ผ่า! วาระเขย่าวงการมวยไทย ห้ามเด็กต่ำกว่า 12 ปีขึ้นต่อย!

กลายเป็นเรื่องลุกลามบานปลาย และยังไม่รู้ว่าจุดจบของประเด็นร้อนนี้จะไปจบตรงจุดไหน…

สำหรับปัญหาเรื่องที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดย “พล.อ.อดุลยเดช อินทะพงษ์” ผลักดันให้มีการพิจารณาทบทวน เสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 ฉบับใหม่

สาระสำคัญคือ ห้ามไม่ให้ผู้จัดรายการแข่งขันกีฬามวยและนายสนามมวยอนุญาตให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีเข้าร่วมแข่งขัน เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน แต่สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีนั้น จะไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้…!!!

ประเด็นร้อนดังกล่าวสร้างความไม่พอใจและไม่เห็นด้วยให้กับคนวงการมวยไทยอย่างมาก ถึงขั้นลุกฮือกันออกมาต่อต้านการแก้ไขพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 ฉบับใหม่

โดยเฉพาะที่ระบุว่า ห้ามนักมวยไทยที่มีอายุไม่ถึง 12 ปีขึ้นทำการแข่งขันอย่างเด็ดขาด

นั่นเพราะคนวงการมวยไทย ไม่ว่าจะเป็นค่ายมวย นักมวยไทยปัจจุบัน อดีตนักมวยไทย โปรโมเตอร์ผู้จัดการแข่งขัน เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ต่างมองในทำนองเดียวกันว่าหากปล่อยให้กฎหมายฉบับนี้เดินหน้าผลักดันจนประกาศใช้อย่างเป็นทางการขึ้นมาเมื่อใดจะเป็นการทำลายวงการมวยไทยที่ครูมวยต่างสั่งสมกันมายาวนานนั่นเอง

จุดเริ่มของการผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายห้ามเด็กอายุไม่ถึง 12 ปีขึ้นต่อยมวยนั้น เกิดจากผลงานวิจัยของกลุ่มแพทย์ “โรงพยาบาลรามาธิบดี” ซึ่งก็มีการวิเคราะห์กันมาเป็น 10 ปีแล้วว่า เด็กจะได้รับความกระทบกระเทือนทางสมองจากการชกมวยสั่งสมในระยะยาวอันจะส่งผลต่อเนื่องในเรื่องของการพัฒนาเชิงโครงสร้างประชากรของประเทศโดยองค์รวม ทำให้ประเทศพัฒนาไปอย่างช้าๆ

หากจะมองไปที่ผลงานวิจัยของกลุ่มแพทย์ก็ไม่ผิด อาจจะเป็นจริงอย่างผลงานวิจัยที่ออกมาก็เป็นไป ได้เพราะอย่าลืมว่า เด็กที่มีอายุไม่ถึง 12 ปี กลุ่มเด็กพวกนี้จะมีพัฒนาการทางสมองที่รวดเร็วเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ การได้รับการกระทบกระเทือนจากหมัด เท้า เข่า ศอก ที่บริเวณใบหน้าหรือศีรษะ อาจทำให้สมองเบลอ สมองพัฒนาได้ไม่เต็มที่เพราะมีอาการบอบช้ำ หรืออาการบาดเจ็บ

ซึ่งเราก็ต้องให้ความเคารพในความห่วงใยของแพทย์ในเรื่องนี้…

แต่อีกด้านหนึ่งเราต้องมานั่งทำความเข้าใจวิถีการเติบโตของ” “มวยไทย” ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันให้ถ่องแท้เสียก่อน เราต้องรู้ว่าวิถีของมวยไทยที่ฝังรากลึกในวงการนั้น จะมีการปั้นนักมวยไทยตั้งแต่เด็กๆ 5-6 ขวบ จับมาวิ่ง

พ่อแม่ที่สนับสนุนให้ลูกมาฝึกฝนมวยไทยส่วนใหญ่จะยากจน บางคนเอาลูกมาฝากฝังอยู่กับค่ายมวยตั้งแต่เด็ก นักมวยเหล่านี้ฝึกซ้อมพื้นฐานมวยไทยตั้งแต่เด็กๆ พอเริ่มมีกระดูกมวยในระดับเดินสายตามงานในต่างจังหวัดได้ ก็จะไปร่วมขึ้นเวที เสริมสร้างกระดูกมวย ได้เงินค่าตัวในการชก 200 บาท, 500 บาท, 700 บาท, 1 พันบาท, 2 พันบาท ฯลฯ

