เหรียญรัตโต พ.ศ.2516 วัตถุมงคลหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ จ.เพชรบุรี

เหรียญรัตโต พ.ศ.2516 วัตถุมงคลหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ จ.เพชรบุรี

 

“หลวงพ่อแดง รัตโต” หรือ “พระครูญาณวิลาศ” วัดเขาบันไดอิฐ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ยอดพระเกจิผู้มีชื่อเสียง ไม่เพียงแต่ในเพชรบุรีเท่านั้น

สร้างวัตถุมงคลไว้หลายชนิด ในวาระและโอกาสต่างๆ เป็นที่นิยมและเสาะหากันอย่างแพร่หลาย

หลังสร้างเหรียญรุ่นแรกจนได้รับความนิยมแล้ว ยังมีเหรียญรูปเหมือนอีกรุ่นที่ยอดฮิต

ได้แก่ เหรียญรัตโต อันเป็นนามฉายา

จัดสร้างในปี พ.ศ.2516 โดยคณะศิษย์ผู้ใกล้ชิด ได้รับการออกแบบจากกองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ มีความสวยงาม โดยใช้นวัตกรรมสมัยใหม่

แต่การสร้างในครั้งนั้น มีจำนวนที่ไม่เพียงพอ ถัดมาในปี พ.ศ.2517 จึงสร้างขึ้นอีกครั้ง หรือที่เรียกกันว่าปั๊มครั้งที่สอง

การสร้างเหรียญรัตโต ในปี พ.ศ.2516 มีจำนวน 3,400 เหรียญ เป็นเนื้อเงิน 400 เหรียญ เนื้อทองแดงรมดำ 3,000 เหรียญ

ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหูในตัว ด้านหน้ามีรูปเหมือนหันข้างแบบครึ่งองค์ กึ่งกลางด้านซ้ายรูปเหมือน เขียนอักษรคำว่า “รตฺโต” บรรทัดถัดลงมา เขียนคำว่า “พระครูญาณวิลาศ” และบรรทัดล่างสุด เขียนคำว่า “(หลวงพ่อแดง)”

ด้านหลัง ตรงกลางเป็นอักขระยันต์ มีขีด 2 ขีดเป็นรูปวงรีล้อมรอบอักขระยันต์ ด้านล่างใต้ยันต์ เป็นตัวเลขไทย “๒๕๑๖” ซึ่งหมายถึงปี พ.ศ.ที่สร้าง ส่วนนอกวงรีมีอักขระล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง

ปัจจุบันค่อนข้างหายาก

เหรียญรัตโต หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ

อัตโนประวัติ เกิดในสกุล อ้นแสง ที่บ้านสามเรือน หมู่ที่ 4 ต.บางจาก อ.เมือง จ.เพชรบุรี เมื่อวันพุธขึ้น 2 ค่ำ เดือน 11 พ.ศ.2422 บิดาชื่อนายแป้น มารดาชื่อนางนุ่ม อ้นแสง มีพี่น้องรวมกัน 12 คน ท่านเป็นคนที่ 5

วัยเด็กช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา ไม่มีโอกาสร่ำเรียนหนังสือ

ครั้นถึงวัยหนุ่ม พ่อแม่หวังจะให้บวชเรียน จึงพาไปฝากกับพระอาจารย์เปลี่ยน วัดเขาบันไดอิฐ

อายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดเขาบันไดอิฐ ต.ไร่ส้ม อ.เมือง จ.เพชรบุรี มีพระครูญาณวิสุทธิ วัดแก่นเหล็ก อ.เมือง จ.เพชรบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า รัตโต

เคร่งครัดต่อพระวินัยและปฏิบัติต่อพระอาจารย์เป็นอย่างดี พระอาจารย์เปลี่ยนจึงเมตตสอนวิชาการวิปัสสนา และวิธีนั่งปลงกัมมัฏฐานให้ รวมถึงถ่ายทอดวิทยาคมให้อย่างไม่ปิดบัง

