รายงานพิเศษ : ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา : เราจะหลุดพ้นจากประเทศ “คลับฟรายเดย์ 4.0” ได้อย่างไร

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน

กระแสที่กำลังบูมของประเทศไทย 4.0 ที่รัฐบาล คสช. เร่งผลักดันเพื่อจะยกระดับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยี ให้ประเทศก้าวสู่ความเป็นดิจิตอล ก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย-คนจน

แต่สิ่งเหล่านี้ที่ถูกพูดถึงโดยผู้กำหนดนโยบายที่ไม่มีความรู้เรื่องนวัตกรรมหรือกรอบความคิดที่สอดรับกับการก้าวสู่ยุคใหม่

จะสร้างความเป็นไปได้หรือไม่?

หรือว่าเป็นเพียงวาทกรรม หรือถูกผลักดันจนมองข้ามบางอย่างที่เป็นรากฐานสำคัญไป

 

เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ในงาน “ร้อยปีชาตกาล สืบสานปณิธานอาจารย์ป๋วย” ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักเขียน พิธีกรและเจ้าของสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์ ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “จากเชิงตะกอนถึงครรภ์มารดา จาก อดัม สมิธ ถึง พอล สมิธ – Poetical Economy in a Club Friday Country 4.0” ที่ให้แง่คิดอย่างน่าสนใจ

โดยนายภิญโญได้ตั้งคำถามว่า ทำไมต้อง 4.0?

นายภิญโญกล่าวว่า เมื่อคิดอะไรไม่ออก ก็ให้หาตัวเลขเข้าไปใส่ในเรื่องนั้นๆ เช่น ธุรกิจ 2.0 การตลาด 3.0 และในที่สุดก็มาถึง ไทยแลนด์ 4.0 จากนั้น คนก็จะไปเถียงกันว่า 4.0 คืออะไร

และในที่สุด เราก็จะลืมเรื่องใหญ่ๆ ไป

นี่เป็นวิธีคิดแบบ 1.0 ที่ใช้กันตั้งแต่สมัยจีนโบราณ วิธีการเช่นนี้ ยังใช้ได้ดีกับไทยแลนด์ในปัจจุบัน

นี่เป็นที่มาขนาดสั้น…ของไทยแลนด์ 4.0

 

เรื่องที่ง่ายรองลงมา ที่อยากจะพูดถึง คือเรื่องคลับฟรายเดย์ ทุกวันศุกร์ เรามีรายการสำคัญอยู่ 2 รายการ รายการแรกเรตติ้งดี คนติดกันทั้งบ้านทั้งเมือง รายการที่สองเรตติ้งไม่ดี แต่ก็ยังมีคนติดอยู่กับท่าน ทั้งบ้านทั้งเมืองอีกเช่นกัน

รายการแรกเป็นของ “ป้าซุ่มทุ่มไม่อั้น” ส่วนรายการที่สองเป็นของ “ลุงซุ่มทุ่มไม่เลือก” คนรักลุงก็บอกว่าลุงซุ่มทุ่มเท ทำงานหนักมาก แบกรับภาระประเทศชาติเอาไว้ทุกด้าน

ส่วนคนไม่รักลุงก็บอกว่า ลุงชอบทุ่มสิ่งของ ไม่ค่อยรู้กาลเทศะ ชอบเหวี่ยงวีน คนเตือนลุง ลุงก็น้อยใจ วิจารณ์ไปก็ทำให้ลุงโกรธ พอโกรธลุงก็กลับไปซุ่ม 2-3 วัน แล้วลุงก็จะกลับมาทุ่มใหม่ คนเบื่อรายการลุงก็เลยหันไปฟังรายการป้า

และนี่คือที่มาที่ไป ที่ทำให้ประเทศเราสมควรได้รับฉายาว่า “คลับฟรายเดย์ คันทรี” (ประเทศคลับฟรายเดย์) 4.0

 

เพราะนโยบายส่วนใหญ่ ในประเทศล้วนมาจากรายการวันศุกร์ เช่นเดียวกับความสนุก การนินทา และหัวข้อสนทนาในออฟฟิศ รวมทั้งในมหาวิทยาลัย ที่มักมาจากรายการคุณป้า

ลุงและป้าจึงเป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศไทยในปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนั้น คำถามใหญ่จึงอยู่ที่ว่า “เราจะอยู่อย่างนี้ไปอีกนานไหม?”

แต่ขออภัย คำถามใหญ่จริงๆ คือ “เราจะอยู่อย่างนี้ไปได้อีกนานเท่าไหร่?”

