สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ล่องสาละวิน… เยือน ร.ร. I see U บนยอดดอย เส้นทางสายโหด แม่สะเรียง สบเมย (2)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

“การศึกษาเป็นเสื้อสั่งตัด ไม่ใช่เสื้อโหล ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่ง่ายอย่างที่คิด” ผมคิดถึงสำนวนนักการศึกษา ระหว่างรอสมทบกับคณะนักเดินทางจากวังจันทรเกษม ที่สนามบินเชียงใหม่ จุดนับพบของทุกคน

ก่อนมุ่งหน้าผ่าน อ.หางดง อ.สันป่าตอง อ.จอมทอง ต่อไป อ.ฮอด สุดเขตแดนจังหวัดเชียงใหม่รอยต่อแม่ฮ่องสอน เพื่อให้ถึงพื้นที่เป้าหมายก่อนค่ำที่ อ.แม่สะเรียง ที่ตั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา แม่ฮ่องสอน เขต 2 ครอบคลุมอำเภอแม่สะเรียง แม่ลาน้อย และสบเมย

ไปเพื่อรับทราบสภาพจริง เรียนรู้การจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มโอกาสชีวิตของคนบนภูดอย

ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการศึกษาเชิงระบบ คือ ไปรับรู้เรื่องราวชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คน ความยากแค้นลำเค็ญ ให้ขวัญ กำลังใจ รับฟังการถ่ายทอดความในใจของพวกเขา นักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียนและพี่น้องชนเผ่าในชุมชน

 

จากจำนวนโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประถม มัธยม ของรัฐทั่วประเทศ 30,405 โรง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนตั้งแต่ 0-120 คน 15,231 โรง หรือ 50.09%

เป็นโรงเรียนที่ไม่มีนักเรียนแล้ว 396 โรง หรือ 1.30%, นักเรียน 1-20 คน 763 โรง หรือ 2.51%, 21-40 คน 2,139 โรง หรือ 7.04%, 41-60 คน 3,337 โรง หรือ 10.98%, 61-80 คน 3,456 โรง หรือ 11.37%, 81-100 คน 2,848 โรง หรือ 9.37%, 101-120 คน 2,292 โรง หรือ 7.54%, ครู 102,153 คน จากครูขั้นพื้นฐานทั้งหมด 476,579 คน

เฉพาะที่แม่ฮ่องสอน แบ่งเป็น 2 เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 และเขต 2 ส่วนเขตมัธยมศึกษารวมอยู่กับเชียงใหม่เป็นเขตมัธยมศึกษาที่ 34

เขตพื้นที่ประถมศึกษา 1 ประกอบด้วย อ.เมือง ขุนยวม ปางมะผ้า และปาย มีโรงเรียน 151 โรง นักเรียน 26,120 คน เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 88 โรง

เขต 2 ประกอบด้วย อ.แม่สะเรียง แม่ลาน้อย สบเมย มี 188 โรง นักเรียน 24,088 คน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กถึง 121 โรง ตั้งอยู่ในแม่สะเรียง 43 โรง แม่ลาน้อย 40 โรง สบเมย 38 โรง

คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานประชุมสัญจรนอกที่ตั้งและเดินทางไปเยี่ยมเยียนโรงเรียน 18 โรง นับว่าน้อยมากเมื่อคิดถึงความเป็นจริงที่ยังดำรงอยู่ ความยากลำบาก ขาดแคลน ต้องการความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาโอกาสและคุณภาพ ยังแผ่ขยายอยู่อีกมาก

ด้วยเหตุนี้ แม่ฮ่องสอน เขต 2 จึงถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายเส้นทางสายโหด เป็นตัวแทนสะท้อนความเป็นจริงของโรงเรียนขนาดเล็กบนภูดอย ตามรอยตะเข็บชายขอบอีกหลายจังหวัด ไม่ว่า ตาก กาญจนบุรี อุทัยธานี

 

อีกเหตุหนึ่ง เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด ผลสัมฤทธิ์ ความเป็นเลิศ ความสามารถในการแข่งขันเป็นพระเอก เป็นตัวตั้ง โรงเรียนขนาดเล็กถูกมองว่าเป็นปัญหา เป็นตุ้มถ่วงคุณภาพการศึกษาไทย

แทนที่จะมองว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญ มีคุณค่าเพื่อแก้ปัญหาการขาดโอกาสทางการศึกษา เป็นปราการด่านแรกที่ช่วยประคับประคองไม่ให้ปัญหาสังคมรุนแรงขึ้น เพราะเป็นแหล่งหล่อหลอมวิชาชีพและวิชาชีวิต ให้คนดำรงชีวิตอยู่ได้ เป็นคนที่สมบูรณ์ ไม่ใช่เพียงแต่วิชาความรู้ วิชาการ แต่เอาตัวไม่รอดและเห็นแก่ตัว

ที่โรงเรียนขนาดเล็กถูกมองด้วยสายตาเช่นนั้น เหตุหนึ่งเพราะระบบ กระบวนการประเมินคุณภาพโรงเรียนแบบเหมารวม การวัด ทดสอบความรู้ ความสามารถของนักเรียนและครูนำไปเฉลี่ยรวมกับคะแนนของโรงเรียนที่เน้นวิชาการ ผลสัมฤทธิ์เป็นเลิศ ขณะที่จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กมีมากกว่า ทำให้ค่าเฉลี่ยรวมออกมาลดลง โรงเรียนขนาดเล็กเลยตกเป็นจำเลยเรื่อยมา

