พิศณุ นิลกลัด : การแข่งขันจักรยาน ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

พิศณุ นิลกลัด

วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม เป็นวันแรกของการแข่งขันจักรยาน Tour de France รายการจักรยานประเภทถนนใหญ่ที่สุดในโลก

การแข่งจักรยานประเภทถนน (road racing) มี 3 รายการใหญ่ของยุโรปที่เรียกว่า “Grand Tour” แข่งขันต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปถึงเดือนกันยายน ได้แก่ Giro d”Italia (จิโร ดิตาเลีย) Tour de France (ตูร์ เดอ ฟรองซ์) และ Vuelta a Espa?a (บูเอลตา อา เอสปันญา)

แต่รายการที่คนทั่วโลกคุ้นหูมากที่สุดคือ Tour de France ของฝรั่งเศส เพราะเป็นรายการเก่าแก่ที่สุด จัดแข่งครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1903 หรือ 115 ปีที่แล้ว

ปีนี้จัดระหว่างวันที่ 6-28 กรกฎาคม 2019 เป็นการแข่งขันครั้งที่ 106

 

Tour de France 2019 เริ่มแข่งสเตจแรกที่กรุงบรัสเซลส์ (Brussels) ประเทศเบลเยียม เพื่อเป็นเกียรติแก่การครบรอบ 50 ปีที่เอ็ดดี้ เมิร์กซ์ (Eddy Merckx) ยอดนักขี่จักรยานอาชีพชาวเบลเยียม ที่คว้าแชมป์ Tour de France ได้ครั้งแรกในปี 1969

เอ็ดดี้ เมิร์กซ์ เป็นยอดนักขี่จักรยานอาชีพที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ได้แชมป์ Grand Tour ทั้งหมด 11 ครั้ง (5 Giro, 5 Tour, 1 Vuelta)

การแข่งขันจะไปจบสเตจ 21 ที่ถนนฌ็องเซลิเซ่ (Champs-?lys?es) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระยะทางรวม 3,460 กิโลเมตร เฉลี่ยแล้วนักกีฬาต้องปั่นจักรยานสเตจละ 164.7 กิโลเมตร

ดังนั้น การแข่งขันจักรยานประเภทถนนจึงเป็นหนึ่งในกีฬาที่ต้องอาศัยพละกำลังทั้งร่างกายและจิตใจจนถึงขีดสุด ซึ่งการแข่งขัน Tour de France แต่ละครั้งก็จะมีผลที่เกิดขึ้นกับนักแข่งจักรยานหลายเรื่อง ทั้งเรื่องน้ำหนักตัว ระบบภูมิคุ้มกัน กระดูก อาการปวดก้นเพราะอานจักรยานเสียดสี

รวมไปถึงเรื่องของจิตใจ

 

งานวิจัยเมื่อปี 2012 ศึกษาด้านกายภาพของนักขี่จักรยานที่แข่งขัน Tour de France พบว่านักกีฬาจักรยานมีน้ำหนักตัวระหว่าง 70-74 กิโลกรัม

โดยคนที่เก่งการแข่งประเภทไทม์ไทรอัล (Time-trial) ซึ่งเป็นการทดสอบความสามารถของตัวนักปั่นเองที่ต้องแข่งกับนาฬิกา ไม่ใช่การปั่นแข่งขันกับนักปั่นคนอื่น จะมีน้ำหนักตัวเยอะกว่าคนที่ปั่นจักรยานขึ้นเขา

ตลอด 3 สัปดาห์ของการแข่งขัน นักกีฬาจะพยายามรักษาน้ำหนักตัวไว้ให้คงที่ เพราะเมื่อน้ำหนักลดลงก็หมายถึงการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ และสูญเสียพลังในการขี่จักรยาน ดังนั้น ทีมงานจะให้นักกีฬากินอาหารวันละประมาณ 6,000 แคลอรี่

โดยในหนึ่งมื้อจะทานคาร์โบไฮเดรต 840 กรัม โปรตีน 200 กรัม และไขมัน 158 กรัม

 

ไนเจล มิตเชลล์ (Nigel Mitchell) หัวหน้านักโภชนาการชาวอังกฤษของทีม EF Education First Pro Cycling (ในอดีตคือทีม Cannondale-Drapac) ทีมจักรยานอเมริกัน บอกว่า ในปี 2017 ช่วง 3 สัปดาห์ของการแข่งขัน Tour de France 2017 ไม่มีนักขี่จักรยานคนไหนในทีมของเขาที่น้ำหนักตัวลดหรือเพิ่มขึ้นไปเกินกว่า 1 กิโลครึ่ง เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวตอนแข่งขันสเตจแรก

แต่ธรรมชาติของการแข่งขันความเร็วก็ทำให้นักกีฬาเกิดความเครียดและอาจน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่สเตจแรกๆ ได้

นีล เฮนเดอร์สัน (Neal Henderson) โค้ชชาวอเมริกันของโรฮาน เดนนิส (Rohan Dennis) นักขี่จักรยานชาวออสเตรเลีย อธิบายว่าความเครียดและวิตกกังวลระหว่างแข่งจะทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) และเกิดการอักเสบที่จะนำไปสู่การสะสมของของเหลวในร่างกาย

และทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

 

