ทำไม”เจียงฮายเกมส์” ถึงสำคัญยิ่ง ?

หลังจากหายกันไปนาน กีฬาแห่งชาติครั้งที่ 46 หรือในชื่อ” “เจียงฮายเกมส์”” ก็ได้ฤกษ์เปิดฉากแข่งขันกันแล้ว ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน ไปจนถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน ไฟคบเพลิงของการแข่งขันก็จะถูกจุดขึ้น

นับตั้งแต่ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ขยับเป็นจัด 2 ปีต่อครั้ง การแข่งขันภายในประเทศที่สำคัญที่สุดรายการหนึ่งก็ถูกเว้นระยะให้คิดถึงกันพอสมควร

ว่ากันด้วยเรื่องของความสำคัญของกีฬาแห่งชาตินั้น หลายคนพยายามบอกว่าการจัดปีต่อปีทำให้เกิดโปรแกรมการแข่งขันที่มากขึ้น แต่พอนานๆ จัดครั้ง มันก็เป็นส่วนที่ทำให้ได้เห็นนักกีฬาหน้าใหม่ๆ ที่จะขึ้นมาล้มทีมชาติได้น้อยลงไปด้วย

ความน่าสนใจของกีฬาแห่งชาติครั้งนี้ ด้วยความที่นำไปจัดอยู่ในเมืองชายแดนรอยต่อระหว่าง 3 ประเทศ หรือที่เรียกกันว่าสามเหลี่ยมทองคำ

“เชียงราย” ถือว่าเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน เป็นที่ตั้งของ “หิรัญนครเงินยางเชียงแสน” นครหลวงก่อนเกิดอาณาจักรล้านนา

จังหวัดเชียงรายยังนับเป็นเมืองแห่งศิลปะ จากการผสมผสานประเพณี ศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นล้านนา, ไทใหญ่, ไทเขิน และไทลื้อที่มาจากสิบสองปันนา อีกทั้งยังเป็นเมืองที่สร้างศิลปินขึ้นมามากกว่า 300 คน รวมถึงศิลปินแห่งชาติอย่าง “ดร.ถวัลย์ ดัชนี” หรือ “ศาสตร์เมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์” เป็นต้น

ดังนั้น การจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งนี้ คือการนำเอาศิลปวัฒนธรรมเข้ามาผสานกับการกีฬา โดยศาสตร์เมธี ดร.เฉลิมชัยบอกว่า เชียงรายอยากจะเปลี่ยนแนวคิดในการจัดการแข่ง นำเอาศิลปะเข้ามาผสมผสานกับการแข่งขันกีฬา เพื่อทำให้เกิดความสนใจจากคนมากขึ้น

และก็ใส่ใจในทุกรายละเอียด ตั้งแต่พิธีเปิดการแข่งขันให้สมกับเป็นเมืองแห่งศิลปินอย่างแท้จริง

สิ่งแรกที่เห็นได้อย่างชัดเจนเลยคือเรื่องของการออกแบบสัญลักษณ์การแข่งขัน รวมไปถึงสัตว์นำโชค ที่ออกมาสวยงามและแปลกตาแบบที่จะหาไม่ได้จากที่ไหน

สัญลักษณ์สำหรับการแข่งขันครั้งนี้เป็นการหลอมรวมเอาพลังของคนเชียงรายให้เป็นหนึ่งเดียว ด้วยการนำเอาสถาปัตยกรรมทั้ง 3 แห่งที่มีชื่อเสียงของจังหวัดคือ “บ้านดำ” ของ อ.ถวัลย์, “วัดร่องขุ่น” ของ อ.เฉลิมชัย และวิหารดินหรือที่รู้จักกันในนาม “ไร่เชิญตะวัน” นำมาทำเป็นกราฟิก

ขณะที่ตัวเลข 46 ของการแข่งขันครั้งนี้ยังนำเอาตัวเลขแบบล้านนามาใช้ แสดงความอ่อนช้อยสวยงามอีกด้วย

ขณะที่ตัวมาสคอตนั้นอาจจะดูแปลกตา ไม่เคยเห็นบ้าง คือตัวที่เรียกว่า” “แมงสี่หูห้าตา”” มีชื่อว่า” “คำสุข”” เป็นสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งในตำนานว่าด้วยวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้ว อ.เมือง จ.เชียงราย มีลักษณะเป็นหมีสีดำตัวอ้วน มีหู 2 คู่และตาสีเขียว 5 ดวง ตามหลักทางพระพุทธศาสนานั้นหมายถึง “พรหมวิหาร 4” และ “ศีล 5” นั่นเอง

