สุจิตต์ วงษ์เทศ : โลกหลังความตาย ของคนหลายพันปี

 

โลกหลังความตาย

ของคนหลายพันปี

 

พิธีศพแบบดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ราว 2,500 ปีมาแล้ว ร่วมสมัยวัฒนธรรมบ้านเชียง (จ.อุดรธานี) และวัฒนธรรมบ้านเก่า (จ.กาญจนบุรี) ฝังดินไว้ใต้ถุนเรือนโดยไม่ใส่โลงศพ ชุมชนบางแห่งฝังศพใต้ถุนเรือนทับซ้อนบริเวณเดียวกันเพราะอยู่สืบต่อกันนานมากหลายชั่วคน พบคำอธิบายนี้พร้อมหลักฐานโบราณคดีจากกรมศิลปากรในหนังสือสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ของ ชิน อยู่ดี (กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก พ.ศ.2510)

ต่อมาพบคำอธิบายในรายงานการขุดค้นที่บ้านเชียง จ.อุดรธานี ของนักวิชาการโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา มีผู้ถ่ายสำเนาส่งมาให้ดูเป็นภาพวาดจากจินตนาการของจิตรกรเป็นรูปเรือนเสาสูงมีใต้ถุนเป็นที่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันและเป็นที่ฝังศพ โดยขุดพบหลักฐานกระจัดกระจายคล้าย “ขยะ” ทั้งเศษภาชนะดินเผารวมทั้งกระดูกสัตว์และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ

ผมเชื่อตามคำอธิบายของนักปราชญ์ครูบาอาจารย์กับนักโบราณคดีรุ่นใหม่ตลอดมา จึงเคยเขียนไว้ในหนังสือหลายเล่ม เพราะวิถีชีวิตจริงของคนแต่ก่อนโน้นกิจกรรมประจำวันล้วนมีบริเวณใต้ถุนเรือนเสาสูง (ปัจจุบันถูกตีขลุมเหมาเรียก “เรือนไทย”) ได้แก่ หุงข้าว, ตีหม้อ, ทอผ้า, เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ส่วนบนเรือนเอาไว้ “ซุกหัวนอน” หนีสัตว์ร้ายตอนกลางคืน แต่ต่อมาเมื่อพบหลักฐานเพิ่มขึ้นจึงทบทวนข้อมูลทั้งหมดทำให้มีคำถามใหม่หลายอย่าง

เรือนยุคบ้านเชียง ราว 2,500 ปีมาแล้ว เป็นเรือนเสาสูง มีใต้ถุนเป็นที่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ตีหม้อ, ทอผ้า, เลี้ยงวัวควาย, หุงข้าว ฯลฯ และเป็นที่ฝังศพของคนในเรือน ขุดพบเศษภาชนะดินเผาเป็นชิ้นส่วน รวมทั้งกระดูกสัตว์และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ กระจัดกระจายคล้ายกองขยะ (ภาพวาดจากจินตนาการของจิตรกรโครงการบ้านเชียง มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา)

หลังความตายในศาสนาผี

พิธีศพแบบดั้งเดิมราว 2,500 ปีมาแล้ว ทำตามความเชื่อในศาสนาผีเพราะยังไม่ติดต่อรับคติทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธจากอินเดีย จึงไม่มีเผาศพ, ไม่มีความเชื่ออย่างพราหมณ์กับพุทธ, ไม่มีเวียนว่ายตายเกิด, ไม่มีโลกหน้า, ไม่มีสุคติภพ, ไม่มีสวรรค์นรก และที่สำคัญคือไม่มีวิญญาณ

ศาสนาผีมีความเชื่อเรื่องขวัญว่าคนตายขวัญไม่ตาย เหตุที่คนตายเพราะขวัญหายแล้วไม่กลับร่าง เนื่องจากขวัญหลงทางกลับร่างไม่ได้ ต้องมีพิธีสู่ขวัญเรียกขวัญ ถ้าขวัญคืนร่างคนก็ไม่ตาย ส่วนคนตายแล้วถูกเรียกว่าผี และขวัญของคนตายถูกเรียกผีขวัญซึ่งมีวิถีประจำวันปกติเหมือนเมื่อยังไม่ตาย เพียงแต่อยู่ต่างมิติซึ่งสัมผัสไม่ได้ มองไม่เห็น [“ผีขวัญ” จากความเชื่อเรื่องขวัญทางศาสนาผี คือผีที่คนปัจจุบันทั่วไปรู้จักและเข้าใจ เช่น ผีแม่นาคพระโขนง ฯลฯ (ไม่ใช่วิญญาณตามความเชื่อในพราหมณ์, พุทธ ที่คนตายแล้ววิญญาณไปจุติใหม่) เพราะผีขวัญไปมาหาสู่กับคนปัจจุบันได้โดยผ่านพิธีเข้าทรง ซึ่งเป็นไปตามข้อความในพงศาวดารล้านช้างว่า “ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด”]