แทนที่ตัวชี้วัดจะแยกออกต่างหาก ตามกลุ่ม ตามภาค ตามประเภท ตามขนาด ที่สำคัญตามสภาพแวดล้อม และวัตถุประสงค์ เป้าหมายที่ควรจะเป็นของโรงเรียน แต่ละที่แตกต่างกันไป

ระหว่างตัวชี้วัดทางวิชาการ กับตัวชี้วัดทางพฤติกรรม ทักษะวิชาชีพ ทักษะวิชาชีวิต การเอาตัวรอด มานะอดทน ฝ่าฟันความลำบากยากแค้น ทำงานร่วมกับคนอื่น ลักษณะนิสัยที่ดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือครอบครัว อะไรควรเป็นตัวบ่งชี้หลัก ทั้งครูและนักเรียน สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก

ความเป็นจริงที่ยิ่งกว่า คือ โรงเรียนเหล่านี้ต่างหากเป็นจุดกำเนิด เป็นที่มาของนวัตกรรมทางการศึกษา การบริหารจัดการรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง หนึ่งโรงเรียนสองระบบ โรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่ โรงเรียนเครือข่าย หย่อมเรียน โรงเรียนในไร่ส้ม ล้วนเป็นโรงเรียนไอซียูแทบทั้งสิ้น ฯลฯ ควรได้รับการยกย่อง ผลการประเมินยิ่งกว่าระดับดีมาก แต่ดีสุดยอด

 

ด้วยสายตาที่มองโรงเรียนขนาดเล็กเป็นปัญหา มาตรการแรกๆ ที่ถูกเรียกร้อง ก็คือยุบ โดยยกเหตุสนับสนุนเพราะนักเรียนน้อยลง การคมนาคมสะดวกขึ้น การจัดบริการรถโรงเรียนเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาการเดินทางของนักเรียนบ้านไกล แต่ทำให้นักเรียนชานเมืองเข้าเมืองมากขึ้น นักเรียนจึงลดลง การยุบหรือควบรวมจึงเป็นหนทางที่ปฏิเสธได้ยากของโรงเรียนขนาดเล็กชานเมือง ในพื้นราบหลายแห่ง

แต่สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กอีกกลุ่มใหญ่ บนภูดอยสูง ต้องคิดต่าง จากแนวทางตัดเสื้อโหล เป็นเสื้อสั่งตัด ต้องออกแบบนวัตกรรมเฉพาะ นอกจากไม่ควรยุบเพราะพี่น้องชนเผ่ามากมาย ยังมีความจำเป็นต้องการได้รับบริการทางการศึกษาแล้ว ยิ่งจะต้องช่วยเหลือแก้ปัญหา ส่งเสริมให้พัฒนาขึ้นไปอีก

เสริมส่งให้เด็กน้อยในหมู่บ้านมีการศึกษา จบ ป.4 ต่อ ป.6 ต่อมัธยม ต่ออาชีวะ ต่ออุดมศึกษา จนถึงปริญญา กลับมาเป็นครูในหมู่บ้าน ใช้ชีวิตพัฒนาเพื่อนร่วมชนเผ่ารุ่นหลังๆ ให้เติบโตมีการศึกษา อ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น เล่นคอมพิวเตอร์ เปิดปิดดีแอลทีวีได้คล่องแคล่ว

ภาษาอังกฤษพอพานักท่องเที่ยวท่องเขาลำเนาไพร ขี่ช้างตระเวนไปตามภูดอย มีรายได้มาช่วยพ่อแม่พี่น้องที่ยังทำการเกษตรเลี้ยงครอบครัว ไม่คิดเลือกเส้นทางชีวิตที่ผิด

หลายโรงเรียนพยายามดิ้นรนเพื่ออยู่รอด ด้วยแนวทางต่างๆ นานา เรียนรวม เรียนคละชั้น ร่วมโครงการหลากหลาย ไม่ว่า โรงเรียนดีประจำตำบล ประจำอำเภอ โรงเรียนแม่เหล็ก โรงเรียนตะปู สำนวน ชลอ กองสุทธิ์ใจ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ และ กพฐ.ชุดที่ 3 ที่เพิ่งครบวาระไปหมาดๆ

หรือโรงเรียนดีใกล้บ้าน ที่ รศ.เอกชัย กี่สุขพันธุ์ กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นักการศึกษาอารมณ์ขัน แซวว่า “โรงเรียนดีใกล้บ้าน ไม่มี มีแต่โรงเรียนใกล้บ้านกำลังจะดี (ฮา)”

 

ครับ ร่วมคณะไปโรงเรียนบนดอยตั้งแต่เช้ามืดยันค่ำ วันเดียวให้ได้ครบ 18 โรง คนวางแผนการเดินทางรัดกุมโดยเฉพาะความพร้อมของยานพาหนะ รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น ต้องพร้อมลุยตะลอนไต่เขาขึ้นดอย หัวโยกหัวคลอน ไปตามถนนลูกรัง

และเพราะความยากแค้น ลำเค็ญ ขาดแคลนของโรงเรียนที่ไม่มีรถขับเคลื่อน 4 ล้อมาช่วยได้ทันเวลา ทำให้นักเรียนตัวน้อยคนหนึ่งถึงแก่ชีวิต ด้วยความเศร้าโศรกเสียใจของเพื่อนนักเรียน ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง เมื่อกลางปี 2560 ที่ผ่านมา

เหตุเกิดที่โรงเรียนไหน คณะผู้เดินทาง กพฐ. แบ่งสายกันไปอย่างไร และพบอะไร ต้องติดตาม