สุจิตต์ วงษ์เทศ : คลองพระโขนง เส้นทางคดโค้งเหมือนคิ้ว

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

คลองพระโขนง

เส้นทางคดโค้งเหมือนคิ้ว

 

“คําว่าโขนงในชื่อคลองพระโขนง มาจากภาษาเขมร แปลว่าคิ้ว” เรื่องนี้เป็นที่รับรู้ของคนทั้งหลายมานานมากแล้ว นอกจากนั้น ความรู้อย่างนี้ยังผ่านการเรียนการสอนทั้งในระบบและนอกระบบ

ถ้าจริงอย่างนั้นคลองพระโขนงแปลว่าอะไร? คลองคิ้ว หรือคลองมีคิ้ว? ฯลฯ มีคำถามสงสัย แต่ไม่มีคำตอบ และไม่มีคำอธิบาย

ผมได้ยินเหล่านี้มานานมาก แต่ไม่ได้เอาใจใส่หาความรู้จากแหล่งต่างๆ มาชำระข้อสงสัย จนเมื่อไม่นานมานี้จึง “ตาสว่าง” ว่าโขนงแปลว่าคดโค้งหรือคดเคี้ยว พระโขนง หมายถึงพื้นที่มีคลองคดโค้งและคดเคี้ยว เพราะคลองนี้แต่เดิมมีลักษณะคดเคี้ยวหลายแห่ง (น่าจะคล้ายคลองโคกขาม เรื่องพันท้ายนรสิงห์) แต่สมัยหลังมีการแต่งแปลงคลองให้ตรงหลายครั้งเพื่อความสะดวกการคมนาคม ทุกวันนี้เลยไม่ค่อยเห็นส่วนคดโค้งลักษณะคดโค้งและคดเคี้ยวของคลองมีความเปรียบเหมือนคิ้ว หรือโค้งเหมือนคิ้ว

คลองพระโขนงและภูมิประเทศใกล้เคียง ยังหลงเหลือบางตอนที่คดโค้ง [แผนที่โดยทนงศักดิ์ หาญวงษ์ ธันวาคม พ.ศ.2563]
พระโขนง

พระโขนง เป็นชื่อชุมชน (บาง) ซึ่งมีแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ริมคลองคดโค้งคดเคี้ยว เป็นส่วนขยายของเมืองพระประแดงสมัยอยุธยา (อยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันเป็นท่าเรือกรุงเทพฯ คลองเตย)

“พระโขนง” กลายคำจาก “บางขนง” หรือ “บางพระขนง” ซึ่งมีแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่พบหลักฐานเก่าสุดสมัยต้นรัตนโกสินทร์อย่างน้อย 2 เรื่อง ได้แก่

(1) โคลงนิราศชุมพร ของพระพิพิธสาลี กวีสมัย ร.1 บรรทัด 2 ว่า “เรียมลุบางพระขนง เนตรน้อง” และ (2) โคลงนิราศพระยาตรัง กวีสมัย ร.2 บท 31 บรรทัดแรกว่า “มาเห็นโชนเชี่ยวบ้าน บางขนง

ขนง มีรากจากคำว่า ก่ง แปลว่า โค้ง, ทำให้โค้ง, คิ้ว เช่น ก่งหน้าไม้, ก่งตูด เช่น “คิ้วก่งเหมือนกงเขาดีดฝ้าย จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ” (ระเด่นลันได)

ต่อมา ขนง ออกเสียงโขนง เนื่องเพราะ ก่ง ออกเสียง โก่ง ตามความหมายเดิม

เหล่านี้หลักภาษาเขมรเรียกศัพท์แผลงด้วยการลงอาคม เช่น โดย เป็นขโมย, ช่วย เป็นชำร่วย

[ความรู้ภาษาเขมรเหล่านี้ได้จากรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และณัฐพล จันทร์งาม คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร]

คลองพระโขนงคดโค้งบริเวณวัดสะพาน ใกล้ท่าเรือคลองเตย

คลองพระโขนง

คลองพระโขนงไหลคดเคี้ยวโค้งงอ จากลำน้ำน้อยใหญ่ทางทิศตะวันออกและทิศเหนือ ลงแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตก บริเวณปัจจุบันเป็นท่าเรือกรุงเทพฯ ที่คลองเตย

เป็นคลองธรรมชาติมีกำเนิดคราวเดียวกับแม่น้ำเจ้าพระยา

ต่อมาถูกใช้เป็นเส้นทางคมนาคมในเครือข่ายเมืองพระประแดง (คลองเตย) สมัยก่อนอยุธยา สืบมาถึงแผ่นดินรามาธิบดีที่ 2 ถูกปรับปรุงพร้อมกัน ได้แก่ คลองสำโรง, คลองทับนาง, คลองศีรษะจระเข้ (หัวตะเข้), คลองพระโขนง

สมัย ร.3 กรุงรัตนโกสินทร์ คลองพระโขนงบางตอนถูกแต่งแปลงให้ตรงเพิ่มอีก เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมคล่องแคล่วทั้งการค้าและการสงคราม กระตุ้นให้สมัยหลังๆ เป็นที่ตั้งบ้านเรือนหนาแน่นสองฝั่งคลอง แล้วมีผู้จับจองเรือกสวนไร่นาเพิ่มขึ้นสมัย ร.5 บรรดา “ผู้ดี” พากันบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามย่านนั้นสืบจนทุกวันนี้

คดโค้งคลองพระโขนง บริเวณวัดยางและวัดทองใน ย่านอ่อนนุช (ภาพจากโดรนมติชนทีวี มกราคม 2564)