เหรียญนารายณ์ทรงครุฑ มงคล ‘หลวงปู่เพิ่ม วัดแค’ พระเกจิพระนครศรีอยุธยา

“วัดแค” หรือ “วัดร่างแค” หรือ “วัดท่าแค” เดิมชื่อ “วัดราชานุวาส” ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดเก่าแก่โบราณ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น

เว็บไซต์ของกรมศิลปากร ลงเรื่องราววัดแค ไว้ใน “อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” ตอนหนึ่งว่า

“วัดแค เป็นวัดค่อนข้างใหญ่ มีความสำคัญมาก เป็นศูนย์กลางของชุมชนใหญ่ และคงจะมีความสำคัญมาโดยตลอด จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.2310 วัดแคจึงถูกทิ้งให้รกร้างปรักหักพังเรื่อยมา จนถึง พ.ศ.2542 กรมศิลปากรได้เข้าไปดำเนินการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี ทำให้ได้เห็นรูปแบบศิลปะของโบราณสถาน โบราณวัตถุของวัดแค ซึ่งสามารถกำหนดอายุการสร้างและบูรณะวัดแคในสมัยอยุธยา”

อีกตอนหนึ่งของเว็บไซต์กรมศิลปากร ลงไว้ว่า… “วัดแคแห่งนี้มีตำนานเล่าว่า เคยเป็นที่พักอาศัยของ หลวงพ่อทวด วัดพะโคะ อ.สทิงพระ จ.สงขลา เมื่อครั้งเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยา เพื่อศึกษาพระอภิธรรมที่วัดลุมพลีนาวาส…”

“หลวงพ่อทวดเป็นพระภิกษุที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการพระราชทานที่กัลปนาแก่หัวเมืองพะโคะ ในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ และเป็นภิกษุผู้มีอิทธิปาฏิหาริย์อภิญญาแก่กล้า จนได้สมญานามว่า ‘หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด’ และยังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ อีกด้วย”

เหรียญหล่อนารายณ์ทรงครุฑ หลวงปู่เพิ่ม (หน้า)

ย้อนไปเมื่อประมาณ พ.ศ.2480 มีพระเกจิอาจารย์ผู้เคร่งครัดและแก่กล้าในญาณสมาบัติรูปหนึ่ง ซึ่งชาวเมืองกรุงเก่ารู้จักกันเป็นอย่างดี คือ หลวงปู่เพิ่ม ฐิติญาโณ พระผู้สมถะไม่ยินดียินร้ายในลาภยศสรรเสริญ วัตถุมงคลที่สร้างมีประสบการณ์มากมาย

ที่ได้รับความนิยม “เหรียญหล่อพระนารายณ์ทรงครุฑ”

สำหรับการสร้างวัตถุมงคลนั้น ครั้งแรกไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นตอนไหน แต่คาดว่าราว พ.ศ.2490 เนื่องจากแจกชาวบ้านในปีนั้นเป็นครั้งแรก

วัตถุมงคลนี้ คือ พระนารายณ์ทรงครุฑ ขนาดสูงประมาณ 2 นิ้ว กว้างประมาณ 1.2 นิ้ว เนื้อโลหะผสม เทหล่อแบบโบราณ

ด้านหน้าเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ด้านหลังเป็นยันต์ตรีนิสิงเห มีอุณาโลม 3 ตัวบนหัวยันต์ จำนวนสร้างคาดว่าคงไม่เกิน 1,000 องค์

ชาวบ้านเล่าว่า ในการสร้างพระเครื่อง หลวงปู่เพิ่ม จะแกะแม่พิมพ์เอง และทำทุกอย่างด้วยตัวท่านเอง เมื่อสร้างเสร็จแล้วท่านจะแจกให้ลูกศิษย์ และผู้ที่เคารพนับถือทุกคนที่ไปกราบท่าน ทำให้พระรุ่นนี้หมดไปในเวลาอันรวดเร็ว

