บุรีรัมย์มี ‘ปราสาทหิน’ ขอบปล่องภูเขาไฟ แต่ถูกระเบิดยุคสงครามเย็น | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ภูเขาไฟหลุบ

2 ล้านปีมาแล้ว ในเขตบุรีรัมย์มีภูเขาไฟหลายลูก ทางการบอกว่าขึ้นไปท่องเที่ยวได้

(สรุปจาก ภูมิศาสตร์และภูเขาไฟของจังหวัดบุรีรัมย์ โดย จุมพล วิเชียรศิลป์ พิมพ์ในหนังสือประวัติศาสตร์เมืองบุรีรัมย์ ของเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ (ไม่ลงปีที่พิมพ์) หน้า 2-17) เฉพาะ 2 ลูกแรก มีดังนี้

ภูเขาไฟกระโดง อยู่ห่างตัวเมืองประมาณ 6 กิโลเมตร มีอายุน้อยประมาณ 0.9-0.3 ล้านปี
ลักษณะซากปล่องปะทุเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก มีน้ำขังกลายเป็นทะเลสาบบนปากปล่องภูเขาไฟสวยงามที่สุดในประเทศไทย สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 283 เมตร

ภูเขาไฟพนมรุ้ง อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางใต้ประมาณ 70 กม. เป็นภูเขาไฟที่สูงที่สุดใน จ. บุรีรัมย์
มีปล่องช่องปะทุระเบิดอยู่ตรงศูนย์กลางของเขตภูเขาไฟและมีลักษณะคล้ายชามยักษ์วางหงายอยู่บนเนินกว้างประมาณ 300 เมตร ยอดเนินภูเขาไฟสูงประมาณ 383 เมตรจากระดับน้ำทะเล

บริเวณปากปล่องช่องปะทุเป็นแอ่งลึกและลาดชันมาก รูปร่างกลมไม่มีร่องรอยการยุบตัว หากมีน้ำขังมากจะกลายเป็นทะเลสาบบนปล่องภูเขาไฟที่สวยงามแห่งหนึ่ง

ขอบปากปล่องช่องปะทุทางทิศใต้ เป็นที่ตั้งของปราสาทหินพนมรุ้งที่สวยงาม และอยู่บนเนินภูเขาไฟสูงที่สุดในประเทศไทย

ภูเขาไฟอังคาร อยู่ห่างจาก ตัวเมืองประมาณ 74 กิโลเมตรยอดเขาสูงประมาณ 331 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ภูเขาไฟไปรบัด อยู่ห่างจากภูเขาไฟพนมรุ้ง ลงไปทางใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร อยู่ในเขตอำเภอประโคนชัยและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ

ยอดเขาสูงสุดประมาณ 289 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีปากปล่องช่องปะทุกว้างประมาณ 200 เมตร และมีสัณฐานเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก

บนขอบปล่องช่องปะทุ มีซากปราสาทหินตั้งอยู่ด้วย แต่ถูกระเบิดทำลายจนพังพินาศหมดแล้ว (ช่วงสงครามเย็น) โบราณศิลปวัตถุที่พบถูกลักลอบไปจัดแสดงในยุโรป

ภูเขาไฟหลุบ อยู่ห่างจากภูเขาไฟอังคาร ลงไปทางใต้ประมาณ 6 กิโลเมตร
ยอดเนินภูเขาไฟสูงประมาณ 235 เมตร จากระดับน้ำทะเล
อาจมีอายุมากกว่าภูเขาไฟลูกอื่นๆ ใน จ. บุรีรัมย์

มีผู้บอกต่อๆ มาว่า ภูเขาไฟเหล่านี้มีทางขึ้นท่องเที่ยวได้สะดวก แต่จริงหรือไม่จริง ต้องสอบถามกันเอง

ภูเขาไฟหลุบ
ปากปล่องภูเขาไฟคอก

ภาพประกอบทั้งหมดจากหนังสือ ประวัติศาสตร์เมืองบุรีรัมย์ ของเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ (ไม่ลงปีที่พิมพ์]