ด้วยรากฐานความเชื่อดังกล่าวเมื่อมีคนตายจึงมีพิธีกรรมดังนี้

1. พิธีสู่ขวัญ ไม่พบหลักฐานตรงไปตรงมาว่ามีสู่ขวัญบนเรือนคนตายหรือใต้ถุนเรือน แต่พบประเพณีสมัยหลังๆ ว่ามีสู่ขวัญหลายวันหลายคืนจนศพเน่า จึงเอาศพฝังดินเพื่อรอขวัญคืนร่าง โดยจัดเครื่องมือเครื่องใช้ฝังไปด้วยให้ขวัญของคนตายใช้สอยเหมือนตอนไม่ตาย

2. พิธีฝังศพครั้งที่สอง เมื่อฝังศพไว้ใต้ถุนเรือนนานนับปีหรือหลายปีจนเนื้อหนังผุเปื่อยกลายเป็นดิน จึงคงเหลือกระดูกเป็นโครง ก็พากันขุดโครงกระดูกล้างน้ำทำความสะอาดแล้วบรรจุภาชนะแบบใดแบบหนึ่ง (เช่น ไหหิน, หม้อดินเผา, แคปซูลดินเผา เป็นต้น) แล้วเอาภาชนะใส่กระดูกไปทำพิธีฝังอีกครั้งหนึ่ง

 

ลานกลางบ้าน

งานศพดึกดำบรรพ์ตั้งแต่เริ่มพิธีสู่ขวัญ แล้วตามด้วยพิธีฝังศพครั้งที่สอง น่าจะมีบนพื้นที่เดียวกันซึ่งสมมุติเรียกตามคำสมัยหลังว่า “ลานกลางบ้าน” ที่แต่ก่อนมีทุกหมู่บ้าน

สมัยดั้งเดิมหลายพันปีมาแล้ว หลุมฝังศพพร้อมเฮือนแฮ้วมีแหล่งรวมอยู่ลานกลางบ้านซึ่งเป็นย่านกลางรวมความเฮี้ยนทั้งปวงของชุมชน

ลานกลางบ้าน หมายถึงที่โล่งกว้างโดยไม่ต้องโล่งแจ้งเหมือนทุ่งราบก็ได้ จะเป็นที่โล่งมีต้นไม้เป็นหย่อมๆ ก็ได้ (คล้ายป่าชุมชนปัจจุบัน) ถือเป็นลานเฮี้ยนและขลังอยู่ท่ามกลางชุมชนหมู่บ้านตามธรรมชาติ โดยไม่แยกต่างหากจากชุมชน แต่เป็นพื้นที่เดียวกัน หรือเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน (ทางอีสานกับทางเหนือเรียกข่วง) ถูกใช้เป็นศูนย์กลางพิธีกรรมตลอดปีของชุมชน ที่สำคัญคือพิธีเลี้ยงผีฟ้าผีแถน จึงเป็นที่สิงสู่และไปมาของปวงผีที่เชิญมาในพิธี เพราะมีหลุมฝังศพของบรรพชนที่เคยเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์หลายชั่วคนพร้อมโคตรตระกูล ส่วนรอบๆ ลานกลางบ้านเป็นหมู่เรือนของหัวหน้าเผ่าพันธุ์และโคตรตระกูลเครือญาติ ถัดออกไปจึงเป็นเรือนของชาวบ้านบริวารบ่าวไพร่

