เครื่องรางลิงไม้แกะสลัก หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว พระเกจิลุ่มน้ำบางปะกง

พระเกจิที่ได้รับการยกย่อง “พระครูพิบูลย์คณารักษ์” หรือ “หลวงพ่อดิ่ง คังคสุวัณโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดอุสภาราม (บางวัว) อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลัง ได้รับความนิยมสะสม ที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ คือ “ลิงแกะ” ที่แกะสลักจากรากต้นรักและรากต้นพุดซ้อน ซึ่งต้องมีเคล็ดลับหรือกรรมวิธีเฉพาะในการขุดรากของต้นไม้ทั้งสองชนิด ดังนี้

1. เวลาขุดรากต้องดูฤกษ์หามยามดี

2. ไม้ที่นำมาแกะตามตำรากล่าวไว้ว่า แกะจากรากต้นรักซ้อนหรือรากต้นพุดซ้อนที่ตัวรากชอนไปทางทิศตะวันออก

3. ผู้ที่ขุดต้องนุ่งขาวห่มขาว และอยู่ในมุมที่ห้ามทับเงาตัวเอง จึงจะเป็นรากที่ใช้ได้

4. ขณะขุดต้องคิดแต่สิ่งที่ดี และภาวนาพระคาถาตลอดเวลาที่ทำการขุด

เริ่มสร้างแจกลูกศิษย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2460 เป็นต้นมา ในแต่ละครั้งจะทำจำนวนไม่มาก โดยจะให้ลูกศิษย์จำนวน 4-5 คน ช่วยกันแกะ โดยมีรูปแบบเป็นลิงนั่งยอง มีหางพันเป็นฐาน และในมือถืออาวุธ เช่น กระบอง พระขรรค์ เป็นต้น อีกทั้งยังมีแบบไม่ถืออาวุธด้วย

ในส่วนขั้นตอนการปลุกเสก ทำได้เข้มขลัง ด้วยการให้ลูกศิษย์นำศัสตราวุธนานาชนิด นำมากองรวมไว้ในอุโบสถ และนำหนังเสือผืนใหญ่มาห่มทับบนกองอาวุธ ท่านนั่งทับบนหนังเสือ ส่วนลิงที่แกะเอาไว้นำมารวมใส่ไว้ในบาตร ตั้งไว้ด้านหน้า

ร่ำลือกันว่า จะปลุกเสกจนลิงไม้เหล่านั้นกระโดดออกจากบาตรจนหมดทุกตัว เป็นอันเสร็จพิธี

ลิงหลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว เชื่อว่ามีพุทธคุณสูงล้ำด้านเมตตามหานิยมและด้านคงกระพันชาตรี

ผู้ที่มีลิงแกะจะใช้คาถาหนุมาน เริ่มจากตั้งนะโม 3 จบ กล่าวพระคาถา ดังนี้ “หนุมานะ นะมะพะทะ” อุปเท่ห์การใช้พระคาถาดังกล่าว คือ ให้เสกตามกำลังวัน เช่น เสาร์ 10 อาทิตย์ 6 จันทร์ 15 อังคาร 8 เป็นต้น

ลิง หลวงพ่อดิ่ง

เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2420 ที่บ้านบางวัว ต.บางวัว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

เข้าวัยการศึกษา บิดามารดานำไปฝากให้ศึกษาเล่าเรียนอยู่กับพระภิกษุที่วัดบางวัว ซึ่งรับการอุปถัมภ์ด้วยดี ยามว่างจะเข้ามาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพทำนา

อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันเสาร์ที่ 10 เมษายน 2440 ที่พัทธสีมาวัดบางวัว มีพระอาจารย์ดิษฐ์ พรหมสโร วัดบางสมัคร ต.บางสมัคร อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์จ่าง วัดบางสมัคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ปลอด วัดบางวัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับนามฉายาว่า คังคสุวัณโณ มีความหมายว่า “ผู้มีจิตชุ่มเย็นเช่นดังแม่น้ำ และแกร่งเช่นดังทองคำ”

อยู่จำพรรษาที่วัดบางวัว ศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นเวลา 2 พรรษา หลังจากนั้น เดินทางเข้ากรุง ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดไตรมิตรวิทยาราม (วัดสามจีน) ในสมัยที่พระครูวิริยกิจจการี หรือหลวงพ่อโม ธัมมสโร ยังมีชีวิต

จากบันทึกที่เล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า “ขณะที่มาอยู่ที่วัดไตรมิตรฯ เพียง 1 พรรษา พระอธิการเปีย เจ้าอาวาสวัดบางวัว มรณภาพลง พระภิกษุในวัดและญาติโยม ประชุมปรึกษากัน มีมติให้ไปนิมนต์กลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อไป”

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่อาจขัดศรัทธาและเดินทางมาครองวัดบางวัวตั้งแต่ปี พ.ศ.2443

หลวงพ่อดิ่ง คังคสุวัณโณ

เมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เริ่มพัฒนาถาวรวัตถุต่างๆ ในวัด ซึ่งขณะนั้นกำลังชำรุดทรุดโทรม จึงพัฒนาให้ศึกษาพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุ-สามเณร

เคยปรารภให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังเสมอ ว่า “อาจารย์ที่ฉันได้เล่าเรียนวิชามาด้วยกันจริงๆ มีอยู่ 3 องค์ คือ หลวงพ่อดิษฐ์ พรหมสโร วัดบางสมัคร ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อเปิ้น วัดบ้านเก่า ต.บ้านเก่า อ.พานทอง จ.ชลบุรี และหลวงพ่อเปอะ วัดจวนเขื่อนขันธ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ”

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2443 เป็นเจ้าอาวาสวัดบางวัว

พ.ศ.2452 เป็นเจ้าคณะตำบลบางวัว

พ.ศ.2463 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2479 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวงอำเภอบางปะกง

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2480 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่พระครูพิบูลย์คณารักษ์

 

ด้านวัตถุมงคล กล่าวขานกันว่า ในจังหวัดฉะเชิงเทรา มีเหรียญดังที่สนนราคาเหรียญค่อนข้างสูง เป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงการเหรียญพระคณาจารย์ คือเหรียญหลวงพ่อโสทธร รุ่นปี พ.ศ.2460, เหรียญหลวงคง วัดซำป่างาม และเหรียญหลวงพ่อดิ่ง วัดอุสภาราม

เป็นพระเถราจารย์ที่เคร่งในวัตรปฏิบัติ มีเมตตาจิต และเชี่ยวชาญแตกฉานในทุกสาขาวิชา รวมถึงพุทธาคมต่างๆ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา วัตถุมงคลของท่านล้วนเป็นที่นิยมสะสมทั้งสิ้น ความโดดเด่นเป็นพิเศษและปัจจุบันนับว่าหาดูหาเช่าได้ยากยิ่ง

ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ขณะที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรมสวดปาติโมกข์ ตรงกับวันที่ 6 สิงหาคม 2495 สิริอายุ 75 พรรษา 55

ทุกวันนี้ วัตุมงคล โดยเฉพาะเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ปี พ.ศ.2481 เป็นอีกวัตถุมงคลที่เสาะแสวงหา •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]