เมอร์คิวรี่ : เรื่องเล่าจาก “นักกีฬาของพระราชา” ความปลาบปลื้มที่สถิตนิจนิรันดร์

คอลัมน์เขย่าสนาม

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ทรงพระอัจฉริยภาพด้านกีฬาในหลากหลายประเภท ตั้งแต่แรกเริ่มทรงพระเยาว์ เมื่อครั้งประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างปี พ.ศ.2477-2478 ซึ่งพระองค์ทรงฉลองพระองค์ชุดสกี พร้อมอุปกรณ์การเล่นสกี ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น ขณะมีพระชนมพรรษาเพียง 8 พรรษาเท่านั้น

ในช่วงตลอดเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพัฒนาประเทศในหลายด้าน และทำนุบำรุงสุขประชาชนของพระองค์ท่านอย่างมิหยุดหย่อน แต่ก็ทรงมิละเลยว่างเว้นจากกิจกรรมด้านกีฬา ซึ่งทรงถือว่าเป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์ และนับเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยพัฒนาให้คนเรามีความแข็งแกร่ง ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

พระจริยวัตรด้านกีฬาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้รับการถ่ายทอดผ่านพระราชประวัติตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันอย่างมากมาย ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ที่ทรงเล่นกีฬาฤดูหนาวครั้งประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งการทรงสกี สเก๊ตน้ำแข็ง เลื่อนหิมะ รวมทั้งเสด็จทอดพระเนตรฮอกกี้น้ำแข็ง

เมื่อทรงพระเจริญพระชนมายุได้ทรงกีฬาอีกหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นว่ายน้ำ, เรือกรรเชียง, เรือใบ, แบดมินตัน, ยิงปืน, กอล์ฟเล็ก หรือเครื่องร่อน และที่ทรงโปรดเป็นพิเศษคือ แบดมินตัน และเรือใบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาเรือใบที่พระองค์ทรงมิใช่เพียงมีพระอัจฉริยภาพในการทรงเรือใบเท่านั้น แต่ยังทรงมีพระปรีชาสามารถในเชิงวิศวกรรมศาสตร์

ดังที่ได้ทรงออกแบบเรือใบประเภทมด ซูเปอร์มด และไมโครมด ซึ่งได้จดสิทธิบัตรที่ประเทศอังฤษ และเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2510 พระองค์ทรงเรือใบประเภทโอเคในฐานะนักกีฬาตัวแทนประเทศไทย ชนะเลิศการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4

ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักกีฬาอย่างแท้จริง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานอกจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระจริยวัตรทางด้านกีฬาแล้ว พระองค์ท่านยังเสด็จทอดพระเนตร และติดตามการแข่งขันของนักกีฬาทีมชาติไทยในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติต่างๆ มาโดยตลอด ซึ่งนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น และพลังแรงใจอันยิ่งใหญ่สำหรับนักกีฬาทีมชาติไทยที่ทุกคนต่างรวมพลังกันเพื่อสร้างผลงานความสำเร็จให้กับประเทศชาติ และเพื่อพระองค์ท่าน

ดังเช่นในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 1996 ที่เมืองแอตแลนต้า สหรัฐอเมริกา “สมรักษ์ คำสิงห์” นักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่ได้รับเหรียญทองกีฬาโอลิมปิกเกมส์ได้สำเร็จ และสมรักษ์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

สมรักษ์เล่าว่า เวลาก่อนขึ้นชกจะก้มกราบเวที และบอกว่า ด้วยพระบารมีปกเกล้าในหลวงขอชนะทุกครั้งตั้งแต่เด็กแล้ว และในโอลิมปิกเกมส์ปีนั้นถือเป็นปีฉลอง 50 ปีในการขึ้นครองราชย์ด้วย จึงตั้งใจคว้าเหรียญทองเป็นตัวแทนของคนไทยถวายในหลวงให้ได้

พอชนะเสร็จก็ไปจับพระบรมฉายาลักษณ์มาชูมือด้วย เพราะว่าตรงนี้ก็กลายเป็นที่มาของนักกีฬาไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล นักวอลเลย์บอล และอื่นๆ โดยนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่าน

“ตอนมีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านทรงแย้มพระสรวล แจ่มใส อบอุ่น เหมือนกับพ่อคุยกับลูก พระองค์ประทับนั่งพระเก้าอี้ ผมก็นั่งพับเพียบอยู่ข้างล่าง พระองค์ตรัสบอกว่า วันนั้นเราดูที่วังไกลกังวล ดูสมรักษ์ชก เห็นสมรักษ์ถือรูปเราขึ้นไปบนเวที เรานึกว่าเราชกเอง แล้วก็ลุ้นสมรักษ์ ตื่นเต้น พอสมรักษ์ชนะ เราก็เผลอตัวกระโดดโลดเต้นดีใจ จนข้าราชการผู้ใหญ่หัวเราะเรา เราก็เลยรู้สึกอาย เราก็เลยค่อยๆ นั่งลง”

