พิศณุ นิลกลัด : โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ จะแข่งโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวหรือไม่?

พิศณุ นิลกลัด

สัปดาห์ที่แล้ว โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ได้แชมป์ที่เนเธอร์แลนด์และกลับมาเป็นนักเทนนิสหมายเลข 1 ของโลกอีกครั้ง

พร้อมกับพ่วง “ตำแหน่ง” นักเทนนิสชายหมายเลข 1 ของโลกที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยสถิติอายุ 36 ปีกับอีก 6 เดือน

ทำลายสถิติเดิมที่อังเดร อากัสซี่ ทำไว้ตอนอายุ 33 ปี เมื่อปี 2003

สถิติหลายๆ อย่างที่เฟเดอเรอร์สร้าง เป็นสถิติที่เหนือความฝันของเจ้าตัว

โดยเฉพาะการเป็นหมายเลข 1 ของโลกประเภทชายเดี่ยวอีกหนตอนอายุย่าง 37

ไม่มีใครกล้าฝัน

เฟเดอเรอร์จะฝันได้อย่างไร เพราะตอนเป็นหมายเลข 1 ของโลกครั้งแรกเมื่อปี 2004 เขาอายุแค่ 22 ปีเท่านั้นเอง

การเป็นหมายเลข 1 ของโลกครั้งแรกกับครั้งล่าสุดห่างกันตั้ง 13 ปี ใครฝันคงถูกยัดข้อหาไม่บ้าก็ขี้โม้

 

นับตั้งแต่ขึ้นเป็นหมายเลข 1 ของโลกครั้งแรกในปี 2004 ตลอดช่วงเวลา 8 ปี (จากปี 2004 ถึง 2012) เฟเดอเรอร์เป็นหมายเลข 1 ของโลกอยู่ 3 ช่วงเวลา คือปี 2004-2008, 2009-2010 และเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายนของปี 2012 ที่เหลือ ราฟาเอล นาดาล, โนวัค โจโควิช และแอนดี้ เมอร์รี่ ผลัดกันขึ้นเป็นหมายเลข 1 ของโลก

แต่จากเดือนธันวาคมปี 2012 จนถึงธันวาคมปี 2016 เฟเดอเรอร์นอกจากจะไม่ได้เป็นหมายเลข 1 ของโลกแล้ว ยังถูกจับตามองว่าจะเลิกเล่นเมื่อไหร่ ทั้งด้วยวัยและการบาดเจ็บ

ครึ่งหลังของปี 2016 เฟเดอเรอร์ผ่าตัดหัวเข่า หยุดพักฟื้นฟูร่างกาย ฟิตซ้อมเพื่อกลับมาแจ้งเกิดอีกรอบ

ปรากฏว่ากลับมาเก่งแกร่งเหมือนเดิม แต่เลือกช็อตเล่นในแต่ละสถานการณ์เก๋ากว่าเดิม แบบนักเทนนิสทุกคนในเวลานี้อาจคิดได้ แต่ทำไม่ได้อย่างเฟเดอเรอร์

กลับมาแค่ปีเศษๆ เขาได้แชมป์เมเจอร์อีก 3 รายการ เป็นออสเตรเลียน โอเพ่น 2 วิมเบิลดัน 1 รายการอื่นยังไม่นับ กลับมาเป็นหมายเลข 1 ของโลกเป็นรอบที่ 4

วันนี้ผู้คนหยุดถามว่าจะแขวนแร็กเก็ตเมื่อไหร่

แต่ถามว่าอีก 2 ปีข้างหน้า เฟเดอเรอร์ในวัย 38 ปี จะลงแข่งโอลิมปิกปี 2020 ที่กรุงโตเกียวหรือไม่ เพราะเขายังไม่เคยได้เหรียญทองโอลิมปิกในการแข่งขันเทนนิสประเภทชายเดี่ยว เคยได้เหรียญเงินในปี 2012 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพ โดยแอนดี้ เมอร์รี่ ได้เหรียญทองไปครอง

ส่วนโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง เฟเดอเรอร์ได้เหรียญทองจากการแข่งขันประเภทชายคู่กับสแตน วาวริงก้า

ตอนนี้ เฟเดอเรอร์ไม่ได้ยืนยัน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิเสธว่า ตั้งใจจะลงแข่งโอลิมปิก 2020 หรือไม่ บอกแต่ว่าจะดีมากหากเขาลงแข่งได้ แต่ก็ไม่ได้ตั้งเป้าไว้ว่าต้องลงแข่งโอลิมปิก 2020 ก่อนเลิกเล่น

เฟเดอเรอร์บอกว่าเหลือเวลาอีก 2 ปี จึงยังไม่ใช่เวลาที่จะตัดสินใจ รอให้เวลาเหมาะสมก่อนถึงจะค่อยมาปรึกษาพูดคุย และก็ต้องดูว่าในปี 2020 ตัวเขารู้สึกอย่างไร

 