เมื่อหันมามองดูตัวเลขทางเศรษฐกิจภายใน พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นภายนอก ก่อให้เกิดการ Disrupt (ทำลาย) ไปทุกวงการ ตั้งแต่โทรคมนาคม สื่อสารมวลชน ธนาคาร รถยนต์ ไปจนถึงการค้าปลีกและแฟชั่น

เมื่อเป็นเช่นนั้น ราชการและการเมือง ถ้าไม่ Disrupt ตนเอง ไม่นานก็คงต้องถูก Disrupt ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง

ในประวัติศาสตร์โลก ทุกครั้งเมื่อการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางเทคโนโลยี ไม่มีครั้งไหนที่การเมืองจะไม่เปลี่ยน

ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อโลกอยู่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีหรือที่การเมืองไทยจะไม่เปลี่ยน

ความพยายามหาทางเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนยุค ทำให้เกิดทุกข์ทรมานทางการเมืองไทยมายาวนานกว่าทศวรรษ

แต่การเมืองก็ยังหาทาง Disrupt ตนเองไม่ได้ เราจึงเห็นแต่การคอร์รัปชั่น ที่มีเพิ่มมากขึ้น ในทุกวงการ อันเป็นเครื่องสะท้อนว่า เราสูญเสียความสามารถด้านภูมิปัญญาในการทำมาหากินตามปกติ เราสูญเสียศักยภาพในการคิดใหม่ ธุรกิจที่เคยทำมาเริ่มไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ถ้าสถานการณ์ยังคงดำเนินไปในอัตราเร่ง

เสียงเพลงแห่งงานเลี้ยง คงใกล้เวลาเลิกรา

เราจึงเห็นผู้คนมากมาย ออกมาตอกย้ำว่า ธุรกิจต้องสร้างนวัตกรรม ต้องผลิตสิ่งใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นคำแนะนำ จากสถาบันที่ไม่ได้ผลิตนวัตกรรมใดๆ มานานแล้ว ไม่ว่า หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา รวมทั้งสถาบันวิจัยพัฒนา ที่กำลังจะกลายเป็นสิ่งล้าสมัย ไปตามลำดับ

ถ้าองค์กรเหล่านี้ไม่หลับตาข้างเดียวและเกาะเกี่ยวตัวเองกับผู้มีอำนาจ ข้อแนะนำอันชาญฉลาดให้ผู้อื่นปฏิบัติ ก็คงทำให้ตนเองจัดการกับอนาคตของตนเองได้ดียิ่งขึ้น

ความขันขื่นในวันนี้ ที่ไม่ต้องถูกเอ่ยอ้างโดยเวทีสัมมนา สถานการณ์แวดล้อมในประเทศไทยไมjได้ก่อให้เกิดนิเวศน์แห่งการคิดใหม่ และการสร้างสรรค์

 

การจะคิดใหม่ได้นั้น ผู้คนในประเทศต้อง มีเสรีภาพในการคิด ไม่ต้องมีคนคอยบอกว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดให้คิด สิ่งใดไม่ให้คิด! เพราะความผิดพลาดคือ กระบวนการที่สร้างความชาญฉลาด และสร้างนวัตกรรมของมนุษย์

นี่คือความจำเป็นพื้นฐานที่สุดของนวัตกรรม ซึ่งคงไม่ต้องตอกย้ำว่า

ประเทศเรายังไม่มี!

นอกจากนี้ ประเทศจำเป็นต้องมีกระบวนการยุติธรรม ที่ใช้นิติธรรมเป็นเครื่องยุติ

เมื่อเกิดข้อขัดแย้ง หรือจะเมื่อพิพากษความผิดผู้ใด กระบวนการยุติธรรมต้องโปร่งใส บังคับใช้อย่างถ้วนหน้า คนจน คนรวย ชาวนา มหาเศรษฐี ล้วนต้องอยู่ภายใต้ความยุติธรรมนี้

ถ้าไม่มีความยุติธรรมเช่นนี้ ถ้ามีแต่ความยุติธรรมเลือกข้าง ความคั่งค้าง คับแค้นในหัวใจ ย่อมไม่อาจอนุญาตให้ผู้ใดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่สดใสสวยงามได้

