เรื่องเงินๆ ทองๆ ในฟุตบอลโลก 2022

เรื่องเงินๆ ทองๆ ในฟุตบอลโลก 2022

 

ฟุตบอลโลก 2022 ที่กำลังจะฟาดแข้งกันระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน-18 ธันวาคม นอกจากการได้ไปลุยทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และการลุ้นเพื่อการเป็นแชมป์โลกแล้ว ยังมีเงินรางวัลสำหรับทุกทีมที่ร่วมแข่งขันด้วย

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ประกาศไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ทีมที่คว้าแชมป์โลกในครั้งนี้จะได้รับเงิน 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,595.58 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 4 ปีที่แล้วที่รัสเซีย 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (151.96 ล้านบาท)

พัฒนาการของเงินรางวัลในฟุตบอลโลกถือว่าก้าวกระโดดมาตลอด ถ้าย้อนกลับไปก่อนปี 2006 แชมป์จะได้รับเงินรางวัลไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (379.90 ล้านบาท) ยิ่งเมื่อปี 1982 ที่อิตาลีคว้าแชมป์ ตอนนั้นทัพอัซซูรี่ได้เงินรางวัลที่ 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (83.58 ล้านบาท) เท่านั้น

ในระยะเวลา 40 ปี ฟีฟ่าเพิ่มเงินรางวัลให้แชมป์ถึงเกือบ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,519.60 ล้านบาท) เลยทีเดียว

มาว่ากันถึงเงินที่ทีมจะได้รับในเวิลด์คัพ 2022 กันบ้าง ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายทั้ง 32 ทีม จะได้รับไปก่อน 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (56.98 ล้านบาท) และจะได้อีก 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (341.91 ล้านบาท) เมื่อลงเตะรอบแบ่งกลุ่ม ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ก็จะได้รับเท่าๆ กัน

ทีมที่ผ่านเข้ารอบ 16 ทีม และตกรอบนี้จะได้รับเงินรางวัล 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (493.87 ล้านบาท) ถ้าจอดป้ายที่รอบก่อนรองชนะเลิศ จะได้รับ 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (645.83 ล้านบาท) หลังจากนี้ก็จะเป็นรอบรองชนะเลิศไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ และชิงอันดับ 3

ทีมอันดับ 4 จะได้รับ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (949.75 ล้านบาท) อันดับ 3 จะได้รับ 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,025.73 ล้านบาท) รองแชมป์จะได้รับ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,139.70 ล้านบาท) แชมป์โลกรับไป 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,595.58 ล้านบาท) สรุปยอดรวมเงินรางวัลในฟุตบอลโลก 2022 อยู่ที่ 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (16,715.60 ล้านบาท)

สโมสรที่นักเตะมีสัญญาอยู่ จะได้รับเงินชดเชยทั้งในการปล่อยนักเตะมาร่วมทีม และในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บ ในฟุตบอลโลก 2018 ฟีฟ่าต้องใช้งบฯ ในส่วนนี้ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,659.30 ล้านบาท) ส่วนครั้งจะสรุปได้ก็ต่อเมื่อจบการแข่งขันไปแล้ว แต่ก็คาดว่าจะไม่เกินไปจากยอดนี้มากนัก

สำหรับส่วนแบ่งเงินรางวัลจากการแข่งขัน ฟีฟ่าไม่ได้มีข้อกำหนด และให้เป็นเรื่องภายในของทีมชาตินั้นๆ เพราะนักเตะแต่ละคนได้ค่าเหนื่อยจากสโมสรที่แตกต่าง ความจำเป็นของแต่ละชาติก็ไม่เหมือนกัน จึงให้ตัดสินใจกันเองเพื่อความเหมาะสม

นัสเซอร์ อัล คาเทอร์

ส่วนเงินรายได้ของฟีฟ่าจากการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ค่าบัตรเข้าชม และด้านต่างๆ นั้น คาดว่าจะอยู่ที่ 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (182,352 ล้านบาท) เมื่อหักลบกับรายจ่ายและเงินรางวัลแล้วที่ 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (102,573) ประเมินกันว่าฟีฟ่าจะมีกำไรจากการจัดบอลโลกครั้งนี้ถึง 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (79,779 ล้านบาท)

ในส่วนของเจ้าภาพ คาดกันว่าจะมีรายได้และเงินหมุนเวียนตลอดการแข่งขันมากกว่าเงินลงทุนถึง 2 เท่า

นัสเซอร์ อัล คาเทอร์ ซีอีโอของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าวว่า เงินลงทุนของกาตาร์รวมทั้งหมดอยู่ที่ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (303,920 ล้านบาท) ซึ่งก็ใกล้เคียงกับที่รัสเซียใช้ในการจัดฟุตบอลโลก 2018 และคาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (645,830 ล้านบาท) เพราะจะมีนักท่องเที่ยวแฟนบอลมาเยือนกาตาร์จำนวนมากในช่วงแข่งขัน คาดว่าจะมาถึง 1 ล้านคน รวมถึงสื่อมวลชนอีก 12,000 คน และจะมีแฟนบอลที่ติดตามการถ่ายทอดสดอยู่ที่ 3,000-4,000 ล้านคน

ต้องบอกว่าฟุตบอลโลกเป็นทัวร์นาเมนต์ที่แพงมาก และคุ้มค่าต่อการลงทุน จึงเป็นเหตุผลที่ดีว่า ทำไมถึงมีการแย่งชิงสิทธิการเป็นเจ้าภาพกันมากมายอย่างที่เห็น •

 

Technical Time-Out | จริงตนาการ

[email protected]