เศรษฐกิจ / ถึงจุดเปลี่ยน… วาทกรรมค่าเงินบาท หน้าที่แบงก์ชาติ (คนเดียว) ต้องแก้ปัญหา?

เศรษฐกิจ

 

ถึงจุดเปลี่ยน…

วาทกรรมค่าเงินบาท

หน้าที่แบงก์ชาติ (คนเดียว) ต้องแก้ปัญหา?

 

ประเด็นฮอตฮิตที่มีการพูดถึงตลอดปี 2562 มาถึงปัจจุบัน คือ สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 30 บาทต้นๆ

และค่าเงินบาทยังแข็งค่าเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งของไทยด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นหยวน เยน หรือยูโร

มีการออกมาเรียกร้องจากทั้งภาคเอกชน รวมไปถึงแรงกระทุ้งจากภาครัฐ จากฝ่ายผู้นำรัฐบาล หรือรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ที่ส่งสัญญาณมายังธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ให้ออกมาดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทก็เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน

ค่าเงินบาทแข็งค่ามีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ โดยเฉพาะต่อผู้ส่งออกและผู้ที่มีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ หากเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ฐานะทางการเงินอาจจะไม่แข็งแกร่งเท่ารายใหญ่และยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้นและปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจที่รุมเร้าเข้ามา

ยิ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่ามายาวนานทำให้สภาพธุรกิจเอสเอ็มอียิ่งร่อแร่

 

อีกด้านหนึ่งที่ไม่ค่อยพูดถึงกันคือ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจหรือเอกชน ช่วยให้ธุรกิจมีต้นทุนนำเข้าสต๊อกสินค้า หรือเครื่องมือเครื่องจักรถูกลง

โดยในแต่ละปีไทยจะมีการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรปีละประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 1 บาท จะทำให้ประหยัดไปได้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

ซึ่งในส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพธุรกิจ ในด้านการผลิตเพื่อสร้างความได้เปรียบคู่แข่งขันได้

ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันดิบปีละกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ทุก 1 บาทที่แข็งค่าขึ้น จะช่วยประหยัดต้นทุนได้ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งน้ำมันก็เป็นต้นทุนที่สำคัญของทั้งประชาชนและธุรกิจ

นอกจากนี้ ธุรกิจและประชาชนที่เป็นหนี้สกุลเงินต่างประเทศจะมีหนี้ลดลง เป็นโอกาสสำหรับการชำระหนี้คืน

 

ท่ามกลางแรงกดดันจากหลายทิศทาง แบงก์ชาติเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเร็ว ผ่านการเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ และขายเงินบาท

ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา และในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจุบันเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่กว่า 2.27 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ซึ่งแบงก์ชาติระบุว่า หากไม่ได้เข้าไปดูแล เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เห็นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังมีมาตรการออกมาทั้งดูแลเงินทุนไหลเข้าป้องกันการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท และการสนับสนุนให้เงินทุนไหลออกไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้นเพื่อสร้างความสมดุลเงินทุนไหลเข้าออกและเพื่อช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาท

อย่างไรก็ดี การแทรกแซงค่าเงิน รวมถึงนโยบายการคลังอื่นๆ ที่มีผลต่อค่าเงินบาทระยะสั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

 

“เมธี สุภาพงษ์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ของแบงก์ชาติ ระบุว่า แรงกดดันต่อค่าเงินบาทให้แข็งค่า คือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีการเกินดุลในระดับที่มากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเนื่องหลายปี ไม่ได้เกิดจากการที่ต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทเพื่อหาส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรไทยอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน

ขณะที่การออกไปลงทุนในต่างประเทศที่ยังมีน้อย ดังนั้น ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไขโดยทุกภาคส่วน โดยสามารถทำได้หลายวิธี

เช่น การเพิ่มการนำเข้าเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือลงทุนเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงการผลิต ซึ่งจะมีข้อได้เปรียบในช่วงที่เงินบาทมีการแข็งค่า การลดแรงซื้อบาทจากภาคส่งออก เช่น การเก็บรายได้ไว้ในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (เอฟซีดี) และการเพิ่มการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศของนักลงทุนสถาบันที่ยังมีสัดส่วนน้อยอยู่

