รายงานพิเศษ : การเสด็จเยือนโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ รพช.อำเภอสันกำแพง ตามพระราชดำริ ปี 2522

โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ตามพระราชดำริ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เกิดขึ้นเมื่อปี 2518 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง มีท่านองคมนตรีประกอบ หุตะสิงห์ เป็นประธาน และมีผู้บังคับบัญชาหัวหน้าส่วนราชการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข ทบวงมหาวิทยาลัย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ร่วมเป็นกรรมการดำเนินการวางแผน และประสานงานให้เกิดโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ ตามพระราชดำรินี้ขึ้น

หลังการงานที่คณะกรรมการได้ดำเนินการก็คือ กระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะกรมป่าไม้ ได้ถอนสภาพป่าเสื่อมโทรมไร้ประโยชน์ จำนวน 12,000 ไร่ ที่บ้านออนหลวย อำเภอสันกำแพง

สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท สำนักผังเมือง กรมชลประทาน ได้ร่วมกันจำแนกพื้นที่เป็น 6 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 60 ครัวเรือน ก่อสร้างถนน ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ กำหนดแบ่งพื้นที่แปลงกลางทำประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ โรงสีข้าว โรงผสมอาหารสัตว์ คลังสินค้ากลาง โรงเรียน

ในปัจจุบัน โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ตามพระราชดำริ อำเภอสันกำแพง อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

โครงการนี้ได้ขยายเพิ่มจาก 6 หมู่บ้านเดิม เป็น 8 หมู่บ้าน พื้นที่ส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนา มีสภาพสมบูรณ์สวยงาม สมาชิกหมู่บ้านสหกรณ์เดิม เสียชีวิตแล้วเป็นส่วนใหญ่ เพราะโครงการเริ่มมาตั้งแต่ปี 2519 กว่า 40 ปีแล้ว แต่บุตรหลาน ญาติมิตรของสมาชิก ก็ได้อยู่ในพื้นที่และดำรงชีวิตอย่างสุขสบายตามอัตภาพ เพราะพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอย่างแท้จริง

พระองค์ท่านจะเสด็จเยือนพื้นที่หมู่บ้านสหกรณ์ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ระหว่างปี 2519-2525 ประมาณเวลาบ่าย 2 โมงครึ่ง โดยจะตรวจเยี่ยมโครงการด้านวิศวกรรมด้านก่อสร้าง แหล่งน้ำ อ่างเก็บน้ำ คลองระบายน้ำและพื้นที่โดยรอบบริเวณที่เป็นต้นน้ำลำธารตามธรรมชาติ

เสร็จภารกิจแล้ว ก็จะเสด็จทอดพระเนตรพื้นที่การเกษตร การปลูกพืชผักเศรษฐกิจ อาทิ กระเทียม ถั่วลิสง ถั่วเขียว ไร่นาสวนผสม แปลงหญ้าปศุสัตว์ เป็นต้น และพระราชทานคำแนะนำต่างๆ แก่เกษตรกร

จากนั้นก็จะเสด็จเยี่ยมโรงสีข้าว โรงผสมอาหารสัตว์ โรงผลิตน้ำนมดิบ โดยจะทรงซักถามข้อมูลอย่างละเอียดในเรื่องต่างๆ

ทรงพระราชทานข้อแนะนำ สั่งสอน และสอบถามปัญหาอุปสรรค โดยมีผู้เขียน “นายไพโรจน์ สังขพิชัย” ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร กราบบังคมทูล และน้อมรับพระราชดำริ

ในการบริหารโรงสี โรงผสมอาหารสัตว์ โรงผลิตน้ำนมดิบ โรงเลี้ยงไก่ การเก็บรวบรวมผลผลิตการเกษตร

1.ในแปลงเกษตรกรรม (ปี 2522)

