เงาปีศาจ : ลมหายใจแห่งฟุตบอล หญิงแกร่ง “นวลพรรณ ล่ำซำ”

ทีมฟุตบอลหญิงไทยเพิ่งจะเสร็จสิ้นภารกิจลุยศึกฟุตบอลโลกเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน

แม้ผลงานในฟุตบอลโลกของทีมชบาแก้ว จะเป็นได้แค่ไม้ประดับ แต่ต้องยอมรับกันว่า ทีมฟุตบอลหญิงไทยได้รับการพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาจนเป็นรูปเป็นร่างพอจะเป็นที่เชิดหน้าชูตาสำหรับวงการลูกหนังไทยในเวทีระดับโลก

การผ่านเข้าไปอวดฝีเท้าในศึก “เวิลด์คัพ” เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกันของทีมชบาแก้วเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซของ “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ นักธุรกิจสาวไฮโซในฐานะผู้จัดการทีมอย่างแท้จริง

“มาดามแป้ง” เข้ามาพลิกโฉมวงการลูกหนังผู้หญิงของไทยให้ก้าวข้ามระดับอาเซียน ก้าวข้ามระดับเอเชีย และกำลังมุ่งมั่นไปสู่เวทีโลก

แต่ขวากหนามในระดับโลก มันเป็นเรื่องยากเย็นแสนสาหัส เห็นๆ กันอยู่แล้วว่า มาตรฐานฟุตบอลหญิงของไทยเมื่อไปเทียบกับทีมระดับโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา, สวีเดน หรือแม้กระทั่งการอุ่นเครื่องที่พบกับฝรั่งเศส กระดูกของเรายังด้อยกว่าพวกเจนจัดเวทีโลกมายาวนาน

หลายคนเรียกร้องให้เราหันมาพัฒนาจัดตั้งลีกฟุตบอลหญิงอาชีพเพื่อสานต่อความสำเร็จของทีมชบาแก้วจากรุ่นสู่รุ่นไม่ให้ขาดช่วงขาดตอน แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าลีกฟุตบอลหญิงของไทยมันช่างสวนทางกับทีมชาติที่พัฒนาไปไกล

เราไม่มีลีกที่สมบูรณ์แบบ “มาดามแป้ง” พยายามผลักดันให้มีลีกอาชีพแข่งขันกันอย่างจริงๆ จังๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ, สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ, ภาคเอกชน และทีมต่างๆ ในเมืองไทยควรที่จะมีการทำทีมฟุตบอลหญิงกันอย่างจริงๆ จังๆ ได้แล้วหรือไม่…

ข้ออ้างเรื่องลีกบอลหญิงไม่ขายในแง่ของธุรกิจ ไม่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากสปอนเซอร์ต่างๆ คงไม่ใช่เรื่องใหญ่นักหากว่า รู้จักวิธีการบริหารจัดการที่ดี รู้จักการขายพ่วงกับลีกบอลอาชีพประเภทชายอย่าง “ไทยลีก” ทีมทุกทีมในไทยลีก ต้องมีทีมฟุตบอลหญิงด้วยเหมือนที่อังกฤษเขาทำกัน

เชื่อว่าถ้าทำได้เราไปรอดได้ เด็กๆ ชุดนี้กลับมาคงแขวนสตั๊ดกันเกือบครึ่งทีม แล้วอีก 4 ปีข้างหน้าล่ะ เราจะเอาทรัพยากรนักเตะจากไหนมาทดแทนเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ไปฟุตบอลโลกสมัยที่ 3 ของทีมชบาแก้ว

 

น่าเห็นใจ “มาดามแป้ง” ที่ต้องทุ่มเทสรรพกำลังทุกด้าน ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ ทั้งกำลังทรัพย์ เพื่อปลุกฟุตบอลหญิงไทยก้าวมาไกลถึงขนาดนี้ หากว่าเราต้องมาหยุดพัฒนาเพราะเราขาดนักเตะขึ้นมาทดแทนแล้วละก็ เป็นเรื่องที่น่าใจหายไม่น้อย

หนังสือ มาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ ซึ่งเขียนโดยตัวของมาดามแป้ง เล่าชีวประวัติของตัว “มาดามแป้ง” กับวงการฟุตบอลหญิง กับลมหายใจเข้าออกที่เป็นฟุตบอลหญิงของไทยไว้ได้น่าสนใจ

“มาดามแป้ง” มีหลักการ วิธีคิด แนวทางการบริหารจัดการทีม ที่ไม่เหมือนใคร และน่าศึกษาไม่น้อย

