คณิต ณ นคร : “ครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร” กับการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่

ครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร กับการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ (1)

เรื่องการร้องขอให้มี “การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่” โดยการสนับสนุนของกระทรวงยุติธรรมในกรณีของครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร เป็นข่าวที่เกรียวกราวมากจนบัดนี้ จนเป็นเหตุให้ครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ต้องถูกดำเนินคดีเรื่องใหม่อีก แทนที่จะหลุดพ้นจากตราบาปในคดีเก่า

หนังสือพิมพ์มติชนรายวันประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 หน้า 7 กล่าวว่า

“เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เปิดเผยกรณีศาลจังหวัดนครพนมอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อดีตข้าราชการครูชาว จ.สกลนคร ยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขับรถยนต์ชนคนเสียชีวิต ศาลฎีกาได้ยกคำร้อง ซึ่งครูจอมทรัพย์เดินทางมาขอความเป็นธรรมที่ ยธ. ว่า นายสุรพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการ ยธ. ได้สั่งการให้ตนเข้าไปจัดระบบการรับเรื่องราวร้องทุกข์แก่ประชาชน โดยเฉพาะเรื่องที่มีการยื่นร้องขอให้มีการรื้อฟื้นคดี เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับผู้ร้องและหน่วยงานอื่น โดยทางกระทรวงได้ร่างระเบียบปฏิบัติเพื่อตรวจสอบข้อมูล หลักฐานอย่างเป็นระบบมากขึ้น เพราะที่ผ่านมายังขาดความเป็นระบบ ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงจะมีระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน เพราะการรื้อฟื้นคดีนั้นสามารถทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ฯลฯ”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

นอกจากนั้น ยังมีข่าวในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ฉบับ Wednesday, November 29, 2017 อีกว่า รองปลัดกระทรวงยุติธรรมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตัวมาสอบปากคำ

เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้เขียนจึงเห็นสมควรจะได้กล่าวถึงเรื่อง “การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่” ในทางหลักการเพื่อให้เป็นที่ทราบกันบ้างตามสมควร

โดยจะกล่าวถึงความเป็นมาของกฎหมายว่าด้วยการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ในระบบกฎหมายของไทยเราว่ามีพัฒนาการเป็นอย่างไร

และ “การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่” ในคดีของครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ว่าส่งผลต่อกฎหมายว่าด้วยการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่อย่างไรบ้าง ต่อกระทรวงยุติธรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อตัวครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร เอง

1.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่คืออะไร

ในเบื้องต้นนี้ผู้เขียนเห็นสมควรกล่าวถึงความหมายของ “การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่” เพื่อความเข้าใจกันเสียก่อนว่าคืออะไร

“การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่” เป็นเรื่องของข้อยกเว้นของ “สภาพเด็ดขาดทางกฎหมายในทางรูปแบบ “(formelle Rechtskraft/finally-binding effect) หรือเป็นข้อยกเว้นของ “คำพิพากษาถึงที่สุด” ประการหนึ่ง1

“การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่” นั้น ในหลักการแล้วสามารถกระทำได้ทั้งในทางเป็นโทษและในทางเป็นคุณแก่จำเลย

“การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่” ในทางเป็นโทษแก่จำเลย คือ กรณีที่ศาลยกฟ้องในคดีที่จำเลยถูกฟ้องอันเกิดจากความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม รัฐจึงมีอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินการกับจำเลยอีกครั้ง

แต่กฎหมายของประเทศที่ยอมให้มีการ “การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่” ในทางเป็นโทษแก่จำเลยจะบัญญัติเงื่อนไขที่มีความเข้มงวดเป็นอย่างมาก

กล่าวคือ จะเป็นเรื่องของข้อยกเว้นจริงๆ เท่านั้น

ทั้งนี้ เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษาของศาล และกฎหมายว่าด้วยการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ของประเทศต่างๆ ส่วนมากจึงเป็นเรื่องของการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ในทางเป็นคุณแก่จำเลย

ส่วน “การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่” ในทางเป็นคุณแก่จำเลยก็คือ กรณีที่จำเลยถูกพิพากษาลงโทษ แต่เกิดความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม รัฐจึงดำเนินการแก้ไขให้จำเลย

“การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่” ตามกฎหมายของเราที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันก็กระทำได้แต่เฉพาะในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยเท่านั้น2

“การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่” เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเรื่องหนึ่งในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทีเดียว เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม”

และที่ว่า “การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่” เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเรื่องหนึ่งในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่า “ความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม” เกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าในชั้นเจ้าพนักงานหรือชั้นศาล ทั้งนี้ ไม่ว่าในการดำเนินคดีอาญาชั้นเจ้าพนักงานและชั้นศาลจะได้ดำเนินการอย่างรอบคอบเพียงใดก็ตาม แต่คนในกระบวนการยุติธรรมของรัฐก็เป็นปุถุชนธรรมดาที่อาจผิดพลาดบกพร่องได้

“การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่” มีวัตถุประสงค์เพื่อลบล้างคำพิพากษาถึงที่สุดที่ผิดพลาดอันเป็นผลจากความบกพร่องของพยานหลักฐานหรือเป็นผลของความผิดพลาด ในทางข้อเท็จจริงเท่านั้น ความผิดพลาดในทางกฎหมายไม่เป็นเหตุที่จะรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้”3

กฎหมายว่าด้วย “การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่” เพิ่งเกิดขึ้นในระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยเราเมื่อปี 2526 กล่าวคือ เกิดขึ้นโดยพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526

2.วิวัฒนาการของกฎหมายว่าด้วยการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่

แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยเราจะมีมาตั้งแต่ปี 2478 แต่เมื่อมีความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้น ในอดีตเราก็คงจะใช้เรื่อง “การอภัยโทษ” ซึ่งเป็นเรื่องของ “กฎหมายว่าด้วยการบังคับโทษ” (Strafvollzugsrecht/penalty law หรือ prison law) เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา4

และแล้วในที่สุดเมื่อปี 2526 เราก็มีกฎหมายว่าด้วยการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ คือ พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526

เหตุผลในประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวนี้มีว่า

“โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดมีสิทธิขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ในภายหลังหากปรากฏหลักฐานขึ้นใหม่ว่าบุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิดและกำหนดให้มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทน และได้รับบรรดาสิทธิที่เสียไปเพราะผลแห่งคำพิพากษานั้นคืน หากปรากฏตามคำพิพากษาของศาลที่พิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ว่าบุคคลผู้นั้นมิได้กระทำความผิด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”5

เกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัตินี้ ผู้เขียนจำได้ดีว่าผู้เขียนเองเป็นผู้หนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาในยุคสมัยนั้น และเป็นผู้ร่วมพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรื้อฟื้นคดีอาญาใหม่ พ.ศ. …” ก่อนที่รัฐสภาจะได้ลงมติเห็นชอบเป็นกฎหมาย

เมื่อกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องของรัฐ และเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม กรณีจึงชอบที่จะเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะแก้ไขเยียวยา หาใช่เป็นภาระหน้าที่ของจำเลยไม่ และผู้ที่จะแก้ไขความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมก็คือ “พนักงานอัยการ” ในกรณีนี้ที่รัฐหรือพนักงานอัยการปฏิเสธ “การรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่” ต่างหากที่จำเลยชอบที่จะกระทำได้เอง

แต่กรณีก็ต้องไม่ลืมว่าในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการของจำเลยนั้น เป็นภาระที่หนักไม่น้อย รวมทั้งจำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายเองด้วย กรณีจึงน้อยมากที่จำเลยจะขอให้มี “การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่”

เหตุนี้ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว ผู้เขียนจึงได้เสนอในแนวทางที่จะให้ “พนักงานอัยการ” เป็นหลักใน “การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่” แต่ก็มีกรรมาธิการวิสามัญผู้อื่นไม่เห็นพ้องด้วยกับความเห็นของผู้เขียน

โดยมีความเห็นกันว่า ถ้าหากให้พนักงานอัยการทำการรื้อฟื้นคดีอาญาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องก็จะทำให้คำพิพากษาของศาลขาดความศักดิ์สิทธิ์

ดั่งนี้ จะเห็นได้ว่ากรรมาธิการวิสามัญท่านอื่นๆ เข้าใจเรื่อง “ความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษา” แตกต่างไปจากผู้เขียน และเป็นความเข้าใจที่ผู้เขียนเห็นว่าไม่มีหลักวิชาการสนับสนุนเลย เพราะ “การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่” ในทางเป็นโทษกับจำเลยต่างหากที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับ “ความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษา” ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ความเห็นของกรรมาธิการวิสามัญท่านอื่นๆ ดังกล่าวมานั้น แท้จริงแล้วผู้เขียนเห็นว่าไม่ใช่เป็นความเห็นที่แปลกประหลาดแต่ประการใด เพราะในทางปฏิบัติในคดีอาญาในประเทศไทยเรานั้น เราปล่อยให้มีการต่อสู้คดีกันเช่นเดียวกับการดำเนินคดีแพ่ง

และความเห็นดังกล่าวนี้ผู้เขียนเห็นว่าเกิดจากอิทธิพลของนักกฎหมายไทยที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศใน “ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์” (Common Law System) โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกฎหมายที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ

ด้วยเหตุนี้ พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 6 จึงบัญญัติ ดังนี้

“มาตรา บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิยื่นคำร้อง

(1) บุคคลที่ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด

(2) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลในกรณีที่บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นเป็นผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถ

(3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคล ในกรณีที่นิติบุคคลนั้นต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด

(4) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการยื่นคำร้อง หรือ

(5) พนักงานอัยการ ในกรณีที่พนักงานอัยการมิได้เป็นโจทย์ในคดีเดิม”

สรุปว่า หลักในกฎหมายว่าด้วยการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่จึงเป็นว่า พนักงานอัยการจะขอรื้อฟื้นได้เฉพาะในคดีที่พนักงานอัยการไม่ใช่ผู้ฟ้องคดีเดิมเท่านั้น6

เชิงอรรถ

1 ดู คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พิมพ์ครั้งที่ 8 สำนักพิมพ์วิญญูชน มีนาคม 2555 หน้า 642

2 ดู พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 6

3 ดู คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พิมพ์ครั้งที่ 8 สำนักพิมพ์วิญญูชน มีนาคม 2555 หน้า 642

4 อนึ่ง ผู้เขียนเห็นสมควรกล่าวด้วยว่า “กฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ” (Strafvollzugsrecht/penalty law หรือ prison law) หาใช่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ แม้บทบัญญัติว่าด้วย “การอภัยโทษ” จะปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ตาม

และจากความไม่เข้าใจดังกล่าว จึงทำให้การบัญญัติกฎหมายเสียระบบไปหมด เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 89/2 ที่เกิดขึ้นโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 25) เพราะบทบัญญัติแห่งมาตรานี้เป็น “กฎหมายว่าด้วยการบังคับโทษ” (Strafvollzugsrecht/penalty law หรือ prison law) จึงควรเป็นบทบัญญัติที่อยู่ในภาค 7 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ดู คณิต ณ นคร ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หลักกฎหมายและพื้นฐานการเข้าใจ พิมพ์ครั้งที่ 3 มกราคม 2560 หน้า 90 เชิงอรรถที่ 149

5 ดู หมายเหตุ ท้ายพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 100 ตอนที่ 55 วันที่ 7 เมษายน 2526