สงครามรัสเซีย-ยูเครน สะเทือนถึงเชลซี / Technical Timeout : SearchSri

ประเด็นร้อนแรงที่สุดของวงการลูกหนังโลกเวลานี้คงไม่พ้นคำสั่งคว่ำบาตรและอายัดทรัพย์ โรมัน อับราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย เจ้าของทีม เชลซี ของรัฐบาลอังกฤษอีกแล้ว

อับราโมวิช หรือ “เสี่ยหมี” ที่แฟนสิงห์บลูส์บ้านเราเรียกกันจนคุ้นปาก เป็น 1 ใน 7 นักธุรกิจแดนหมีขาวที่รัฐบาลเมืองผู้ดีแซงก์ชั่น โดยให้เหตุผลว่า นักธุรกิจเหล่านี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียซึ่งส่งกำลังทหารรุกรานยูเครนมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์แล้ว

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวว่า การแซงก์ชั่นนักธุรกิจเหล่านี้เป็นหนึ่งในมาตรการต่อต้านรัสเซีย และสนับสนุนประชาชนชาวยูเครน ด้วยการลงโทษใครก็ตามที่มีส่วนให้เกิดการเข่นฆ่าประชาชน การทำลายโรงพยาบาล และการรุกรานอธิปไตยของชาติพันธมิตร

กรณีของอับราโมวิชนั้น รัฐบาลอังกฤษกล่าวหาว่าเขามีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปูติน และเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันมาตลอด

ซึ่งการแซงก์ชั่นที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องจากมาถึงจุดที่เกินขีดจำกัดที่รัฐบาลจะยอมรับได้แล้ว

การอายัดทรัพย์ของโรมันส่งผลโดยตรงกับสโมสรเชลซีที่เขาเป็นเจ้าของ แม้ว่าเจ้าตัวจะประกาศมาก่อนหน้านี้ว่าตัดสินใจจะขายสโมสร และนำรายได้จากการขายไปตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือเหยื่อสงครามในยูเครน แต่เนื่องจากยังไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้น จึงโดนรัฐบาลผู้ดีเข้าควบคุมกิจการ พร้อมตั้งข้อจำกัดมากมาย เพื่อป้องกันไม่ให้ก่อเกิดรายได้ที่จะเป็นประโยชน์กับอับราโมวิช

รัฐบาลอังกฤษสัญญาว่า การเข้าควบคุมกิจการครั้งนี้จะส่งผลกับสโมสรน้อยที่สุด ผ่านใบอนุญาตพิเศษซึ่งยังคงมีข้อจำกัดไม่น้อยอยู่ดี

สโมสรยังคงทำการแข่งขันได้ แฟนบอลที่ถือตั๋วปี และซื้อตั๋วชมเกมที่สแตมฟอร์ดบริดจ์ล่วงหน้าก่อนวันที่ 10 มีนาคม ยังคงเข้าชมได้ตามปกติ

แต่สโมสรไม่สามารถขายตั๋วใหม่ได้อีก และไม่สามารถขายสินค้าได้

ในส่วนของการบริหารจัดการภายในสโมสร เชลซียังคงจ่ายค่าเหนื่อยให้นักเตะกับสตาฟฟ์โค้ช และจ่ายเงินเดือนให้เจ้าหน้าที่ได้ตามปกติจนจบฤดูกาล แต่ห้ามเจรจาต่อสัญญาใหม่กับนักเตะปัจจุบัน รวมถึงห้ามซื้อขายนักเตะในตลาดซื้อขาย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแข่งขันเกมเยือนที่รัฐบาลกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 20,000 ปอนด์ (880,000 บาท) ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากมาก โดยเฉพาะในเกมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ทำให้สโมสรต้องเจรจาต่อรองกับรัฐบาลในประเด็นนี้

 

