รูปหล่อท้าวเวสสุวัณ ต้นตำรับ ‘เจ้าคุณศรี’ วัดสุทัศนเทพวราราม

ช่วงปี พ.ศ.2565-2566 กระแสความนิยมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่โด่งดัง คงไม่พ้น “ท้าวเวสสุวัณ” ผู้ที่มีความศรัทธาไปกราบไหว้ขอพร เชื่อว่าจะบันดาลโชคลาภ ความสำเร็จ รวมถึงปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้หมดไป

กล่าวกันว่า ท้าวเวสสุวัณ ในวัดหลายแห่ง มักจะทำรูปยักษ์ไว้ ซึ่งสร้างไว้เพื่อให้คุ้มครองป้องกันภัยให้กับวัดจากภูตผีปีศาจ จะไม่สามารถเข้ามาในเขตอารามได้

ท้าวเวสสุวัณ ความจริงเป็นเทพองค์หนึ่งที่คุ้มครองรักษาด้านทิศเหนือ ในทางศาสานาพราหมณ์ ถือว่าเป็นหนึ่งในจตุโลกบาลทั้ง 4 องค์ ซึ่งสถิตอยู่บนโลกเป็นผู้รักษาโลกตามทิศต่างๆ ถือกระบองเป็นอาวุธ ถือกันว่าเป็นหัวหน้าหรือเป็นนายของภูตผี ยักษ์ และอมนุษย์ทั้งปวง

ท้าวเวสสุวัณเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งเรื่องเครื่องรางของขลัง โดยถือเอากระบองของท้าวเวสสุวัณมาเป็นเคล็ดเพื่อให้ภูตผีปีศาจกลัวเกรง

ท้าวเวสสุวัณ เจ้าคุณศรี (สนธิ์)

“พระมงคลราชมุนี (สนธิ์ ยติธโร)” หรือที่ผู้คนส่วนใหญ่เรียกขานในสมณศักดิ์เดิมว่า “ท่านเจ้าคุณศรี”

เป็นศิษย์สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม

สร้างวัตถุมงคลพระเครื่อง และพระกริ่งรุ่นต่างๆ ไว้หลายรุ่น ล้วนได้รับความนิยมกว้างขวาง

กล่าวกันว่า ในสำนักวัดสุทัศน์ เคยสร้างรูปหล่อท้าวเวสสุวัณองค์เล็ก โดยท่านเจ้าคุณศรี

มูลเหตุการสร้างท้าวเวสสุวัณ เนื่องมาจากครั้งที่ท่านเจ้าคุณศรีไปก่อสร้างอุโบสถวัดศรีจอมทอง (วัดตีนโนน) อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้านเกิด ชาวบ้านแถวนั้นมักจะปรารภเสมอว่า ในพื้นที่นี้มีภูตผีปีศาจมาหลอกหลอนรบกวนอยู่เสมอ จนไม่เป็นอันทำงานทำการ

“ท่านเจ้าคุณศรี” จึงสร้างรูปท้าวเวสสุวัณ เมื่อประมาณปี พ.ศ.2492 มอบให้แก่ช่างก่อสร้างและชาวบ้าน หลังจากนำรูปหล่อท้าวเวสสุวัณมาแจกแล้ว เรื่องผีปีศาจก็เงียบหายไป เป็นการบำรุงขวัญให้แก่ชาวบ้านแถบนั้นได้เป็นอย่างดี

ท้าวเวสสุวัณที่ “ท่านเจ้าคุณศรี” สร้างนั้น สร้างเป็นรูปท้าวเวสสุวัณยืนถือกระบอง เนื้อเป็นเนื้อทองผสม วรรณะออกเหลืองอมเขียว โดยนำเอาชนวนที่ได้จากการเทพระกริ่งรุ่นก่อนๆ มาผสมลงไปในเนื้อโลหะ เป็นการหล่อแบบเทตัน

เท่าที่พบมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบที่ฐานมีผ้าทิพย์ กับแบบที่ฐานไม่มีผ้าทิพย์ แบบฐานมีผ้าทิพย์จะมีค่านิยมสูงกว่าแบบฐานไม่มีผ้าทิพย์

เชื่อว่าพุทธคุณเด่นในทุกด้าน โดยเฉพาะปราบภูตผีปีศาจ

พระมงคลราชมุนี (สนธ์ ยติธโร)

นามเดิม สนธิ์ พงศ์กระวี เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม 2446 ที่ ต.บ้านป่าหวาย กิ่ง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี บิดา-มารดาชื่อ นายสุขและนาง ทองดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 11 คน

อายุ 11 ขวบ บิดาถึงแก่กรรม มารดาจึงนำมาฝากไว้กับพระภิกษุบุญ (หลวงตาบุญ) ซึ่งเป็นญาติที่วัดสุทัศนเทพวราราม คณะ 15 เพื่อให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม ตามคตินิยมที่เล่าเรียนกันในยุคนั้น คือ เริ่มเรียนบาลีไวยากรณ์

อายุ 13 ปี บรรพชาโดยมีพระมงคลราชมุนี (ผึ่ง ปุปฺผโก) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูปลัดสุวัฒนพรหมจริยคุณ ฐานานุกรมในพระพรหมมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์

ศึกษาพระปริยัติธรรมจนถึงเดือนเมษายน 2459 ย้ายไปอยู่ที่วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ในความปกครองของพระพุทธิวิถีนายก เจ้าคณะจังหวัดนครปฐมขณะนั้น

จนถึง พ.ศ.2460 จึงย้ายกลับมาอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ ตามเดิม พ.ศ.2464 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ.2465 สอบได้นักธรรมชั้นโท

 

พ.ศ.2466 เข้าพิธีอุปสมบท โดยมีสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสสเทโว) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมงคลราชมุนี (ผึ่ง ปุปฺผโก) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูปลัดสุวัฒนพรหมจริยคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระพิมลธรรม (นาค สุมนนาโค) เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระเทพเวที และยังอยู่ที่วัดสุทัศน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับนามฉายาว่า ยติธโร

พ.ศ.2468 สอบเปรียญธรรมได้ 4 ประโยค พร้อมทั้งได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูธรรมรักขิต ฐานานุกรมในสมเด็จพระพุฒาจารย์

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2469 เวลาประมาณ 04.00 น.เศษ ประสบเคราะห์กรรมอย่างหนัก ถูกคนวิกลจริตฟันด้วยมีดตอก ได้รับบาดเจ็บตามร่างกายหลายแห่ง

ผลจากการถูกทำร้ายอย่างสาหัสในคราวนั้น ทำให้อาพาธหนักไปประมาณ 3 เดือน เมื่อหายแล้วจึงกลับคืนอยู่ที่วัดสุทัศน์ตามเดิม และเมื่อมาถึงได้ขึ้นไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทโว) ทรงรับสั่งว่า “อ๋อ! มหาสนธิ์ เธอหายดีแล้วหรือ” แล้วท่านก็รับสั่งเรียกให้เข้าไปใกล้ ทรงจับศีรษะไว้แล้วทรงเป่าให้ 3 ครั้ง พร้อมกับทรงรับสั่งต่อไปอีกว่า “ตั้งแต่นี้ต่อไปจะไม่มีอะไรอีกแล้ว”

พ.ศ.2474 สอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค

รับตำแหน่งฐานานุกรมต่างๆ ตามลำดับ พร้อมกับได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ รวมทั้งโหรศาสตร์ ไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถา ฯลฯ

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2481 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีสัจจญาณมุนี

วันที่ 8 ธันวาคม 2493 ได้เลื่อนจากตำแหน่งพระราชาคณะสามัญ ขึ้นเป็นพระราชาคณะเสมอชั้นราชที่ พระมงคลราชมุนี

 

เป็นผู้เรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ หลายแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) พระอุปัชฌาย์ ทรงประสาทศิลปวิทยาการ คือ ตำรับและพิธีกรรมการสร้างพระพุทธรูปและพระกริ่ง ให้แก่ท่านจนหมดสิ้น

สืบสานพิธีกรรมต่างๆ เหล่านี้ในเวลาต่อมาอย่างถูกต้องตามตำราทุกประการ

เมื่อว่างในด้านปริยัติศึกษา กลับเพิ่มภารกิจในหน้าที่ของพระมหาเถราจารย์ ได้รับนิมนต์ให้ไปประกอบพิธีกรรมต่างๆ เป็นเนืองนิตย์ รวมทั้งต้องนั่งปรกเข้าพิธีสวดพุทธาภิเษก นั่งปรกไปจนกว่าจะได้ฤกษ์เททอง การประกอบพิธีเช่นนี้แต่ละครั้งทำให้สุขภาพค่อยๆ เสื่อมทรุดลงทุกที

ท้ายที่สุด เมื่ออาการอาพาธกำเริบ ทรุดหนัก จนสุดที่คณะแพทย์จะเยียวยา

คืนวันที่ 16 มกราคม 2495 เวลา 21.20 น. จึงมรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]