และอีกส่วนหนึ่งที่จัดได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของการแข่งขันครั้งนี้เลย ก็คือเหรียญรางวัล ที่ได้รับการออกแบบโดยศาสตร์เมธี ดร.เฉลิมชัย ด้วยคอนเซ็ปต์ที่ว่า เหรียญรางวัลของนักกีฬานั้นต้องเป็นสิ่งที่มีเกียรติ เป็นศักดิ์ศรีของนักกีฬาที่บากบั่นฝึกซ้อมอย่างหนัก

“มันต้องสุดยอด เหรียญของผมจะมีค่าที่สุดเพื่อมอบให้กับนักกีฬา นักกีฬามีความสำคัญนะครับ เราไม่ค่อยได้สนใจนักกีฬาของชาติ จึงทำให้ดีที่สุด ซึ่งความหมายของเหรียญรางวัลคือ บ้านดำ ของถวัลย์ ดัชนี และวัดร่องขุ่น รวมทั้งไร่เชิญตะวัน พร้อมด้วยลายกนกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเชียงราย จึงมีความพิเศษโดดเด่น ผมเป็นนักกีฬาปิงปอง และยิงธนู โอกาสนี้คิดว่าคนในเชียงรายต้องร่วมกัน ต้องทำเหรียญที่งดงาม มันคือความภาคภูมิใจสูงสุด นักกีฬาทุกท่านที่ได้เหรียญไปหาผมที่วัดร่องขุ่นเมื่อไรก็ได้ ผมจะเซ็นลายเซ็นสดๆ ให้เลย”

เรียกได้ว่าเป็นการให้ความสำคัญกับรายละเอียดอย่างมากของทางเจ้าภาพ และทำให้นักกีฬาน่าจะสู้กันอย่างเต็มที่เพื่อคว้าเหรียญรางวัลนี้ให้ได้

ขณะที่กระแสในจังหวัดเชียงรายเองก็ถือว่าประชาชนให้ความสนใจกันไม่น้อยทีเดียว สืบเนื่องมาจากการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับการแข่งขัน ตั้งแต่การจัดการแข่งขันกีฬาภายในจังหวัดเอง หรือการจัดประกวดขบวนศิลปะที่ผู้ชนะจะได้นำไปแสดงในพิธีเปิดด้วยแล้วนั้น เป็นการทำให้ผู้คนในจังหวัดนั้นได้รู้สึกว่าการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย

“นายประจญ ปรัชญ์สกุล” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า สำหรับการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งนี้ ตั้งเป้าว่าจะมีนักกีฬาเข้ามาร่วมแข่งขันมากกว่า 15,000 คน รวมถึงผู้ติดตามและครอบครัว ซึ่งจะทำให้มีคนเข้ามาในจังหวัดมากกว่า 50,000 คนขึ้นไป มีการวางแผนในการต้อนรับอย่างดีทั้งที่พักหรือร้านอาหาร มีการติดป้ายต้อนรับ อยากให้ชาวเชียงรายเป็นเจ้าบ้านต้อนรับแขกผู้มาเยือนให้ดี อยากให้มันสมบูรณ์ที่สุด

เพราะนี่คือการเป็นเจ้าภาพในรอบ 30 ปีของจังหวัดเชียงรายเลยทีเดียว

มาว่ากันในส่วนของการแข่งขันบ้าง ครั้งนี้เจ้าภาพจัดการแข่งขันเอาไว้ทั้งสิ้น 45 ชนิดกีฬาด้วยกัน

แบ่งออกเป็นกีฬาบังคับ 2 ชนิดก็คือ กรีฑา และว่ายน้ำ บวกกับสากล 42 ชนิดกีฬา อาทิ ฟุตบอล, วอลเลย์บอล หรือมวยสากลสมัครเล่น กับอีกหนึ่งชนิดกีฬาอนุรักษ์ นั่นก็คือ มวยไทยสมัครเล่น