เป็นที่ทราบกันว่าการออกกำลังกายระดับกลาง เช่นขี่จักรยานที่ความเร็ว 15-20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นประจำ จะช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราแข็งแกร่งขึ้น

แต่ในช่วงของการแข่งขัน Tour de France นักกีฬาออกกำลังกายอย่างเข้มข้น ขี่จักรยานด้วยความเร็วเฉลี่ย 40-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ จึงทำให้ปริมาณเม็ดเลือดขาวในร่างกายลดลง ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ มีโอกาสติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

ซึ่งเมื่อนักกีฬาต้องใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง อยู่บนท้องถนนที่แออัดในฝรั่งเศส สูดหายใจเอากลิ่นท่อรถ ฝุ่นละออง และอนุภาคของเสียเข้าไปในร่างกาย รวมถึงการสัมผัสมือและพบปะกับคนมากมายหลังแข่งจบแต่ละสเตจ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสถานการณ์ที่ทำให้เกิดอาการป่วยได้ทั้งสิ้น

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ปกติในกลุ่มนักแข่งจักรยาน Tour de France

 

ดร.อัลเลน ลิม (Allen Lim) นักสรีรวิทยา ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตอาหารและเครื่องดื่มให้พลังงานยี่ห้อ Skratch Labs (สแครตช์ แลบส์) และอดีตที่ปรึกษาของ Team Garmin บอกว่า เมื่อแข่งขันจักรยานมาถึงสเตจสุดท้ายในกรุงปารีส จะมีนักขี่จักรยานประมาณ 30-40% ที่มีอาการป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนกันแล้ว และก็มีบางคนที่อาจต่อสู้กับอาการป่วยไม่ไหวจนต้องถอนตัวไปตั้งแต่สเตจก่อนหน้า

การขี่จักรยานเป็นการออกกำลังกายที่ร่างกายไม่ต้องแบกรับน้ำหนักเหมือนกับกีฬาชนิดอื่น ให้ความรู้สึกเหมือนใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศ

ถึงแม้นักกีฬาจักรยานอาชีพจะฝึกฝนอย่างหนักมากเพื่อมาแข่งขันใน Grand Tour แต่กระดูกของพวกเขาได้รับแรงกดดันน้อยมาก

ช่วงของการฝึกซ้อม นักขี่จักรยานจะออกกำลังกายด้วยการยกน้ำหนักและวิ่งเพื่อสร้างความหนาแน่นให้มวลกระดูก

แต่ระหว่างการแข่งขันพวกเขาขี่จักรยานเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังขับของเหลวซึ่งเต็มไปด้วยแร่ธาตุในการสร้างมวลกระดูกอย่างโพแทสเซียมและแคลเซียมออกมาทางเหงื่ออีกเป็นจำนวนมาก

 

ในปี 1996 ทีมนักวิจัยชาวเยอรมันได้ทดสอบความหนาแน่นของมวลกระดูกของนักกีฬาประเภทต่างๆ ทั้งนักยกน้ำหนัก นักมวย และนักแข่งจักรยาน Tour de France แล้วนำไปเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่มีอายุเท่ากัน

พบว่านักยกน้ำหนักและนักมวยมีความหนาแน่นของกระดูกมากกว่ากลุ่มควบคุม

ในขณะที่นักแข่งจักรยาน Tour de France เมื่อนำไปเทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่ามีความหนาแน่นของกระดูกสันหลังน้อยกว่า 10%

มีความหนาแน่นของกระดูกสะโพกน้อยกว่า 14%

คอ และกระดูกต้นขา มีความหนาแน่นน้อยกว่า 17%

 

อาการเจ็บก้นจนแข่งขันต่อไม่ไหว อาจฟังเป็นเรื่องขำขันสำหรับหลายคน แต่ก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับนักแข่งจักรยาน

นีล เฮนเดอร์สัน เล่าว่า ตอนเขาเป็นโค้ชให้กับเทย์เลอร์ ฟินนีย์ (Taylor Phinney) นักขี่จักรยานชาวอเมริกันของทีม BMC Racing (ปัจจุบันอยู่ทีม EF Education First) ในการแข่งขัน Giro d”Italia ปี 2013 ฟินนีย์ต้องถอนตัวระหว่างการแข่งขันสเตจที่ 16 เพราะมีอาการปวดจากอานจักรยาน (saddle sore) ซึ่งหนักมากจนเขาคิดถึงการเข้ารับผ่าตัดเลยทีเดียว

การแข่งขันจักรยานระยะทางไกลวันละเกินกว่าร้อยกิโลเมตร นักขี่จักรยานจะสร้างแรงกดทับและเสียดสีระหว่างอานกับก้นเป็นระยะเวลานาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งที่นั่งแค่เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดอาการปวดที่ยากจะแก้ไข

นอกจากนี้ การเสียดสีกับอานจักรยานนานๆ ยังมีโอกาสทำให้เกิดอาการรูขุมขนอักเสบ (folliculitis) เกิดเป็นตุ่มสิวบริเวณก้น ซึ่ง ดร.อัลเลนบอกว่า การเกิดสิวที่ก้นอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับคนทั่วไป

แต่สำหรับนักขี่จักรยานอาชีพอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง