคม”” ให้ประชาชนทั่วไปหันมาตระหนักถึงความปลอดภัยด้านสาธารณสุขในการรับมือเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ของโลกใบนี้…

ย้อนกลับไปในการจัดการแข่งขันมวยรายการใหญ่ที่สนามมวยเวทีลุมพินี รามอินทรา เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวดังกล่าว เมื่อคนมวยนับพันคนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมากในวันนั้น และทำให้เป็นการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ออกไปในวงกว้าง จนกลายเป็นที่จดจำของสังคมไทย

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องชื่นชมคนวงการมวยที่กล้ายืดอกออกมายอมรับว่ามีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากสนามมวย ซึ่งเริ่มต้นจาก “แมทธิว ดีน” พิธีกรบนเวทีในวันดังกล่าวออกมาชี้แจงต่อสังคมว่า เขาติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งคนมวยอีกหลายคน จนทำให้สังคมไทยเริ่มหันมาตระหนักสู้กับเชื้อไวรัสร้ายตัวนี้กันมากขึ้น

จากจุดเริ่มต้น ทำให้หลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนวางมาตรการเข้มงวดในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนเริ่มที่จะเห็นผลในการรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นศูนย์ราย

ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความ “ตระหนัก” ของผู้คนทั่วไป ไม่ใช่ “ตระหนก” เพียงอย่างเดียว

 

ล่าสุด “สภามวยโลก” (ดับเบิลยูบีซี) มอบรางวัล “ฮีโร่ของมวลชน” ให้กับ “แมทธิว ดีน” และภรรยา “ลิเดีย ศรัณย์รัชน์ ดีน” หลังจากที่ทั้งคู่ออกมาเปิดเผยว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยเป็นรางวัลพิเศษที่ดับเบิลยูบีซีมอบให้บุคคลที่เป็นแบบอย่างการทำความดีจากทั่วโลก ซึ่งถือว่าทั้งคู่ได้สร้างความตระหนักให้กับสังคมไทยในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19

“สภามวยโลก” ระบุว่า เห็นคุณงามความดีของแมทธิว ดีน และลิเดีย ศรัณย์รัชต์ ในความกล้าหาญที่เปิดเผยอาการติดเชื้อโควิด-19 ให้สาธารณชนรับทราบ ซึ่งได้สร้างความตระหนักให้แก่สังคมเป็นวงกว้างในการเฝ้าระวังโรคร้ายนี้ด้วยความไม่ประมาท

จึงได้พิจารณามอบรางวัล “ฮีโร่ของมวลชน” ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษที่ทางสภามวยโลกจะมอบให้กับบุคคลซึ่งเป็นแบบอย่างการทำความดีของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และนับเป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่ทั้ง 2 ท่านได้รับเกียรติจากสภามวยโลกในครั้งนี้

ขณะที่ “แมทธิว ดีน” บอกว่า แม้จะเป็นรางวัลของฮีโร่ แต่จริงๆ ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นฮีโร่แต่อย่างใด เพียงแค่คิดว่า อยากให้คนไทยได้เฝ้าระวังถึงอันตรายจากไวรัสโควิด-19 มากกว่า แต่ก็ขอบคุณกำลังใจที่ได้มอบให้ พร้อมกันนี้อยากให้ทุกคนเฝ้าระวังร่วมมือกัน เพื่อให้ไวรัสนี้หมดไปโดยไว

“ในความเป็นจริงไม่ใช่เพียงแค่สังคมคนมวยจะเป็นจุดล่อเป้าให้ผู้คนทั่วไปโจมตี ซึ่งก็เกิดขึ้นทั่วโลก ทุกวงการก็โดนผลกระทบกันหมด เป็นเรื่องที่พูดยาก การมากล่าวโทษกันเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ แต่เราควรจะกลับมามองว่า จะช่วยกันป้องกันอย่างไร ถ้าเราช่วยกันเฝ้าระวังก็จะเป็นการป้องกันที่ดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ติดเชื้อไวรัสจะไม่แพร่กระจายไปมากกว่านี้”

แมทธิว ดีน กล่าวอีกว่า ไม่อยากให้คนทั่วไปโจมตีหรือมองว่าคนมวยเป็นสาเหตุเรื่องร้ายเหล่านั้นให้เกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญสำหรับประเทศไทยคือ ทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกวงการ เราต้องช่วยกันฟื้นฟูให้สังคมกลับมาแข็งแรงและมีความสามัคคีช่วยเหลือกันเหมือนเดิมมากกว่า