ผลจากการโดนแซงก์ชั่นทำให้สปอนเซอร์ 2 รายขอระงับการทำธุรกิจกับเชลซีชั่วคราว คือ ทรี ค่ายมือถืออังกฤษ สปอนเซอร์อกเสื้อ กับ ฮุนได บริษัทรถยนต์เกาหลีใต้ สปอนเซอร์แขนเสื้อ ที่ต่างเรียกร้องให้เชลซีถอดโลโก้ของพวกเขาออกโดยเร็วที่สุด

ขณะที่ ไนกี้ ผู้สนับสนุนชุดแข่งและอุปกรณ์ รวมถึง ทริวาโก้ สปอนเซอร์ชุดซ้อม ยืนยันยืนเคียงข้างทีมต่อไป

บทลงโทษที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน แน่นอนว่าย่อมทำให้แฟนบอลตั้งตัวไม่ทัน เกิดเสียงวิจารณ์มากมาย บ้างก็เห็นด้วย บ้างก็ว่าเป็นการนำการเมืองมาเกี่ยวเนื่องกับกีฬา และทำให้สโมสรต้องโดนลูกหลงไปด้วย

เรื่องนี้ต้องมองแยกส่วนกัน ประเด็นแรก เนื่องจากเชลซีเป็นกรรมสิทธิ์ถูกต้องของอับราโมวิช จึงถือเป็นทรัพย์สินของเขาเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงการถูกควบคุมกิจการได้

อีกประเด็นที่น่าสนใจกว่าคือการลงโทษครั้งนี้มีน้ำหนักเพียงพอแล้วหรือยัง?

 

รัฐบาลเมืองผู้ดีกล่าวหาว่าอับราโมวิชมีความสนิทสนมกับปูตินมาตลอด ซึ่ง “เสี่ยหมี” ก็ปฏิเสธมาโดยตลอดเช่นกัน

อังกฤษอ้างว่ามีข้อมูลเรื่องการทุจริตในการทำธุรกิจระหว่างอับราโมวิชกับรัฐบาลรัสเซีย โดยมีหลักฐานเป็นคำให้การของเขาในคดีความกับเพื่อนนักธุรกิจเมื่อปี 2012 โดยอับราโมวิชยอมรับในการไต่สวนที่ศาลของอังกฤษว่า ซื้อบริษัทน้ำมัน ซิบเนฟต์ จากรัฐบาลรัสเซียผ่านการฮั้วประมูลเมื่อปี 1995 ในราคา 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนขายกลับให้รัฐบาลในราคา 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2005

หลักฐานนี้ถือว่ามัดตัวเขาเรื่องคอร์รัปชั่นจริง แต่ก็ยังไม่น่าจะสอดคล้องกับข้อกล่าวหาที่ว่าเขาสนิทกับปูติน หรือมีส่วนสนับสนุนสงครามในยูเครนอยู่ดี

เหตุผลสนับสนุนข้อกล่าวหาตอนนี้จึงเป็นเพียงการสันนิษฐานว่าเงินอุดหนุนภาครัฐ “อาจ” ถูกนำไปใช้ในการก่อสงคราม ส่วนเหล็กกล้าที่บริษัทของเขาผลิตขายให้รัฐบาลก็ “อาจ” ถูกนำไปทำอาวุธสงครามต่างๆ

แน่นอนว่าการกระทำใดๆ เพื่อนำไปสู่สันติภาพและการยุติสงครามที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ย่อมไม่มีใครคัดค้าน เพียงแต่ก็ต้องดูความสมเหตุสมผลควบคู่ไปด้วย ไม่เช่นนั้นอาจเกิดกระแสตีกลับ และเป็นบรรทัดฐานสำหรับกรณีคล้ายๆ กันในอนาคต

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็กำหนดคุณสมบัติของเจ้าของทีมให้ชัดเจน หลีกเลี่ยงคนทำธุรกิจสีเทาหรือประวัติไม่ดีตั้งแต่แรก

เป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม ไม่ปล่อยให้ปัญหาบานปลายจนเป็นอย่างนี้ •