ไต่เต้าไปเรื่อยตามความเจนจัดของเชิงมวยไทยและอายุที่เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

เด็กๆ เหล่านั้นก็จะนำเงินที่ได้ส่งให้พ่อแม่ เก็บไว้เรียนหนังสือ ไถ่ถอนที่นาออกจากธนาคาร หรือนายหน้าที่เก็บโฉนดที่ดินเมื่อพ่อแม่ของพวกเขาเอาที่นาไปจำนองไว้ บางคนรักดี เก็บเงินสร้างบ้าน ซื้อรถให้พ่อให้แม่

นั่นก็เป็นเพราะการบ่มเพาะทักษะมวยไทยมาตั้งแต่เด็กๆ

ลองไปย้อนประวัติดูว่า นักมวยที่มีชื่อเสียงอย่าง “สามารถ พยัคฆ์อรุณ, สมรักษ์ ส.คำสิงห์, เขาทราย แกแล็กซี่” ฯลฯ ร้อยทั้งร้อยเชื่อขนมกินได้เลยว่าต่อยมวยไทยมาตั้งแต่ 5-7 ขวบแทบทั้งสิ้น นั่นคือ วิถีการพัฒนามวยไทยของประเทศไทย ของวงการมวยไทย ที่มีมาอย่างยาวนาน

แต่บางเรื่องราวของการต่อต้านของคนวงการมวยไทยก็ดูจะไม่ค่อยเข้าท่าเข้าทางเช่นกัน อาทิ การออกมาประกาศว่า ถ้า สนช.เดินหน้าประกาศใช้กฎหมายห้ามเด็กอายุไม่ถึง 12 ปีต่อยมวยเมื่อไหร่ จะรวมตัวนักมวยไทยออกมาเดินตามท้องถนนเพื่อประท้วง สนช.

บางครั้งก็ปล่อยให้อารมณ์เข้าครอบงำจนขาดสติสัมปชัญญะ ทำอะไร คิดอะไรกันแบบเกินงาม เกินความพอดี…!!!

ขณะที่ทั้งฝ่ายที่ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย กับฝ่ายที่คัดค้าน ถกเถียงกันในสังคมอย่างหนักเพราะอยู่ในช่วงการเข้าโค้งสุดท้ายเพื่อพิจารณาของ สนช. ว่าจะแก้ไขและประกาศบังคับใช้กฎหมายอยู่นั้น จู่ๆ เหตุการณ์ไม่คาดฝัน เหตุการณ์สลดที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกกับวงการมวยไทย

“น้องเล็ก” “เพชรมงคล ป.พีณภัทร” นักมวยเด็กวัย 13 ปี เสียชีวิตคาสังเวียน ด้วยอาการเลือดคั่งในสมอง หลังพ่ายน็อก “ฟ้าใหม่ ว.สุดประเสริฐ” ยก 3 ในการชกที่เวทีมวยชั่วคราว โรงเรียนวัดคลองมอญ ต.บ้านคลองสวน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ โดยการแข่งขันชกมวยรายการดังกล่าวได้ขออนุญาตทำการแข่งขันได้อย่างถูกต้อง และเป็นการแข่งขันชกมวยการกุศลโครงการต้านภัยยาเสพติดครั้งที่ 1 ในคืนวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

พอเกิดเหตุการณ์กรณีศึกษาของ” “น้องเล็ก” ขึ้นมาให้สังคมได้เห็นยิ่งเป็นการสาดน้ำมันลงไปในกองเพลิง กระแสการเห็นด้วยให้มีการบังคับใช้กฎหมายห้ามเด็กอายุไม่ถึง 12 ปีต่อยมวยแรงขึ้นเป็นทวีคูณ หรือจะเรียกว่า” “วัวหายแล้วล้อมคอก” ก็คงไม่ผิดนัก

แต่อย่าลืมว่า เขามีการผลักดันและถกเถียง คัดค้านกันมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วต่างหาก

