เหรียญเสมาเนื้อฝาบาตร หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน พระเกจิชื่อดังสมุทรสาคร

เหรียญเสมาเนื้อฝาบาตร หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน
พระเกจิชื่อดังสมุทรสาคร

 

“หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ” วัดบางน้ำวน ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พระเกจิอาจารย์ที่เก่งกล้าวิทยาคมอีกรูป

สร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังเอาไว้หลายรุ่น เช่น ตะกรุดโทน เหรียญหล่อเหรียญปั๊มรุ่นแซยิด เหรียญหล่อพิมพ์พนมมือ เหรียญปั๊มพิมพ์เสมาอัลปาก้า เป็นต้น

ล้วนได้รับความเลื่อมใส นิยมนำไปคล้องคอติดตัว เพื่อความเป็นสิริมงคล

ที่ได้รับความนิยมสูง คือ เหรียญเสมา พ.ศ.2482 เนื้อฝาบาตรช้อนส้อม ที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์พระครูฐานานุกรมในปี พ.ศ.2482 อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร เป็นผู้รับมอบหมายและดำเนินการสร้าง

ลักษณะเป็นเหรียญเสมา มีลวดลายกนก ตรงกลางเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ หันหน้าตรง ห่มจีวรลดไหล่ ด้านล่างเป็นอักษรภาษาไทยว่า “พระครูรอด”

ด้านหลังเป็นอักขระภาษาขอมสี่แถว อักขระภาษามอญหนึ่งแถว อ่านได้ว่า “อะระหัง สัยยะ ยาวะเท อุเย อะเย เวี่ยเปี๊ยเที่ยจะ”

กล่าวขานกันว่าผู้ใดพกพาอาราธนาติดตัวว่าจะรอดพ้นจากภัยพิบัตินานัปการ ดลบันดาลให้มีความสุข ความเจริญ อายุยืนยาวนาน

ปัจจุบันนับเป็นที่นิยมและหายาก

เหรียญเสมาหลวงปู่รอด

อัตโนประวัติ เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ปีกุน พ.ศ.2406 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 บิดา-มารดา ชื่อ นายทองดี และนางเกษม บุญส่ง มีเชื้อสายรามัญ

ช่วงเยาว์วัย บิดา-มารดา นำมาฝากหลวงปู่แค เจ้าอาวาสวัดบางน้ำวน ให้เลี้ยงดู เนื่องจากเป็นเด็กที่เลี้ยงยาก อ่อนแอ เป็นเด็กขี้โรค จึงยกให้เป็นบุตรบุญธรรมหลวงปู่แค ตั้งแต่นั้นมาก็หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ หลวงปู่แคจึงตั้งชื่อให้ว่า “รอด”

อายุ 12 ปี เข้าพิธีบรรพชา ตรงกับปี พ.ศ.2418 ศึกษาพระปริยัติธรรม พร้อมทั้งศึกษาวิชาอาคม และวิชาวิปัสสนากัมมัฏฐานจากหลวงปู่แค

อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท โดยมีพระอธิการแค เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์แจ้ง วัดใหญ่บ้านบ่อ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ปั้น วัดใหญ่บ้านบ่อ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “พุทธสัณโฑ”

เรียนและฝึกวิปัสสนารวมถึงพุทธาคมจากพระอุปัชฌาย์ หลังหลวงปู่แคมรณภาพลง ได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านและคณะสงฆ์ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน

หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ

สําหรับวัดบางน้ำวน ตั้งอยู่เลขที่ 81 หมู่ที่ 4 ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดจำนวน 54 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ได้รับหนังสือรับรองสภาพวัด เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2528 โดยกรมการศาสนา

ตั้งอยู่ใกล้กับถนนสายธนบุรี-ปากท่อ ก.ม.ที่ 40 จากกรุงเทพฯ อยู่ทางซ้ายมือ มีถนนเชื่อมต่อถึงวัดระยะทางประมาณ 1,600 เมตร บริเวณหน้าวัดติดกับคลอง ซึ่งเป็นแม่น้ำสามสายมาบรรจบกัน

