“บรรยง” แนะรัฐแก้เหลื่อมล้ำด้วยระบบ “เสรีนิยมใหม่+รัฐสวัสดิการ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค.นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ ในหัวข้อ “เหลื่อมล้ำ! …แล้วยังไงล่ะ” โดยระบุว่า

ที่ไหนในโลกก็มีความเหลื่อมล้ำ …ความเหลื่อมล้ำเป็นธรรมชาติของมนุษย์ …มนุษย์มีความเหลื่อมล้ำตั้งแต่เกิดแล้ว …คนเราทำบุญทำกรรมมาต่างกันจะให้เท่าเทียมกันได้ยังไง …ความเหลื่อมล้ำเป็นปัจจัยสำคัญของความก้าวหน้าทางศิลปวัฒนธรรมมาตลอดตั้งแต่โบราณกาล …ถ้าไม่ยอมให้มีความเหลื่อมล้ำใครจะลุกขึ้นมาทำงาน ใครจะสร้างนวัตกรรมล่ะ …ระบบทุนนิยมที่สร้างโลกขับเคลื่อนโลกอยู่ทุกวันนี้ก็ใช้ความเหลื่อมล้ำนี่แหละเป็นเครื่องสร้างแรงจูงใจให้คนเพิ่มผลผลิต …ระบบสังคมนิยมสุดขั้วไปไม่ได้ต้องล่มสลายก็เพราะไม่ยอมให้มีความเหลื่อมล้ำเลยไม่มีใครทำ เอาแต่รอแบ่ง ความเจริญเลยไม่เคยมา

ข้อความข้างบนนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มีตรรกะเหตุผลทุกประการ …เพราะฉะนั้น ”ความเหลื่อมล้ำ” ไม่ใช่มารร้าย ไม่ใช่สิ่งที่ต้องขจัดให้หมดไปตราบเท่าที่เรายังไม่ได้เข้าสู่ยุคพระศรีอารย์ แถมยังเป็นเครื่องมือธรรมชาติที่ต้องใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยซ้ำไป …แล้วทำไม ทั้งๆที่มีประโยชน์ขนาดนั้น ใครๆถึงเรียกความเหลื่อมล้ำว่าเป็นปัญหาล่ะครับ ทำไมพอผมบอกว่าไทยเป็นแชมป์โลกเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง(Wealth Inequality)ถึงได้มีคนเดือดร้อนออกมาแก้ต่าง จับผิดงานวิจัยกันมากมาย ร้อนถึงนายกฯ โฆษกรัฐบาล สภาพัฒน์ฯลฯ ต้องออกมาชี้แจงกันวุ่นวาย แถมพวกคนรักชาติอีกหลายคนที่เข้ามารุมโจมตีผมอย่างสาดเสียเทเสีย ว่าทำลายภาพพจน์ของประเทศ

เอาเถอะครับ เอาเป็นว่า “ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งมากที่สุดใน 40 ประเทศที่พอมีข้อมูลมาใช้ในงานวิจัยของCredit Suisse Global Wealth Report โดยที่ไทยจัดเป็นประเทศที่มีincomplete data และความเหลื่อมล้ำด้านนี้ของเรามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

แต่ถึงความเหลื่อมล้ำจะมีประโยชน์ ประวัติศาสตร์ก็สอนไว้ว่า “ความเหลื่อมล้ำ”นั้น ถ้ามีมากเกินไป ถ้ามีสูงเกินไป และ ที่สำคัญกว่านั้น ถ้าเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม ก็จะมีอันตรายมหาศาล สามารถทำลายสังคมทั้งสังคมลงได้เลย สามารถสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย สร้างสงครามกลางเมือง ฉุดประเทศทั้งประเทศสู่ความตกต่ำยาวนาน บางครั้งต่อเนื่องไปได้หลายชั่วอายุคนเลยทีเดียว