ในช่วงเวลาหนึ่ง พระองค์เสด็จพระราชดำเนินจากรถยนต์ลุยลงไปกลางแปลงการปลูกถั่วลิสงในหมู่บ้านที่สี่ของโครงการ โดยมี สมเด็จพระเทพฯ ท่านองคมนตรี ดร.ประกอบ หุตะสิงห์ ข้าราชบริพารส่วนพระองค์ และข้าราชการผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องตามเสด็จลงไปด้วย

– พระองค์ท่านทรงชี้ไปที่แนวต้นถั่วลิสง และทรงมีรับสั่งด้วยพระสุรเสียงค่อนข้างดังว่า “นี่…ผักชี…ผักชีอีกแล้ว…” ผมที่ตามเสด็จอยู่อย่างใกล้ชิดใจหายวูบ รู้สึกตัวเหมือนตกลงไปในความมืดมิดของหุบเหว

ด้วยรู้สึกถึงความหมายของพระองค์ท่านดีว่าพระองค์ท่านคงหมายความว่า ทำงานเอาหน้าเหมือนผักชีโรยหน้าอาหารให้ดูดีขึ้นเท่านั้น

ผมคิดว่าผู้ใหญ่และผู้รับผิดชอบต่างมีความรู้สึกเช่นเดียวกับผมอย่างแน่นอน

เพราะทุกคนนิ่งเงียบงันกันหมด!

อีกอึดใจหนึ่งต่อมา ก็ได้ยินพระองค์ท่านทรงมีรับสั่งต่อไปอีกว่า

“แต่ผักชีนี้ใช้ได้… เป็นผักชีที่ดี ขายได้ ที่ว่าดี ขายได้ เพราะสังเกตเห็นตลอดแปลงมานี่…ต้นถั่วเขียวอุดมสมบูรณ์สวยงาม ไม่มีวัชพืช บำรุงดินดีแสดงว่าเอาใจใส่ดูแลบำรุงสม่ำเสมอคงจะได้ผลผลิตดี”

ผมรู้สึกหายใจโล่ง ปลอดโปร่ง เหมือนพระองค์ท่านฉุดดึงจากหุบเหว ติดต่อกันวินาทีนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ก็ทรงตรัสขึ้น

“ถ้าเป็นเช่นนั้น เราให้โครงการเก็บเกี่ยวแล้วส่งไปขายสหรัฐ ให้ท่านประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ นี่ไหมเพคะ”

พระองค์ท่านทรงแย้มพระสรวล ตรัสว่า “เอาอย่างนั้นเลยนะ”

ผมเชื่อว่าทุกท่านที่อยู่ในขณะนั้น โดยเฉพาะผมเองเกิดความปีติตื้นตันในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นอย่างยิ่ง

เพราะในขณะนั้นเป็นที่ทราบกันว่าท่านประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ เป็นนักธุรกิจชาวไร่ชาวนาที่ปลูกถั่วลิสงมาในอดีตด้วยผู้หนึ่ง

2.ในโรงผสมอาหารสัตว์

เมื่อผมถวายรายงานความเป็นมาต่างๆ แล้ว พระองค์ท่านทรงตรัสซักถามอยู่เป็นเวลานาน ช่วงหนึ่งที่ไม่ลืมเลือน พระองค์ท่านตรัสถามว่า…

“ทำโรงผสมอาหารสัตว์ที่ว่าเอาไปเลี้ยงไก่ไข่หมู่บ้านหนึ่งนั้น รู้ไหมว่า…ไก่ตัวหนึ่งกินอาหารวันละกี่กรัม”

นี่เป็นอีกอึดใจหนึ่งที่ผมใจหายวูบ ใจสั่น ปากสั่น สมองมึนๆ ได้แต่ก้มหน้าสารภาพ

“ขอพระราชทานอภัย… ไม่ทราบพระพุทธเจ้าค่ะ”

พระองค์ท่านแย้มพระสรวลหันไปทางท่านผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกรมปศุสัตว์ก็ได้รับคำตอบที่พอพระทัย แต่พระองค์ท่านยังทรงพระเมตตาไต่ถามผมอีกต่อไปว่า…