ทั้งนี้ ด้วยการเปรียบเทียบพิธีศพของผู้ไท (เวียดนาม) ทำในป่าแฮ้ว หรือป่าเฮ่ว (พื้นที่สาธารณะของชุมชนใช้ฝังศพ ความหมายเดียวกับป่าช้า) ให้หลุมฝังศพอยู่ใต้เฮือนแฮ้ว (หมายถึงเรือนเสาสูงขนาดย่อส่วนเรือนจริง ใช้ปลูกคร่อมหลุมฝังศพ) ด้วยเชื่อว่าผีขวัญได้ใช้งานเฮือนแฮ้ว เหมือนเรือนจริงเมื่อมีชีวิต [คำว่า “ป่า” ความหมายดั้งเดิมคือ ย่าน, บริเวณ (มีใช้สืบมาถึงสมัยรัฐอยุธยา เรียกตลาดย่านต่างๆ ว่า ป่า) ดังนั้น ป่าแฮ้ว, ป่าเฮ่ว สมัยดั้งเดิมหมายถึงย่านฝังศพซึ่งอยู่ในชุมชนเป็นที่รู้กัน อาจเป็นลานกลางบ้านก็ได้]

พิธีศพตั้งแต่ฝังครั้งแรกต่อเนื่องพิธีศพครั้งที่สองรวมอยู่บนพื้นที่เดียวกัน มีนักวิชาการโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยศิลปากรบอกว่าพบหลักฐานเป็นแหล่งสำคัญขนาดใหญ่อยู่บ้านเมืองบัว (อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด)

ชุมชนลักษณะพิเศษ อยู่ที่แหล่งโคกพนมดี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี มีลานกลางบ้านเป็นที่ฝังศพพร้อมเฮือนแฮ้วอยู่บนเนินดินสูงเหมือนเนินเขาเตี้ยๆ อยู่โดดๆ ท่ามกลางทุ่งราบล้อมรอบเป็นที่ตั้งบ้านเรือนกลุ่มชนหรือบริวาร (ปัจจุบันเป็นทุ่งนา)

 

เฮือนแฮ้วคร่อมหลุมฝังศพตามประเพณีผู้ไทหรือไทดำ (ภาพจากหนังสือ ประวัติศาสตร์สิบสองจุไท ของ ภัททิยา ยิมเรวัต พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2544 หน้า 253)

 

เฮือนแฮ้ว ปลูกคร่อมหลุมฝังศพ มีลักษณะเป็นเรือนเสาสูงมีสี่เสา ขนาดย่อส่วนเรือนจริง มีเสาประดับเครื่องรางหรือเครื่องเซ่นคล้าย “เสาชูโคมฟ้า” ในตำนานตามประเพณีศพของผู้ไทหรือไทดําในเวียดนาม

 

ฝังศพใต้ถุน “เฮือนแฮ้ว”

คําอธิบายเก่ามีว่าชุมชนดึกดำบรรพ์ฝังศพใต้ถุนเรือน มาจากการตีความเมื่อนักโบราณคดีขุดพบโครงกระดูกพร้อมหลุมเสาที่เข้าใจว่าเป็นเสาเรือน แต่หลักฐานจากพิธีศพของผู้ไท (ในเวียดนาม) เป็นพยานชวนให้เชื่อว่าใต้ถุนเรือนที่นักโบราณคดีอ้างถึงนั้นแท้จริงเป็นใต้ถุน “เฮือนแฮ้ว” มีต้นเสาปลูกคร่อมหลุมฝังศพ ไม่ใช่เรือนจริงเป็นที่อยู่อาศัยของคนทั่วไป

 

เครื่องมือเครื่องใช้

บริเวณที่ฝังศพพบเครื่องมือเครื่องใช้หลากหลายอาจแยกได้ 2 ประเภท ดังนี้ (1.) สิ่งของที่ใช้ฝังรวมกับศพซึ่งเป็นปกติที่รับรู้กันทั่วไป และ (2.) สิ่งของในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปสมัยนั้นซึ่งมีลักษณะต่างจากที่พบในหลุมศพ ตรงนี้เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นแรก ลานกลางบ้านเป็นแหล่งฝังศพบรรพชนซึ่งเคยเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์และโคตรตระกูล จึงมีพิธีเลี้ยงผีสู่ขวัญกับส่งขวัญสม่ำเสมอตรงนี้ตรงนั้นตรงโน้น

ประเด็นหลัง ลานกลางบ้านเป็นแหล่งรวมศูนย์พิธีกรรมของเผ่าพันธุ์ซึ่งคนหลายชุมชนที่เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันเข้าร่วมจำนวนมาก มีกิจกรรมทั้งปี และมีครั้งละนานๆ หลายวัน เช่น 10 วัน, 15 วัน, 20 วัน เป็นต้น ล้วนเป็นพิธีกรรมเพื่อขอความมั่นคงและความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร (มีตัวอย่างสมัยหลังๆ ในกฎมณเฑียรบาลของรัฐอยุธยาตอนต้นๆ)