นงนุช สิงหเดชะ/เมื่อคนทั่วโลก เที่ยวกันเป็นบ้าเป็นหลัง

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

เมื่อคนทั่วโลก เที่ยวกันเป็นบ้าเป็นหลัง

นับแต่การแพร่หลายของเทคโนโลยีที่เรียกว่าอินเตอร์เน็ตและสมาร์ตโฟน ประกอบกับการอุบัติขึ้นของสายการบินโลว์คอสต์ แอพพลิเคชั่นจองห้องพักที่สะดวกแค่ปลายนิ้ว กูเกิลแม็ปช่วยนำทาง และกูเกิลทรานส์เลตช่วยแปลภาษา

ส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกออกท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น

เนื่องจากการเที่ยวต่างประเทศไม่จำเป็นต้องเป็นคนมีฐานะอีกต่อไป

หากแต่กลายเป็นสินค้าที่ “เข้าถึง” หรือ “จับจ่ายได้” สำหรับคนธรรมดาทั่วไป

การท่องเที่ยวกลายเป็นแฟชั่นและแนวโน้มใหญ่อันหนึ่งของโลก

จึงทำให้ประเทศต่างๆ หันมาเน้นการสร้างรายได้จากภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มปริมาณขึ้นทุกปี

เฉพาะสิ้นปีนี้คาดหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนออกเที่ยวนอกประเทศ 133 ล้านคน

ซึ่งตามเป้าหมายของทางการจีนตั้งเป้าจะส่งออกนักท่องเที่ยวประมาณ 500 ล้านคนในระยะอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ในเอเชีย ไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่รุกด้านการท่องเที่ยวอย่างแข็งขันจนสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ส่งผลให้ประเทศอื่นเอาอย่างตาม ที่เห็นชัดในภูมิภาคเดียวกันก็คือญี่ปุ่น ที่ออกมาตรการเชิงรุกเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งไทย เพื่อชุบชีวิตเศรษฐกิจที่ประสบกับภาวะเงินฝืดมาเกิน 20 ปี เนื่องจากชาวญี่ปุ่นเก็บออมมากไม่ค่อยใช้จ่าย

ทุกวันนี้มาตรการของญี่ปุ่นประสบความสำเร็จเกินคาดหมายจนตั้งตัวไม่ทัน

จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มพรวดพราด จากที่เคยมีแค่ปีละ 5 ล้านคนในปี 2546 ก็ขยับขึ้นมาเกิน 10 ล้านคนเป็นครั้งแรกในปี 2556

จากนั้นเร่งตัวเร็วขึ้นจนแตะ 24 ล้านคนในปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีนตามด้วยฮ่องกง เกาหลีใต้

ทั้งนี้ ทางการญี่ปุ่นตั้งเป้าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ถึง 40 ล้านคนในอีก 3 ปีข้างหน้าซึ่งโตเกียวเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกเกมส์ และเป็น 60 ล้านคนในปี 2573

ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ แต่ก็กลายเป็นดาบสองคมไปพร้อมกันเมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวนั้นเพิ่มพรวดแบบก้าวกระโดดเกินกว่าจะรองรับไหว ตอนแรกนั้นญี่ปุ่นก็ประสบปัญหาแค่ว่าไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับเพียงพอ เช่น พนักงานขายของ ไกด์ ล่าม ขาดแคลน ไม่มีป้ายบอกทางหรืออื่นๆ เป็นภาษาอังกฤษกำกับ

แต่พอเวลาผ่านไป โดยเฉพาะระยะสองปีมานี้ คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยเริ่มจะไม่ “เวลคัม” นักท่องเที่ยวเพราะรู้สึกว่าการท่องเที่ยวได้สร้าง “มลพิษ” ให้พวกเขาไปแล้ว เนื่องจากทำให้การจราจรติดขัด ระบบขนส่งสาธารณะทั้งรถเมล์ รถไฟ อัดแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวจนคนท้องถิ่นเดือดร้อนในการใช้บริการ

นอกจากนั้น พวกเขารู้สึกว่าความสงบสุขและวิถีชีวิตดั้งเดิมถูกรบกวนรุกราน ก่อเสียงดัง ผู้มาเยือนไม่ค่อยจะรักษามารยาท

ในโตเกียว ประชาชนร้องเรียนว่ามีรถบัสนักท่องเที่ยวมากเกินไปในย่านยอดนิยม เช่น ชินจูกุ ชิบูยะ เป็นต้น ทำให้การจราจรที่แย่อยู่แล้วติดขัดหนักขึ้นไปอีก

ส่วนในเกียวโต เมืองหลวงเก่าญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแหล่งยอดนิยมของนักท่องเที่ยว ก็เกิดเสียงโอดครวญจากชาวบ้านเช่นกัน เพราะเห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวนั้นเกินขีดจำกัดของเมืองจะรับไหวแล้ว

คนท้องถิ่นที่เคยอยู่อย่างสงบสุขถูกรบกวน ถูกแย่งใช้บริการขนส่งสาธารณะ

เดือดร้อนจากเสียงของนักท่องเที่ยวที่มาพักตามโรงแรมผิดกฎหมายที่เปิดบริการโดยไม่ขออนุญาตให้ถูกต้อง

