โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง! | สุรชาติ บำรุงสุข

การเมืองไทยนับจากนี้คือ การรอวันประกาศ “ยุบสภา” เนื่องจากได้มีการกำหนดวันเลือกตั้งไว้อย่างชัดเจนแล้วคือ วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ซึ่งทุกฝ่ายหวังว่า การเลือกตั้งนี้จะไม่เกิดสภาวะ “รถไฟตกราง” จนการเลือกตั้งไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะการเมืองไทยเดินทางมาไกล เกินกว่าจะถอยกลับไปสู่เส้นทางเก่าในแบบเดือนพฤษภาคม 2557 อีกแล้ว

ฉะนั้น คำประกาศยุบสภาไม่ว่าจะ “ช้าหรือเร็ว” ก็จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหลังจากออกประกาศกฤษฎีกายุบสภาแล้ว การเลือกตั้งจะต้องจัดขึ้นภายในระยะเวลา 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ซึ่งเท่ากับมีนัยว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ความคิดของคนบางกลุ่มที่ต้องการไม่ให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้นั้น ไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับอนาคตของประเทศ และหากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น จะยิ่งเท่ากับขยายความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยทวีความเข้มข้นมากขึ้น จนอาจขยายตัวไปสู่ความรุนแรงได้ด้วย

ดังนั้น นับจากนี้ไปซึ่งเป็น “โค้งสุดท้าย” ของการเมืองก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจริงนั้น เรามีคำถามสำคัญ 12 ประเด็นที่น่าติดตาม ได้แก่

1) ความสัมพันธ์ของอดีตผู้นำรัฐประหารทั้ง 3 ที่มีอำนาจในรัฐบาลปัจจุบันนั้น เริ่มสะท้อนให้เห็นถึง “ปัญหาเอกภาพ” ของผู้มีอำนาจในรัฐบาลที่เคยยึดอำนาจร่วมกันมา และเป็นคำถามสำคัญว่า ในการเลือกตั้ง 2566 นั้น สามผู้นำรัฐประหารจะจัดความสัมพันธ์กันอย่างไร

2) ประเด็นที่ทุกฝ่ายจับตามองจึงเป็นคำถามว่า พวกเขาทั้งสามจะยังเดินไปต่อด้วยกันอีกจริงหรือไม่ หรือแนวคิด “แยกกันเดิน-รวมกันตี” เป็นเพียงวาทกรรมปลอบใจสำหรับกองเชียร์

3) การจะเดินไปต่อร่วมกันของ 3 ผู้นำรัฐประหารเดิมจะมีนัยต่ออนาคตของ “พรรคทหาร” ซึ่งได้แก่ พรรคพลังประชารัฐในปัจจุบันอย่างมาก และผลการเลือกตั้งจะบ่งชี้ถึงจุดสิ้นสุดของพรรคทหารหรือไม่

4) แม้จะมีความพยายามในการตั้งพรรคทหารใหม่ หรือเปิด “พรรคทหาร 2” ซึ่งน่าติดตามว่า เป็นการจัดตั้งเพื่อเป็น “พรรคคู่แข่ง” หรือเพื่อสร้าง “พรรคพี่-พรรคน้อง” เป็นพันธมิตรทางการเมือง ประเด็นนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ บนความสัมพันธ์ของผู้นำรัฐประหารทั้ง 3 และปัญหาภายในพรรคทหารเดิม

5) ความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ดูจะมีปัญหาอย่างต่อเนื่องทั้งในสภาและนอกสภา จนแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นได้สร้างปัญหา “เอกภาพของพรรคร่วม” และกลายเป็นจุดขัดแย้งสำคัญของรัฐบาลปัจจุบัน

6) ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคฝ่ายค้านจะเป็นอีกประเด็นที่ถูกจับตามองว่า การเป็นพันธมิตรของปีกฝ่ายค้านจะสามารถร่วมมือกันได้เพียงใด หรือจะร่วมกันสร้าง “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ในสภาได้หรือไม่

7) จากนี้ไปจนกว่าการเลือกตั้งจะจบลง การแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองจะรุนแรงมากขึ้น และการโจมตีทางการเมืองและการใส่ร้ายป้ายสีจะมีมากขึ้นด้วย ประชาชนที่เป็นผู้เสพสื่อต้องแยกแยะ

8) การแข่งขันทางการเมืองในอีกด้านจะเน้นในเรื่องของการนำเสนอนโยบาย ซึ่งจากนี้จะมีนโยบายถูกนำเสนอขายให้แก่สังคมมากขึ้น และนโยบายมีแนวโน้มที่เป็น “ประชานิยม” มากขึ้นด้วย

