เปิดใจ ‘โค้งสุดท้าย’ ‘มาดามเดียร์’ ผู้ท้าชิงนำทัพประชาธิปัตย์ ในวันที่พรรคเผชิญอุปสรรค ขาลง-สมองไหล

“ต้องยอมรับว่าจากผลการเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่ปี 2566 ถ้าย้อนไปตั้งแต่ปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้จำนวน ส.ส.ลดลงอย่างต่อเนื่อง วันนี้ต้องกล้ายอมรับตรงๆ ว่าพรรคเราอยู่ในวิกฤต วันนี้เดียร์จึงมีความตั้งใจอยากจะเสนอตัวเองมาให้สมาชิกได้พิจารณาตัดสินใจว่าเรามีความตั้งใจที่อยากเข้ามาฟื้นฟูพรรค”

เดียร์-วทันยา บุนนาค แคนดิเดตผู้เสนอตัวลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดใจกับมติชนสุดสัปดาห์

 

: เหตุและผลที่ตัดสินใจลงชิงหัวหน้าพรรค

เดียร์ก็อยากเสนอตัวเองเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเห็นว่าเวทีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเวทีที่แสดงออกถึงเสรีภาพสำหรับสมาชิกทุกคน ถือเป็นเสรีภาพของสมาชิกที่สามารถเสนอตัวเองลงแข่งขันได้ ส่วนตัวก็มีความตั้งใจอยากจะเข้ามาเพื่อฟื้นฟูอุดมการณ์ของพรรค

ถ้าหากได้รับโอกาสในการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สิ่งที่อยากจะขับเคลื่อนพรรคต่อจากนี้ไปก็คือฟื้นฟูอุดมการณ์ของพรรคตั้งแต่วันที่ก่อตั้งพรรค ที่มีอยู่ชัดเจนมาก คือการเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยบนวิถีอันบริสุทธิ์ การเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และที่สำคัญคือการต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ

แต่ก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่าตลอดเส้นทาง 77 ปีของพรรคได้ผ่านวิกฤตต่างๆ ในทางการเมืองของประเทศหลายครั้งที่อาจจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องตัดสินใจหลายๆ เรื่องในห้วงเวลาสถานการณ์นั้นๆ จนอาจจะทำให้ตัวตน-อุดมการณ์ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมาคลาดเคลื่อนหรือเลือนรางในบางจุด

เพราะฉะนั้น วันนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ ตามแนวทางที่อยากจะฟื้นฟูพรรคก็คือการฟื้นฟูอุดมการณ์กลับมาให้ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนเห็นถึงจุดยืนในการทำงานของพรรค

ดังนั้น การตัดสินใจใดๆ ของพรรค จะต้องยึดมั่นเรื่องอุดมการณ์ ยึดถือหลักการ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเคารพในเสียงของประชาชน

เดียร์คิดว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ชัดเจนที่สุด แน่นอนว่าพรรคประชาธิปัตย์บนเส้นทาง 77 ปี ได้ผ่านวิกฤตมามากมาย มันอาจจะมีสิ่งที่ทำให้ประชาชนผิดหวัง ถึงอย่างไรก็เป็นประสบการณ์ที่ให้เราได้เก็บเกี่ยวแล้วก็เติบโต

สิ่งใดที่เราทำให้ประชาชนผิดหวัง เราจะไม่ปฏิเสธ แต่จะเอาบทเรียนเหล่านั้นเร่งกลับมาแก้ไขที่ตัวเราเอง เพื่อให้กลับมาเป็นที่พึ่งของประชาชนให้ได้

เราจะเอาประสบการณ์ตลอด 77 ปี ที่ผ่านมา ผนวกกับพรรคเรามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถแล้วก็มีประสบการณ์หลากหลายอยู่มากมายมาทำงานการเมือง เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีวุฒิภาวะ ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์ อันนี้คือสิ่งที่อยากจะขับเคลื่อนประชาธิปัตย์ต่อจากนี้ไปหากได้มีโอกาสเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เราอยากสร้างสังคมการเมืองที่เลือกคนมาจากระบบความสามารถที่เลือกคนมีศักยภาพที่มาจากอุดมการณ์ มากกว่าการสร้างสังคมการเมืองที่มีคนมาจากระบบอุปถัมภ์

เพราะเดียร์คิดว่าการที่เรายังต้องพึ่งพิงในความเป็นระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทยมันทำให้ตัวเราเองไม่สามารถที่จะก้าวออกจากหลุมดำตรงนี้ไปได้ แล้วก็สะท้อนปัญหาส่งต่อไปถึงเรื่องเศรษฐกิจจนลามไปเรื่องอื่นๆ

 

: ก่อตั้งพรรคใหม่ vs กอบกู้พรรคเก่า อะไรง่ายกว่ากัน?

สําหรับเดียร์ให้เลือกฟื้นฟูประชาธิปัตย์กับการตั้งพรรคใหม่ เดียร์ขอเลือกในการที่จะฟื้นฟูอุดมการณ์ของพรรค เพราะว่าหลักสำคัญของพรรคการเมืองจำเป็นจะต้องมี เราก่อตั้งมาด้วยเจตนารมณ์ และอุดมการณ์ โดยที่ไม่เคยไปยึดติดที่ตัวบุคคลหรือว่ามีเจ้าของมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เพราะถ้าป็นแบบนั้นแล้วจะไม่สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของการทำพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองคือสถาบันที่เป็นองค์กรและเป็นตัวแทนของประชาชนในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง

แต่ถ้าเกิดว่าพรรคการเมืองมีเจ้าของ มี CEO หรือมีผู้ถือหุ้นที่ชัดเจน พรรคการเมืองนั้นๆ อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน จนไม่สามารถที่จะรักษาประโยชน์ของประเทศ-ประชาชนได้ กระทั่งไม่สามารถแสดงออกถึงเสียงความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

ส่วนตัวคิดว่าความโปร่งใสของพรรคการเมืองที่ไม่มีเจ้าของ และเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

และที่เดียร์เลือกมาทำงานกับประชาธิปัตย์เพราะเราเห็นถึงตรงจุดนี้แล้วเราศรัทธาในจุดนี้จริงๆ

 

: ทำไม ปชป.เกิดสภาวะสมองไหลตลอด?

ต้องยอมรับว่าหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้บุคลากรของพรรคออกไปจากประชาธิปัตย์ หลายๆ ท่านก็คงจะมีเหตุผลส่วนตัว หลายประเด็นที่แตกต่างไป เราก็คงไม่สามารถไปก้าวล่วงได้

แต่ว่าถ้าวิเคราะห์ในภาพใหญ่ๆ คิดว่าที่มีส่วนสำคัญมากๆ ก็คือการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค โดยเฉพาะในระยะหลังๆ ที่ผ่านมาที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง ถึงแม้บางคนมองว่ามันเป็นภาพดี คือสะท้อนให้เห็นว่าพรรคไม่มีเจ้าของจริงๆ แล้วการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคทุกคนจริงจัง ต่อสู้กันจริงๆ ไม่ได้เป็นเพียงแค่พิธีกรรม

แต่ว่าแน่นอนเหรียญก็มี 2 ด้าน มันมีทั้งข้อดี และมันก็มีข้อเสีย ก็คือว่าพอต้องสู้กันอย่างเข้มข้น ถึงเวลาตอนที่เราเลือกตั้งเข้าไปก็จะทั้งทีม มีหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค รองหัวหน้าพรรค มาแบบ Full Option สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าพอคนที่ชนะแล้ว กลายเป็นว่าคนที่เขาไม่ได้อยู่ในลิสต์รายชื่อของคนที่ชนะ หรือผู้ที่อยู่ในลิสต์รายชื่อของคนในฝั่งที่แพ้ ทำให้บุคลากรมีความรู้ความสามารถเหล่านี้ถูกมองข้ามไป

หรือพูดง่ายๆ ก็คือเขาไม่มีที่ยืนในพรรค ก็อาจจะเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้บุคลากรที่มีไฟ อยากทำงาน ต้องตัดสินใจเลือกไปบนเส้นทางอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่คู่กับประชาธิปัตย์แล้ว

จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาธิปัตย์อาจจะเกิดสภาวะสมองไหลในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น วันนี้สิ่งที่เดียร์อยากจะทำคือเปิดโอกาส เปิดกว้างให้กับสมาชิกทุกๆ คนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำพรรคการเมืองที่มันเป็นพรรคของประชาชนที่เปิดโอกาสให้กับประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจริงๆ

ใจอยากจะเก็บบางตำแหน่งในส่วนสำคัญๆ อย่างเปิดกว้าง เช่น ผู้ที่จะเข้ามาเป็นแกนนำผู้บริหาร โดยให้กับคนภายนอกด้วยซ้ำไป เพราะเราอยากจะได้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอีกมากมายที่อยู่ภายนอก ให้เขามีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนในพรรคร่วมกันหลังจากนี้

 

: มองปัญหาของประเทศอะไรที่ต้องแก้?

เราต้องการเห็นการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในอีก 10-20 ปี ตั้งแต่เชิงระดับโครงสร้าง ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย หรือเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก เพราะวันนี้สังคมไทยถูกพิสูจน์แล้วจริงๆ ว่าถ้าเราแก้ไขเพียงแค่แก้ที่ปลายเหตุ เช่น การใช้นโยบายบางอย่าง อาทิ การแจกเงิน มันไม่ได้สามารถแก้ปัญหาประเทศที่ต้นเหตุได้เลย วันนี้เราต้องมาดูว่าประเทศมีปัญหาอะไรบ้างต้องคลี่ออกมาแล้วกลับไปแก้ให้ตรงจุด

เรากำลังเกิดปัญหาไม่สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจได้ทัดเทียมกับนานาประเทศใช่หรือไม่ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เราก็เริ่มชะลอตัวแล้วด้วยซ้ำ จากตัวเลข GDP growth ในการเติบโตหลังโควิด กลับกลายเป็นว่าเราเติบโตช้ากว่าประเทศอื่นๆ และถ้าเราไปดูเวียดนาม จากที่เราเคยมองว่าเขาอยู่หลังเรามาตลอด ตั้งแต่เด็กๆ เราเคยได้ยินว่าเราจะเป็นเสือตัวที่ 5 วันนี้คือกลายเป็นว่าตัวที่ 6 ตัวที่ 7

ดีไม่ดีถ้าเราไม่แก้ปัญหาตั้งแต่ระดับโครงสร้างเราก็อาจจะเป็นเสือไม่ได้แล้วด้วยซ้ำ เพราะว่าถ้าดูตัวเลข GDP เราเห็นชัดเจนเลยว่าในอีก 8 ปีข้างหน้าเวียดนามก็อาจจะแซงประเทศไทยได้

วันนี้ต้องแก้ให้ตรงจุด ต้องกลับไปแก้ตั้งแต่ระดับโครงสร้าง สิ่งที่ประชาธิปัตย์เราเชื่อ แล้วเป็นอุดมการณ์พรรคตั้งแต่วันแรกก็คือเราสนับสนุนในระบบเศรษฐกิจเสรี และเราก็เชื่อเรื่องการกระจายอำนาจ การกระจายทรัพยากร การสร้างสังคมสวัสดิการ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน ผ่านการกระจายโอกาสให้ประชาชนที่เขาอาจจะเลือกเกิดไม่ได้ แต่เขาสามารถที่จะเลือกมีชีวิตของเขาได้ สามารถที่จะเลือกสร้างอนาคตของเขาได้อย่างเท่าเทียมกัน นั่นคือหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเข้าไปดูแลจัดการในสิ่งเหล่านี้ เดียร์เชื่อในระบบโครงสร้างแบบนี้

ภาพความฝันเราคงไม่ต่างกัน ถ้าเราอยู่ในองค์กรไหนเราก็อยากจะเห็นองค์กรที่เราอยู่ประสบความสำเร็จ เราก็ศรัทธาในองค์กรที่เราอยู่ และเรามีเป้าหมายที่เราอยากจะให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว

แต่ว่าเป้านั้นไม่สามารถกำหนดได้เพียงแค่ตัวเราเอง เพราะว่าสุดท้ายแล้วพรรคการเมืองก็ต้องยึดโยงกับประชาชน คนที่จะกำหนดชะตาชีวิตเราได้คือประชาชน เราทำได้เพียงแค่ยืนหยัดในหลักการแล้วทำงานด้วยความจริงใจ พิสูจน์ตัวเราเองจนกว่าประชาชนจะให้โอกาสเรากลับมา เชื่อมั่นเรา กลับมาไว้วางใจเราอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้ความท้าทายของพรรคประชาธิปัตย์ในสภาวะแบบนี้มันเป็นทั้งวิกฤตและเป็นทั้งโอกาสในอนาคตข้างหน้า

ถ้าสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้เราก็สามารถที่จะกลับมาเป็นที่ศรัทธาของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

ชมคลิป