รูปหล่อเหมือน-ลอยองค์ หลวงพ่อโอด วัดจันเสน พระเกจิชื่อดังนครสวรรค์

“พระครูนิสัยจริยคุณ” หรือ “หลวงพ่อโอด ปัญญาธโร” อดีตเจ้าคณะอำเภอตาคลี และอดีตเจ้าอาวาสวัดจันเสน ต.จันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง

ปี พ.ศ.2531 มีความประสงค์จัดสร้างมณฑปใช้เป็นที่บรรจุพระธาตุ ส่วนชั้นล่างจะใช้เป็นที่ประชุมสงฆ์ และเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บวัตถุโบราณของเมืองจันเสน

จึงดำริจัดสร้างวัตถุมงคล “รุ่นสร้างมณฑป” เป็นรูปหล่อเหมือนปั๊มลอยองค์ เพื่อหาทุนทรัพย์ในการสร้าง ทั้งหมด 4 เนื้อ คือ เนื้อเงิน เนื้อทองเหลือง เนื้อทองแดง และเนื้อตะกั่ว มีโค้ดตอกทุกเนื้อ

เป็นวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นก่อนมรณภาพเพียง 1 ปี

ด้านหน้ารูปหล่อเหมือน มีตัวหนังสือนูน เขียนว่า “พระครูนิสัยจริยคุณ” พร้อมปั๊มอักขระขอมตัวนะ จำนวน 3 ตัว ที่สังฆาฏิด้านหน้า

ด้านหลัง บริเวณใต้ฐานเขียนว่า “วัดจันเสน”

จัดเป็นวัตถุมงคลยอดนิยมที่ชาวปากน้ำโพเสาะแสวงหา

รูปหล่อหลวงพ่อโอด (หน้า)

มีนามเดิมว่า วิสุทธิ์ แป้นโต เกิดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2460 ที่บ้านเลขที่ 103 หมู่ที่ 7 บ้านหัวเขา ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ บิดา-มารดาชื่อ นายชิตและนางต่วน แป้นโต มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 7 คน

ในช่วงวัยเยาว์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนวัดหัวเขา ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ และช่วยครอบครัวประกอบอาชีพ

อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2481 ที่อุโบสถวัดหัวเขา อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ มีพระธรรมไตรโลกาจารย์ (ยอด) วัดเขาแก้ว อ.พยุหะคีรี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูนิปุณธรรมธร วัดตาคลี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูพิพัทธศีลคุณ วัดหัวเขา อ.ตาคลี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2484 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก จากสำนักเรียนวัดมหาพฤฒาราม กรุงเทพฯ

ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2489 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดหนองสีนวล อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

พ.ศ.2493 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดจันเสน

พ.ศ.2493 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลจันเสน

พ.ศ.2496 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2510 เป็นรองเจ้าคณะอำเภอตาคลี

พ.ศ.2516 เป็นเจ้าคณะอำเภอตาคลี

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2500 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี

พ.ศ.2510 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท

พ.ศ.2520 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก

พ.ศ.2527 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ในราชทินนาม พระครูนิสัยจริยคุณ

รูปหล่อหลวงพ่อโอด (หลัง)

ด้านการศึกษา เป็นครูสอนนักธรรมของวัดดอน เขตยานนาวา กรุงเทพฯ (ในสมัยที่พระอาจารย์กึ๋น เป็นเจ้าอาวาสวัดดอนฯ) เป็นครูสอนนักธรรม วัดหัวเขา และวัดหนองสีนวล อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดจันเสน เป็นกรรมการตรวจประโยคธรรมสนามหลวง เป็นต้น

ศึกษาพุทธาคมจากพระเกจิชื่อดัง คือ หลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล อ.ตาคลี, หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ อ.ตาคลี, หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค อ.ตาคลี และหลวงพ่อเชน วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี

นอกจากนี้ ยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล และหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ สองพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของอำเภอตาคลี ในฐานะที่เป็นหลานที่ใกล้ชิด โดยพ่อของหลวงพ่อโอด คือ นายชิต แป้นโต เป็นน้องชายแท้ๆ ของหลวงพ่อรุ่ง และแม่ของนายชิต เป็นพี่สาวแม่ของหลวงพ่อเดิม ดังนั้น หลวงพ่อโอด จึงเรียกหลวงพ่อรุ่ง และหลวงพ่อเดิมว่า “หลวงลุง” ทั้งสองรูป

ด้านการศึกษาพุทธาคม เมื่อท่านกลับจากการเป็นครูสอนนักธรรมที่วัดดอนยานนาวาแล้ว ท่านได้มาอยู่กับหลวงพ่อรุ่ง ที่วัดหนองสีนวล ซึ่งในระยะนี้เองที่ท่านได้ศึกษาวิทยาคมต่างๆ จากหลวงพ่อรุ่ง

ส่วนหลวงพ่อเดิม เดินทางมาที่วัดหนองสีนวลอยู่เป็นประจำ ซึ่งหลวงพ่อโอดได้ศึกษาวิชาต่างๆ ด้วย

ทั้งนี้ จากคำบอกของท่านเองว่ายังมีอาจารย์อยู่อีก 2 รูป คือ หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ในช่วงปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา ท่านมักไปเยี่ยมหลวงพ่อพรหมเป็นประจำ

พระอาจารย์อีกรูป คือ หลวงพ่อเชน วัดสิงห์ ต.ทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ไปอยู่เรียนกับหลวงพ่อเชน เรียนวิชาทำตะกรุด

หลวงพ่อโอด ปัญญาธโร

ด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านการปฏิบัติมาก ศึกษามาจากหลวงพ่อรุ่ง ต่อมาได้ไปศึกษาต่อที่สำนักวิปัสสนาวัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ

ระหว่าง พ.ศ.2500 เปิดสำนักสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานที่วัดจันเสน โดยเป็นผู้สอนเอง

เป็นพระที่มีเมตตาสูงยิ่ง วันหนึ่งๆ ท่านจะนั่งคอยรับแขกอยู่ทั้งวัน ใครมีเรื่องทุกข์ร้อนใจไปหา ก็จะให้คำแนะนำที่ดีโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2532 สิริอายุ 72 ปี พรรษา 50

ปัจจุบัน สังขารเก็บรักษาไว้ที่ตึกนิสิตสามัคคี วัดจันเสน เปิดให้เข้าไปกราบสักการะทุกวัน

เกียรติคุณความขลังยังเป็นที่กล่าวขวัญสืบมาจนถึงบัดนี้ รวมถึงด้านวัตถุมงคลแทบทุกชนิด ล้วนแต่หายาก •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]