 

อย่างไรก็ตาม จากการตกเป็นจำเลยสังคม จนถึงตอนนี้คนวงการมวยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ได้สร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19

ซึ่งแน่นอนว่าคนวงการมวยเหล่านี้คงจะไม่ใช่ฮีโร่ของสังคมได้

เพราะพวกเขายกตำแหน่งฮีโร่ให้กับบรรดาเหล่าบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่เป็น “ฮีโร่ตัวจริง”

ในส่วนของการปลดล็อกกลับมาจัดการแข่งขันมวยไทยได้อีกครั้งก็เริ่มมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้ได้เห็นกันแล้วหลังจากที่ “ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)” หรือ ศบค. เตรียมผ่อนปรนให้มวยไทยเป็นกิจการและกิจกรรมที่ได้รับการปลดล็อกนับตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป…

คณะอนุกรรมการแพทย์ ของ ศบค. โดย “นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ” ได้ประชุมร่วมกับ “สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย” และคนในวงการมวยไทย เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ และแนวทางในการให้มวยไทยกลับมาแข่งขันได้อีกครั้งหลังจากต้องหยุดการชกไปในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

แนวทางเบื้องต้นคณะอนุกรรมการมีความคิดเห็นไม่ขัดข้อง ถ้าวงการมวยไทยจะกลับมาทำการแข่งขันภายใน 15 มิถุนายน 2563 ตามแผนแม่บทของ ศบค.โดยแบ่งการจัดมวยออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก จัดมวยแบบปิด ตามด้วยระยะสอง ให้จำกัดคนเข้าดู และระยะสาม ให้จัดได้ตามปกติ

โดยระยะแรกเสนอให้ยึดหลักปฏิบัติระยะห่างทางสังคม 5 ข้อตลอดเวลา คือ สวมหน้ากากป้องกัน, ล้างมือบ่อยๆ, มีระยะห่างกัน 1-2 เมตร, หมั่นทำความสะอาดสถานที่ และจำกัดคนชุมนุม

โดยการจัดทำข้อมูลดังกล่าวเพื่อขออนุญาตต่อ ศบค.ให้สมบูรณ์ที่สุดนั้น

 

“ชาติซ้าย” “สมชาติ เจริญวัชรวิทย์” นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพฯ เปิดเผยว่า จากการที่สมาคมร่วมประชุมหารือกับคณะอนุกรรมการแพทย์ ได้รับทราบว่าปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นระยะๆ ประกอบกับกลุ่มคนมวยมีการเรียกร้องขอให้ภาครัฐผ่อนปรนมาตรการต่างๆ และปลดล็อกให้มวยได้กลับมาดำเนินกิจกรรมได้โดยเร็ว

สมาคมกีฬามวยอาชีพฯ จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย กำหนดจัดประชุมเชิญบุคคลวงการมวยทุกฝ่ายภายในต้นเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อหามาตรการกลางในการปฏิบัติตัวในการทำงานร่วมกัน และเพื่อให้ทันเสนอต่อคณะกรรมการ ศบค. ที่จะประชุมครั้งต่อไปประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2563

นอกจากนี้ คนวงการมวยไทยต่างเตรียมแผนงานในการกลับมาแข่งขันกันอีกครั้งช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นไปนั้น

ซึ่งถือว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับจากจุดเริ่มต้นที่วงการมวยไทยกลายเป็นกลุ่มแรกๆ ที่แพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 แต่สถานการณ์ต่างๆ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้จะถูกมองว่าเป็นจำเลยสังคม แต่ก็มีส่วนช่วยให้สังคมได้ตระหนักยิ่งขึ้น

จากการที่ตกเป็น” “จำเลยสังคม”” วันนี้” “มวยไทย”” ได้ผ่านสถานการณ์ยากลำบากต่างๆ และมีส่วนช่วย “ตระหนักสังคม” ให้เตรียมพร้อมรับมือต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนส่งผลให้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มในประเทศไทยค่อยๆ คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว

จากการที่ตกเป็น “จำเลยสังคม” วันนี้ “มวยไทย” คงไม่อยากที่จะขึ้นมาเป็น “ฮีโร่ของสังคม” เพียงแต่พวกเขาที่อยู่ในวงการมวยไทยเหล่านี้แค่อยากมี “พื้นที่ยืนในสังคม” ก็พอแล้ว…

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่