กรณีของ” “น้องเล็ก” ทุกฝ่ายย่อมเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ต้องมองย้อนลงไปให้ลึกกว่านั้นว่า ทำไมล่ะนักมวยคนหนึ่งถึงเสียชีวิตคาสังเวียนได้ มันมีความบกพร่องจุดไหนกันบ้าง

“น้องเล็ก” ขึ้นเวทีมวยภูธร ซึ่งแน่นอนว่า มาตรฐานในทุกๆ เรื่องมันด้อยกว่าเวทีมาตรฐานอย่างราชดำเนิน หรือลุมพินีอยู่แล้ว

พ่อแม่ของน้องปล่อยให้ลูกขึ้นชกทุกสัปดาห์ ขัดต่อข้อห้ามใน พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542 ที่ระบุว่า ไฟต์หนึ่งต้องเว้น 21 วันถึงจะต่อยต่อได้ แต่นี่น้องขึ้นเวทีทุกสัปดาห์ นวมได้มาตรฐานหรือไม่ ผู้ตัดสินชี้ขาดบนเวทีขาดประสบการณ์อย่างหนักหรือไม่ถึงไม่ยอมนับ 8 ในจังหวะแรกที่ทรุดลงไปกับพื้น แต่กลับสับมือให้ชกต่อโดยไม่เข้าห้ามเมื่อเด็กไม่ออกอาวุธตอบโต้ มันผิดวิสัยผู้ชี้ขาดมืออาชีพที่เขาทำกันอยู่อย่างมาตรฐานในทุกวันนี้

ก่อนการชกในช่วงเช้าได้มีการตรวจร่างกาย และชั่งน้ำหนักก่อนหรือไม่ การประกบคู่มวยใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด พื้นเวทีมีความหนา ความนุ่มได้มาตรฐานหรือไม่ ข้างสนามมีทีมแพทย์ พยาบาลประจำหรือไม่ มีรถฉุกเฉินจอดที่หน้าสนามหรือไม่

ทุกเรื่องที่กล่าวมามันเป็นเรื่องของการอ่อนต่อการบริหารจัดการของฝ่ายจัดการแข่งขันทั้งสิ้นจึงทำให้เกิดเหตุการณ์เศร้าสลดต่อวงการมวยไทย…!

ทางออกของปรากฏกาณ์เขย่าวงการมวยไทยคราวนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าจะออกมาลักษณะใด ภาครัฐจะแข็งพอที่จะประกาศบังคับใช้กฎหมาย นั่นหมายความว่า เดินหน้าต่อ หรือจะตั้งโต๊ะเจรจารับฟังปัญหา และความต้องการของกันและกัน นั่นคือ กลุ่มคนมวยไทย กลุ่มแพทย์

สูตรที่ทุกคนเสนอกันว่า ทางออกที่ดีที่สุดคือ การพบกันครึ่งทางดีกว่าหักด้ามพร้าด้วยเข่าหรือไม่ เช่น ไม่ห้ามเด็กที่มีอายุไม่ถึง 12 ปีขึ้นต่อย แต่การขึ้นต่อยแต่ละครั้งต้องไม่ใช่รูปแบบมวยไทยอาชีพ ต้องเป็นแบบมวยไทยสมัครเล่น คือ มีการสวมเฮดการ์ดป้องกันศีรษะ เกราะป้องกันลำตัว สนับแข้ง สนับศอก แต่พอถึงอายุ 12 ปีเด็กๆ เหล่านั้นจึงจะสามารถทิ้งอุปกรณ์เซฟตี้ทั้งหมดแล้วหันมาชกมวยไทยอาชีพ หมัด เท้า เข่า ศอก ของจริง ชนิดเจ็บจริงได้

ถ้าลองหันหน้ามาคุยกันโดยวางเรื่องของผลประโยชน์แอบแฝงทุกๆ เรื่องในวงการมวยไทยที่มันเกี่ยวพันกับวงการพนัน ทั้งเรื่องส่วนตัวออกไป

เชื่อว่าเราจะช่วยกันหาทางออกที่ดีให้กับเรื่องดังกล่าวอย่างไม่ยาก…

แค่เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วเปิดใจรับฟังเหตุผลกันและกัน…แค่นี้เอง