“ถ้ามีการประสานความร่วมมือกันทั้งแบงก์ชาติ ภาครัฐและเอกชนจะช่วยแก้ไขสถานการณ์ค่าเงินบาทได้ดีกว่านี้ เพราะทั้ง 3 ฝ่ายกังวลค่าเงินบาทที่แข็งค่าเหมือนกันต้องช่วยกัน ถ้าบอกให้แบงก์ชาติดูแลค่าเงินบาทคนเดียวยังมีมาตรการอื่นที่ทำได้แต่จะเป็นมาตรการที่รุนแรง เพราะต้องใช้ยาแรงถึงจะเอาอยู่ แต่ถ้ามาร่วมมือกันจะเป็นมาตรการที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เหมือนกับเป็นโรคก็มีหลายวิธีรักษา คนป่วยเป็นโรคมะเร็ง ถ้าไปรักษาด้วยคีโมจะเป็นวิธีที่รุนแรงซึ่งร่างกายผู้ป่วยก็จะรับไม่ไหว แต่ถ้าใช้ธรรมชาติบำบัด ค่อยๆ รักษาจะดีขึ้นและร่างกายรับได้ก็จะดีกว่า”

นายเมธีระบุ

 

อีกมุมมอง “ปรีดี ดาวฉาย” ประธานสมาคมธนาคารไทยและกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย มองว่า สมัยที่ค่าเงินบาท 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เราส่งออกโตมากกว่า 10%

แต่วันนี้ค่าเงินบาท 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งออกกลับติดลบ

หากเทียบกับวันนี้ค่าเงินบาทถือว่าอ่อนหากเทียบกับในอดีต แต่ในอดีตเราขายสินค้าได้เพราะเราเป็นผู้ขายหลัก ประเทศอื่นอย่างเวียดนาม จีน ยังไม่มีสินค้าออกมาขาย แต่ประเทศเหล่านี้ผลิตสินค้าได้และขายในราคาถูก คู่ค้าที่เคยซื้อ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น ที่ซื้อเราเป็นหลักก็ไปซื้อคนอื่นด้วย

เพราะฉะนั้น เราต้องพัฒนาตนเอง ยกระดับศักยภาพธุรกิจและการผลิต ให้สามารถแข่งขันได้

 

ในปีนี้ ภาครัฐวางเป้าหมายว่าจะเป็นปีแห่งการลงทุน ซึ่งเมื่อมีการลงทุนเกิดขึ้นส่วนหนึ่งจะต้องมีการนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์ วัตถุดิบในการผลิต โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ งบประมาณรายจ่ายปี 2563 มูลค่ากว่า 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รอการพิจารณาของวุฒิสภา คาดว่าขั้นตอนกฎหมายจะแล้วเสร็จและเบิกจ่ายงบประมาณได้ตั้งแต่กุมภาพันธ์เป็นต้นไป

ในจำนวนนี้มีงบฯ ลงทุนของภาครัฐที่รอเบิกจ่ายออกมา ต้องลุ้นไม่ให้กระบวนการเบิกจ่ายล่าช้าหรือสะดุด หากภาครัฐเริ่มลงทุนและมีการนำเข้า การลงทุนของเอกชนและการนำเข้าก็จะตามมา ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ และกระทรวงการคลัง กำลังถกมาตรการส่งเสริมการลงทุนของเอกชนไทยออกมาเร็วๆ นี้ด้วย

จะมีอีกสองแรงหนุน ประสานกับแบงก์ชาติ เพื่อช่วยดูแลค่าเงินบาท เพียงแต่อย่าติดที่วาทกรรมเดิมว่าเป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติที่ต้องดูแลค่าเงินเท่านั้นเอง

     จังหวะนี้เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะมีเพียงแบงก์ชาติดูแลแรงเดียว อาจต้องใช้มาตรการยาแรงเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท…แต่เชื่อว่าทุกคนไม่อยากจะให้วันนั้นเกิดขึ้นแน่ๆ