ทฤษฎี 3 ใจ ของ “มาดามแป้ง” คือ เคล็ดลับในการพลิกผันตัวเองจากนักธุรกิจสาวไฮโซเข้ามาสู่วงการฟุตบอลคือ “ใจกล้า-ใจสู้-ใจแลกใจ”

ใจที่ 1 : ใจกล้า

“ตอนที่ได้รับการทาบทามจากสมาคมฟุตบอลฯ ตอนนั้นแป้งยังลังเลและไม่มั่นใจ สมองทำงานหนักมาก กลับไปทบทวนอยู่นานหลายคืน เพราะนวลพรรณเคยเป็นแค่ผู้ชม แต่ไม่มีความรู้เรื่องกฎ กติกา แล้วเราจะมีศักยภาพไปพัฒนาทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยได้อย่างไร”

ย้อนกลับไปในปี 2009 นวลพรรณ ล่ำซำ ปรากฏชื่อในวงการฟุตบอลเป็นครั้งแรก ในฐานะผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยคนใหม่ แต่ก่อนหน้านั้น มาดามแป้งเคยรับบทบาทเป็นผู้จัดการทีมกีฬาคนพิการในกีฬาเฟสปิก เกมส์ ครั้งที่ 9 ค.ศ.2006 และอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 2 ค.ศ.2008

“วิธีการของแป้ง เริ่มจากการเรียกน้องๆ พนักงานที่เป็นสมาชิกชมรมฟุตบอลบริษัท ขึ้นมาที่ห้องทำงาน ตอนนั้นเขาคิดว่าแป้งเรียกขึ้นมาคุยเรื่องงาน แป้งบอกว่าจะทำฟุตบอล ทุกคนก็น่ารักยินดีที่จะช่วยกันอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การเรียนรู้กติกาฟุตบอลที่เมื่อก่อนลูกล้ำหน้าแป้งยังดูไม่เป็นเลย เราก็มาเรียนรู้ อ่านกฎกติกาชนิดหมกมุ่น”

จากคนที่ไม่รู้แม้กระทั่งกติกาฟุตบอล นวลพรรณเริ่มค่อยๆ เข้าใจการทำทีมกีฬามากขึ้น นวลพรรณ ล่ำซำ บอกว่าตัวเธอเองมีความเป็นชาย และหญิงผสมผสานกัน นั่นทำให้เธอมีวิธีการบริหารทีมลูกหนัง ทั้งความเป็นคนใจสู้ กล้าได้กล้าเสีย แบบผู้ชาย และการใส่ใจในทุกๆ รายละเอียดแบบผู้หญิง ความกล้านี่เองที่ผลักดันให้เธอไปโลกอีกมิติ กับตำแหน่งประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี ในปี 2015

“ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำทีมฟุตบอล มีหลายคนถามว่า ทำไมแป้งเลือกทุ่มทุนกับเรื่องนี้ เสี่ยงต่อการละลายเงินทิ้งเปล่านะ น่าเอาไปต่อยอดธุรกิจที่ทำกำไรได้มากกว่า ทุกครั้งที่ได้ยินคำถามเหล่านี้ แป้งจะตอบตัวเองในใจว่า แป้งได้รับสิ่งดีๆ จากการทำฟุตบอลมหาศาล บางทีสิ่งเหล่านี้มีค่ามากกว่ากำไรทางธุรกิจ และอาจเป็นการลงทุนที่แป้งมีความสุขตั้งแต่ทำงานมาด้วย บางคนอาจเคยตั้งคำถามกับแป้งว่า จะทำได้ไหม ฝันไกลไปหรือเปล่า”

“แต่แป้งคิดว่า ขนาดความฝันจะใหญ่หรือเล็ก ขึ้นอยู่กับขนาดของหัวใจเรา เมื่อวันนี้ยังมีแรง แป้งจะฝันให้ใหญ่ และทุ่มเทอย่างสุดกำลัง”

ใจที่ 2 : ใจสู้

“ทุกครั้งที่ร้องไห้ ไม่ได้หมายความว่าแป้งยอมแพ้ นั่นเป็นเพียงความเสียใจกับอะไรบางอย่าง แต่ไม่ใช่การยอมแพ้แน่ๆ แป้งจะร้องไห้แค่วันนี้ พอวันรุ่งขึ้นแป้งก็จะสู้ต่อให้ดู ถ้าคิดจะเดินหน้า ไม่มีคำว่าถอยหลัง นิสัยแป้งเป็นแบบนั้น”