9) การสร้างพันธมิตรของพรรคการเมืองจะผันแปรไปตามสถานการณ์ และจะเห็นชัดในท้ายที่สุดต่อเมื่อคะแนนการเลือกตั้งถูกประกาศ อันจะนำไปสู่จุดสุดท้ายคือ การสร้างพันธมิตรเพื่อการจัดตั้งรัฐบาล

10) ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น จะนำไปสู่การสิ้นสุดของระบอบสืบทอดอำนาจจากการรัฐประหารหรือไม่ เนื่องจากจากถดถอยของกระแสพรรคทหารและตัวผู้นำ หรือเป็นคำถามทางวิชาการว่า ผลการเลือกตั้งจะพาสังคมก้าวเข้าสู่ “การเมืองยุคหลังประยุทธ์” หรือไม่

11) ถ้าระบอบสืบทอดอำนาจเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งแล้ว ผู้นำรัฐบาลที่เคยเป็น “นักรัฐประหาร” มาก่อน จะยอมรับถึงความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นได้เพียงใด และกลุ่มการเมืองขวาจัดจะยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งได้หรือไม่ (เปรียบเทียบตัวแบบผู้สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ในสหรัฐ)

12) การแข่งขันและการหาเสียงในการเลือกตั้งส่วนหนึ่งจะชู 2 ประเด็นคู่ขนานคือ “เอาประยุทธ์ vs ไม่เอาประยุทธ์” และ “ประชาธิปไตย vs เผด็จการ” แม้จะมีการสร้างกระแสอีกส่วน “เอาทักษิณ vs ไม่เอาทักษิณ” เพื่อใช้เรียกเสียงสนับสนุนจากกลุ่มปีกขวาจัด

(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

นอกจากนี้ ในการเมืองโค้งสุดท้ายจนถึงการเลือกตั้งเช่นนี้ ยังมีคำถามถึงบทบาทของกลุ่มการเมืองต่างๆ 6 กลุ่มในการเมืองไทย ได้แก่

1) บทบาทของกลุ่มทุนใหญ่ในการเมืองไทยจะเป็นเช่นไร และเมื่อการเลือกตั้งมากถึง ทุนใหญ่เหล่านี้จะ “เทใจ” ไปสนับสนุนให้กับพรรคใด

2) กองทัพจะมีบทบาทเช่นไร จะเล่นบทบาทให้เกินกว่าที่กองทัพควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ บทบาทของ “ทหารกับการเลือกตั้ง” เป็นประเด็นที่ละเลยไม่ได้

3) คนรุ่นใหม่จะแสดงบทบาทอย่างไรในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีสิทธิ์ลงเสียงครั้งแรก จะ “ให้ใจ” กับพรรคใด พรรคที่เคยครองใจคนรุ่นใหม่จะยังได้เสียงเช่นนี้ต่อไปอีกหรือไม่

4) บทบาทของกลุ่มอนุรักษนิยมผนึกกำลังกับกลุ่มจารีตนิยมยังคงเป็น “พลังฝ่ายขวา” ที่ละเลยไม่ได้ในการเมืองไทย และเสียงของปีกนี้จะเทไปที่พรรคฝ่ายขวา ซึ่งจะเกิดการชิงเสียงของพรรคฝ่ายขวาด้วยกันเอง

5) กลุ่มที่ประกาศตัวเป็น “พลังประชาธิปไตย” และไม่ยอมรับรัฐบาลนี้ จะเทเสียงไปที่พรรคฝ่ายค้าน แต่ก็จะเกิดปัญหาแบบเดียวกันคือ การชิงเสียงของพรรคในปีกนี้

6) มีความกลัวต่อกระแสของพรรคฝ่ายค้านที่มาแรง ทำให้เกิดคำถามถึงกระบวนการ “ตุลาการธิปไตย” ว่า จะมีการใช้เครื่องมือชุดนี้ในการยุบพรรคฝ่ายตรงข้ามอีกหรือไม่

คำถาม 12+6 ประการ ที่ตั้งไว้ในข้างต้น ให้คำตอบแก่เราอย่างชัดเจนว่า การเมืองจากนี้ไปเป็น “โค้งสุดท้าย” ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้เห็นสภาวะ “5 ชิง” ได้แก่ “ชิงเสียง-ชิงคน-ชิงพื้นที่-ชิงทรัพยากร (เงินทุนสนับสนุน)-ชิงการนำ” หรือกล่าวโดยสรุปในภาพรวมคือ การเมืองจากปีใหม่ไปจนถึงการเลือกตั้งจะยิ่ง “ดุเดือด-เข้มข้น” ขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจมีนัยเป็น “สาม ป. โค้งสุดท้าย” ด้วย!