ความหลากหลายของภาษา กับนโยบายภาษาทางการของอินเดีย

ที่ประเทศอินเดีย ตอนนี้กำลังเกิดปัญหาเรื่องความขัดแย้งเกี่ยวกับ “ภาษา” เกิดขึ้น

จนล่าสุดมีรายงานว่า ชายชราในวัย 85 ปี ถึงกับเผาตัวเองเพื่อประท้วงการที่รัฐบาลอินเดียพยายามจะกำหนดให้ภาษา “ฮินดี” เป็นภาษาที่ต้องใช้ทั่วประเทศ หรือเรียกว่าเป็นภาษาทางการของประเทศอินเดีย

ทั้งนี้ เรื่องภาษา ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับประเทศอินเดีย ประเทศที่มีภาษาใช้กันหลายร้อยภาษา และภาษาเฉพาะกลุ่มอีกจำนวนมาก

แต่ภาษาทางการที่ใช้กันตอนนี้จริงๆ ก็คือภาษาอังกฤษ ส่วนรัฐบาลของแต่ละรัฐก็จะใช้ภาษาท้องถิ่นตามแต่ละพื้นที่ ขณะที่แต่ละภูมิภาค แต่ละพื้นถิ่นของอินเดียก็มีการใช้ภาษาท้องถิ่นของตัวเองในการสื่อสาร

ทั้งนี้ จากการทำสำมะโนล่าสุดในอินเดีย คือเมื่อปี ค.ศ.2011 พบว่า ชาวอินเดียที่พูดภาษาฮินดี มีไม่ถึงครึ่ง หรือมีแค่ 44 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด

(Photo by AFP)

หากแต่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอินเดียกลุ่มหนึ่ง ที่นำโดยนายอามิต ชาห์ รัฐมนตรีมหาดไทยผู้ทรงอิทธิพล ได้ออกมาแนะนำว่า ควรจะใช้ภาษา “ฮินดี” เป็นภาษาทางการ ซึ่งจะรวมถึงคำศัพท์เทคนิค อย่างภาษาทางการแพทย์หรือวิศวะ

ขณะที่นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งเป็นชาวฮินดู ใช้ภาษาหลักเป็นภาษาอังกฤษ และสนับสนุนให้มีการใช้ภาษาท้องถิ่นต่างๆ ในอินเดีย

หากแต่ฝ่ายค้านได้กล่าวหารัฐบาลของนายโมดีว่า พยายามที่จะบังคับให้ผู้คนใช้ภาษาฮินดี ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับผู้คนทางตอนใต้ของประเทศ ที่ส่วนใหญ่ใช้ภาษา “ดราวิเดียน” เป็นหลัก ซึ่งเป็นภาษาที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับภาษาทั่วๆ ไปในอินเดีย ที่ถูกจัดอยู่ในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน หรืออินเดีย-ยุโรป ที่มีภาษาหลักและภาษาย่อยรวมกันมากถึง 443 ภาษา รวมทั้งภาษาฮินดีด้วย

 

ข้อเสนอเรื่องการใช้ภาษาฮินดีเป็นภาษาทางการ จึงกลายเป็นประเด็กถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง และมีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก เนื่องจากความหลากหลายทางภาษาที่มีอยู่มากในอินเดีย

ตำรวจระบุว่า ชายชราที่เผาตัวตายครั้งนี้ ชื่อ เอ็มวี ทานกาเวล วัย 85 ปี เป็นเกษตรกรจากรัฐทมิฬนาฑู ตอนใต้ของอินเดีย ที่ได้ราดน้ำมันใส่ตัวเอง ก่อนจุดไฟเผา และได้ถือป้ายที่เป็นภาษาทมิฬ ใจความว่า

“รัฐบาลโมดีต้องหยุดการเสนอใช้ภาษาฮินดี ทำไมเราต้องเลือกใช้ภาษาฮินดี ในเมื่อเรามีภาษาทมิฬของเรา มันจะส่งผลกระทบต่ออนาคตของลูกหลานของเรา”

ทั้งนี้ ชายชรารายนี้ ได้ถือป้ายไปประท้วงที่ด้านหน้าสำนักงานของพรรคดีเอ็มเค ในเขตซาเลม รัฐทมิฬนาฑู ซึ่งชายชราคนนี้เป็นสมาชิกของพรรคอยู่

โดยพรรคดีเอ็มเค มีนายเอ็มเค สตาลิน เป็นผู้นำพรรค และเป็นบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายด้านภาษาของรัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของโมดี และหลังการเสียชีวิตของชายชราคนนี้ นายสตาลินได้แสดงความเสียใจไปยังญาติของนายทานกาเวล แต่ขณะเดียวกัน ก็ขอเรียกร้องให้คนอื่นๆ อย่าประท้วงด้วยความรุนแรงเช่นนี้อีก

“เราไม่ควรจะต้องสูญเสียชีวิตใดๆ อีก” นายสตาลินกล่าว และว่า ขอให้เดินหน้าต่อสู้คัดค้านนโยบายการใช้ภาษาฮินดีเป็นภาษาทางการด้วยวิถีแห่งประชาธิปไตย อย่าปล่อยให้ความใจแคบทำให้ความสวยงามของความหลากหลายของประเทศต้องเสียหาย

เรื่องเกี่ยวกับ “ภาษา” ในประเทศอินเดีย ถือเป็นประเด็นการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานในประเทศ เมื่อครั้งสมัยที่พรรคคองเกรสเป็นพรรครัฐบาล และพยายามที่จะทำให้ภาษาฮินดีเป็นภาษาทางการ เมื่อช่วงทศวรรษ 1960 ก็สร้างกระแสความไม่พอใจให้เกิดขึ้นทางตอนใต้ของอินเดีย

เฉกเช่นตอนนี้ ที่ประเด็นเรื่องภาษา ได้กลายเป็นที่มาของการตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองของชายชราผู้นี้