กรมกิจการสตรีฯ ตอกย้ำ ความรุนแรงในครอบครัว “อย่าปล่อยผ่าน” แจ้งเหตุได้แค่แอดไลน์

กรมกิจการสตรีฯ ตอกย้ำ “สตรี-ครอบครัวมั่นคง” ความรุนแรงในครอบครัว “อย่าปล่อยผ่าน” แจ้งเหตุได้แค่แอดไลน์

หลายคนอาจรู้จัก กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว หรือ สค. ในด้านการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรีหรือการคุ้มครองและสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันครอบครัวอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วสค.นั้นมีบทบาทมากกว่าที่คุณคิด

นายธนสุนทร สว่างสาลี อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เผยว่า ทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวนั้นมีเป้าหมายหลักอยู่ 3 เรื่องคือ 1. เรื่องครอบครัว ให้ครอบครัวอยู่ดีมีสุข และมีความเข้มแข็ง 2. เรื่องสตรี ให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง 3. ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้รับการคุ้มครอง มีสิทธิ สวัสดิการเท่าเทียมกันกับทุกคน

ESS Help Me ปักหมุดหยุดเหตุ
หยุดความรุนแรงได้ในมือคุณ

สำหรับกรณีของการส่งเสริมความเป็นครอบครัวนั้น เรามีตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในปี 2566 มีการจดทะเบียนสมรสอยู่ประมาณ 279,748 คู่ ส่วนการหย่าร้างนั้นมีถึง 147,377 คู่ สะท้อนว่า ครอบครัวไทยกำลังเริ่มมีปัญหา

โดยปัญหาหลักที่ทำให้เกิดการหย่าร้าง คือ 1.ความรุนแรงในครอบครัว 2.ความหึงหวง การนอกใจ 3.ปัจจัยทางเศรษฐกิจ และ 4.เรื่องยาเสพติด หากเราช่วยกันหยุดวงจรตรงนี้ ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาต่างๆ ลงได้ ซึ่งปัจจุบันทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีช่องทางการแจ้งเหตุความรุนแรงผ่านทางแอพพลิเคชันESS Help Me ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม” ซึ่งเป็นระบบรับแจ้งเหตุผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถแจ้งเหตุได้ทันที

5 ปัญหาเร่งด่วน ได้แก่ 1. ข่มขู่ว่าจะทำร้ายหรือทำร้ายร่างกาย 2. กักขังหน่วงเหนี่ยว 3. เสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ 4. ผู้คลุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย 5. มั่วสุมจนก่อให้เกิดเหตุร้าย ซึ่งผู้แจ้งเหตุอาจเป็นผู้ถูกกระทำ หรือญาติ พี่น้อง คนรอบข้างที่พบเห็นปัญหาเหล่านี้ สามารถแจ้งได้ทันที

สำหรับในขั้นตอนการแจ้งเหตุ เข้าไปที่ไลน์ ESS Help Me ในช่องแชท จากนั้น กดแจ้งเหตุร้าย (เลือกเพียงหนึ่งเหตุการณ์) กดแชร์พิกัดตำแหน่งเกิดเหตุ และกรอกเบอร์ติดต่อ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ

เมื่อดำเนินการครบทุกขั้นตอน ระบบจะส่งข้อมูลไปยังสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด และเมื่อมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรับทราบแล้ว ระบบจะแจ้งเตือนสถานะการปฏิบัติงานมายังผู้แจ้งเหตุอีกครั้ง พร้อมแจ้งระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปถึงที่เกิดเหตุ

“ปัจจุบันนั้นแอพลิเคชัน ESS Help Me มีจำนวนเพื่อนอยู่ประมาณ 470,000 คน ซึ่งตั้งแต่มีแอพฯ นี้ เราสามารถดูแลประชนได้ 927 ราย จากสถิติการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที และมีทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ พมจ. นักสังคมสงเคราะห์ รพ. ฯลฯ อยู่เบื้องหลังการปฏิบัติงานร่วมกันในไลน์กลุ่มทั่วประเทศ 1,500 ไลน์กลุ่ม/สถานีตำรวจ จึงอยากจะเชิญชวนให้ทุกคนเข้ามาเป็นเพื่อนในแอพลิเคชัน ESS Help Me กันเยอะๆ เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยระงับเหตุความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที” นายธนสุนทร สว่างสาลี กล่าว

ศูนย์เร่งรัดการจัดสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) Human Security Emergency Management Center : HuSEC

กระทรวง พม. ได้จัดตั้ง ศรส. เพื่อปฏิบัติการเร่งรัด – จัดการ ปัญหาพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงในครอบครัว การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคมอื่น ๆ ที่อยู่ในความสนใจของสังคม กระทรวง พม. ได้เร่งรัด – จัดการ ปัญหาอย่างเป็นระบบ ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือจาก ศรส. ผ่านทาง สายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน โทรฟรี ซึ่งเราจะส่งทีมปฏิบัติการหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมลงพื้นที่คุ้มครองช่วยเหลืออย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์

 

นอกจากนี้ ในส่วนของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ยังมีระบบเพื่อนครอบครัว (Family Line) เพื่อใช้เป็นช่องทาง ในการให้คำปรึกษาออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญในประเด็นเรื่องครอบครัว รวมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้สำหรับครอบครัว เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และเสริมทักษะสำหรับพ่อแม่ และสมาชิกในครอบครัว ผ่านระบบ Line official และ Web Board www.เพื่อนครอบครัว.com

เสริมแกร่งสตรี
ฝึกอาชีพฟรี ใช้งานได้จริง

สำหรับเรื่องการพัฒนาบทบาทเรื่องการพัฒนาสตรีนั้นคือการส่งเสริมให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วม และเป็นพลังในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเรามี “ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 แห่ง” และ “สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ 4 แห่ง” รวมทั้งหมด 12 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ภาคใต้ จ.สงขลา และจ.สุราษฎร์ธานี ภาคเหนือ จ.ลำพูน, จ.เชียงราย, จ.ลำปาง และจ.พิษณุโลก ภาคอีสาน จ.ของแก่น, จ.นครราชสีมา และจ.ศรีสะเกษ และภาคกลาง จ.นนทบุรี  จ.ชลบุรี และกรุงเทพฯ

โดยหลักสูตรต่างๆ นั้น เน้นให้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดประกอบเป็นอาชีพได้จริง เช่น หลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง (CAREGIVERS OF OLDER PERSONS) สำหรับ 4 ศูนย์การเรียนรู้คือ ที่ จ.ขอนแก่น, จ.เชียงราย, จ.สงขลา จ.ลำพูน ซึ่งหลักสูตรนี้ ได้รับการรับรองหลักสูตรจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และถือเป็นอาชีพที่ขาดแคลน ผู้เข้าอบรมที่จบหลักสูตรบริบาลผู้สูงอายุนั้นส่วนใหญ่จะมีงานรองรับทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น หลักสูตรอาหารและเครื่องดื่ม หลักสูตรบาริสต้าการชงกาแฟสดจากเครื่อง Mokapot (Barista Basic), หลักสูตรตัดผมชาย, หลักสูตรเสริมสวยสตรี, หลักสูตรบริการโรงแรม, หลักสูตรตัดเย็บเสื้อผ้า หลักสูตรนวดฝ่าเท้า และหลักสูตรประเภทช่าง ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดหลักสูตรได้ที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวใกล้บ้านท่าน ทั้งหมดนั้นเรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

และสำหรับกรณีของแม่เลี้ยงเดี่ยว เรามี “ศูนย์บริการแม่เลี้ยงเดี่ยวและครอบครัว” ในศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวและสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ 12 แห่งทั่วประเทศ ให้บริการและสวัสดิการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแม่/พ่อเลี้ยงเดี่ยว บริการให้คำปรึกษาและพัฒนาด้านจิตใจให้พร้อมรับมือและก้าวผ่านปัญหาต่างๆ ในชีวิต พร้อมเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการดูแลตัวเองและลูก มีการพัฒนาทักษะอาชีพฟรี ไว้สำหรับช่วยฝึกอาชีพให้กับคุณแม่/คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว พร้อมทั้งมีสถานที่ดูแลบุตรให้ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตแม่/พ่อเลี้ยงเดี่ยว แม้ตัวคนเดียวก็เลี้ยงลูกได้อย่างสมบูรณ์

ห้องศูนย์บริการแม่เลี้ยงเดี่ยว และ ห้อง Learn And Play Station ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จ.เชียงราย

ตอกย้ำ “ความเสมอภาคทางเพศ”
เพื่อความเท่าเทียมอย่างแท้จริง

ในปัจจุบันจะเห็นว่าประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ นั้นได้รับการยอมรับจากสังคมและถูกเปิดกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ายังคงมีการเลือกปฏิบัติอยู่ ทางเราจึงมีหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงและได้รับสิทธิ หน้าที่และโอกาสที่เท่าเทียมของบุคคล ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ให้ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ กลั่นแกล้ง (Bullying) หรือกดดันต่างๆ ซึ่งความจริงแล้วกลุ่มมีผู้หลากหลายทางเพศนั้นมีความสามารถสูงมาก สังคมควรจะมีการโอบรับทุกความหลากหลายอย่างเท่าเทียม

ซึ่งทางกรมฯ นั้นได้มีบทบาทในการร่วมผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่ส่งเสริมให้คนทุกเพศสามารถแต่งงานได้และมีสิทธิสวัสดิการเหมือนชายหญิง รวมถึงร่างกฎหมายการรับรองเพศ เพื่อคุ้มครองไม่ให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกเลือกปฏิบัติ ให้ทุกคนมีเจตจำนงในการเลือกเพศของตนเอง ซึ่งกฎหมายเหล่านี้เป็นหนึ่งในการประกาศว่า ประเทศไทยไม่ได้กีดกัน เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนเหล่านี้
ในกรณีถูกเลือกปฏิบัติ ถูกละเมิด พบความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ เช่น กรณีของการถูกเลือกปฏิบัติในการรับสมัครงาน การแต่งการตามเพศสภาพในสถานศึกษา ท่านสามารถยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ได้

การสื่อสาร-แสดงความรัก
สร้างครอบครัวมั่นคง

นายธนสุนทร เผยว่า การสื่อสารภายในครอบครัวนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การรักษาสถาบันครอบครัวได้มาก ทางกรมมีการสำรวจ “คำที่อยากได้ยิน” จากคนครอบครัวมากที่สุด พบว่าคำบอกรัก หรือแสดงความเป็นห่วงอย่าง “รักนะ, เหนื่อยไหม” เป็นคำที่ทุกคนอยากได้ยินมากที่สุด และคำว่า “ขอโทษ ขอบคุณ ขออภัย” คำพวกนี้หายจากสังคมไทยไปมาก หากคนครอบครัวมีการพูด หรือแสดงออกต่อคนในครอบครัวที่ดี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงในครอบครัวได้มาก รวมถึงการมีกิจกรรมร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว หรือคนที่เรารัก เช่น ทำอาหารด้วยกัน เที่ยวด้วยกัน หรืออย่างน้อยทุกวันอาทิตย์ให้ถือเป็นวันครอบครัว จะช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันได้มาก

สำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว คือเราจะจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันแห่งครอบครัว ร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ในวันที่ 5 เมษายน 2567 ณ ห้องวายุภักษ์แกรนด์บอลรูมชั้น 4โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ซึ่งภายในงานจะมีการมอบรางวัลหลากหลายรางวัล เช่น “ครอบครัวร่มเย็น” ให้กับบุคคลดีเด่นด้านการพัฒนาครอบครัวในพื้นที่ภูมิภาคทั้ง 77 จังหวัด เพื่อเป็นกำลังใจ เป็นแบบอย่างที่ดีของคนในสังคม และเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างครอบครัวของตนให้มีความมั่นคง