อนาคต ‘อินทรีเหล็ก’ จะไปต่อหรือพอแค่นี้?

Soccer Football - FIFA World Cup Qatar 2022 - Group E - Costa Rica v Germany - Al Bayt Stadium, Al Khor, Qatar - December 2, 2022 Germany players look dejected after the match as Germany are eliminated from the World Cup REUTERS/Annegret Hilse

การตกรอบแรกศึก ฟุตบอลโลก 2018 สำหรับทีม “อินทรีเหล็ก” เยอรมนี แชมป์เก่าของการแข่งขัน ถือเป็นฝันร้ายสำหรับชาวเยอรมันและแฟนบอลทีมเมืองเบียร์ทั่วโลก

ด้วยความที่ในอดีต ทีมอินทรีเหล็กขึ้นชื่อว่าเป็น “ทัวร์นาเมนต์ทีม” กล่าวคือ ไม่ว่าผลงานรอบคัดเลือก ช่วงอุ่นเครื่อง หรือผลงานรายบุคคลในระดับสโมสรของนักเตะในทีมจะเป็นอย่างไร เมื่อถึงเวลารวมตัวแข่งขันในทัวร์นาเมนต์สำคัญ พวกเขามักจะไปได้ไกลเสมอ

ก่อนหน้าฟุตบอลโลกที่รัสเซียเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เยอรมนีจัดเป็นทีมที่มีผลงานภาพรวมในฟุตบอลโลกดีที่สุด เพราะถึงจำนวนแชมป์จะไม่เท่ากับบราซิล แชมป์โลกสูงสุด 5 สมัย แต่เมื่อเฉลี่ยภาพรวมแต่ละครั้งแล้วถือว่าทำได้ดีกว่าใคร

ด้วยดีกรีแชมป์โลก 4 สมัย, รองแชมป์ 4 สมัย, อันดับสาม 4 สมัย, อันดับสี่ 1 สมัย และเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศอีก 2 ครั้ง

อีกทั้งตั้งแต่ฟุตบอลโลกเริ่มใช้ระบบการเล่นรอบแบ่งกลุ่มตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา ทีมชาติเยอรมนียังไม่เคยตกรอบแรกมาก่อนเลย

 

เวิลด์คัพ 2018 เยอรมนีจบในอันดับบ๊วยของกลุ่ม มีสถิติชนะ 1 แพ้ 2 พอมาฟุตบอลโลกหนนี้ ฝันร้ายแบบเดิมมาทวนซ้ำด้วยรูปแบบที่ต่างจากเดิมเล็กน้อย

อินทรีเหล็กซึ่งเป็นตัวเต็งอันดับต้นๆ ของทัวร์นาเมนต์ด้วยผลงานการเตะรอบแบ่งกลุ่มมี 27 คะแนน จาก 10 นัด

แต่พอถึงการแข่งขันจริง ทีมเมืองเบียร์เปิดฉากนัดแรกด้วยการพ่ายญี่ปุ่น 1-2 ทั้งที่ขึ้นนำก่อน มานัดสองต้องไล่ตีเสมอสเปนหืดจับ 1-1 เพื่อต่ออายุไปลุ้นในนัดสุดท้าย บนเงื่อนไขต้องชนะสถานเดียวพร้อมเงื่อนไขปลีกย่อยอื่นๆ

ทุกอย่างเกือบจะไปได้ดี เมื่ออินทรีเหล็กเอาชนะคอสตาริกา 4-2 ได้ แต่อีกสนามญี่ปุ่นพลิกโค่นสเปน 2-1 เขี่ยอดีตแชมป์โลก 4 สมัยตกรอบแรกเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน

อีกทั้งการเริ่มต้น 2 นัดแรกของทัวร์นาเมนต์โดยเก็บชัยชนะไม่ได้ ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทีมอีกด้วย

อันที่จริงฟอร์มโดยรวมแต่ละนัดของเยอรมนีไม่ถึงกับแย่ แต่ยังไม่สุด โดยเฉพาะปัญหาความเฉียบคมในจังหวะสุดท้าย ไม่เช่นนั้นคงไม่พลิกพ่ายญี่ปุ่นในนัดแรก

มาถึงตรงนี้ เกิดคำถามในหมู่แฟนๆ และสื่อว่าอนาคตของฮานซี่ ฟลิก บุนเดสเทรนเนอร์คนปัจจุบันจะเป็นอย่างไร จะมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นหรือไม่?

