‘ชบาแก้ว’ พลาดตั๋วลุยบอลโลก สะท้อนความดูดายของ ส.บอล

และแล้ว “ชบาแก้ว” ทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน พลาดตั๋วในการไปลุย ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกันจนได้

ว่ากันตามตรงการเข้ามาเล่นใน รอบเพลย์ออฟรวมทวีป เป็นงานที่หนักอึ้งของทัพชบาแก้วอยู่แล้ว เนื่องจากคู่แข่งที่ต้องเจอ มันไม่ใช่เอเชีย ที่รูปร่างจะใกล้เคียงกัน แล้วพอมีลุ้นชนะได้ง่ายกว่า เพราะรอบรวมทวีป จะต้องเจอทั้ง “แม่หมอ” แคเมอรูน ที่ร่างกายใหญ่-แข็งแกร่ง หรือ โปรตุเกส ที่มีทั้งรูปร่างและเทคนิคแพรวพราว

ซึ่งก็เห็นได้ในเกมที่พบกับแคเมอรูน เพราะสาวไทยแทบจะโงหัวไม่ขึ้น ครองบอลน้อย โอกาสลุ้นประตูก็หายากยิ่งกว่าทอง การจะเบียดแย่งบอลเอามาครองได้เป็นเรื่องยากเหลือเกิน สุดท้ายก็ต้านไม่อยู่ เสีย 2 ประตูรวดในช่วงห่างกันไม่ถึง 4 นาที จนสุดท้ายก็กลับมาไม่ได้

อย่างไรก็ตาม นั่นคือการสู้ด้วยความสามารถของนักฟุตบอลอย่างเต็มที่แล้ว ไม่สามารถไปโทษนักกีฬาที่ลงสนามไปได้เลย

เทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ แม้ตามแรงกิ้งไทยจะอยู่สูงกว่า แต่นักเตะของแคเมอรูนเล่นอยู่ในยุโรปหลายคน ในขณะที่ไทยมีเพียง “ใบหม่อน” จณิสตา จิทุนันยา คนเดียวเท่านั้นที่ได้ไปเล่นในลีกฝรั่งเศส ดังนั้น เรื่องความสามารถมันเทียบกันได้ยาก

นอกจากนี้ ปัญหาเรื้อรังของทีมฟุตบอลหญิง ที่เริ่มเป็นมาตั้งแต่จบฟุตบอลโลกเมื่อ 4 ปีก่อน คือเรื่องของการประสานงานต่อบอลจากแดนกลางเพื่อไปจบสกอร์ เพราะแม้แต่เล่นกับในระดับอาเซียน อย่าง เวียดนาม หรือ ฟิลิปปินส์ เรายังเจาะประตูได้น้อยเลย

ซึ่งปัญหานี้คงต้องไปว่ากันที่ตัวกุนซืออย่าง มิโยะ โอกาโมโตะ เฮดโค้ชชาวญี่ปุ่น ที่เข้ามารับงานตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เพื่อเป้าหมายการพาไปฟุตบอลโลกหญิงสมัยที่ 3 ติดต่อกัน แต่ดูแล้วทีมมีแต่สาละวันเตี้ยลงอยู่เรื่อยๆ

 

นับแค่ 3 ทัวร์นาเมนต์ใหญ่ที่เข้ามาคุมทีม เริ่มตั้งแต่ เอเชี่ยน คัพ ที่อินเดีย ซึ่งเป็นเส้นทางง่ายที่สุดในการไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย แต่ก็พลาดตั้งแต่เกมแรกที่พ่ายให้กับฟิลิปปินส์ ก่อนจะโดน โควิด-19 เล่นงานอย่างหนักจนไม่มีผู้เล่นลงสนาม และพลาดในเกมที่เหลือ

จากนั้นมาใน อาเซียน คัพ ก็พ่ายให้กับฟิลิปปินส์ในนัดชิงชนะเลิศอีกครั้ง ต่อมาจนถึง ซีเกมส์ แม้ว่าจะล้างแค้นฟิลิปปินส์ได้ แต่ก็ไปพลาดท่าพ่ายให้กับเวียดนามในนัดชิงชนะเลิศอีก ทำให้กลายเป็นตั้งแต่มิโยะเข้ามารับหน้าที่ยังไม่มีแชมป์เลยสักรายการ

ส่วนหนึ่งที่เห็นการทำงานของมิโยะ ที่พยายามจะแก้ไขปัญหาของทีมชาติไทย นั่นคือหลังจากหมดยุคทองของพวก กาญจนา สังข์เงิน, นภัทร สีเสริม หรือ สุนิสา สร้างไธสง (รายหลังยังติดทีมชาติอยู่แต่ก็หลุดเป็นสำรองแล้ว) ทีมชาติไทยยังหาเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทนได้ไม่รวดเร็วทันใจพอ

ซึ่งแนวทางของมิโยะในการแก้ไขคือการทำสไตล์ญี่ปุ่น คือสร้างเด็กด้วยการแบกอายุ เช่น รายการของชุดใหญ่ก็เลือกเอานักเตะยู-23 ไปแข่งขัน หรือรายการของเยาวชน ก็จะเอาเด็กที่รุ่นต่ำกว่าไปแข่ง เพื่อให้สร้างประสบการณ์และเสริมกระดูก