“ประสิทธิภาพเครื่องผสมอาหาร อาหารสัตว์สามารถผลิตได้วันละเท่าใด”

“ไก่ไข่มีกี่ตัว พอหรือไม่เครื่องจักรเล็กนิดเดียว ถ้าเครื่องเสียจะทำอย่างไร ใช้งบประมาณซื้อให้ใหญ่ขึ้นได้หรือไม่ จะได้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงโคนม สุกรอื่นได้อีก”

โรงสีข้าว

พระองค์ท่านทรงพระเมตตาซักถามอีกเป็นเวลานาน อาทิ

– เครื่องจักรโรงสีนี่ก็เล็กมาก…

– ประสิทธิภาพสีได้วันละกี่เกวียน

– ข้าวเปลือกเอามาจากไหน? ชาวบ้านปลูกข้าวรวมกันกี่ไร่

– ถ้าไม่มีข้าวจะไปซื้อจากที่ไหน

– สีแล้วขายให้ชาวบ้านกิน คิดราคาเท่าใด?

ในส่วนของอาคารโรงเลี้ยงสัตว์โรงเรือนนั้น ผมได้เฝ้าฯ ถวายรายงานเป็นส่วนใหญ่ ประธานกรรมการแต่ละประเภทเข้าเฝ้าฯ อยู่และตอบคำถามต่างๆ อยู่ด้วย ผมต้องสารภาพ และขอพระราชทานอภัยอยู่หลายครั้งที่ไม่สามารถตอบได้

พระองค์ท่านก็จะทรงพระเมตตาสอนให้ตั้งใจ ต้องหาความรู้ต่อจากผู้ปฏิบัติงานในแต่ละเรื่องนั้นอย่างจริงจังให้ได้ เพราะเป็นคนที่ต้องประสานทุกอย่าง ต้องคอยแก้ปัญหา ถ้าไม่รู้ ไม่ขวนขวายก็จะแก้ปัญหาอุปสรรคให้ราษฎรได้ไม่ถูกจุด เสียเวลา และเสียงานต่อไป

ซึ่งผมน้อมรับใส่เกล้าฯ และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เต็มสติกำลังความสามารถในขณะนั้นตลอดมา

3.ราษฎรฟ้องพระเจ้าอยู่หัว!

ภายหลังจากเสด็จเยือนโครงการแล้ว พระองค์ท่านก็จะเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วไปที่ยังคอยเฝ้าฯ รับเสด็จอยู่นับพันคน

ผมยังคงตามเสด็จไปโดยห่างๆ และก็ต้องตกใจอีกเมื่อราชองครักษ์เดินตามให้เข้าไปหาพระองค์ท่านอีกถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก…ผมได้เข้าไปหมอบกราบพระองค์ท่านใกล้ๆ พระองค์ท่านหันมาชี้พระหัตถ์ที่ผม…แล้วตรัสว่า

“เอ้า…ผู้อำนวยการหมู่บ้านมาแล้ว ชาวบ้านเขาเดือดร้อนฟ้องร้องเรื่องการระเบิดหินในโครงการจะแก้ตัวอย่างไร?”

เรื่องนี้ผมได้ทราบและแก้ไขมาตลอดนับจากเริ่มโครงการแล้วจึงกราบทูลตอบพระองค์ท่านต่อหน้าเกษตรกรกลุ่มนั้น

“เป็นความจริงพระพุทธเจ้าค่ะ”

ความเดือดร้อนเกิดขึ้น 2 ทาง ทางหนึ่งคือฝุ่นละอองปลิวตกแปลงเกษตรถึงแปลงยาสูบทำให้เติบโตช้าไม่ค่อยสมบูรณ์