นวลพรรณเข้ามาจัดการเรื่องที่พัก อาหารการกิน โภชนาการ ไปจนถึงการรับนักฟุตบอลหญิงเข้ามาทำงานเป็นพนักงานที่บริษัท เมืองไทย ประกันภัย ตามสาขาวิชาชีพที่พวกเธอเรียนมา เพื่อให้นักฟุตบอลหญิงไม่ต้องละทิ้งเกียรติยศในการรับใช้ทีมชาติ และมีรายได้ส่งเสียครอบครัว

นั่นทำให้ทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยเริ่มมีพัฒนาการ จากทีมอันดับ 3 ของอาเซียน ไม่เคยผ่านไปเข้าเล่นรอบสุดท้ายฟุตบอลโลก ก็สามารถคว้าเหรียญทองสำเร็จ รวมถึงตีตั๋วไปเตะบอลโลกสมัยแรกได้ในปี 2015

ความใจสู้ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค อาจเป็นสิ่งที่ได้มาจากคำสอนของคุณพ่อ (โพธิพงษ์ ล่ำซำ) ตอนที่เธออายุ 24 ปี ดวงตาข้างซ้ายของเธอมีอาการพร่ามัว มองไม่ค่อยเห็น และไม่สามารถหาสาเหตุได้ ซึ่งเธอต้องอยู่กับอาการดังกล่าวเป็นเวลา 2 ปี และนับจากวันนั้น ไม่ว่าเธอจะเจอปัญหาหนักหนาแค่ไหน เธอ มองจะหาโอกาสในวิกฤตนั้นเสมอ

“คุณพ่อบอกกับแป้งว่า ไม่เป็นไรหรอกลูก ถ้าตาซ้ายมองไม่เห็น เรายังเหลือตาขวา ถึงแม้ต้องเผชิญกับปัญหาที่หนักหนาแค่ไหน… It”s not the end of the world (นี่ไม่ใช่จุดจบของโลก) ถ้ามีสติ เราจะผ่านเหตุการณ์นั้นไปได้”

 

ใจที่ 3 : ใจแลกใจ

“ฟุตบอลเป็นกีฬาทีมเวิร์ก ไม่ใช่นักฟุตบอลเท่านั้นที่ต้องรู้ใจกัน แต่ในฐานะผู้จัดการทีม ก็ต้องหลอมรวมหัวใจทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน คำหนึ่งที่แป้งยึดถืออยู่เสมอคือ ใจแลกใจ ถ้าอยากได้ใจลูกน้อง เราต้องเป็นฝ่ายให้ใจเขาก่อน”

“นักฟุตบอลทุกคนสามารถมากินข้าวที่บ้านแป้งได้ตลอดเวลา ใครมีปัญหาไม่สบายใจก็ส่งข้อความปรึกษาได้ อธิบายง่ายๆ คือเราดูแลเหมือนลูก เพราะนักฟุตบอลส่วนใหญ่อายุมากกว่าลูกสาวแป้งแค่ไม่กี่ปี แต่แป้งจะให้นักฟุตบอลเรียกว่าพี่ แรกๆ ทุกคนจะเกร็งที่มีประธานสโมสรเป็นผู้หญิง แต่ไม่นานทุกคนก็ให้ความเป็นกันเอง เพราะรู้ว่านวลพรรณไม่ค่อยเหมือนผู้หญิงสักเท่าไหร่ นิสัยออกจะแมนๆ ด้วยซ้ำ”

วิธีการที่นวลพรรณ ล่ำซำ เลือกใช้ในการบริหารทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย และสโมสรการท่าเรือ เอฟซี คือการพยายามสร้างบรรยากาศที่ทุกคนในองค์กรเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยที่ตนเองเป็นฝ่ายให้ความเป็นกันเอง ให้ใจ และดูแลเหมือนเป็นคนในครอบครัว

“หน้าที่ของแป้ง คือ วางแผนให้ทุกคนได้ทำงานที่ตัวเองถนัด เหมือนสำนวนฝรั่งที่ว่า Put the right man on the right job (เลือกใช้คนให้ถูกกับงาน) เป็นแบบนั้นจริงๆ ค่ะ แป้งไม่ใช่หัวหน้าทีมแบบ One man show (ทำคนเดียว) แต่แป้งทำหลายอย่างให้สำเร็จได้ เพราะมีทีมงานที่ยอดเยี่ยม”

นี่เป็นทฤษฎี “3 ใจ” ของ “มาดามแป้ง” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทีมฟุตบอล “ชบาแก้ว”…