วัดแห่งนี้ เป็นวัดเล็กๆ สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.2357 สร้างขึ้นโดยการนำของสามเณรและชาวมอญ ที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ตำบลนี้ เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์ ให้ชาวบ้านได้ทำบุญสุนทาน เป็นแหล่งบวชเรียนและศึกษาวิชาความรู้ของบุตรหลานชาวมอญ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในสมัยพระอาจารย์แค เมื่อปี พ.ศ.2407 และผูกพัทธสีมาในปีเดียวกัน

ในอดีตวัดบางน้ำวน บริเวณหน้าวัดจะมีน้ำวนที่เชี่ยวกราก ผู้ใดที่ไม่รู้จักร่องน้ำในการเดินเรือ เรือจมกันมาหลายต่อหลายลำแล้ว จนกลายเป็นที่มาของชื่อวัด

ด้วยวัตรปฏิบัติเป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้าน ต่างพากันมาช่วยเป็นกำลังในการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดวาอารามจนเจริญรุ่งเรือง เป็นลำดับ ถึงความเจริญจะเข้าสู่วัดบางน้ำวนแล้ว ท่านก็ยังมีเมตตาช่วยเหลือพัฒนาวัดต่างๆ ด้วย เช่น วัดบางกระเจ้า วัดบางสีคต วัดนาโคก วัดบางลำพู วัดบางจะเกร็ง วัดเจริญสุขาราม ฯลฯ

นอกจากหลวงปู่รอดช่วยพัฒนาวัดวาอารามอื่นๆ แล้ว ยังช่วยพัฒนาในด้านการศึกษา จัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม และยังสร้างโรงเรียนประชาบาลไว้ให้กุลบุตร กุลธิดาได้ศึกษาเล่าเรียนกัน โดยมีชื่อของโรงเรียนว่ารอดพิทยาคม เพื่อเป็นอนุสรณ์

 

ออกธุดงค์ไปยังประเทศพม่าเป็นเวลาหลายปี ผ่านไปเมืองเมาะลำเลิง ซึ่งเป็นตระกูลกำเนิดปู่ย่าตายาย จากนั้นผ่านเมืองย่างกุ้ง ข้ามมาระนอง เข้าเมืองกาญจน์

ระหว่างออกธุดงค์นั้น ได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาเมตตามหานิยม วิชาคงกระพันชาตรี วิชาทำผ้ายันต์บังไพร วิชาทำธงไม่ให้ฝนตก วิชาเสกของหนักให้เบา วิชาแพทย์แผนโบราณ จากคณาจารย์ชาวมอญ พม่า กะเหรี่ยง

อีกทั้งสนใจเรื่องสมุนไพรเป็นพิเศษ จึงจดจำตำรายาทุกชนิดได้อย่างแม่นยำ

เมื่อเข้าสู่วัยชรา ชาวบ้านจึงขอร้องให้โปรดญาติโยมประจำที่วัดและได้ตั้งกฎระเบียบทำวัตรปฏิบัติธรรมของวัดบางน้ำวน คือ จากสองทุ่มถึงสี่ทุ่มทุกคืน จนเป็นกิจวัตรของวัดบางน้ำวน และมีการตีกลอง ระฆังย่ำค่ำจนถึงปัจจุบัน

ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2437 เป็นเจ้าอาวาสวัดบางน้ำวน

พ.ศ.2447 เป็นเจ้าอธิการ (เจ้าคณะตำบล)

พ.ศ.2452 เป็นพระอุปัชฌาย์สามัญ

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2482 เป็นพระครูชั้นประทวน และพระครูกรรมการศึกษา

มรณภาพเมื่อเวลา 00.20 น.วันจันทร์ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 พ.ศ.2487

สิริอายุ 81 ปี พรรษา 61 •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]