“สกา” ใน “มหาภารต” ให้เกิดสงครามทำลายล้างครั้งใหญ่ของพี่น้อง 2 ตระกูล

ญาดา อารัมภีร

‘สกา’ ในวรรณคดีไทยเป็นเพียงกีฬาในร่มเพื่อความรื่นรมย์ ตรงกันข้ามกับ ‘สกา’ ในวรรณคดีแขกเป็นเรื่องของเกียรติยศ ศักดิ์ศรี กีฬาของพระราชา มีความสำคัญถึงขั้นพนันเอาบ้านเมือง รวมถึงอิสรภาพของบุคคลในวรรณะกษัตริย์

‘สกา’ ใน “มหาภารต” มีส่วนหักเหชีวิตของพี่น้องสองตระกูล คือ ‘เการพ’ และ ‘ปาณฑพ’ ให้เกิดสงครามทำลายล้างครั้งใหญ่จนเสียหายย่อยยับด้วยกันทั้งสองฝ่าย โลหิตแห่งวงศาคณาญาติหลั่งนองทุ่งกุรุเกษตร

จุดเริ่มแห่งสงครามเกิดจากความริษยาของ ‘เจ้าชายทุรโยธน์’ วงศ์เการพที่มีต่อเจ้าชายปาณฑพทั้ง 5 (ยุธิษฐิระ (ยุธิษเฐียร) – ภีมะ – อรชุน – นกุล – สหเทพ) เมื่อยุธิษฐิระทรงประกอบพิธีราชสูยะ ประกาศพระองค์เป็นกษัตริย์แห่งนครอินทรปรัสถ์ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี

ทุรโยธน์ตระหนักดีว่าเจ้าชายปาณฑพทั้ง 5 ทรงอิทธิพลในหมู่กษัตริย์และผู้ครองแคว้นทั้งหลาย ดังจะเห็นได้จาก ‘พิธีราชสูยะ’ ซึ่งเป็นพิธีราชาภิเษกและประกาศพระราชอำนาจเป็นกษัตริย์ของอินเดียสมัยโบราณ กษัตริย์ต่างๆ ที่เป็นเมืองออกต้องมาร่วมประชุม เพื่อแสดงตนว่ายังอ่อนน้อมต่อกษัตริย์ผู้ทำพิธี หากกษัตริย์ใดไม่มา แสดงว่าไม่ซื่อตรง ต้องปราบปรามทันที

มีกษัตริย์จากแว่นแคว้นน้อยใหญ่ใกล้ไกลมาร่วมพิธีราชสูยะของเจ้าชายยุธิษฐิระอย่างพร้อมเพรียง ทำให้ทุรโยธน์ริษยาแรงกล้า กินไม่ได้นอนไม่หลับ

‘ศกุนิ’ ผู้มีศักดิ์เป็นลุงของพวกเการพ ตั้งตนเป็นศัตรูกับเจ้าชายปาณฑพทั้ง 5 ตลอดมา คอยยุยงและเสี้ยมให้ฝ่ายเการพหาทางกำจัดฝ่ายปาณฑพทุกครั้งที่มีโอกาส

 

ครั้งนี้ก็เช่นกัน หน้าตาหมองคล้ำท่าทางเศร้าซึมของทุรโยธน์นับแต่พิธีราชสูยะของยุธิษฐิระ ทำให้ศกุนิญาติผู้ใหญ่เจนโลกเจ้าเล่ห์รีบปลอบประโลมหลานชาย ดังปรากฏใน “สงครามภารตคำกลอน” ของ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ว่า

“ความขายหน้าอาภัพเหมือนกับแผล มียาแก้เหมาะกันก็พลันหาย

ความชะนะจะเป็นยาพาทำลาย ให้ความอายแห้งเหือดไม่เดือดแด

ก่อนความอายอัปยศจะหมดศูนย์ ขอทำนูลแนะยารักษาแผล

คืออุบายการพะนันคิดผันแปร เปนกลแก้แค้นเขาอย่างเบาใจ”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ศกุนิ ‘นักสกาพนันตัวพ่อ’ ได้แนะวิธีดับทุกข์ทุรโยธน์ โดยใช้สกา หรือเกมทอยลูกเต๋าเป็นเครื่องมือ ใครได้แต้มสูงกว่ามีสิทธิ์เดินตัวสกาก่อน แพ้หรือชนะวัดจากจำนวนสกาที่เหลืออยู่ของผู้เล่นสองฝ่าย

“มหาภารตยุทธ” ที่ศิลปินแห่งชาติ 2 ท่าน อาจารย์กรุณา และศาสตราจารย์พิเศษเรืองอุไร กุศลาสัย แปลและเรียบเรียง ถ่ายทอดคำเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวใจของศกุนิว่า

“ทุรโยธน์หลานรัก กับพวกปาณฑพนั้นเราจะใช้กำลังไม่ได้ เพราะฝ่ายเขาก็มีกำลังและมีพันธมิตรไม่น้อยเหมือนกัน เรื่องนี้หลานก็ได้ประจักษ์แก่นัยน์ตาตนเองมาแล้วในพิธีราชสูยะ ซึ่งเพิ่งจะเสร็จสิ้นไปเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง”

“วิธีการของลุงนั้นไม่จำเป็นต้องเสียเลือดเนื้อแต่ประการใดเลย หลานก็ย่อมรู้อยู่ว่า สกาเป็นกีฬาในร่มซึ่งกลุ่มชนในวรรณะกษัตริย์โปรดปรานเป็นนักหนา และเมื่อได้เชิญใครแล้ว ก็ยากที่ผู้รับเชิญจะปฏิเสธได้ เพราะจะเป็นการเสียมารยาทและผิดประเพณีของวรรณะกษัตริย์ไป ก็และยุธิษฐิระนั้นใครๆ ก็รู้ว่าชอบสกามาก”

“ลุงจึงขอแนะนำให้หลานจงไปขอร้องให้พ่อของหลานเป็นผู้เชิญให้ยุธิษฐิระกับน้องๆ มาเล่นสกากันในบ้านเมืองของเรา ลุงจะช่วยหลานเล่นแล้วจะหาวิธีพนันขันต่อจนมิให้กลุ่มปาณฑพมีสมบัติอะไรติดตัวได้เลย ด้วยวิธีนี้อาณาจักรอินทรปรัสถ์ก็จะตกเป็นของพวกหลานโดยมิต้องเสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียว”

 

เจ้าชายทุรโยธน์จึงนำความขึ้นกราบทูลท้าวธฤตราษฎร์ให้ทรงมั่นใจว่าตนจะเอาชนะยุธิษฐิระให้ได้ และยืนยันอย่างเด็ดขาด

“แม้ข้าบาทขาดโชคโฉลกลาภ จะรับบาปโดยดีสู้หนีหน้า

ให้เขาได้ปกป้องครองสีมา เป็นราชาเชิดอยู่แต่ผู้เดียว

มิฉะนั้นข้าต้องปกครองครบ ไม่ควรลบหักอีกเป็นซีกเสี้ยว

แคว้นหนึ่งมีสองไท้ไม่ได้เจียว ต้องขับเคี่ยวแข่งกันนิรันดร์ไป”

‘ท้าวธฤตราษฎร์’ ผู้เป็นทั้งพ่อของทุรโยธน์ และอาแท้ๆ ของเหล่าปาณฑพจะตัดสินใจอย่างไร

ติดตามฉบับหน้า •