ไม่ว่า …ปฏิวิติฝรั่งเศส(1789) …ปฏิวัติรัสเซีย(1917)ล้มล้างระบบกษัตริย์ …ปฏิวัติจีน(1949) …ปฏิวัติเวียตนาม(1975) …ปฏิวัติเขมร(1975) ล้วนเกิดจากรากฐาน”ความเหลื่อมล้ำ”ทั้งสิ้น หรือแม้แต่ความวุ่นวายในปารีสขณะนี้ หรือปรากฎการณ์ฝืนตรรกะอย่าง Brexit หรือการชนะเลือกตั้งของDonald Trump ก็มีส่วนไม่น้อยที่มาจากรากฐานความเหลื่อมล้ำ

ในเมื่อมันมีทั้งประโยชน์และอันตราย แล้วความเหลื่อมล้ำขนาดไหนล่ะที่จะพอดี ที่จะเป็นไปอย่างสร้างสรร ให้คนในสังคมยังอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก ไม่นำไปสู่การแตกแยกรุนแรง

เรื่องนี้ไม่มีใครบอกได้หรอกครับ มันขึ้นอยู่กับสังคมแต่ละแห่ง ขึ้นกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ขึ้นกับบริบทการพัฒนาเปลี่ยนแปลง แต่ส่วนใหญ่ที่กลายเป็นวิกฤติมักจะเกิดจากความประมาท เกิดจากความละเลยของผู้ที่ได้เปรียบในสังคม …อย่างเรื่องเล่าคลาสสิคที่พระนางมารี อังตัวเนตต์ บอกกับขุนนางที่มารายงานเรื่องความทุกข์ยากของราษฎรว่า “ถ้าขนมปังแพงก็ให้ไปกินเค้กสิ” …หรือถ้าใครมีNetflix ผมแนะนำให้ไปดูเรื่อง First they kill my father ของ Angelina Jolie ซึ่งเป็นเรื่องเหตุการณ์วันพนมเปญแตกไปจนการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ไปกว่าสองล้านคน ซึ่งจะเห็นได้ถึงความประมาทของชนชั้นมั่งมีที่ไม่นึกว่าจะเกิดเหตุรุนแรงขนาดนั้นได้

แล้วประเทศไทยล่ะ เราอยู่ในขั้นไหนแล้วล่ะครับ เราเหลื่อมล้ำอย่างสร้างสรร หรือเหลื่อมล้ำแบบใกล้ฉิบหาย …เรื่องนี้ผมไม่ขอตอบละครับ เชิญวินิจฉัยกันเอาเอง เพียงแต่สำหรับผม ถ้ามีความเสี่ยงเกิดขึ้น แม้จะน้อยนิดก็ต้องพยายามลดความเสี่ยงแล้วล่ะครับ …และถ้าให้ผมประเมิน สถานการณ์เสื้อเหลืองเสื้อแดง สถานการณ์ความแตกแยกวุ่นวายในสังคมที่มีมาร่วมสิบปีนี้ ล้วนเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องระมัดระวัง และถ้ามองไปลึกๆ ผมก็เชื่อว่ารากฐานแท้จริงของปัญหาก็คือความเหลื่อมล้ำนั่นแหละครับ ส่วนใครจะเอาไปกระพือเพื่อผลใดๆทางการเมือง มันก็แค่เติมเชื้อให้เท่านั้น

อันว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้น มันมีมิติอื่นๆที่นอกเหนือจากตัวเลขที่วัดกันได้จากค่าสัมประสิทธิ์GINIด้านรายได้ รายจ่าย ด้านความมั่งคั่ง หรือจาก Income Gap Wealth Gap อีกมากนะครับ ผมจะขอยกตัวอย่าง

มิติความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา …เป็นที่รู้กันว่าในเมืองไทยนั้นคุณภาพการศึกษานั้นต่างกันลิบลับในชั้นของสังคมต่างๆกัน นอกจากนั้นในสมัยก่อนที่คนไม่มีการศึกษา การปกครองจะค่อนข้างง่าย เพราะคนที่ไม่รู้นั้นปกครองง่ายกว่าคนรู้บ้าง ส่วนคนรู้มากนั้น ถ้าระบบมีความเป็นธรรมก็มีปัญหาน้อย แต่เมืองไทยนั้นเราก็รู้อยู่ว่า คนส่วนใหญ่นั้นมีความรู้ครึ่งๆกลางๆ ซึ่งประวัติศาสตร์บอกว่ากลุ่มนี้จะสร้างปัญหาใหญ่หลวงได้ง่ายกว่า เพราะฉะนั้นจึงมีผู้ปกครองประเทศแบบเผด็จการในอดีตไม่น้อย ที่ใช้วิธีปิดหูปิดตาประชาชน ไม่ให้มีความรู้หรือข้อมูลข่าวสาร ไม่ให้ได้รับการศึกษาที่ดี ไม่ให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนถกเถียง หรืออย่างเช่นเผด็จการพม่า ก็สั่งปิดมหาวิทยาลัย ทำลายระบบการศึกษาที่ดี ฉุดรั้งประเทศให้ด้อยพัฒนาอย่างยาวนาน แม้เมื่อเปิดประเทศคิดกลับตัว คุณภาพประชาชนก็ตกต่ำเสียจนยากจะรื้อฟื้นขึ้นไปแข่งขันกับใครเขา

มิติด้านคนจนชนบท กับคนจนเมือง …นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่เดิมคนจนส่วนมากอยู่ในชนบท คนรวยและคนชั้นกลางอยู่ในเมืองเป็นส่วนใหญ่ มันเหมือนมีเส้นเขตเมืองเป็นกันชนไม่ ห้กระทบกระทั่งกัน แต่ก็อย่างที่รู้ว่ามิติการพัฒนาสมัยใหม่มักส่งเสริมให้มีการขยายเมือง ชักจูงคนชนบทเข้าเมือง นัยว่าผลิตภาพในเมืองนั้นสูงกว่า ซึ่งในเมืองไทยนั้นก็มีการขยายเมืองอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา จากเดิมคนบ้านนอกเข้าเมืองหางานทำส่งเงินไปจุนเจือครอบครัวในชนบท ก็เริ่มกลับเป็นพ่อแม่ดิ้นรนส่งลูกเข้าเมืองหวังให้เรียนสูงเพื่อยกฐานะตน แต่เอาเข้าจริงเรียนจบก็หางานดีๆได้ยาก ต้องกลายเป็นคนจนเมืองดิ้นรนเพื่ออยู่รอด พ่อแม่ต้องส่งเงินเข้ามาช่วยเหลือให้อยู่ได้ไปวันๆ ซึ่งจากประวัติศาสตร์คนจนเมืองนั้น มีโอกาสเกิดการกระทบกระทั่งสร้างปัญหาสังคม สร้างความรุนแรงได้มากกว่าคนจนชนบทมากนัก เพราะเขามักถูกรังแกโดยสังคมสองมาตรฐานได้ง่ายกว่า เห็นความไม่เป็นธรรมได้ใกล้ชิดกว่า

มิติความเหลื่อมล้ำในด้านการเข้าถึงโอกาส …มีงานวิจัยมากมายยืนยันตรงกันว่า คนจนนั้นมักจะจนต่อเนื่องกันไปหลายช่วงอายุคน เพราะถ้าเกิดมาจน โอกาสที่จะมีสุขภาพดีก็น้อยกว่า โอกาสที่จะได้ร่ำเรียนก็คุณภาพต่ำ แถมโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงหน้าที่การงานที่ดีก็มีน้อยนัก สังคมทุนนิยมเสรีที่ดีนั้น ถึงจะไม่เท่าเทียมกัน แต่ต้องให้ทุกคนมีโอกาสตามสมควร เกิดมาแล้วก็ต้องได้รับการดูแลสุขภาพตามควร อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพตามควร มีอาหารเพียงพอ ถ้าเรียนเก่งและขยันก็ให้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี จบมาก็ได้งานที่ดี อยากประกอบกิจการก็มีช่องทางเข้าถึงทรัพยากรได้ ในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนานั้น เราจะเห็นความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสนี้แตกต่างกันมากมายตั้งแต่เกิดจนตาย