วัตถุมงคลไม่เคยนำออกให้เช่า มีแต่แจกเท่านั้น

ปัจจุบัน พระนารายณ์ทรงครุฑรุ่นนี้ หายากมาก

เหรียญหล่อนารายณ์ทรงครุฑ หลวงปู่เพิ่ม (หลัง)

อัตโนประวัติ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2424 ที่บ้านคลองทราย ต.หัวรอ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อ คุณพระปริญญา เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จ.พระนครศรีอยุธยา มารดาชื่อ เต่า

ในวัยเด็กท่านศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่าน และช่วยทางบ้าน ซึ่งมีฐานะดี เมื่อถึงวัยเกณฑ์ทหาร ท่านก็เข้ารับเลือกเป็นทหารอยู่ 7 ปี หลังจากนั้น เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดสระเกศ กทม. ได้รับฉายาว่า ฐิติญาโณ ต่อมาท่านได้กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดแค

เป็นพระที่สมถะ เคร่งครัดอยู่ในพระธรรมวินัย กิจวัตรของท่าน คือ วิปัสนากัมมัฏฐานทุกวัน ภายในวัดมีต้นตะเคียนเต็มไปหมด และร่ำลือกันว่ามีผีดุ บ้างก็ว่าชาวบ้านเคยถูกหลอกหลอน

หลวงปู่เพิ่ม ฐิติญาโณ

วัดแคเป็นที่สงบวิเวก เป็นที่พอใจของหลวงปู่เพิ่ม และท่านฉันอาหารเพียงมื้อเดียวเท่านั้น

มีอยู่ครั้งหนึ่ง นั่งสมาธิอยู่ที่ในกุฏิ และถอดกายทิพย์ไปยืนอยู่ที่ศาลาท่าน้ำ ในตอนเช้ามืด มีแม่ค้าขายผักพายเรือผ่านมาเห็นท่านเข้า ก็ยกมือไหว้และเอ่ยถามว่าจะออกรับบาตรหรือเจ้าคะ

ท่านก็ไม่ตอบอะไรแต่วักน้ำสาดหัวเรือและโบกมือไล่ให้ไป แม่ค้าคนนั้นก็รีบไปตลาด ปรากฏว่าผักที่แกนำมาขาย ขายดี ผักหมดในเวลารวดเร็ว ยังไม่สว่างก็หมดแล้ว

จากนั้นแม่ค้าคนนั้นก็เลยแวะซื้อหวย ก.ข. พอตอนสายหวยออกก็ถูกหวยอีก

จึงซื้อของเพื่อจะนำมาถวาย พอมาถึงวัดก็สอบถามถึงหลวงปู่เพิ่ม พระในวัดก็บอกว่า หลวงปู่ยังไม่ได้ออกมาจากกุฏิเลยตั้งแต่เช้า แม่ค้าก็บอกว่าเมื่อเช้ามืดเจอหลวงปู่ที่ท่าน้ำ พระที่วัดก็ยืนยันว่ายังไม่ได้ออกจากกุฏิเลย และเห็นนั่งสมาธิอยู่ในกุฏิตั้งแต่ตี 4 ยังไม่ได้ไปไหน แม่ค้าจึงมองเข้าไปในกุฏิเห็นนั่งสมาธิหลับตาอยู่

หลวงปู่เพิ่มลืมตาขึ้นและถามแม่ค้าว่า “ถูกหวยมาละซี” และท่านก็บอกต่อว่า “ทีหลังอย่าไปเล่นหวยอีกนะ คราวนี้เรามีโชคก็ควรจะพอ ข้าวของที่เอามาก็ให้เอาไปฝากลูกหลานที่บ้านเถอะ เอาก๋วยเตี๋ยวแห้งไว้ห่อเดียวพอ”

แม่ค้าก็แปลกใจ เพราได้ซื้อก๋วยเตี๋ยวแห้งมาถวายหลวงปู่ด้วยพอดี แล้วรู้ได้อย่างไร

ต่อมา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบล และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ มีผู้มาขอบวชด้วยเป็นจำนวนมาก

มรณภาพลงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2504 สิริอายุ 80 ปี •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]