พลิกแผนใหญ่ เอสซีจีซี

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เมื่อแผนการใหญ่เครือข่ายธุรกิจเอสซีจี เข้าตลาดหุ้นครั้งสำคัญ มีอันต้องเลื่อนออกไป

เรื่องราวเริ่มต้นอย่างตื่นเต้นเมื่อต้นปีที่แล้ว บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC เดินแผนเข้าตลาดหุ้น คาดกันว่าจะระดมทุนถึงหลักแสนล้านบาท จากการเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) อาจถือเป็นกรณีใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเลยทีเดียว

“อนุมัติแผนการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering – IPO) ของ SCGC และการนำหุ้นสามัญของ SCGC เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในรูปแบบบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยกำหนดสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25.2 …ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO บริษัทจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเป็นผู้มีอำนาจควบคุมของ SCGC และ SCGC จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทเช่นเดิม” คือสาระสำคัญที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี (ชื่อย่อในตลาดหุ้น-SCC) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565

แผนการเปิดฉากขึ้น ก่อนสงครามใหญ่ (รัสเซียบุกยูเครน) สั่นสะเทือนโลกจะเกิดขึ้นไม่กี่วัน

อ้างอิงผลการดำเนินงานในช่วงคาบเกี่ยวกันนั้น (ปี 2564) SCGC มีรายได้ 238,390 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 27,068 ล้านบาท SCGC ถือเป็นกลุ่มธุรกิจหลักของเอสซีจี มีขนาดธุรกิจใหญ่ที่สุด พิจารณาจากรายได้ SCGC มีสัดส่วนราวๆ 45%

ตามแผนการสำคัญSCGC “การเพิ่มทุนจดทะเบียนของ SCGC จำนวน 38,546,850,000 บาท จากเดิมจำนวน 114,453,150,000บาท เป็นจำนวน 153,000,000,000 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 3,854,685,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เพื่อเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก” สาระมติอีกเรื่องหนึ่ง (26 มกราคม 2565 ที่อ้างไว้) สะท้อนว่า SCGC มีทุนจดทะเบียนมากที่สุดในบรรดาบริษัทในเครือข่ายเอสซีจี

ผู้คนผู้สนใจจึงคาดกันว่าแผนการระดมทุนครั้งนี้จึงยิ่งใหญ่มาก

 

แผนการเป็นจริงเป็นจังตามลำดับ เมื่อ SCGC ยื่นเอกสารเชื้อชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในอีก 3 เดือนต่อมา (27 เมษายน 2565) ผ่านมาตามขั้นตอนที่ควรเป็น (5 ตุลาคม 2565) กลต.ได้อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ SCGC ดูไปแล้วเป็นช่วงเวลาสถานการณ์บางอย่างคลี่คลายไปมาก โดยเฉพาะภัยคุกคามจาก COVID-19

แต่แทบจะทันที SCGC ได้มีถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการ ส่งสัญญาณแตกต่างอย่างน่าติดตาม “…ติดตามสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อประเมินระยะเวลาที่เหมาะสมและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ก่อนที่จะเดินหน้าเสนอขายหุ้น IPO และนำหุ้นของ SCGC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป” (7 ตุลาคม 2565)

หากจะวิเคราะห์แบบพื้นๆ ก็ว่า แผนการเอสซีจี เกี่ยวกับ SCGC กรณีนี้ นับว่าระแวดระวังพอสมควรและใช้เวลามากทีเดียว ยิ่งเมื่อพิจารณากับข้อมูลอีกชิ้นหนึ่งที่ว่ามีศึกษาว่าด้วยการปรับโครงสร้างธุรกิจรวมถึงความเป็นไปได้ในการเข้าตลาดหุ้น มาตั้งแต่ต้นปี (เมษายน) 2564 (อ้างอิงจาก SCC Virtual Asean Conference 2022 : Jun 30, 2022)

ในที่สุดในช่วงวันคาบเกี่ยวก่อนสงกรานต์ ขณะผู้คนจดจ่อกับวันเทศกาลหยุดยาว เอสซีจีได้เปิดเผยการตัดสินใจครั้งสำคัญ ผ่านหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ลงวันที่ 12 เมษายน 2566) ในหัวข้อเรื่อง “ความคืบหน้าการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน)” เมื่อพิจารณาสาระแล้ว จึงพบว่าเป็นความคืบหน้าที่ไม่คืบหน้า