ในการแข่งขันโอลิมปิก 2016 ครั้งล่าสุดที่ประเทศบราซิล มีนักกีฬาสูงวัยหลายคนได้แสดงให้เห็นว่าอายุเป็นเพียงแค่ตัวเลข โดยได้เหรียญทองโอลิมปิกในวัยเกิน 30 ปี

ทั้งยูเซน โบลต์ และไมเคิล เฟลป์ส ทำให้ผู้คนตื่นเต้นกันไปทั่วโลกจากสถิติที่ยอดเยี่ยมของพวกเขา ตอนนั้นโบลต์วัย 30 ปี กวาดเรียบ 3 เหรียญทอง จากการแข่งขันวิ่ง 100 เมตร, 200 เมตร และ 4×100 เมตร

ส่วนไมเคิล เฟลป์ส ตอนนั้นอายุ 31 ปี ได้เหรียญทองประเภทบุคคล 2 เหรียญ จากการว่ายท่าผีเสื้อ 200 เมตร และว่ายเดี่ยวผสม 200 เมตร ส่วนเหรียญทองประเภทว่ายผลัดกับเพื่อนร่วมทีม เขาทำได้อีก 3 เหรียญ

 

ในโอลิมปิก 2016 นักกีฬาหลายคนได้ทำลายกำแพงอายุลง

ลีนเดอร์ เพส (Leander Paes) นักเทนนิสชาวอินเดียเจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิก ประเภทชายเดี่ยวปี 1996 ที่เมืองแอตแลนต้า ลงแข่งขันโอลิมปิกที่ริโอเป็นครั้งที่ 7 ในวัย 43 ปี

คริสติน อาร์มสตรอง (Kristin Armstrong) คุณแม่ยอดนักปั่นจากสหรัฐอเมริกา ได้เหรียญทองจากจักรยานไทม์ไทรอัลสามสมัยซ้อนตั้งแต่โอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง, ปี 2012 ที่กรุงลอนดอน และปี 2016 ที่ริโอ ซึ่งตอนนั้นเธออายุ 43 ปี

ยังมีนักกีฬาอีกหลายคนที่อายุล่วงเข้าสู่วัย 40 ปี ไม่ว่าจะเป็น อ๊กซาน่า ชูโซวิทิน่า (Oksana Chusovitina) นักยิมนาสติกวัย 41 ปีของอุซเบกิสถาน เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกที่ริโอเป็นครั้งที่ 7 หรือ โจ พาเวย์ (Jo Pavey) นักวิ่งระยะไกลจากอังกฤษวัย 42 ปีก็เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกที่ริโอเป็นครั้งที่ 5

 

แบร์รีย์ เช็ปลีย์ (Barrie Shepley) โค้ชไตรกีฬาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในแคนาดาและเจ้าของบริษัท Personal Best Health and Performance ซึ่งเป็นบริษัทดูแลสุขภาพและความเป็นเลิศทางด้านกีฬาของแคนาดา กล่าวว่า การที่ได้เห็นนักกีฬาอายุมากลงแข่งขันในโอลิมปิกแสดงให้เห็นว่ามีอะไรที่เป็นไปได้บ้างถ้าเรารักษาสภาพร่างกายให้ฟิตและทำจุดอ่อนของเราให้เหลือน้อยที่สุด

นักกีฬาโอลิมปิกส่วนใหญ่มีความมุ่งมั่นอยากที่จะรักษาร่างกายของพวกเขาให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด

แบร์รีย์ เช็ปลีย์ เคยเป็นโค้ชให้กับนักกีฬาโอลิมปิกของแคนาดาคว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2000 ที่ซิดนีย์ บอกว่าสมัยก่อนความทนทานของร่างกายของคนเราจะพัฒนาไปจนอายุ 36 ถึง 40 ปี

โดยทั่วไปพลังและความเร็วจะลดลงเมื่ออายุแตะหลัก 20 ปลายๆ ไปจนถึง 30 ต้นๆ

แต่ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารที่มีประโยชน์ การนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การเวตเทรนนิ่ง และการดูแลกระดูกสันหลังและข้อต่อต่างๆ ที่ดีขึ้นมาก ทำให้ร่างกายของนักกีฬาพัฒนาและสามารถคงความแข็งแกร่งอยู่ได้นานกว่าในอดีต 8-10 ปี

ที่เห็นได้ชัดก็คือนักกีฬาสมัยนี้มักจะเลิกเล่นกีฬาอาชีพเนื่องจากหมดไฟ มากกว่าที่จะเลิกเล่นเพราะสภาพร่างกายไม่ไหว ซึ่งอายุไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปแล้วในหลายๆ ชนิดกีฬา

โอลิมปิก 2016 ที่ริโอ เป็นตัวอย่างที่ดีว่าถ้านักกีฬาฝึกซ้อมอย่างหนัก ทานอาหารที่ดี และมีทีมงานโค้ชที่ยอดเยี่ยม แม้อายุจะมากขึ้นก็ยังมีโอกาสลุ้นเหรียญโอลิมปิก

ต้องมาติดตามกันว่าอีก 2 ปีข้างหน้า โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ในวัย 38 ปี จะลงแข่งขันในโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวหรือไ