ภาษาไทยดิจิทัล คืออะไร เรื่องนี้เกิดขึ้นในห้องเรียนวิชาภาษาไทย

เมื่อเรามีกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล โดยผ่านการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้ เราก็มี “ภาษาไทยดิจิทัล” ที่ผ่านการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้เช่นกัน

คอลัมน์ “มองไทยใหม่” ในครั้งนี้จะขอเล่าเรื่องภาษาไทยดิจิทัลที่เกิดขึ้นในห้องเรียนวิชาภาษาไทยและห้องประชุมที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคำศัพท์ภาษาไทย

ห้องเรียนที่ผู้เขียนใช้นั้นจะเรียกว่า “ห้องเรียนดิจิทัล” ก็คงจะได้ เพราะเราเปลี่ยนจากการเขียนกระดาน (ทั้งแบบดำและแบบขาว) ไปเป็นการแสดงภาพบนจอผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แล้ว

ในชั่วโมงแรกผู้เขียนบอกให้นักศึกษาทุกคนนำโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดาวน์โหลด application จากราชบัณฑิตยสภามาใช้ทันที คือ Thai Dictionary (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน) กับ Read and Write (อ่านอย่างไร และ เขียนอย่างไร) และให้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูลมาประกอบการถกเถียงกันในห้องเรียนได้ด้วย

นักศึกษาจึงเรียนวิชาภาษาไทยกันอย่างสนุกสนาน ใครที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้ (ซึ่งน้อยมาก) ก็อาศัยดูกับเพื่อนๆ ได้

ตัวอย่างการใช้ภาษาของผู้เขียนก็จะเป็นปัจจุบันมาก เพราะผู้เขียนจะนำข้อความจากอินเทอร์เน็ตมาขึ้นจอให้ดูทันที

และเมื่อมีปัญหาเรื่องการออกเสียงภาษาอังกฤษ ผู้เขียนก็จะให้นักศึกษาฟังเสียงเจ้าของภาษาผ่าน CD-ROM ที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ได้ โดยไม่ต้องออกเสียงเพี้ยนๆ เอง

นักศึกษาจึงได้รู้ว่า คำว่า digital นั้น British English ออกเสียงคล้าย [ดิจิเทิล] ส่วน American English ออกเสียงคล้าย [ดิจิเติล]

คำว่า internet นั้น British English ออกเสียงคล้าย [อินเทอร์เน็ต] ส่วน American English ออกเสียงคล้าย [อินเดอร์เน็ต]

ในห้องประชุมที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคำศัพท์ภาษาไทย นอกจากเลขานุการจะใช้คอมพิวเตอร์นำข้อความที่จะพิจารณาขึ้นจอให้กรรมการถกเถียงแก้ไขกันทันทีแล้ว กรรมการเกือบทุกคนก็จะนำคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือขึ้นมาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย

ฝ่ายเลขานุการต้องวางปลั๊กรางยาวๆ ให้เสียบปลั๊กกันวุ่นวายทั่วห้อง การพิจารณาเรื่องต่าง ๆ จึงไม่ได้มาจากความรู้สึก หรือความรู้ในสมองเพียงอย่างเดียว แต่ประกอบด้วยหลักวิชา และหลักฐานจากแหล่งข้อมูลต่างๆ

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาด้วยว่า แหล่งข้อมูลที่นำมาอ้างอิงนั้นน่าเชื่อถือเพียงใด

ประธานในที่ประชุมจึงมีหน้าที่เป็นผู้นำการพิจารณา ซักถาม ขอข้อมูล ขอคำยืนยัน ขอความเห็นของกรรมการส่วนใหญ่ แล้วจึงสรุปข้อเท็จจริง ไม่ใช่ผู้ที่ตัดสินตามใจชอบของตนเอง แม้บางครั้งจะไม่เห็นด้วย

แต่เมื่อที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันอย่างไร ก็ต้องสรุปตามนั้น

เมื่อพิจารณากันอย่างรอบคอบเช่นนี้แล้ว คำศัพท์แต่ละคำอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าจะตัดสินได้ว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ บางคำอาจจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที แต่บางคำอาจต้องใช้เวลาประชุมมากกว่า ๑ ครั้ง ซึ่งทำให้ฝ่ายเลขานุการไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้ผลงานตามเป้า ที่มีการกำหนดว่า การประชุมแต่ละครั้งต้องได้คำศัพท์กี่คำ

ในด้านการเขียนการอ่านนั้น นอกจากจะต้องตรวจสอบเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสภาเองแล้ว ก็ยังต้องตรวจสอบจากพจนานุกรมอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะเสียงอ่านของเจ้าของภาษา ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการชุดหนึ่งจึงเขียนชื่อมหาวิทยาลัย Harvard ว่า ฮาร์เวิร์ด ไม่ใช่ ฮาร์วาร์ด

นี่คือบรรยากาศที่เกิดขึ้นจริงในการประชุมที่ผู้เขียนมีส่วนร่วม ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกคนก็มีความพอใจเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าบางครั้งผลงานที่ออกมาจะมิได้จำนวนตรงตามเกณฑ์ก็ตาม

แต่ไม่มีใครรู้ว่า “บรรยากาศดิจิทัล” ดังที่ได้บรรยายมานี้จะเป็นไปได้นานอีกเพียงใด เพราะประธานในที่ประชุมกล่าวปิดท้ายการประชุมว่า

“ขอขอบคุณกรรมการทุกท่านที่ได้เสียสละเวลามาช่วยกัน แต่อีกไม่นานนัก ท่านอาจจะต้องพิจารณาด้วยว่า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ท่านนำมาใช้ในห้องประชุมนั้น เป็นของราชการหรือของส่วนตัว ถ้าเป็นของส่วนตัว ห้ามเสียบปลั๊กใช้ไฟของหลวงนะ”