ว่ากันตามตรงนี่ก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ดี เพียงแต่ตอนนี้มันยังไม่ประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่ด้วยความที่ผลงานมันออกมาไม่ดี ฉะนั้น ก็น่าเป็นห่วงแทนมิโยะเช่นกัน ว่าจะได้นั่งทำงานต่อไปหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่มีปัญหามากที่สุดของฟุตบอลหญิง น่าจะเป็นเรื่องของการดูแลจากผู้ใหญ่ใน สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ มากกว่า

อันนี้นับเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนๆ นั่นคือสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ที่ควรเป็นหัวเรือใหญ่ในการดูแลฟุตบอลหญิง แต่กลับดูแลได้ไม่เท่ากับฟุตบอลชาย โอเคล่ะ ในเรื่องกระแสนิยมฟุตบอลหญิงมันไม่เท่าฟุตบอลชายก็จริง แต่ลืมกันไปหรือเปล่าว่านี่คือทีมที่มีผลงานที่ดีสุดทีมหนึ่งของสมาคม ดีกว่าฟุตบอลชายด้วยซ้ำไป

ด้วยระบบของฟุตบอลไทยต้องมีผู้จัดการทีมมาคอยดูแลในแต่ละทีม คอยซัพพอร์ตทั้งกำลังกาย และกำลังใจ ที่ผ่านมาฟุตบอลหญิงตั้งแต่ยุค “มาดามมล” นฤมล ศิริวัฒน์ ต่อมาจนถึง “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ทั้งสองคนให้การดูแลทีมอย่างดี

โดยเฉพาะมาดามแป้ง ที่เรียกได้ว่าดูแลอย่างกับเป็นลูก คอยสนับสนุนอยู่ตลอดไม่ใช่แค่ในสนามแต่นอกสนามก็ยังคอยช่วยเหลือด้วย และก็เป็นเธอที่คอยผลักดันจนสุดท้ายทีมเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ได้ถึง 2 สมัยติดต่อกัน

 

ตัดกลับมาที่ปัจจุบัน เรามี “มาดามเจี๊ยบ” ศิริมา พานิชชีวะ อุปนายกสมาคม เข้ามาเป็น ผอ.ทีมฟุตบอลหญิง แต่น้อยครั้งมากที่จะเห็นออกมาเทกแอ๊กชั่น ดูแล หรือแม้แต่เดินทางร่วมไปกับทีม ให้กำลังใจอยู่ข้างสนาม

นอกเหนือจากเรื่องตรงนี้ ก็ยังมีเรื่องการพัฒนาฟุตบอลหญิงขึ้นมาอย่างเป็นระบบ หนึ่งในนั้นคือการจัดลีกแข่งขัน ที่ปัจจุบันเองแม้จะมีแข่ง แต่ก็ยังดูไม่เป็นชิ้นเป็นอัน นักฟุตบอลไม่สามารถเตะบอลเป็นอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวได้เหมือนกับฟุตบอลชาย

มันก็น่าแปลกกับทีมที่ได้ไปฟุตบอลโลกถึง 2 สมัย มันน่าจะได้รับกระแสความนิยมพอที่จะทำให้มีนักกีฬามาเล่นในระบบฟุตบอลลีกมากพอ แต่ก็เพราะมันยังไม่มีความมั่นคง ทำให้คนเชื่อใจไม่ได้ว่าระบบลีกมันจะไปรอด

ซึ่งมันก็ย้อนกลับไปข้างบนว่าฟุตบอลหญิงไทย ยังไม่ได้รับการใส่ใจมากเท่ากับฟุตบอลชาย ถึงจะบอกว่ามันใส่ใจเท่ากันไม่ได้หรอก แต่อย่างน้อยมันก็ควรได้รับการใส่ใจมากกว่านี้

4 ปีหลังจากฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดที่ ฝรั่งเศส ผลงานของฟุตบอลหญิงมันตกลงไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งในระดับอาเซียนจากที่เคยเอาชนะได้ง่ายๆ คู่แข่งสำคัญมีแค่เวียดนาม ตอนนี้เริ่มมีหลายทีมเพิ่มขึ้นมาแล้ว ทั้งฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่เมียนมาเองก็ตาม

ก็ได้แต่หวังว่าการพลาดหวังไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งนี้ของทีมชบาแก้ว จะทำให้เป็นการตบหน้าผู้ใหญ่ในวงการฟุตบอลไทย ที่ไม่ใช่ทิ้งฟุตบอลหญิง ไม่ดูดาย แต่พอเด็กๆ ได้ความสำเร็จกลับมาค่อยเสนอหน้ามาเอาผลงานกัน

เพราะสักวันถ้าหากฟุตบอลหญิงไทยสู้ในระดับอาเซียนไม่ได้แล้วละก็

ใครไม่อาย ผมอายครับ! •

 

เขย่าสนาม | เด็กเก็บบอล

[email protected]