โดยในส่วนของนักกีฬา แบ่งออกเป็น ชาย 7,264 คน หญิง 5,600 คน เจ้าหน้าที่ 3,394 คน รวมนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น 16,258 คน จังหวัดที่ส่งนักกีฬามากที่สุดคือ กรุงเทพฯ 994 คน น้อยที่สุดคือ สระแก้ว 7 คน

ทางฝั่งเจ้าภาพครั้งนี้ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันมากกว่าเดิมเป็นพิเศษ มีนักกีฬาชาย 368 คน นักกีฬาหญิง 231 คนด้วยกัน

ซึ่ง “นางรัตนา จงสุทธานามณี” นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย บอกว่า การเตรียมความพร้อมนั้นเริ่มทำตั้งแต่รู้ตัวว่าจะเป็นเจ้าภาพ บางชนิดกีฬาที่ต้องส่งคัดเลือกภาคก็มีการเตรียมตัวมาตั้งแต่เนิ่นๆ นอกจากนี้ จังหวัดเองก็ยังมีนโยบายที่จะให้นักกีฬาที่ปกติไปเล่นให้จังหวัดอื่นนั้นกลับมาเล่นให้กับจังหวัดเชียงรายเองด้วย ดังนั้น ถือว่าพร้อมสำหรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นแล้ว

“เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้นั้น จากการได้ประเมินร่วมกับหลายๆ ฝ่าย คาดว่าจังหวัดเชียงรายนั้นจะได้ไม่ต่ำกว่า 40 เหรียญทอง” นางรัตนากล่าว

ขณะที่แชมป์เก่าอย่าง “กรุงเทพมหานคร” ที่เพิ่งทวงแชมป์กลับมาได้เมื่อ “สงขลาเกมส์” ครั้งนี้ก็ยังคงเป็นตัวเต็งที่จะคว้าเจ้าเหรียญทองไปได้อีกครั้ง จากการที่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งทั้ง 45 ชนิดกีฬา และเป็นทัพนักกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของการแข่งขันครั้งนี้

“นายเอกวัฒน์ ลี้เทียน” รองหัวหน้าคณะนักกีฬาของ กทม. กล่าวว่า ตอนนี้ทาง กทม.มีความพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งทาง กทม. ยังเชื่อมั่นว่าครั้งนี้จะยังรักษาแชมป์เอาไว้ได้ เพราะนักกีฬาได้มีการเตรียมตัวกันมาอย่างดี มีบางคนที่ย้ายกลับจังหวัดตัวเองบ้าง หรือย้ายเข้ามาเป็นนักกีฬาในสังกัด กทม.บ้าง แต่ก็ยังมีนักกีฬาที่เป็นดีกรีทีมชาติอยู่ 88 คนด้วยกัน

“การแข่งขันครั้งนี้ตั้งเป้าเอาไว้ที่ 100 เหรีญทอง จากครั้งก่อนที่ได้มา 92 ทอง ซึ่งก็ยังบอกไม่ได้ว่าจะได้ถึงไหม แต่สิ่งที่มั่นใจแน่นอนคือจะสามารถรักษาแชมป์เอาไว้ได้”

นายเอกวัฒน์กล่าวปิดท้าย

หลายๆ ครั้งที่ผ่านมาเรามักจะเห็นการนำเรื่องของกีฬาไปผูกกับการท่องเที่ยว

ซึ่งจริงๆ แล้วการที่นำกีฬาแห่งชาติไปจัดที่เชียงรายนั้น ก็ถือว่าเป็นจังหวัดท่องเที่ยวจังหวัดหนึ่ง

เพียงแต่มันอาจจะพิเศษกว่าเดิมคือการนำกีฬามาผสานกับศิลปะที่เป็นศิลปะของพื้นที่นั้นๆ

ถ้าหากว่าการจัดการแข่งขันครั้งนี้ออกมาได้ประทับใจอย่างภาพที่เจ้าภาพได้วาดเอาไว้ และเป็นที่ถูกใจของผู้ร่วมงานทุกคนแล้วละก็ เชื่อว่าจะเป็นบรรทัดฐานและโจทย์ใหญ่ให้กับเจ้าภาพครั้งต่อไปอย่าง “ศรีสะเกษ”

ที่จะต้องดึงเอาทั้งกีฬา, ศิลปะ และการท่องเที่ยวมาผสานกันให้ได้