มิติความเหลื่อมล้ำในด้านการบังคับใช้กฎหมาย …อันนี้ผมคงไม่ต้องอธิบายมาก ในสังคมที่ยึดถือระบบเครือญาติ(Nepotism) และระบบพวกพ้อง(Cronyism) แถมยังชื่นชมระบบอุปถัมภ์(Patronage) อย่างประเทศไทย การช่วยเหลือเกื้อกูลพรรคพวกถือเป็นเรื่องควรทำ เป็นเรื่องน่าชื่นชมแม้จะเป็นในทางไม่ถูกต้อง ยิ่งส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และการที่ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของเราที่เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจได้ทุกขั้นตอน ทำให้คนที่ไม่มีพรรคพวกย่อมตกเป็นเหยื่อถูกรังแกเอาเปรียบ ถูกกดหัวให้โงไม่ขึ้น ซึ่งเรื่องนี้นอกจากเป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำโดยตรงแล้ว ยังเป็นเชื้อไฟให้เกิดปัญหาแตกแยกร้าวลึกในสังคมตลอดมาด้วย

มิติความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตน …ถ้าคนรวยๆเพราะตัวเองสร้างประสิทธิภาพ สร้างผลิตภาพ สร้างนวัตกรรม ในระบบที่มีการแข่งขันกันโดยสมบูรณ์ ก็เป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม จะเหลื่อมล้ำเท่าใดก็ไม่น่าจะมีใครเดือดร้อน เพราะกำไรที่เกิดนั้นเป็นประโยชน์แก่สังคมและมนุษยชาติด้วย ยิ่งถ้าเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือบริจาคส่วนเกินเป็นสาธารณกุศลด้วย ยิ่งควรสรรเสริญกราบไหว้ อย่างบิล เกตส์ สตีฟ จ้อป แจ้ค หม่า หรือลุงเหรินเจ้าของหัวเหว่ย พวกนี้รวยเพราะทำให้โลกดีขึ้น …แต่พอเหลียวไปมองมหาเศรษฐีไทยหลายคน(ไม่ทุกคนนะครับ) จะพบว่าหลายคนร่ำรวยเพราะเข้าถึงอำนาจรัฐ สามารถกีดกันการแข่งขัน สามารถกำหนดเงื่อนไขที่ไม่ต้องแข่งอย่างเป็นธรรมได้ แล้วเลยทำให้ร่ำรวย ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่าร่ำรวยจากค่าเช่าทางเศรษฐกิจ(Economic Rents) ซึ่งการรำ่รวยอย่างนี้เป็นภาระของคนอื่นๆในสังคมอย่างแน่นอน เช่น ผู้ผลิตไฟฟ้ารวยมหาศาลเพราะขายไฟได้ราคาสูงก็ทำให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าของประเทศสูงกว่าที่ควร หรือพ่อค้าขายของให้รัฐได้ราคาสองเท่าของตลาดก็ทำให้รัฐขาดเงินที่จะไปดูแลสวัสดิการประชาชน …แถมพอเรื่องค่าเช่า(Rents)อย่างนี้เกิดได้ ทำให้คนเป็นเศรษฐีได้ พ่อค้าไทยก็เลยมุ่งมั่นแต่ด้านนี้ ไม่มีใครสนใจทำR&Dหรือสร้างนวัตกรรมอะไร เพราะมันเสี่ยงกว่าเยอะ

นอกจากสี่ห้าเรื่องในมิติต่างๆที่ผมยกมาแล้ว ยังมีต้นเหตุอีกหลายอย่างที่เพิ่มให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทวีขึ้น อย่างเช่นแผนยุทธศาสตร์ชาติทั้งส่วนที่ประกาศออกมาแล้วและที่กำลังทำรายละเอียดนี่ก็เหมือนกัน ถึงจะบอกว่าจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นเป้าหมายสำคัญ แต่การที่รัฐจะลุกขึ้นมานำ ขึ้นมาทำเสียทุกอย่าง ก็เป็นเรื่องหนีไม่พ้นที่จะต้องขยายรัฐอีกมาก ทั้งขนาด บทบาท และอำนาจ ซึ่งทำอย่างนั้นจะไม่มีทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้เลย มีแต่จะบั่นทอนประสิทธิภาพและแย่งชิงทรัพยากรไปให้รัฐถลุง ซึ่งก็มีบทพิสูจน์มานักต่อนักแล้วว่ารัฐไทยนั้น ทั้งไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งรั่วไหลในทุกจุด …อย่างแผนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยตั้งคณะกรรมการและสำนักงานแก้ไขความเหลื่อมล้ำขึ้นมาเมื่อเร็วๆนี้ ก็เข้าทำนองที่ว่าเลยครับ …ยิ่งไปกว่านั้น การที่รัฐขยายตัว แย่งทรัพยากรไปจากตลาด จะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจลดลงอย่างแน่นอน และก็จะเป็นไปตามทฤษฎีของThomas Pikettyที่ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่อัตราเติบโตเศรษฐกิจตำ่กว่าผลตอบแทนของทุน(g<r) ความเหลื่อมล้ำจะทวีขึ้นจนในที่สุดคนรวยก็จะเอาความมั่งคั่งไปทั้งหมด