อีกทางหนึ่งคือระเบิดดังก่อความรำคาญ เช้า-บ่าย-เย็น

“ข้าพระพุทธเจ้าได้ประสานระยะสั้น ระยะยาวไว้แล้ว คือระยะสั้น ตรวจสอบพบว่า แปลงที่ปลูกพืชใกล้โรงระเบิดหินเดือดร้อนเพราะฝุ่นละอองปกคลุม 100 เมตร จึงได้ประสานการใช้น้ำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรดูแลใกล้ชิดเรื่องปริมาณน้ำ”

*โรงโม่ช่วยฉีดน้ำ ช่วยชดเชยให้ค่าขนส่งใช้รถบรรทุกไปช่วยขาย ฯลฯ

ระยะยาว ประสานกับราชการตรวจสอบสัมปทานแหล่งหินจะพยายามหาแหล่งให้สัมปทานใหม่

สำหรับเรื่องเสียงดัง ได้ประสานติดต่ออย่าระเบิดหินต่อกันตลอดวัน ขอเป็นเช้ามืดและตอนเย็นก่อนค่ำ 2 ครั้ง ได้รับการร่วมมืออย่างดีเช่นกัน

ครั้งที่สอง… เสร็จสิ้นครั้งแรก ผมก็ถอยห่างออกไปอีก เวลาไม่นานนักราชองครักษ์ก็เข้ามาตามดึงตัวเข้าไปหาพระองค์ท่านอีก พระองค์ท่านหันมาเรียกเข้าไปใกล้ๆ แล้วตรัสว่า

“มาแล้ว…มาแล้ว ชาวบ้านฟ้องอีก ผู้อำนวยการทำน้ำให้เขาไม่พอใช้”

ซึ่งผมได้กราบทูลว่า ท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำปล่อยตามความลาดชันเข้ามาในหมู่บ้านตามแนวถนน 9 ใหญ่เฉพาะฝั่งขวา เพราะฝั่งขวาในหมู่บ้านจะสูงกว่าฝั่งซ้าย

“ตลอดแนวทางฝั่งขวาก็จะมีจุดปล่อยน้ำเป็นระยะๆ ระยะระหว่าง 1 เสาไฟฟ้า 40 เมตร มิได้เฉพาะเจาะจงผู้ใด ชาวบ้านที่อยู่พอดี ณ จุดปล่อยน้ำ ก็จะถือเป็นโชคดีไป”

“ชาวบ้านที่เผอิญอยู่ห่างไปท่างฝั่งขวาก็ดีหรือฝั่งซ้ายก็ดี ก็จะลำบากบ้าง การปล่อยน้ำก็กำหนดไว้เป็นเวลาเช้า-เย็นเท่านั้น”

“การแก้ปัญหา คือ ชาวบ้านคนใดเดือดร้อนสามารถขอสินเชื่อจากร้านค้าเพิ่มในวงเงินที่ให้ไว้ซื้อสายยาง+ถังเก็บน้ำ และเสียเวลารองน้ำ ณ ที่จุดปล่อยน้ำแต่ละจุดได้ไม่ไกลนัก”

“ทางซ้ายอาจขุดแนวถนนฝังท่อ เพื่อต่อน้ำไปหรืออาจใช้กระบอกไม้ไผ่หยั่งยกระดับน้ำจากจุดให้สูงขึ้นไปใช้ก็ได้”

“บางรายในฝั่งซ้ายไกลออกไป ทางโครงการจะให้ขุดท่อระบายน้ำเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่บริเวณบ้านให้บ้างก็ได้…”

“การจะทำให้จุดปล่อยน้ำเข้าหน้าบ้านทุกรายนั้นไม่สามารถทำได้ จะเสียงบประมาณมากด้วย”

ตลอดเวลาที่ผมกราบทูลนั้น พระองค์ท่านก็จะทรงซักถามละเอียดขึ้นบ้างอีกหลายครั้ง และสุดท้ายพระองค์ท่านทรงพระเมตตาตรัสกับประชาชนที่อยู่ ณ ที่นั้นว่า

“ผู้อำนวยการแก้ตัวอย่างนี้ คงพอใจนะ”

แล้วพระองค์ท่านก็เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรต่อไป