ขณะที่จำนวนคนต่างชาติที่เข้าไปอาศัยอยู่มีสัดส่วนมากกว่าคนท้องถิ่นดั้งเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ

ด้านยุโรปก็ไม่แพ้กัน ชาวเมืองเวนิส ของอิตาลี หนึ่งในสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปเยือนให้ได้ ก็กำลังโวยวายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มากมายแออัดจนเหมือนฝูงปลาซาร์ดีนขนาดใหญ่ติดอวน

Venice – Italy

กระทั่งทำให้จำนวนประชากรดั้งเดิมลดลงเรื่อยๆ ปีละประมาณ 1,000 คนเพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นเหตุให้ราคาและค่าเช่าที่พักอาศัยถีบตัวขึ้น

พวกเจ้าของที่ดิน เจ้าของที่อยู่อาศัยมักจะปล่อยเช่ามากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านเว็บไซต์บริการห้องพัก Airbnb

ทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยวแห่แหนไปเหยียบเวนิสวันละ 60,000 คน และมีเพียงไม่กี่คนที่อยู่ค้างคืน ส่วนใหญ่มาแล้วก็ข้ามฝั่งกลับไป

ดังนั้น บรรดาโรงแรมหรือร้านอาหารก็ไม่ได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวมากนัก

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มากับเรือสำราญขนาดใหญ่ยักษ์เท่าสนามฟุตบอลเป็นเป้าต่อต้านจากชาวเมืองมากที่สุด

จนถึงกับรณรงค์ต่อต้านเรือสำราญกันมาแล้ว เพราะเรือดังกล่าวจะนำนักท่องเที่ยวเข้ามาเทียบท่าวันละประมาณ 30,000 คน แกนนำของชาวเมืองจึงเสนอให้มีการจำกัดปริมาณเรือสำราญ รวมทั้งเก็บภาษีพวกที่ปล่อยเช่าที่พักผ่าน Airbnb

ชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งขัดเคืองใจพฤติกรรมนักท่องเที่ยว เช่น การทิ้งขยะเกลื่อน หรือพวกคนเมาที่กระโดดลงไปในคลองจนเกือบจะโดนเรือกอนโดล่าที่กำลังพายอยู่

บางแห่งมีการปิดป้ายไล่นักท่องเที่ยวว่า “ไปให้พ้นพวกนักท่องเที่ยว พวกคุณกำลังทำลายเมืองเรา” หรือ “หยุดก่อน ฉันไม่ต้อนรับคุณ”

สําหรับคนไทยนั้น ในยามที่ภาครัฐโหมกระหน่ำส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ ก็คงประสบชะตากรรมไม่แพ้ญี่ปุ่นหรือที่อื่นๆ ที่ในตอนแรกเราก็โวยวายนักท่องเที่ยวจีนว่าไม่มีมารยาท ส่งเสียงดัง ทำลายข้าวของ (เหยียบแปลงผัก แปลงดอกไม้ของชาวบ้าน) แซงคิว ฯลฯ

แต่ในทางกลับกันเราก็ไปทำนิสัยแบบเดียวกันนี้ในญี่ปุ่น จนถูกญี่ปุ่นเคืองมาแล้วเช่นกัน

การท่องเที่ยวเป็นเหรียญสองด้าน ดาบสองคม มองในแง่ของรัฐบาลและคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คนค้าขายก็ย่อมบอกว่าดีน่าสนับสนุน แต่ถ้ามองในแง่ปัจเจกบุคคลที่คิดว่าตัวเองไม่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวโดยตรง (แต่อาจได้ทางอ้อม) ก็อาจจะต่อต้าน รังเกียจนักท่องเที่ยว

ทางที่ดี ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการให้พอเหมาะสมดุล ไม่ส่งเสริมมากเกินไปจนเสี่ยงต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือระบบนิเวศ ตลอดจนสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัย

ว่าไปแล้วนักท่องเที่ยวเดี๋ยวนี้ก็น่ากลัวใช่เล่น เพราะดูเหมือนเที่ยวกันจนไม่มีสติสตัง โดยเฉพาะเมื่อมีโซเชียลมีเดียเป็นเวทีให้โอ้อวด คนจำนวนไม่น้อยจึงคลั่งเซลฟีกับแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่ถูกโปรโมต ขอให้บอกมาเถอะ รับรองไม่กี่ชั่วโมงก็แห่แหนไปถ่ายรูปกันจน (เหยียบ) ราบเป็นหน้ากลอง ทั้งแปลงสตรอว์เบอร์รี่ แปลงกะหล่ำปลี ทุ่งหญ้าคา เพื่อหวังจะได้โอ้อวดว่าไปเช็กอินก่อนใคร

ดูคนบ้าเห่อท่องเที่ยว คลั่งเซลฟี่สมัยนี้แล้วบางทีก็ตลกเกินบรรยาย ทั้งที่แหล่งท่องเที่ยวที่ว่านั้นไม่เห็นจะมีอะไรมากมาย เป็นแค่ของธรรมดาที่เราเห็นจนคุ้นตา

ถ้ามีความพอดีทั้งคนเที่ยวและคนโปรโมต สิ่งต่างๆ ก็จะไม่ชำรุดเสื่อมโทรมเร็ว