ระบบมหาวิทยาลัยบนโลกใบนี้ จากมหาวิทยาลัยโบโลญญ่าในอิตาลี ถึงมหาวิทยาลัยปารีสในฝรั่งเศส และอ๊อกซ์ฟอร์ดในอังกฤษ ล้วนประกอบด้วยปัจจัย 2 อย่างเป็นหลัก เราสร้างนวัตกรรมทางการค้า สร้างปัญญาในการผลิตไม่ได้ ถ้าไม่มี “เสรีภาพทางความคิด” และไม่มี “นิติรัฐ”

มหาวิทยาลัยต่อสู้กับรัฐมานับพันปี เพื่อให้ได้มีสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมนี้ อันเป็นที่มาของเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพของประชาชนและความยุติธรรมชนทุกหมู่เหล่า ที่เข้าถึงได้โดยเสมอภาค

ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความไม่ยุติธรรมฉันใด ความยุติธรรมที่แบ่งฝ่าย ก็คือความอยุติธรรมฉันนั้น

 

เมื่อเราพรากปัจจัย 2 ข้อออกไป แล้วเรียกร้องให้ผู้ประกอบการสร้างสรรค์นวัตกรรม ก็ไม่ต่างอะไรกับการเรียกร้องให้ผู้คนเดินไปบนน้ำ คนส่วนใหญ่คงจมน้ำตาย ที่รอดมาได้คงน้ำท่วมปาก น้ำท่วมปอดและจอดอยู่ที่ฝั่ง ไม่สามารถเดินไปสู่ฝั่งฝันได้

อดัม สมิธ สร้างผลงาน The Wealth of Nation ขึ้นมาได้ด้วยเสรีภาพทางความคิด อันเกิดขึ้นในยุคภูมิปัญญาในสกอตแลนด์ ยุคที่ท้าทายอำนาจเก่า เมื่อความคิดใหม่ได้ธงนำ มันได้กลายเป็นแรงผลักดันสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งนิยามความมั่งคั่งใหม่ ไม่ใช่จากเงินทองในท้องพระคลัง แต่จากพลังการค้าและการผลิต

พลังทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดสปิริตของผู้ประกอบการ ซึ่งทั้งหมดไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่กำเนิดจากชาวนา ช่างฝีมือผู้ยากไร้

ผู้ที่ถือกำเนิดจากความยากจนเหล่านี้ คือผู้ที่สร้างสรรค์ความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลก อาศัยการลองผิดลองถูกและสปิริตของการเป็นผู้ประกอบการ ความกล้าได้กล้าเสีย อาศัยสังคมที่เปิดกว้าง สังคมที่ผลิตประชาธิปไตย สร้างนวัตกรรมของโลกขึ้นมากมาย

จนขยายขอบเขตสุดถึงสยาม เรียกร้องให้สยามต้องปรับตัว เกิดการปฏิรูปในรัชกาลที่ 5

น่าเสียดายที่หลายกรณี การปรับตัวในยุครัชกาลที่ 5 กลับถูกเลือกสนใจแต่รูปแบบภายนอก หาได้เข้าใจ เข้าถึง สปิริตแท้จริงที่ซ่อนอยู่ อันถือเป็นสปิริตที่กล้าหาญ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ กล้าท้าทายกระทั่งความคิดเดิมของคน

จนเกิดการพัฒนา

ความกล้าหาญในการเปลี่ยนแปลงเส้นทางใหม่ ความกล้าท้าทายขนบเก่าทำให้มีคนอย่าง พอล สมิธ ดีไซเนอร์ชื่อดัง กบฏต่อค่านิยมเก่า กบฏต่อสังคม กบฏต่อกฎเกณฑ์ กบฏต่อสงคราม พวกเขาถามหาการนิยามของชีวิตใหม่ สร้างสิ่งต่างๆ และนักธุรกิจรุ่นใหม่มากมายอย่าง สตีฟ จ๊อบส์ จากความเป็นกบฏ

ถ้าจ๊อบส์เรียนและสมยอมกับระบบ ก็คงไม่มีไอโฟนหรือไอแพด และโลกคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงรุนแรง รวดเร็วเช่นนี้

นี่คือผลงานของนักศึกษากบฏคนสำคัญของโลก นี่คือสปิริตของซิลิคอน วัลเลย์ ที่นำไปสู่การปฏิวัติดิจิตอล ปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่แท้จริง

ถ้าประเทศไทยต้องไปประเทศไทย 4.0 ที่ไม่ได้เป็นแค่ “คลับฟรายเดย์” ก็ไม่สามารถปฏิเสธสปิริตของยุคสมัยเช่นนี้ได้

เพราะนี่คือหัวใจของยุค 4.0