ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กรกฎาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | คนของโลก |
เผยแพร่ |
เฟตุลเลาะห์ กุยเลน ผู้นำทางศาสนาอิสลาม วัย 75 ปี ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาซึ่งถูกกล่าวหาจากทางการตุรกีว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหารในตุรกี มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากในประเทศบ้านเกิด โดยเขาได้รับการสนับสนุนเป็นวงกว้างในหมู่ตำรวจและผู้พิพากษา
นักสอนศาสนาอิสลามรักสันโดษที่อาศัยอยู่ในเซย์เลอร์สเบิร์ก เมืองเล็กๆ ในหุบเขาโพโคโน รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ถูก เรชิป เทย์ยิป แอร์ดวน ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวหาแทบจะในทันทีหลังเกิดเหตุว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อการรัฐประหาร
อย่างไรก็ตาม กุยเลนได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ ในเรื่องนี้
และประณามความพยายามในการทำรัฐประหาร “อย่างรุนแรงที่สุด”
“ในฐานะผู้ที่เจ็บปวดจากการต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหลายครั้งในรอบ 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ถือเป็นการดูถูกดูแคลนอย่างมากที่กล่าวหาว่าผมมีความเกี่ยวข้องกับความพยายามเช่นนี้” กุยเลนระบุไว้ในแถลงการณ์ที่ออกเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม
“ผมขอประณามความพยายามในการรัฐประหารในตุรกีอย่างรุนแรงที่สุด” แถลงการณ์ระบุ และว่า อำนาจรัฐควรจะได้มาโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ไม่ใช่การใช้กำลัง
ครั้งหนึ่ง กุยเลนเคยเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของแอร์ดวน แต่ทั้งสองขัดแย้งกันในช่วงหลัง จากการที่แอร์ดวนเริ่มกังขาต่อกลุ่มเคลื่อนไหว “ฮิซเม็ต” ของกุยเลนที่ทรงอิทธิพลในสังคมตุรกี ที่รวมถึงในวงการสื่อ วงการตำรวจและฝ่ายตุลาการ
กุยเลนย้ายไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1999 ก่อนที่ต่อมาจะถูกแจ้งข้อหาว่าเป็นกบฏในตุรกี
หลังจากนั้นเป็นต้นมา เขาใช้ชีวิตอยู่อย่างสันโดษในรัฐเพนซิลเวเนีย โดยปฏิเสธการให้สัมภาษณ์หลายครั้งและไม่ค่อยปรากฏตัวในที่สาธารณะบ่อยครั้งนัก
การปะทะกันของสองขั้วอำนาจที่เป็นศัตรูกันพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อปลายปี 2013 นี่เอง โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการที่เชื่อว่ามีความใกล้ชิดกับกุยเลน แจ้งข้อกล่าวหาต่อบุคคลวงในใกล้ชิดของแอร์ดวนบางส่วนว่า คอร์รัปชั่น
ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงบิลาล ลูกชายคนที่ 3 ของแอร์ดวนที่เป็นนักธุรกิจด้วย
หลังจากนั้น แอร์ดวนเอาคืนเป็นชุด ด้วยการสั่งปลดเจ้าหน้าที่กองทัพหลายร้อยนาย ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงนายพลระดับสูงจำนวนมาก ปิดโรงเรียนที่ดำเนินงานโดยกลุ่มฮิซเม็ต และไล่เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายร้อยนายออกจากราชการ
แอร์ดวนยังตามเล่นงานหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่เขาเชื่อว่าเข้าข้างกุยเลน โดยใช้อำนาจบีบให้ไล่บรรณาธิการระดับสูงหลายคนออกหรือแม้กระทั่งสั่งปิด
เจ้าหน้าที่ทางการตุรกีกล่าวหากุยเลนว่ามีความพยายามที่จะจัดตั้ง “รัฐคู่ขนาน” ภายในตุรกี แต่เจ้าหน้าที่ของกลุ่มฮิซเม็ตยืนยันว่า กุยเลนยึดมั่นกับการปฏิรูประบอบประชาธิปไตยและการเสวนาหารือระหว่างกลุ่มความเชื่อทางศาสนาเท่านั้น
“เป็นเวลามากกว่า 40 ปีที่เฟตุลเลาะห์ กุยเลนและสมาชิกกลุ่มฮิซเม็ตได้อุทิศตนและแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสันติภาพและประชาธิปไตย” แถลงการณ์ของกลุ่มฮิซเม็ตที่ออกในนามพันธมิตรเพื่อค่านิยมร่วมระบุ
และว่า ทางกลุ่มไม่ต้องการคาดเดาถึงวิกฤตในตุรกีในเวลานี้ แต่ขอประณามคำกล่าวที่ “ขาดความรับผิดชอบอย่างรุนแรง” ของแอร์ดวนและกลุ่มผู้สนับสนุนที่ว่า กุยเลนมีส่วนร่วมในการรัฐประหารครั้งนี้