สาธยายมาพอสมควร ผมขอสรุปว่า “ความเหลื่อมล้ำ”นั้น เป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่มีทางขจัดให้หมดไปได้ มันมีทั้งโทษแต่ก็มีประโยชน์อยู่ด้วย ประเด็นมันจึงอยู่ที่ว่า ความเหลื่อมล้ำในระดับไหนจึงจะเป็นระดับที่ยอมรับได้และสร้างประโยชน์ (Constructive Inequality) นอกจากนั้นความเหลื่อมล้ำยังมีหลากหลายมิติที่มีประโยชน์และสร้างปัญหาต่างๆกัน เราจำเป็นจำต้องเข้าใจในรายละเอียดในหลากมิติถึงจะสามารถออกแบบวิธีการและมาตรการที่จะรับมือลดปัญหาลงได้

ที่น่ากังวลมาก ก็คือวิธีการที่จะได้ผลในการลดความเหลื่อมล้ำ …ในหนังสือ The Great Leveler :Violence and the History of Inequality from the Stone Age to the Twenty-First Century (https://www.theguardian.com/…/the-great-leveller-walter-sch…) อธิบายว่า ในประวัติศาสตร์นั้น วิธีที่จะลดความเหลื่อมล้ำอย่างได้ผลนั้นมีสี่วิธี คือ สงคราม การปฏิวัติชนชั้น โรคระบาดร้ายแรง และการสิ้นชาติ ซึ่งไม่มีเรื่องไหนเป็นเรื่องที่ดีเลย และนี่คือเหตุผลที่ทำให้เรายิ่งต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ยิ่งขึ้น เพราะถ้าไม่อย่างนั้นหายนะร้ายแรงที่น่ากลัวก็อาจจะเกิดขึ้นได้

สำหรับประเทศไทยนั้น สิ่งแรกที่เราจะต้องเห็นพ้องให้เกิดฉันทามติก่อนก็คือ เรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูงและสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้น (อันนี้ไม่ได้มาเถียงว่า”ที่สุดในโลก”หรือเปล่านะครับ) แล้วจึงวิเคราะห์วิจัยในรายละเอียดสาเหตุและมิติต่างๆของปัญหา แล้วจึงหาวิธีหามาตรการบรรเทาหรืออย่างน้อยก็หยุดยั้งปัญหาไม่ให้เลวลงจนเกิดหายนะ

ผมขอนำเสนอแนวทางหลักการใหญ่ว่า เสรีนิยมใหม่+รัฐสวัสดิการ (Neoliberalism+Welfare) น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับภาวะที่เป็นอยู่ในประเทศไทย …แต่ขอบอกว่าเป็นหลักการใหญ่เท่านั้นนะครับ เพราะทั้งเสรีนิยมใหม่ ทั้งรัฐสวัสดิการนั้นก็มีระดับรายละเอียดความหลากหลายอยู่มากมายในตัวเอง แต่อย่างน้อยเราควรจะตกผลึกในหลักการใหญ่ให้เป็นหลักไว้ก่อน ดีกว่าที่เอะอะก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเต็มไปหมดอย่างที่เห็น

แล้วจะมาชวนถกกันในรายละเอียดเป็นระยะๆนะครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก บรรยง พงษ์พานิช