“…ขอแจ้งความคืบหน้าให้ทราบว่า บริษัทได้พิจารณาถึงความเหมาะสมในการเสนอขายหุ้น IPO และนำหุ้นของ SCGC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องรวมถึงสถานการณ์ภายนอกต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ วิกฤตราคาพลังงาน และภาวะเงินเฟ้อ ตลอดจนภาวะตลาดเงินและตลาดทุน บริษัทเห็นว่ายังไม่เหมาะสมจะดำเนินการดังกล่าวในช่วงเวลานี้” สาระสำคัญของหนังสือข้างต้น ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีกว่า

“SCGC ได้ยื่นขอขยายระยะเวลา IPO และได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 ให้ขยายระยะเวลา IPO ออกไปถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2566”

 

จะว่าไปเหตุผลที่ยกมาอย่างกว้างๆ ด้วยมุมมองเชิงลบกว่าที่ควร ซึ่งพอจะรับฟังได้บ้าง อย่างไรหลายคนเชื่อว่า คงมีเหตุผลที่เจาะจงมากกว่านั้นอีก สำหรับผู้ติดตามอย่างใกล้ชิด หรือนักลงทุนในตลาดหุ้นผู้มองปัจจัยพื้นฐานเป็นสำคัญ จะมีมุมมองเชื่อมโยงกว้างขึ้น โดยเฉพาะกับผลประกอบการบริษัทที่เกี่ยวข้อง และดัชนีราคาหุ้น ทั้งนี้ พบว่าเป็นไปในทิศทางซึ่งสร้างความวิตกกังวล คาดกันว่ามีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริหารเอสซีจีครั้งนี้อย่างที่ว่ามา ไม่มากก็น้อย

ความเชื่อมโยง ย้อนไปเมื่อเอสซีจีรายงานผลประกอบการไตรมาสสุดท้ายและทั้งปีที่แล้ว (2565) ได้เปิดเผยเมื่อตอนต้นปีนี้ (25 มกราคม 2566)

“ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เอสซีจีมีรายได้จากการขายอยู่ที่ 122,190 ล้านบาท ลดลง 14% จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากราคาและปริมาณขายสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงตามความต้องการของตลาดที่ลดลง…มีกําไรสําหรับงวดเท่ากับ 157 ล้านบาท ลดลง 94% จากไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่มาจากส่วนต่างราคาขายสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ลดลง และต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น”

ตัวเลขซึ่งเป็นดัชนีที่ออกมา ถือได้ว่าสั่นสะเทือนแวดวงพอสมควร ดูจะเพิ่งมากขึ้นเมื่อพิจารณาทั้งปีด้วยแล้ว “ผลการดําเนินงานปี 2565 เอสซีจีมีรายได้จากการขายเท่ากับ 569,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน จากธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง และธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง…” ว่าด้วยภาพรวมบางด้าน ดูไม่เลว แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขที่สำคัญกว่า กลับไม่เป็นเช่นนั้น “…กําไรสําหรับปีลดลง 55% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 21,382 ล้านบาท สาเหตุหลักจากผลการดําเนินงานที่ลดลงของธุรกิจเคมีคอลส์…”

ในที่สุดจึงขมวดปมอยู่ที่ผลดำเนินการเชิงลบ ล้วนโฟกัสไปที่ธุรกิจเคมีคอลล์ ซึ่งก็คือ SCGC นั่นเอง ทั้งนี้ ผู้บริหารเอสซีจี มีความเห็นสำทับเพิ่มดีกรีเข้าไปด้วยว่า

“ปี 2565 เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤตทั่วโลกจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนพลังงานพุ่งสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี รวมทั้งวัฏจักรปิโตรเคมีอยู่ในช่วงขาลงต่ำสุดในรอบ 20 ปี อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสูง ประกอบกับนโยบายโควิด-19 เป็นศูนย์ของจีน ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและธุรกิจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน “สารจากคณะกรรมการ ปรากฏในรายงานประจำปี 2565 บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี

จากข้อมูลพื้นฐานข้างต้น เชื่อว่าสามารถจะตีความในมิติที่กว้างขึ้นอีก •

 

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com