เหตุนี้ทำให้มีความปีติเพลิดเพลินในการศึกษาวิชาความรู้ ยิ่งนานวันก็ยิ่งสำนึกในรสพระธรรม ไม่มีความคิดลาสิกขาแต่อย่างใด จึงกลายเป็นพระปฏิบัติดีที่มีอาวุโสสูงสุด

กระทั่งพระอาจารย์เปลี่ยนมรณภาพลง จึงรับหน้าที่เป็นสมภารวัดเขาบันไดอิฐแทน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2461 เป็นต้นมา และแม้จะได้เป็นสมภารซึ่งต้องมีภารกิจมาก แต่ท่านก็ยังปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิในถ้ำเพื่อแสวงหาวิมุตติภาวนาทุกวัน

ไม่เคยอวดอ้างในญาณสมาธิใดๆ แต่ผลของความศักดิ์สิทธิ์ในเลขยันต์เป่ามนต์ได้สำแดงออกมาให้ประจักษ์ว่าคุ้มครองป้องกันภัยได้

หลวงพ่อแดง รัตโต

มีเรื่องเล่ากันมาว่า

ระหว่าง พ.ศ.2477-2480 เวลานั้นเกิดโรคระบาดสัตว์ วัวควายเป็นโรคปากเท้าเปื่อยที่ติดต่อร้ายแรง พากันล้มตาย สัตว์แพทย์ก็ไม่มี ต้องขอให้ทางการมาช่วยฉีดยา ราษฎรจึงพากันไปหาหลวงพ่อให้ช่วยปัดเป่าป้องกันโรคระบาดสัตว์ให้

จึงปลุกเสกลงเลขยันต์ในผืนผ้ารูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ แจกให้ชาวบ้านที่เลี้ยงวัวควายนำไปผูกปลายไม้ปักไว้ที่คอกสัตว์ ปรากฏว่า คอกสัตว์ที่ปักผ้าประเจียดยันต์หลวงพ่อแดงไม่ตาย ทุกบ้านในตำบลใกล้เคียงวัดเขาบันไดอิฐ เมื่อรู้กิตติศัพท์จึงพากันมาขอยันต์หลวงพ่อแดงทุกวันมิได้ขาด

กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ มหาสงครามเอเชียบูรพา เมืองเพชรบุรีมีระเบิดลงทุกวันทำลายสถานีรถไฟ สะพานข้ามแม่น้ำ บ้านเรือน โรงเรียนต้องสั่งปิด ข้าราชการไม่ได้ไปทำงาน ทุกหน่วยราชการปิดหมด

และปรากฏเรื่องเป็นที่ฮือฮาว่า บ้านคนที่มีผ้ายันต์หรือเหรียญหลวงพ่อแดง กลับไม่ได้รับอันตรายใดๆ

 

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2502 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูญาณวิลาศ

เป็นพระใจดีมีเมตตาสูง และอารมณ์ดีเสมอ ไม่ชอบดุด่า ว่าใคร โดยเฉพาะคำหยาบคายถึงพ่อแม่ ท่านห้ามขาด เพราะทุกคนเขาก็มีพ่อมีแม่ การด่าถึงบุพการีทำให้ความดีงามเสื่อมถอย ถึงห้อยพระ พระท่านก็ไม่คุ้มครอง

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2517 สิริอายุ 96 ปี พรรษา 74

ก่อนสิ้นลม ได้ฝากฝังกับพระปลัดบุญส่ง ธัมมปาโล รองเจ้าอาวาสขณะนั้น ว่า “เมื่อฉันหมดลมหายใจแล้วอย่าเผา ให้เก็บร่างฉันไว้ที่หอสวดมนต์ และให้เอาเหรียญที่ปลุกเสกรุ่น 1 ใส่ปากไว้พร้อมเงินพดด้วง 1 ก้อน ส่วนนี้ฉันเอาไปได้ และให้เอาขมิ้นมาทาตัวฉันให้เหลืองเหมือนทองคำ”

พระปลัดบุญส่ง รับปากและได้ทำตามประสงค์ไว้ทุกประการ

ทุกวันนี้ ยังเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวจังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งผู้มีจิตศรัทธาไม่เสื่อมคลาย •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]