 

ปัญหาหลักๆ ตอนนี้ของเยอรมนีคือการเปลี่ยนโอกาสให้เป็นสกอร์ รวมถึงการยื้อความได้เปรียบจนจบเกม ดังจะเห็นว่าหลายครั้งที่ขึ้นนำก่อน กลับโดนยิงตีเสมอหรือแซงนำได้ในเวลาห่างกันไม่มากนัก หลายครั้งเป็นความผิดพลาดอย่างที่ไม่ควรจะเกิด

โดยธรรมชาติของการบริหารงานสไตล์ฟุตบอลเยอรมนี มักเน้นการทำงานในระยะยาว ให้โค้ชมีเวลาสร้างทีมในแบบของตัวเองอย่างเต็มที่ เหมือนตอนที่อินทรีเหล็กพลิกตกรอบแรกฟุตบอลโลกหนก่อน สหพันธ์ฟุตบอลเยอรมนี (เดเอฟเบ) ก็ยังให้ โยอาคิม เลิฟ ทำงานของตัวเองต่อไปจนถึง ยูโร 2020 ที่ทีมตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย จึงอำลาตำแหน่งพร้อมกับการหมดสัญญา

ฟลิกเพิ่งเข้ามาทำงานได้ปีเศษ ยังเร็วเกินไปที่จะให้เขาพ้นจากตำแหน่งในตอนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเดเอฟเบยังมองไม่เห็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่า

ฟลิกเองก็ชี้ว่าปัญหาของอินทรีเหล็กเวลานี้ไม่ใช่แค่ทีมชุดปัจจุบัน แต่ยังเป็นแผนการสร้างนักเตะตั้งแต่ระดับเยาวชนซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2018

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ฟุตบอลโลกหนนี้ นักเตะบางคน เช่น อิลคาย กุนโดกัน ยอมรับว่า เยอรมนีเล่นกันไม่เป็นทีมนัก ทั้งที่นั่นคือจุดแข็งของอินทรีเหล็กมาตลอด

เหตุผลประการหนึ่งอาจเป็นเพราะบอลโลกหนนี้จัดในช่วงฤดูหนาว เป็นช่วงพักเบรกครึ่งฤดูกาล นักเตะที่กระจัดกระจายค้าแข้งตามลีกต่างๆ มีเวลารวมตัวกันเพียง 1-2 สัปดาห์ ทำให้จูนกันไม่ติด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้อาจใช้ไม่ได้กับทีมใหญ่อีกหลายทีมที่เข้ารอบลึก

 

ภายหลังการถกเถียงเป็นการภายใน จึงนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของบุคลากรระดับบริหารหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โอลิเวอร์ เบียร์โฮฟฟ์ อดีตแข้งทีมชาติซึ่งนั่งเก้าอี้ผู้จัดการทั่วไปมายาวนานที่พ้นจากตำแหน่ง

ถือเป็นการนับหนึ่งความเปลี่ยนแปลงโดยมีเป้าหมายสำคัญยิ่งรออยู่ นั่นคือศึก ยูโร 2024 ที่เยอรมนีจะเป็นเจ้าภาพในอีก 2 ปีข้างหน้า

เป็นทัวร์นาเมนต์ที่ฟลิก เดเอฟเบ และแข้งอินทรีเหล็กหลายคนหวังแก้มือให้ได้

หลังจากต้องเจอฝันร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีกตามหลอกหลอน! •

 

Technical Time-Out | SearchSri