สมรักษ์กล่าว

 

ขณะที่ “อุดมพร พลศักดิ์” นักยกน้ำหนักหญิงคนแรกของไทยที่ได้รับเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ซึ่งในวินาทีที่คว้าเหรียญมาได้ อุดมพรมุ่งมั่นตั้งใจที่จะถวายเหรียญแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งอยู่ในช่วงวันแม่แห่งชาติ

ก่อนที่จะเดินทางกลับมาสู่แผ่นดิน อุดมพรได้รับพระราชทานพวงมาลัยมาคล้องคอ ทำให้รู้สึกปลาบปลื้มใจมาก และถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของชีวิตของอุดมพรที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชวังไกลกังวล

ซึ่งวินาทีนั้นอุดมพรได้นั่งต่อหน้าพระพักตร์ และพระองค์ท่านทรงสอนให้รู้จักพอเพียง มัธยัสถ์ เก็บออม รักษาความดี รักษาสิ่งที่เราได้มา ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของเรา และประเทศชาติ

“พระองค์ทรงตรัสว่า ได้ทอดพระเนตรกับคุณทองแดง วินาทีที่คว้าเหรียญได้ พระองค์ท่านทรงพระโสมนัส และคุณทองแดงด้วย ทำให้รู้สึกปลาบปลื้มใจมากว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตเด็กผู้หญิงคนหนึ่งได้มีโอกาสทำเพื่อประเทศ และได้เข้าเฝ้าฯ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งเปรียบเสมือนกับศูนย์รวมจิตใจคนไทยทั้งชาติ โดยจะดำเนินตามรอยพระองค์ที่สอนให้คิดดี ทำดี พูดดี ทำเพื่อสังคม เพื่อแผ่นดิน ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน ถ้าเรามีความพอเพียง พอใจ พอดี เราก็จะมีความสุขในชีวิตประจำวันโดยที่ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องไขว่คว้าอะไรมากมาย”

อุดมพรกล่าว

สําหรับกีฬาฟุตบอลนั้น ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัยติดตามทอดพระเนตรการแข่งขันของทีมฟุตบอลทีมชาติไทยมาตลอด พร้อมกับส่งพระราชหฤทัยไปยังทีมฟุตบอลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทีมชาติไทยในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2014” นัดชิงชนะเลิศ นัดที่ 2 บุกเยือนทีมชาติมาเลเซีย

ซึ่งระหว่างจบครึ่งแรก ทีมไทยตามหลังอยู่ 0-3 แต่ระหว่างนั้น “เกษม จริยวัฒน์วงศ์” ผู้จัดการทีมชาติไทย ได้รับข้อความจากราชเลขานุการในพระองค์ ซึ่งส่งข้อความมาว่า

“ขอให้กำลังใจกับผู้เล่นทุกคน ขออวยพรให้มีชัยชนะ อย่าย่อท้อแม้ว่าจะตามอยู่ 0-3 ซึ่งในหลวงได้ทอดพระเนตรเกมนี้อยู่”

แทบไม่น่าเชื่อว่าในช่วงเวลาการแข่งขันครึ่งหลัง ทีมชาติไทยยิงคืนมาได้ 2 ประตู จบเกมแม้จะแพ้ 2-3 แต่รวมผล 2 นัด ทีมชาติไทยชนะ 4-3 ทำให้คว้าแชมป์อาเซียนมาครองได้สำเร็จในรอบกว่า 12 ปีได้อย่างยิ่งใหญ่

พร้อมกับสร้างความปลาบปลื้มให้กับนักฟุตบอลทีมชาติไทยทุกคน รวมทั้ง “เกษม จริยวัฒน์วงศ์” ผู้จัดการทีมชาติไทย และ “เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง” หัวหน้าผู้ฝึกสอนด้วย

เรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพระจริยวัตรทางด้านกีฬาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงมีพระอัจฉริยภาพ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักกีฬาอย่างแท้จริง และบรรดาเหล่านักกีฬาทีมชาติไทยทุกคนต่างปลาบปลื้มซาบซึ้งสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น พร้อมจะน้อมนำคำสอนของพระองค์ท่านไปใช้ดำเนินชีวิตประจำวันให้สมกับการเป็นนักกีฬาของพระราชาอีกด้วย

พระมหากษัตริย์นักกีฬาพระองค์นี้จะสถิตอยู่ในดวงใจเหล่านักกีฬาไทยของพระองค์ท่านทุกคนไปตราบนิจนิรันดร์…